เมื่อเข้าสู่ยุคสังคมก้มหน้าอาการ’ปวดต้นคอ’ก็ถามหา



การทำงานที่มีความจำเป็นต้องนั่งโต๊ะหรือนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานของใครหลายคนในปัจจุบันเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการ ‘ปวดต้นคอ’ เพราะนอกจากจะต้องอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้ว ยังต้องก้มๆ เงยๆ และมีเรื่องราวมาให้เครียดอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เราเกิดภาวะกล้ามเนื้อตึง แข็งเกร็ง และทำให้รู้สึกปวดได้ในที่สุด ใครที่รู้สึกว่าตัวเองปวดคอเรื้อรัง อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าเป็นเพียงอาการปวดกล้ามเนื้อธรรมดา เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนบอกโรคได้ มาทำความรู้จักอาการปวดบริเวณนี้ให้มากขึ้นไปกับบทความของเราวันนี้ดีกว่าค่ะ

สาเหตุทั่วไป

    มีอิริยาบถที่ผิดสุขลักษณะ การนั่งผิดท่า หลังค่อม หรือก้มหน้ามากเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อบางมัดถูกใช้งานหนักจนเกิดอาการเมื่อยล้า ตึงเครียด
    ความเครียด ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม ความเครียดนี้เป็นอีกตัวการที่ทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง
    คอเคล็ด เป็นอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อคออย่างรวดเร็วจนเอ็นหรือกล้ามเนื้อบางส่วนเกิดอาการฉีกขาด

สาเหตุจากโรค

    หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจเกิดฉากอุบัติเหตุหรือข้ออักเสบจนส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมและเลื่อนไปทับเส้นประสาท หากไม่รักษาทันทีอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตได้
    ท่อไขสันหลังตีบ การเสื่อมของกระดูกต้นคอทำให้รูบริเวณท่อไขสันหลังแคบลงและไปกดทับประสาทส่วนไขสันหลัง เป็นสาเหตุของอาการปวดที่บริเวณคอ ชามือและขา ควบคุมร่างกายลำบาก
    กระดูกต้นคอเสื่อม เมื่อเกิดภาวะข้อเสื่อมจะทำให้มีปุ่มกระดูกงอกออกมาแล้วอาจไปกดทับเส้นประสาทบริเวณคอทำให้เกิดความรู้สึกปวดได้
    อุบัติเหตุ อุบัติเหตุที่เกิดบริเวณนี้จะส่งผลให้กล้ามเนื้ออักเสบจนเกิดความรู้สึกปวด ในบางรายที่รุนแรงก็อาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้

วิธีดูแลตนเองเบื้องต้น

    เลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อบริเวณคอให้มากที่สุด
    สามารถรรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม เพื่อช่วยบรรเทาปวดได้
    ใช้การประคบเย็นหรือประคบร้อนเพื่อบรรเทาปวดที่ต้นคอประมาณ 10-15 นาที
    การนวดแผนไทยหรือกดจุด ควรรับการนวดและกดจุดจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อผลลัพธ์ที่ดีรวมถึงความปลอดภัย เพราะบริเวณคอเป็นศูนย์รวมเส้นประสาทมากมาย

การรักษา

         ในบางครั้งหากอาการปวดมีความรุนแรงและเป็นเรื้อรังจนผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้ โดยทางโรงพยาบาลมักจะสังเกตอาการ ตรวจหาตำแหน่งที่ปวด แล้วจึงทำการกายภาพและรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

– การประคบร้อน

– การใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์

– การรักษาโดยใช้เลเซอร์

– การทำกายภาพด้วยวิธีดึงคอ การนวดและการเฝือกคอ

         ทางที่ดีเราควรป้องกันก่อนจะเกิดอาการปวดหรือภาวะรุนแรงต่างๆ ด้วยการนั่ง ยืน และนอนให้ถูกอิริยาบถ หมั่นบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ลดการเกิดอาการบาดเจ็บอย่างได้ผล ที่สำคัญ การเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ระมัดระวัง ก็เป็นตัวช่วยที่ดีในการป้องกันอาการบาดเจ็บและปวดต้นคอค่ะ



ขอบคุณที่มา http://www.healthydeejung.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่