โรฮิงญา (โรฮีนจา) พม่าหน้าแขก

ภาพจาก dailypakistan.com

โรฮิงญา (โรฮีนจา) พม่าหน้าแขก

ชาวโรฮิงญาเป็นชนมุสลิมนิกายซุนหนี่ พูดจาภาษาโรฮิงญาของตัวเอง ส่วนใหญ่เขื่อว่าถิ่นกำเนิดมาจากบังคลาเทศแล้วอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่รัฐยะไข่หรือระคายในประเทศพม่า โดยชาวโรฮิงญาเชื่อว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับแล้วเข้ามาสร้างอาณาจักรมารุค อู ในรัฐยะไข่ปัจจุบัน

ภาพจาก wikimedia.org

สงครามโลกครั้งที่2 รัฐบาลพม่าเลือกที่จะอยู่ข้างญี่ปุ่น ขณะที่ชาวโรฮิงญากลับไปให้การสนับสนุนอังกฤษและในตอนต้นของสงครามนั้นอังกฤษพลาดท่าทำให้ต้องล่าถอยทัพออกไป ทำให้ทิ้งชาวโรฮิงญาที่กวาดต้อนเข้ามาร่วมรบและใช้แรงงานต้องเผชิญชะตากรรมในแดนพม่าลำพัง แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่2 ใกล้คลี่คลาย พม่าเปลี่ยนฝ่ายมาอยู่ข้างเดียวกับอังกฤษ อังกฤษจึงละเลยพันธมิตรเดิมอย่างชาวโรฮิงญาที่ไม่ได้มีอำนาจนักในดินแดนพม่า แม้จะช่วยให้พม่าทำข้อตกลงเวียงปางหลวงหลังจากชนะสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งมีใจความให้หลอมหลวมชนเผ่าในพม่าทุกชนเผ่าและชาวโรฮิงญาก็ได้รับการรับรองชาติพันธุ์ แต่ทว่าหลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษได้ไม่นานเกิดการปฏิวัติในปี 1978 โดยนายพลเนวิน (คนละเนวินกับเจ้าของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นะครับ แต่ก็มีเกร็ดว่าคุณชัย ชิดชอบตั้งชื่อคุณเนวินมาจากนายพลเนวินผู้ปกครองเผด็จการท่านนี้ของพม่า) ต้องการหลวมหลวมพม่าในลักษณะของพม่าพุทธและความเป็นชาตินิยม ทำให้ชาวโรฮิงญาที่มีประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ลักษณะทางกายภาพ ศาสนา และแม้กระทั่งภาษา ไม่ได้รับการยอมรับ ถึงขนาดที่มีการตรากฎหมายพม่าขึ้นมารองรับสัญชาติเผ่าอื่นๆว่า
"สัญชาติ ดังต่อไปนี้ คะฉิ่น คะยา กะเหรี่ยง ชิน เบอร์มัน มอญ ระคาย หรือฉาน และกลุ่ม ชาติพันธ์ที่ได้ตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่อยู่ภายในรัฐเป็นการฐานเป็นการถาวรในช่วงเวลาก่อน ค.ศ. 1823 ให้ถือว่าเป็นพลเมืองของพม่า"

ภาพจาก asiasociety.org

ผลของกฎหมายนี้ทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นชนที่ไม่มีสัญชาติทันที เพราะรัฐบาลพม่าเชื่อว่าชาวโรฮิงญาเข้ามาในพม่าหลัง ค.ศ.1823 นั่นเอง เท่ากับว่าพม่าไม่รับว่าชาวโรฮิงญาเป็นคนพม่า ในสมัยนี้จึงเริ่มมีการผลักดันชาวโรฮิงญาให้ออกนอกพม่า โดยการผลักดันนี้เกิดขึ้นหลายครั้งและเต็มไปด้วยความรุนแรง ทำให้พม่าต้องอพยพไปที่ต่างๆทั่วโลก และหนึ่งในนั้นก็คือไทย

ภาพจาก telegraph.co.uk

ข้อมูลจากวิกิพีเดียวพบว่าปัจจุบันชาวโรฮิงญามีราวๆ 2 ล้านคน อยู่ในพม่า 8 แสนคน อพยพไปซาอุฯประเทศพี่ใหญ่ของมุสลิม 4 แสนคน กลับบังคลาเทศได้ 3 แสนคน ไปปากีสถาน 2 แสนคน และมาไทยซึ่งไม่ใช่ประเทศมุสลิมเลยในบรรดาประเทศที่อพยพถึง 1 แสนคน

ชาวโรฮิงญาบางส่วนไม่ได้ประสงค์จะอยู่ในประเทศไทยที่เป็นดินแดนพุทธ แต่ต้องการไปมาเลเซียที่มีศาสนาเดียวกัน แต่ทว่าทางมาเลเซียก็ไม่ได้ยอมรับให้มีการอพยพเข้าประเทศนัก ส่วนพม่าก็ไม่ยอมให้กลับประเทศตัวเองแล้ว ทำให้ชาวโรฮิงญาที่เข้าไทยแล้วอยู่ในสถานะทางตัน ไปไหนต่อไม่ได้จึงกลายเป็นภาระของไทยที่ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อไปตามหลักมนุษยธรรม

ภาพจาก demotix.com

ปัญหานี้ดูเหมือนจะไร้ทางออกประเทศไหนๆก็ดูจะไม่อยากรับชาติพันธุ์นี้ ถ้ามองถึงชาติกำเนิด บังคลาเทศก็ควรจะรับผิดชอบปัญหานี้ไป ถ้ามองถึงถิ่นที่อยู่ส่วนใหญ่ของชาติพันธุ์พม่าก็ควรจะรับผิดชอบปัญหานี้ไป ถ้ามองถึงผู้กวาดต้อนเข้ามาอังกฤษก็ควรจะรับผิดชอบปัญหานี้ไป ถ้ามองถึงความต้องการของชาติพันธุ์นี้ซาอุฯ บังคลาเทศ และมาเลเซียก็อาจจะต้องรับผิดชอบปัญหานี้ไป แต่ถ้ามองถึงถิ่นที่อยู่ปัจจุบันของชาติพันธุ์นี้ก็จะกลายเป็นไทยที่ควรจะต้องรับผิดชอบปัญหานี้ ปัญหานี้จึงกลายเป็นว่าใครจะมารับผิดชอบก็ได้ขึ้นอยู่กับว่ามองปัญหานี้ในมุมไหน

ที่แน่ๆคือมนุษย์ทุกคนต้องมีที่อยู่แต่ไม่มีที่ไหนที่เต็มใจให้ชาวโรฮิงญาอยู่สักที่ ที่เป็นเช่นนี้อาจะไม่ใช่เพราะว่าชาวโรฮิงญาไม่มีการศึกษา ชอบสร้างปัญหา ไม่มีทักษะการทำงาน หรือเหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญหรอกกระมัง แต่อาจจะเพราะว่า ชาวโรฮิงญา ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ได้

เครดิต https://www.facebook.com/1621213878148250
เพจ กาลครั้งหนึ่ง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่