เช็กความพร้อมรถไฟสายสีม่วง เปิดบริการแน่วันแม่สิงหา’59

ช่วงเวลาแห่งการรอคอยเร็วๆนี้ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ก็จะเสร็จสมบูรณ์ จากนั้นตามแผนงานประมาณเดือนพฤษภาคม 2559 เริ่มเดินรถทดสอบระบบอาณัติสัญญาณ และ 12 สิงหาคม 2559 มหาฤกษ์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ได้พาคณะสื่อมวลชนเกือบ 50 คน ร่วมเดินทางไปตรวจความคืบหน้าการผลิตรถไฟฟ้าสายสีม่วง ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27-31 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมาโดยรถไฟฟ้าที่ผลิตจากญี่ปุ่นครั้งนี้มีจำนวน 21 ขบวนๆละ 3 ตู้(โบกี้)รวมทั้งสิ้น 63 ตู้เพื่อให้บริการเส้นทางนี้

รับมอบครบ 21 ขบวนม.ค.59

สำหรับรถไฟฟ้าทั้ง 21 ขบวนผลิตที่โรงงานของบริษัท เจแปน ทรานส์สปอร์ต เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(Japan transport Engineering Company : J-TREC) ในเขตจังหวัดคานากาวา เมืองโยโกฮามา ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว ซึ่งนายนาโอโตะ มิยาชิตะ ประธานบริษัท เจแปน ทรานส์สปอรต์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ พร้อมนำชมกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนก่อนที่จะพาไปสัมผัสกับรถขบวนที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างการประกอบชิ้นส่วนต่างๆก่อนที่จะเตรียมส่งมอบให้กับรฟม.ต่อไป

ส่วน 2 ขบวนแรกที่ผลิตเสร็จแล้วและขนย้ายไปที่ท่าเรือเตรียมส่งมายังประเทศไทย คาดว่าจะถึงอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ขบวนที่ 3 ถึงเดือนตุลาคมและจะทยอยส่งมอบจนครบ21 ขบวนภายในเดือนมกราคม 2559 ซึ่งเมื่อถึงไทยรฟม.และบีเอ็มซีแอลจะนำรถไปทดสอบระบบให้พร้อมใช้งานไปจนถึงเดือนเมษายน 2558 ซึ่งก่อนที่จะทดสอบการเดินรถจะเปิดให้สื่อมวลชนและประชาชนทดลองใช้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการและเริ่มเก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559

สำหรับความโดดเด่นของขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ผลิตในญี่ปุ่นครั้งนี้นับว่าไม่ธรรมดา เพราะครบครันไปด้วยความสะดวกสบายไม่ว่าจะเป็นตัวโถงรถที่ดูกว้างขวาง มีห่วงจับเพิ่มในหลายจุด พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดตู้ละ 2 ตัวเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ไฟส่องสว่างทั้งโบกี้ เบาะนั่งกว้างสีม่วงตลอดทั้งคัน ระบบปรับอากาศภายในตัวรถทั่วถึง ประการสำคัญมีราวจับรูปแบบ 3 ห่วงให้สะดวกในการจับยึดระหว่างการใช้บริการ

สำหรับรถไฟฟ้านั้นทางบริษัท อีสต์ เจแปน เรลเวย์ จำกัด หรือ JR East จะรับผิดชอบงานซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 10 ปี

มั่นใจโรงงานผลิตแข็งแกร่ง

ทั้งนี้นายนาโอโตะ ได้ให้รายละเอียดว่า โรงงานผลิตรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ J-TREC ที่โยโกฮามามีพื้นที่กว้างขวางมากถึง 2.85 แสนตร.ม. จำนวนพนักงาน 834 คน มีกำลังการผลิต 400 ตู้ต่อปี ส่วนโรงงานที่นีซุมีพื้นที่ประมาณ 1.5 แสนตร.ม. มีพนักงาน 512 คน กำลังการผลิต 200 ตู้ต่อปี สำหรับโรงงานที่วาคายามามีพื้นที่ 9.9 หมื่นตร.ม. จำนวนพนักงาน 90 คน กำลังการผลิตทางหลีก 240 ทางหลีกต่อปี และตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 3พันตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เพียงเริ่มงานไม่กี่เดือนขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็มีความคืบหน้าด้านการปรับขึ้นโครงร่างตู้แล้วนับ 10 ตู้ ก่อนที่จะประกอบชิ้นส่วนอื่นๆให้พร้อมใช้งานและทยอยส่งมอบให้กับรฟม.ทันเปิดบริการในสิงหาคม 2559 นี้ต่อไป

ทั้งนี้ J-TREC ยังได้โชว์ขีดความสามารถและผลงานที่ผ่านมา ว่าสามารถออกแบบและผลิตรถไฟฟ้าได้หลากหลายชนิดตามความต้องการของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นความเร็วสูง รถไฟฟ้าด่วน รถไฟฟ้าใช้ล้อยาง รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟฟ้าไฮบริดจ์ รถไฟฟ้าใช้งานเฉพาะด้าน-รถซ่อมบำรุง จำนวนตู้ที่ผลิตได้ทั้งหมดกว่า 2.1 หมื่นตู้(ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2558) และจำนวนตู้รถไฟที่ผลิตจากวัสดุสเตนเลสส์จำนวนกว่า 1.2 หมื่นตู้(ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2558) ล่าสุด ยังผลิตรถไฟความเร็วสูง(Shinkansen) E7 เปิดให้บริการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ความเร็ว 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนตู้รถต่อขบวน 12 ตู้ความยาวของขบวนรถ 302 เมตร จำนวนที่นั่งผู้โดยสาร 943 คน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่