=== เศรษฐกิจถดถอย แต่เราจะสู้ไม่ถอย ===



ตอนนี้ตลาดไม่เป็นใจ ผู้บริโภคหยุดใช้จ่ายเงิน ทำให้ทั้งธุรกิจใหญ่เล็กยอดขายตกกันหมด
เมื่อขายของลำบากแต่ก็ต้องขายให้ได้ สิ่งแรกที่ทุกคนจะทำ คือ "ต้องลดราคา"
โดยเฉพาะบริษัทหรือห้างร้านขนาดใหญ่ พวกนี้เขาลงทุนมาเยอะ
เพราะตอนเศรษฐกิจยังดีเลยขยายการผลิต ขยายร้าน จ้างคนเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการลูกค้ากัน

แต่พอเศรษฐกิจมันถดถอย ยอดขายหด แต่ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนมันไม่ลดตาม จึงบีบให้แต่ละบริษัทต้องหาทางดึงดูดเงินในกระเป๋าลูกค้าให้ได้ วิธีที่ง่ายสุดเลยคือ "ลดราคา" กับ "จัดโปรโมชั่นแรง ๆ" ซึ่งผลลัพธ์ทั้งสองวิธีมันก็เหมือนกันคือ "Price War"

พอจ้าวใหญ่ลดราคาลง ลูกค้าเห็นก็ไปซื้อแต่จ้าวใหญ่กันหมด มันก็ดึงลูกค้าที่ซื้อจ้าวเล็กหายไปด้วย พอร้านอาเฮียอาซ้อลูกค้าหายก็ต้องลดราคาตาม แต่รายเล็ก ๆ อย่างพวกเราจะเสียเปรียบรายใหญ่อยู่อย่างหนึ่งคือ รายใหญ่มักจะมีต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่า หรือสามารถสั่งซื้อ/ผลิตสินค้าให้ได้ต้นทุนต่ำได้
ซึ่งรายเล็กๆ อย่างเรา ทำได้ยาก!

ผมจึงแนะนำว่าในภาวะแบบนี้ควรจะลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนให้ต่ำที่สุด เพื่อที่ว่าถ้ามีการตัดราคากัน
เราจะสามารถลดราคามาสู้ได้  ซึ่งความจริงในบางธุรกิจก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว นี่ขนาดเศรษฐกิจมันยังไม่แย่เข้าขั้นวิกฤตินะ แล้วถ้ามันถึงขั้นนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นล่ะครับ ดังนั้นพวกเรารายเล็ก SME ผู้ประกอบการ Startup ควรจะพิจารณาเรื่องนี้ไว้ด้วย


กลยุทธ์ ต.1 ตั้งรับให้มั่น (Defensive)

1. ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป
2. ลงทุนเพิ่มเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
3. เงินอย่าขาดมือ


<<< ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป >>>

ดูยังไงว่าอะไรที่ไม่จำเป็น?
ตอนผมเรียนบัญชี ในงบการเงิน มันจะมีรายการ "ต้นทุนสินค้า" กับ "ค่าใช้จ่าย"
อันไหนควรจัดเป็นต้นทุน อันไหนควรเป็นค่าใช้จ่าย
วิธีคิดง่าย ๆ คือ ค่าใช้จ่ายอะไรที่เราเสียไปแล้วทำให้เกิดสินค้าขึ้นมา อันนั้นคือ "ต้นทุน" ส่วนที่เหลือคือ "ค่าใช้จ่าย"

ดังนั้น ต้นทุนคือสิ่งที่ต้องมาก่อน แล้วค่าใช้จ่ายจึงตามมาทีหลัง เช่น ค่าขนส่งไปยังร้าน ค่าจ้างพนักงานขาย....ประเด็นนี้ผมเชื่อว่าคนที่ทำธุรกิจมาสักระยะนึงแล้วน่าจะรู้ดีว่าอันไหนตัดทิ้งได้ ซึ่งก็ต้องดูกันเป็นรายธุรกิจไปครับ


<<< ลงทุนเพิ่มเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น >>>

เราทำธุรกิจเราคาดหวังรายได้ คาดหวังกำไร
วิธีเพิ่มรายได้ทางหนึ่งก็คือ การขยายหน้าร้าน, ขยายสาขา, ขยายไปทำธุรกิจใกล้เคียง แต่ในภาวะแบบนี้ส่วนใหญ่จะคิดไม่อยากลงทุนกันทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรในภาวะแบบนี้เราก็มีแต่จะเจ๊งในไม่ช้า

อย่างเช่น ผมเปิดร้านกาแฟ แล้วเจอเจ้าใหญ่มาเปิดแข่ง ถ้าเราไม่ทำอะไร เราก็รอวันตายนั่นแหละ ดังนั้น เราต้องลงทุน แต่ลงทุนก็ขอให้เลือกซื้อหรือเพิ่มแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ให้คิดว่าอะไรที่เราเพิ่มขึ้นมาแล้วมันช่วย
1.เพิ่มยอดขาย
2.รักษาลูกค้าให้อยู่กับเรา
3.ลดค่าใช้จ่ายลงในระยะยาว

ผมเปิดร้านกาแฟในบริเวณสำนักงานเยอะ จากที่ลูกค้าต้องมาซื้อหน้าร้าน
เราก็เพิ่มบริการส่งถึงที่ โดยจ้างเด็กหรือวินมอไซด์ช่วยเอาไปส่งให้ ก็ช่วยเพิ่มยอดขายให้เราได้อีกทางหนึ่ง

ถ้าทำธุรกิจซื้อมาขายไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า อู่ซ่อมรถ(ขายแบต,น้ำมันเครื่อง)
ปกติเจ้าของร้านมักจะเลือก 2-3 แบรนด์เข้ามาขาย ดูเหมือนจะไม่เยอะนะ แต่ทว่า แต่ละแบรนด์ที่เอาเข้าก็มีสินค้าหลายรายการย่อยไปอีก พอเราซื้อทีก็ทำให้พื้นที่ในร้านเต็ม เงินไปจมกับสินค้า ต้องรอจนกว่าจะขายได้

ของกินของใช้ผมไม่ห่วงหรอก แต่ห่วงของที่มีราคาที่ต้องใช้เวลาในการขายออก
แบรนด์ไหนขายดี ขายไม่ดี รายการไหนขายง่าย ขายออกยาก

เรื่องนี้ต้องเริ่มมานั่งคิดแล้วว่า ในภาวะแบบนี้เราควร Stock สินค้าไว้แค่ไหน กี่แบรนด์ สินค้ากี่ชนิด กี่รายการ


<<< เงินอย่าขาดมือ >>>

เหตุผลสำคัญที่ผมอยากให้ลงทุนเฉพาะที่จำเป็น เพื่อให้มีเงินเหลือไวหมุนเวียน
เพราะเงินคือเลือดที่ไว้หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจยังอยู่ได้

ถ้าเงินไม่พอก็ไปกู้ไง
เศรษฐกิจแย่ยังงี้ ธนาคารเขาไม่อยากจะปล่อยกู้ให้ธุรกิจ SME อย่างเราหรอกครับ
ตอนนี้สิ่งที่ธนาคารกลัวมาก คือ NPL หรือหนี้เสีย
ถ้าไม่มีเงินเก็บ ถ้ากู้ไม่ได้ แล้วจะทำยังไง?

ดังนั้น ข้อนี้จึงสำคัญที่สุดครับ


3 แนวทางกับกลยุทธ์ ตั้งรับให้มั่น (Defensive) ของ ต.ติดตลาด
สุดท้ายนี้...เราจะสู้ไม่ถอยและสู้ไปด้วยกันครับ

======================================

ถ้าชอบก็ like ถ้าใช่ก็ share
มาติดโอกาส ต่อยอดความรู้ไปด้วยกันครับ

ต.ติดตลาด
https://www.facebook.com/TorTidTarad
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่