เมื่อจิตแพทย์เด็กเขียนวิเคราะห์เรื่อง Inside out

ชอบหนังเรื่องนี้เช่นเดียวกันกับทุกคน พอดีไปอ่านเจอจากเพจจิตวิทยาเด็ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา ขอนำมาแบ่งปันนะครับ

ที่มา https://www.facebook.com/kendekthai/photos/a.605804576125399.1073741827.468898189816039/936269636412223/?type=1&theater

----------------------------------------------------

#เพราะทุกอารมณ์และความรู้สึกมีความสำคัญ

หมอได้มีโอกาสดูหนังการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่กำลังฉายอยู่

ใช่แล้วค่ะ เรื่อง Inside out

Inside out การ์ตูนสีสวย หลากสีสัน เรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อว่า ไรลีย์ และ ตัวละครหลักๆ นอกจากไรลีย์และครอบครัว ก็มีตัวละครที่เป็นตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่อยู่ในสมองของเธอ

อารมณ์ความรู้สึกเป็นนามธรรม แต่หนังก็ทำให้เรามองเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุ11ปี อย่างไรลีย์ ได้ชัดเจน

ที่หมอจะเขียนต่อข้างล่างนี้ อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังนะคะ แต่ไม่เฉลยตอนจบค่ะ

ช่วงเวลาที่ไรลีย์ยังเป็นเด็ก เธออาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่มินนิโซต้า เมืองที่อากาศหนาวเย็น แม้อากาศหนาว แต่ไรลีย์อยู่ในบ้านที่อบอุ่น พ่อแม่รักและเอาใจใส่ มีเพื่อนที่ดี มีกีฬาที่ชอบและเล่นได้ดีอย่างฮอกกี้ ไรลีย์เป็นเด็กที่มีความสุข หนังทำให้เราเห็นว่า ลูกแก้วความทรงจำของไรลีย์มีแต่สีทองเสียมาก สีทองหมายถึงสีแห่งความสุข

ตัวละครที่เป็นตัวแทนอารมณ์ความสุข ก็คือ จอย มาจากภาษาอังกฤษ joy

จอยเหมือนจะเป็นนางเอกของอารมณ์ต่างๆ ที่ประกอบด้วย เศร้าซึม(sadness) กลัว (fear) หยะแหยง(disgust) ฉุนเฉียว(anger) เพราะเวลาที่จอยออกโรง ไรลีย์จะมีความสุข มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

แต่ชีวิตไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม วันหนึ่งไรลีย์ต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก เหมือนพ่อจะมีปัญหาเรื่องเงิน ความเครียด บ้านที่ดูสกปรกไม่น่าอยู่ ต้องย้ายโรงเรียน ทุกสิ่งเข้ามาพร้อมกันทำให้ไรลีย์ยิ้มไม่ออก

เธอเริ่มเศร้า โกรธ กลัว

จอย พยายามรักษาความรู้สึกของไรลีย์ ด้วยการพยายามจัดการทุกอย่างเอง จอยบอกให้เศร้าซึมอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เพราะเชื่อว่า การที่เศร้าซึมจะออกมาทำอะไรน่าจะทำให้เกิดปัญหา

แต่ในความเป็นจริง อารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องธรรมชาติและจำเป็นที่ต้องยอมรับมัน

เพราะหากไม่ยอมรับ ก็จะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นไม่ได้

ปัญหาจะรุนแรงกว่า ถ้าเราเลือกที่จะเก็บกดหรือซ่อนความรู้สึกนั้นไว้

เรื่องราวจึงมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อทั้งจอยและเศร้าซึมหายไปจากจุดที่ไรลีย์จะรู้สึกและรับรู้ถึงอารมณ์ทั้งเศร้าและสุขได้

ไรลีย์เปลี่ยนไปเหมือนเด็กมีปัญหา

เมื่อไม่รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง พาให้หลักยึดที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจพังทลายไป ในหนังมีตัวแทนของสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของไรลีย์ คือ เกาะแห่งมิตรภาพ เกาะแห่งความจริงใจ เกาะแห่งความติ๊งต้อง(หมายถึงอารมณ์ขัน) เกาะแห่งครอบครัว เกาะแห่งฮอกกี้(เป็นกีฬาที่เธอชอบเล่น) ค่อยๆพังหายไป

เพราะทุกๆอารมณ์และความรู้สึกนั้นสำคัญ
แม้ความสุขจะทำให้เรายิ้มได้ ทำให้เรามองโลกในแง่ดี
แต่ความเศร้าบางครั้งทำให้จิตใจเราอ่อนโยนขึ้น และสามารถเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

สุขเกินไปก็ไม่ดี เศร้าเกินไปก็ไม่ได้ หมอคงไม่เล่าจนจบค่ะ เก็บไว้ให้ไปลุ้นกันในหนัง

เป็นหนังการ์ตูนครอบครัวที่ควรดูสำหรับเด็กๆ พ่อแม่ และ ผู้ใหญ่ทุกๆคน เพื่อ ความเข้าใจ และที่สำคัญ คือ ยอมรับ อารมณ์ความรู้สึก ของตัวเองและคนรอบข้าง (แต่ถ้าเด็กเล็กๆอาจจะดูไม่เข้าใจเท่าไหร่แต่คงจะชอบ เพราะสีสันสดใส เด็กเล็กๆน่าจะชอบมากๆเลย)

เข้าใจ ทำให้ยอมรับ เมื่อยอมรับ ก็จะจัดการก็อารมณ์ความรู้สึกนั้นได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่วุฒิภาวะทางอารมณ์ (หรือEQ)

แหม มันสำคัญจริงๆค่ะ

#หมอมินบานเย็น

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่