เลียมเภา คนต้นแบบของฮองตง

กระทู้คำถาม
ฮองตงอาสาตีเสบียงที่เขาเตงกุนสัน ครั้งนั้น หลังจากที่เล่าปี่ได้มอบหมายให้ฮองตงตีแฮหัวเต๊ก
ที่เขาเทียนตองสันเรียบร้อยแล้ว ฮองตงกำลังฮึกเหิม และอาสาจะไปตีคลังเสบียงของโจโฉที่
เขาเตงกุนสันซึ่งมีแฮหัวเอี๋ยนเฝ้าอยู่อีก แต่กลับถูกขงเบ้งปรามว่าฮองตงมีอายุมากแล้ว อาจจะไม่
สามารถรับมือกับแฮหัวเอี๋ยนได้ ควรจะไปตามกวนอูจากเมืองเกงจิ๋ว ให้มารบแทน

     ฮองตงได้ยินดังนั้นก็โกรธแล้วว่า “ครั้งนั้นเจ้าเมืองก๊กมีทหารคนหนึ่ง ชื่อเลียมเภา อายุแปดสิบเศษ
มีกำลังเป็นอันมาก กินอาหารเสมอวันละถัง สุกรวันละสิบชั่ง หัวเมืองทั้งปวงยำเกรงเลียมเภาเป็นอันมาก
แลตัวข้าพเจ้านี้อายุแต่เจ็ดสิบปี จะขอแต่ทหารเลวไปด้วยสามพัน จะตัดเอาศีรษะแฮหัวเอี๋ยนมาให้ได้”

     ขงเบ้งห้ามปรามอีกสามครั้ง ก่อนจะยินยอมให้ฮองตงยกทัพไป และฮองตงก็สามารถสังหารขุนพลเอก
อย่างแฮหัวเอี๋ยนได้สำเร็จ ตามที่คุยไว้

*********************************



เลียมเภา เป็นนายทหารเอกระดับอาวุโสของแคว้นจ้าว เขาถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดขุนพลแห่งยุคเลียดก๊ก
อีกสามคนคือ ไป๋ฉี่, หวังเจี้ยน และ หลีมู่  เลียมเภามีชื่อเสียงอย่างมากในการนำแคว้นจ้าวเอาชนะแคว้นฉี และแคว้นเว่ย
ด้วยความที่เลียมเภามีอายุมากแต่ยังแข็งแรงอยู่นี่เอง ฮองตงจึงยกเอาเลียมเภามาเป็นข้อแก้ต่างให้กับความแคลงใจ
ในเรื่องอายุของเขา

เรื่องฝีมือการรบและความชรา ของฮองตงและเลียมเภา นั้นคือความเหมือน แต่เรื่องราวของเลียมเภา ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด
คือเป็นเรื่อง “แบกหนามขอขมา”  (ฟู่จิงฉิ่งจุ้ย , 负荆请罪)

เลียมเภา เป็นขุนพลที่สร้างสมชื่อเสียงจากสนามรบ จนได้เป็นขุนนางระดับสูงของแคว้น แต่ต่อมามีกุนซือหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง
นามว่า หลินเซียงหยูสร้างความดีความชอบด้วยคารมและสติปัญญา โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่เขาเดินทางเข้าไปเจรจากับอ๋อง
แห่งแคว้นฉิน และสามารถนำตราหยกซึ่งเป็นสิ่งของล้ำค่าของแคว้นจ้าว กลับมาได้สำเร็จ

หลินเซียงหยูรับราชการไม่นานก็ได้ตำแหน่งเป็นถึงเสนาบดี ทำให้เลียมเภาเกิดอาการริษยา และคิดว่าเขารับราชการ ทำศึกสงคราม
มานับไม่ถ้วน แต่กลับถูกหลินเซียงหยูที่ทำการแต่เพียงลมปากแซงล้ำหน้า เขาจึงตั้งใจว่าหากพบหลินเซียงหยูที่ใด จะแกล้งทำ
ให้หลินเซียงหยูอับอายขายหน้าให้จงได้

      หลินเซียงหยู รู้ว่าเลียมเภาไม่ชอบหน้าและคิดจะกลั่นแกล้งตน จึงพยายามหลีกเลี่ยง ไม่เผชิญหน้ากับเลียมเภา หากเจอกัน
หลินเซียงหยูก็จะคอยหลบทางให้เสมอ พร้อมกับกำชับให้ลูกน้องของตน ให้หลบเลี่ยงและอย่ามีเรื่องมีราวกับลูกน้องของเลียมเภา
ด้วย จนลูกน้องของหลินเซียงหยู ถูกลูกน้องของเลียมเภาหัวเราะเยาะ ที่มีนายขี้ขลาดตาขาว

     ลูกน้องของหลินเซียงหยูหมดความอดทน จึงขอเข้าพบนายตนแล้วเล่าเรื่องคำดูหมิ่นให้หลินเซียงหยูฟัง หลินเซียงหยูจึงสอน
ลูกน้องว่า “ข้าไม่ต้องการมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับเลียมเภา เพราะการที่แคว้นฉิน ไม่กล้าส่งกำลังเข้ามาตีแคว้นของเรา นั่นเป็น
เพราะแคว้นของเรามีแม่ทัพเลียมเภา กับตัวข้าคอยปกป้องอยู่ หากแคว้นฉินเห็นว่าขุนนางใหญ่แห่งแคว้นจ้าวไม่สามัคคีกันแล้ว
พวกมันคงต้องฉกฉวยโอกาสนี้ บุกเข้ามาโจมตีเราเป็นแน่แท้” ตั้งแต่นั้นมาลูกน้องของหลินเซียงหยูก็เข้าใจ และยอมถอยให้กับพวก
เลียมเภามาตลอด

     ต่อมาเมื่อ เลียมเภา ล่วงรู้เจตนารมณ์นี้ของหลินเซียงหยู เลียมเภาจึงรู้สึกผิดและละลายใจยิ่งนัก เขาจึงถอดเกราะถอดเสื้อออก
แล้วเอากิ่งหนามผูกหลัง ไปขอเข้าพบหลินเซียงหยูที่จวน เมื่อทั้งสองพบหน้ากัน เลียมเภาก็รีบคุกเข่าขอขมาแล้วขอให้หลินเซียงหยู
ลงโทษโดยเอากิ่งไม้เหล่านี้โบยตีเขา แต่หลินเซียงหยูปฏิเสธ แล้วรีบเข้าไปประคองเลียมเภาขึ้น จากนั้นจึงหาเสื้อผ้าอย่างดีมาให้ใส่
แล้วพูดคุยปรับความเข้าใจกัน ในที่สุดเขาทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนสนิท และร่วมมือกันปกป้องชาติบ้านเมือง

ปัจจุบันคำว่า “ฟู่จิงฉิ่งจุ้ย” หรือ “แบกหนามขอขมา” กลายมาเป็นสำนวน แปลว่า "ยอมรับความผิดของตนเองโดยไร้ข้อโต้แย้ง
และกล่าวขอโทษด้วยความจริงใจ"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่