ต่างคนต่างกรรม : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ



พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

เพราะฉะนั้นให้พากันนึกถึง “กรรมของสัตว์”
นั่นแหละมันจึงยับยั้งใจได้ ผู้ใดทำชั่วพูดชั่วไป
ไม่สำรวมตนเช่นนั้นก็เป็นกรรมของเขา

เขาไม่เคยสำรวมตนมาแต่ก่อน  เกิดมาชาตินี้
ก็นิสัยเก่ามันก็ติดมา ชอบพูดจาระรานคนอื่น
กระทบกระทั่งคนอื่นอย่างนี้นะ

ไอ้ผู้ที่เป็นคนดี ฝึกตนมาแล้ว รู้จักห้ามจิตของตนให้ได้มันก็ดีซิ..
ใครพูดกระทบกระทั่งมาแล้วก็ห้ามจิต สำรวมจิตของตนไว้ภายใน
อย่าไปรับรู้เอาคำกระทบกระทั่งจากคนอื่น  
อย่างนี้แล้วตนก็เป็นคนดีเท่านั้นแหละ  
คนอื่นชั่วช่างหัวใคร  อย่างนี้แล้วเราก็อยู่กันได้โดยสันติสุข


ผู้ใดชั่ว เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนแล้วหากว่ามันจะเป็นคนดีต่อไปได้
มันก็รู้สึกตัวเอง เมื่อรู้สึกตัวได้ก็สำรวมตนไปได้

ไม่ต้องมีใครไปตักเตือนว่ากล่าว  คนดีน่ะฟังธรรมะ
คำสั่งสอนพระพุทธเจ้าที่ท่านอธิบายชี้แจงให้ฟังแล้วก็ตื่นตัว
แล้วก็สำรวมตนไปได้
ถ้าคนนิสัยไม่ดีจริง  เป็นบัวใต้น้ำ
พระพุทธเจ้าก็สอนไม่ได้ อย่างนั้นพระองค์ก็ปล่อยตามยถากรรมไป
ให้มันเสวยทุกขเวทนาเพราะการกระทำของตัวเองไปเสียก่อน

  นานไปมันได้พบกับนักปราชญ์บัณฑิตเข้าไป
รู้ตัวเมื่อใดมันก็ละความชั่ว  สำรวมตนเมื่อนั้น
มันก็ค่อยดีขึ้นไป นี่ล่ะบุคคลผู้มีอินทรีย์ยังอ่อนอยู่
แม้จะเคี่ยวเข็ญยังไงๆมันก็ไปไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไปซะก่อน
เมื่ออินทรีย์มันแก่กล้าขึ้นไปมันก็ค่อยรู้ตัวไป

มันก็เป็นอย่างนี้แหละคนเรานะ แบบน้ำไหลไม่ทันกัน*
เพราะฉะนั้นเราอยู่ด้วยกันก็ต้องผ่อนผันหากัน  
ถ้าไม่ทำผิดอย่างร้ายแรงก็อโหสิกรรมให้กันไป
ถ้ามันทำผิดร้ายแรงมันผิดวินัยจริงๆอย่างนี้ก็จำเป็นน่ะ
ต้องได้วินิจฉัยกัน  ผิดจริงก็ต้องลงโทษกันไปตามโทษหนักโทษเบา  
ถ้าไม่ผิดวินัย ผิดแต่ธรรมะเท่านั้นก็เอ้า..อะลุ้มอล่วยกันไป


...

*น้ำไหลไม่ทันกัน : หลวงปู่ท่านเคยใช้เปรียบเทียบในการแสดงพระธรรมเทศนาหลายบท
ว่าหมายถึง บุคคลต่างฝึกฝนตนมาไม่เท่ากัน  ผู้ฝึกมาก่อนเหมือนน้ำไหลไปก่อนก็ถึงก่อน
น้ำที่ไหลตามไปทีหลังย่อมไม่ทันกระแสน้ำที่ไหลไปก่อนแล้ว (เพิ่มเติมโดยผู้ถอดเทป)


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่