(บทความ) เลียมเภา ขุนพลเฒ่าที่น่ายกย่องเพราะรู้จักก้มหัวให้กับเด็กรุ่นหลัง

.
     ผมรู้จักชื่อเลียมเภาครั้งแรกก็ตอนอ่านสามก็กจากตอนที่  ฮองตงหนึ่งในขุนพลเอกของเล่าปี่ ยกเอาเลียมเภามาเป็นข้อแก้ต่างให้กับความแคลงใจในเรื่องอายุของเขา ในการอาสาออกศึกครั้งหนึ่ง แต่ถูกขงเบ้งแสร้งเอ่ยทัดทานถึงสามครั้ง แล้วบอกว่า ควรจะไปตามกวนอูจากเมืองเกงจิ๋ว ให้มารบแทน เมื่อฮองตงได้ยินดังนั้นจึงถึงขั้นโกรธจนหนวดชี้ แล้วว่า

     “ครั้งนั้นเจ้าเมืองก๊กมีทหารคนหนึ่ง ชื่อเลียมเภา อายุแปดสิบเศษ มีกำลังเป็นอันมาก กินอาหารเสมอข้าววันละถัง สุกรวันละสิบชั่ง หัวเมืองทั้งปวงยำเกรงเลียมเภาเป็นอันมาก แลตัวข้าพเจ้านี้อายุแต่เจ็ดสิบปี จะขอแต่ทหารเลวไปด้วยสามพัน จะตัดเอาศีรษะแฮหัวเอี๋ยนมาให้ได้”  ซึ่งฮองตงหาได้ล่วงรู้ไม่ ว่าถูกอุบายของขงเบ้งเร่งให้พิชิตศึกโดยเร็วเข้าให้แล้ว เพราะขงเบ้งเห็นว่าการปล่อยให้โจโฉยกทัพเสบียงมาประจำการอยู่ที่ช่องเขาเทียนตองสัน ซึ่งถือว่าจ่อประชิดจ๊กก๊กเลย น่าจะเป็นภัยในอนาคต ดังนั้นการปล่อยให้ศัตรูมายุ่มย่ามอยู่ใกล้ๆมันไม่ดี แต่จะให้ฮองตงยกทัพใหญ่ไปรับมือก็ไม่ได้ เพราะขงเบ้งต้องการตรึงกำลังเอาไว้ช่วยเหลือกวนอูเตรียมรับมือฝ่ายซุนกวนที่เมืองเกงจิ๋วมากกว่า จึงหาทางให้ฮองตงรีบพิชิตศึกโดยเร็ว โดยใช้คนน้อยที่สุด ซึ่งฮองตงก็ทำสำเร็จ สามารถสังหารแฮหัวเอี้ยนที่นำทหารมานับหมื่นได้สำเร็จ ทั้งๆที่มีกำลังพลเพียงสามพัน

     ผมเลยรู้สึกสงสัยว่า ตาแก่เลียมเภานี้เป็นใคร ทำไมถึงทำให้ตาแก่หัวรั้นอย่างฮองตงยกขึ้นมาอ้างได้ ไปค้นหาเจอในประวัติศาสตร์ สมัยเลียดก๊ก (ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้) อ่านดูแล้วก็พบว่า คนผู้นี้เป็นขุนพลเฒ่าที่น่ายกย่องจริงๆ จึงหยิบมาเขียนเป็นบทความบอกเล่าให้เพื่อนๆมิตรสหายในราชดำเนินแห่งนี้ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกัน

     เลียมเภา หรือ เหลียนพอ (廉頗) เป็นทหารเอกอาวุโสของแคว้นจ้าว หนึ่งในหกแคว้นซึ่งช่วงชิงความเป็นใหญ่ในยุคนั้น เขาถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดขุนพลแห่งยุคเลียดก๊ก (ร่วมกับแม่ทัพในยุคเดียวกันอีก 3 คน  คือ ไป๋ฉี่, หวังเจี้ยน และ หลีมู่) เลียมเภามีชื่อเสียงอย่างมากในการนำแคว้นจ้าวเอาชนะแคว้นฉี และแคว้นเว่ย แต่ไม่ใช่ด้วยความที่เลียมเภามีฝีมือการรบแม้จะอายุมากแต่ยังแข็งแรงอยู่เพียงนะครับ ที่ทำให้ขุนพลเฒ่าผุ้นี้ได้รับการยกย่องกันมาอย่างยาวนาน  ส่วนจะเป็นเหตุผลใดนั้น ลองอ่านบทความนี้ของผมไปเรื่อย ท่านที่อ่านหัวข้อกะทู้ก็น่าจะรู้คำตอบแล้วครับ แต่ถ้ายังอยากทราบเรื่องราว และไม่เบื่อหน่ายที่จะอ่านเรื่องที่ยาวเกิน 7 บรรทัดแน่นอนอยู่แล้ว (เพราะผมไม่เคยเขียนสั้นๆ แต่ก็พยายามย่อสุดฤทธิ์ โดยนื้อหาใจความยังอยู่ครบ เพราะอยากให้จำนวนคนอ่านเพิ่มมากขึ้น) ก็เชิญทัศนาต่อไปเลยครับ

     ขอเข้าเรื่องที่จะเขียนในบทความนี้จริงๆสักทีนะครับ

     เรื่องฝีมือการรบและความชรา ของฮองตงและเลียมเภา นั้นคือความเหมือนกันของคนทั้งคู่จากสองยุค คือยังรักษาความเก่งกาจไว้ได้ยาวนานจนล่วงเลยเข้าวัยชรา และฝีมือการรบของเลียมเภาไม่เป็นที่กังขาเพราะอย่างที่บอกตอนต้น ฝีมือจัดไปหนึ่งในสี่ของแผ่นดินในยุคนั้น แต่เลียมเภาไม่ได้เลื่องลือขึ้นชื่อที่สุดสำหรับชื่อเสียงในภายหลัง เพราะเรื่องราวของฝีมือการรบ แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด กลับเป็นเรื่อง “แบกหนามขอขมา” (ฟู่จิงฉิ่งจุ้ย , 负荆请罪) (ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่ผมเขียนบทความของคนผู้นี้)

     เลียมเภา เป็นขุนพลที่สร้างสมชื่อเสียงจากสนามรบมาอย่างยาวนานตั้งแต่วัยหนุ่มยันแก่ จนได้เป็นขุนนางระดับสูงที่ทรงอิทธิพลมากของแคว้นจ้าว แต่ต่อมามีกุนซือวัยหนุ่มเด็กรุ่นหลังรุ่นลูกนามว่า หลินเซียงหยู (蔺相如) สร้างความดีความชอบด้วยคารมและสติปัญญา โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่เขาเดินทางเข้าไปเจรจากับอ๋องแห่งแคว้นฉิน และสามารถนำตราหยกซึ่งเป็นสิ่งของล้ำค่าของแคว้นจ้าว กลับมาได้สำเร็จ (หยกที่ว่านี้คือ หยกเหอซื่อปี้ ซึ่งมีที่มาและความน่าสนใจไม่น้อย ผมตั้งใจไว้ว่าจะเขียนเป็นบทความอีกชิ้นในโอกาสต่อๆไป)

     บทบันทึกประวัติศาสตร์บอกว่าการที่ หลินเซียงหยู ประกอบความดีความชอบจนเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วทั้งๆที่อายุยังน้อยนั้น ทำให้เลียมเภาเกิดรู้สึกไม่ถูกชะตา หรือพูดง่ายๆว่าอิจฉาริษยากุนซือหนุ่มผู้นี้ เพราะเขาคิดว่าตัวเขาเองรับราชการมาก็นาน ผ่านการทำศึกสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน แต่กลับถูกหลินเซียงหยูที่ทำการแต่เพียงลมปากมาเทียบเคียงและมีทีท่าว่าจะแซงล้ำหน้า เขาจึงตั้งใจว่าหากพบหลินเซียงหยูที่ใด จะคอยกลั่นแกล้ง ทำให้หลินเซียงหยูอับอายขายหน้าให้จงได้

     หลินเซียงหยูนั้นก็ รู้ว่าเลียมเภาไม่ชอบหน้าและคิดจะกลั่นแกล้งตน ด้วยเป็นคนมีปัญญา จึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้ากับเลียมเภาเรื่อยมา หากเจอกันหลินเซียงหยูก็จะคอยหลบทางให้เสมอ พร้อมกับกำชับให้ลูกน้องคนสนิทรวมคนในครอบครัวของตนเอง ให้หลบเลี่ยงและอย่ามีเรื่องมีราวกับทางฝ่ายของเลียมเภา เพราะล่วงรู้อุปนิสัยอันเปิดเผยของเทียมเภาว่าต้องใช้งานลูกน้องของตัวเอง มาหาเรื่องอย่างเปิดเผยแน่ๆ ซึ่งก็จริง ที่เหล่าลูกน้องของหลินเซี่ยงหยูถูกรังควานหาเรื่องไม่เว้นแต่ล่ะวัน ลูกน้องหลินเซี่ยงหยูก้เอาแต่หลบเลี่ยง จนลูกน้องของหลินเซียงหยู ถูกลูกน้องของเลียมเภาหัวเราะเยาะ ที่มีนายขี้ขลาดตาขาว

     จนลูกน้องของหลินเซียงหยูเริ่มหมดความอดทน จึงขอเข้าพบนายของตนแล้วเล่าเรื่องคำดูหมิ่นให้หลินเซียงหยูฟัง หลินเซียงหยูจึงสอนลูกน้องว่า “ข้าไม่ต้องการมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับเลียมเภา เพราะการที่แคว้นฉิน ไม่กล้าส่งกำลังเข้ามาตีแคว้นของเรา นั่นเป็นเพราะแคว้นของเรามีแม่ทัพเลียมเภา กับตัวข้าคอยปกป้องอยู่ หากแคว้นฉินเห็นว่าขุนนางใหญ่แห่งแคว้นจ้าวไม่สามัคคีกันแล้ว พวกมันคงต้องฉกฉวยโอกาสนี้ บุกเข้ามาโจมตีเราเป็นแน่แท้” ซึ่งแม้เหล่าลูกน้องของหลินเซียงหยูจะเป็นคนธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก แต่ต่างก็เข้าใจเพราะอยู่คลุกคลีกับผู้เป็นนายที่มากปัญญา จึงพลอยได้รับอานิสงค์รู้เท่าทัน และคิดการกว้างไกลมากกว่าเห็นแค่ความแค้นที่อยู่ตรงหน้า ตั้งแต่นั้นมาลูกน้องของหลินเซียงหยูก็เข้าใจ และยอมถอยหรือถ้าถอยไม่ทันก็ยอมไม่ตอบโต้ให้กับพวกเลียมเภามาตลอด

     ต่อมาเมื่อ เลียมเภา มีโอกาสล่วงรู้เจตนารมณ์นี้ของหลินเซียงหยูโดยบังเอิญ ทำให้เลียมเภาจึงรู้สึกได้ว่า ตนเองผิดและละลายใจยิ่งนัก เขาจึงกับยอมถอดเกราะถอดเสื้อออกแล้วเอากิ่งหนามผูกหลัง  เพื่อไปขอเข้าพบหลินเซียงหยูที่จวน  เมื่อทั้งสองพบหน้ากัน เลียมเภาก็รีบคุกเข่าก้มหัวขอขมาแล้วขอให้หลินเซียงหยูลงโทษโดยเอากิ่งไม้เหล่านี้โบยตีเขา แต่หลินเซียงหยูปฏิเสธ แล้วรีบเข้าไปเอากิ่งหนามเหล่านั้นออกจากหลังอีกฝ่าย แล้วประคองเลียมเภาขึ้น จากนั้นจึงหาเสื้อผ้าอย่างดีที่สุดเท่าที่ตนมีมาให้ใส่  การกระทำอย่างจริงใจของเลียมเภาที่กล้าทำกล้ารับ และพร้อมขอโทษด้วยความสำนึกได้ เป็นจุดเริ่ม ให้ทั้งคู่พูดคุยปรับความเข้าใจกัน ในที่สุดเขาทั้งสองก็กลายเป็นมิตรแท้ของกันและกัน และร่วมมือกันปกป้องชาติบ้านเมืองอย่างแข็งขัน

     ปัจจุบันคำว่า “ฟู่จิงฉิ่งจุ้ย” หรือ “แบกหนามขอขมา” กลายมาเป็นสำนวน แปลว่า "ยอมรับความผิดของตนเองโดยไร้ข้อโต้แย้ง และกล่าวขอโทษด้วยความจริงใจ"
       负荆请罪       
       负(fù) อ่านว่า ฟู่ แปลว่า แบก หรือสะพาย
       荆 (jīng) อ่านว่า จิง แปลว่า กิ่งของต้นเชสเต้ ซึ่งเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ดอกสีม่วง มีหนามแหลม
       请罪 (qǐng zuì) อ่านว่า ฉิ่งจุ้ย แปลว่า ขอให้ผู้อื่นยกโทษให้ตน 

 


ขอคุยกับเพื่อนๆสักนิดว่า
     เขียนบทความนี้จบ ผมก็... นึกเสียดาย ที่ไม่มีผู้เฒ่าอย่างเลียมเภาเหลือให้ผมเห็นอีกแล้วสักครึ่งคนก็ไม่มี  ที่ทำผิดแล้วกล้าขอโทษเด็กรุ่นหลัง ที่เห็นอยู่ก็มีแต่พวกตาแก่ดันทุรังที่พยายามลากไปทั้งๆที่ผิด

     แต่ก็ยังดีครับ ที่ผมยังไม่ต้องมานึกเสียดาย เพราะคนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ยังยึดถือลูกน้องของหลินเซี่ยงหยูเป็นตัวอย่างแบบนี้แหละดีแล้วครับ คือ เราต้องรู้จักอดทน

     เพราะการนิ่งเฉยมิได้แสดงว่าเรากำลังกลัวหรือยอมรับ และการตอบโต้ก็ไม่ได้แสดงซึ่งความกล้าหาญหรือเป็นการปฏิเสธอย่างถูกต้องเสมอไปนะครับ อดทนไว้ครับ รอวันที่สิทธิ์จะกลับมาอยู่ในมือเรา

      เรื่องราวของคนรุ่นก่อนสอนคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดีครับ อย่าไปยึดติดว่าเป็นเรื่องราวราวของชนชาติเราเท่านั้น เรื่องราวของคนดี คนชั่วของทุกชนชาติในโลกนี้ สอนเราได้อย่างดี ถ้าเรารู้จักมอง คิด และ วิเคราะห์ครับ

     แต่บทความต่อไปขอฉีกแนวมาเขียนเรื่องหญิงงามและความรักแบบโรแมนติคท่ามกลางสงครามบ้างนะครับ ซึ่งเดาว่าคุณชุนเทียนน่าจะชอบเป็นพิเศษแน่นอน อย่าลืมติดตามนะครับ

ปล.หลายท่านอาจเห็นว่าผมในรอบที่กลับมาเริ่มเขียนใหม่ครั้งนี้  เขียนเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับยุคสมัยสามก็กอยู่บ่อยครั้ง ก็เพราะ ในยุคสมัยสามก็กนั้นจัดเป็นวัตถุดิบชั้นดี สำหรับบทความในสไตล์ที่ผมเขียน แต่จะให้ไปเขียนถึงตัวบุคคลหรือเหตุการณ์ในช่วงสามก็กเลย ก็บอกตรงๆครับ ว่าไม่ค่อยอยากเขียนเท่าไร เพราะมีคนเขียนถึงอยู่มากมายแล้ว สู้ไปเขียนถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ไม่มีบทบาทในยุคนั้นตรงๆดีกว่า ซึ่งบุคคลประเภทนี้ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย เช่น  เลียมเภา ขุนพลเฒ่าที่ผมเขียนในวันนี้ หรือ ยอดขุนพลหานซิ่นที่เขียนไว้เมื่อวาน ท่านที่สนใจรออ่านกันได้ครับ รับรองผมมีวัตถุดิบมาเตรียมปรุงรสให้ท่านที่ชอบเรื่องราวแบบนี้ได้อ่านกันอย่างเพลิดเพลินแน่ๆ

สุดท้าย ก็เช่นเคยนะครับ ไม่จำเป็นต้องเชื่อผม ผมอ่านและเข้าใจมาแบบไหน ผมก็ถ่ายทอดออกมาตามความเข้าใจของผมเอง
ขอบคุณครับ

*แก้ไขคำผิด
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
หลินเซียงหยู  รับราชการทีหลัง แต่ตำแหน่งใหญ่กว่า เพราะผลงาน

完璧归赵 หวาน ปี้ กุย จ้าว คืนหยก(สภาพเดิม) กลับคืนรัฐ  จ้าว

เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า

รัฐ ฉิน  อยากแผ่บารมี มายังประเทศต่างๆ  ได้ยินมาว่าที่รัฐ จ้าว มีหยกวิเศษอยู่ก้อนหนึ่ง

เลยยื่นข้อเสนอขอเอาหยกก้อนนี้แลกกับ 15 เมืองของฉิน  จ้าวอ๋อง ได้ยินข้อเสนอก็รู้ว่า รัฐ ฉิน หาเรื่อง

แต่ก็ไม่กล้าขัดใจ ขณะเดียวกันก็ไม่อยากเสียหยกก้อนนี้ หลินเซียงหยู จึงรับอาสาเอาหยกไป โดยสัญญาว่า

ถ้ารัฐ ฉิน โกง ก็จะนำหยกกลับมาสภาพเดิม


ถึงเวลาแลก ฉินอ๋อง คิดจะโกงจริงๆ หลินเซียงหยู จึงออกอุบายขอหยกคืนจาก ฉินอ๋อง โดยให้เหตุผลว่า

"หยกนี้มีจุดที่เป็นตำหนิเล็กๆ" ฉินอ๋อง หลงกล ส่งหยกคืน หลินเซียงหยู รับหยกแล้ว วิ่งไปที่กำแพง แล้วพูดว่า

"คุณหลอกดาว" คุณมุง ไม่มีใจจะแลกเปลี่ยน ไหนบอกจะทำตามสัญญา ตรูไม่เชื่อมุงแล้ว ถ้ามุงขืนเข้ามา

ตรูจะเอาหยกนี้กระแทกให้แตก

ฉินอ๋อง อับจนปัญญา จึงได้แต่ปล่อย หลินเซียงหยู กลับไปพร้อมหยก

วีรกรรมครั้งนี้ สร้างชื่อให้กับ หลินเซียงหยู มาก และเมื่อบวกกับอีกหนึ่งวีรกรรม

จ้าวอ๋อง จึงไม่ลังเลแต่งตั้งให้ หลินเซียงหยู เป็นอุปราช ยศใหญ่กว่า เหลียนพอ

ป.ล เล่าจากความทรงจำ เลยไม่ได้ใส่รายละเอียด

ป.ล 2 บางประโยคดัดแปลงบทเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น (อาบัติ ยังต้องแก้บทเหมือนกัน)
ความคิดเห็นที่ 9
น้อมคารวะท่านพระรอง ที่นับถือเสมอมาครับ

หากเพ่งมองชื่อหัวข้อกระทู้  " ขุนพลเฒ่า ที่น่ายกย่องเพราะรู้จักก้มหัวให้กับเด็กรุ่นหลัง "
แก่นของเรื่อง สามารถนำมาเป็นเรื่องเตือนใจศึกษา หรือแม้แต่นำมาเทียบเคียงเหตุการณ์ปัจจุบัน อนาคต

ก็จะพบว่า การกระทำอย่างนั้นน่าสมควรยกย่อง
เพราะที่พบเจอส่วนมากเป็นแต่   " หลอกใช้เด็กรุ่นหลัง "  

หรือบงการใช้เด็กรุ่นหลังให้เป็นประโยชน์ต่อผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการ โดยไม่เลือกวิธี
อันจะเรียกให้สวยหรูว่า กุศโลบาย อุบาย พิชัยสงคราม หรือจะเรียกว่า เล่ห์เหลี่ยมก็ย่อมได้

หรือจะเรียกว่า " ขิงแก่ ย่อมเผ็ดร้อนกว่า " ก็ได้  ซึ่งในวงการการเมือง อดีต ปัจจุบัน อนาคต มักไม่ค่อยปรากฏ
เรื่องราวดีๆ ที่ท่านเจ้าของกระทู้นำมาลงเป็นเรื่องเตือนใจ

เพราะในอดีตวงการเมือง ส่วนมากมักจะใช้ศัทพ์หรือเหตุการณ์ในนิยายพงศาวดารจีนมาใช้เรียกผู้เฒ่าที่สูงวัยกว่า
ในแง่มุมมองไม่ดี  เช่น   เฒ่ าสารพัดพิษ เฒ่ าทารก  อันเห็นภาพลักษณ์ชัดเจน  หรือแม้แต่นำเอาชื่อตัวละครนิยายจีนมาเรียกเลย
ก็มี   เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน   เช่น  จิวแป๊ะทง   จ้อแนเซี่ยง  งักปุ้งคุ้ง

ที่เอ่ยนามมาล้วนเป็นผู้สูงอายุ สูงวัยทั้งสิ้น ต่างก็มีตำแหน่ง หรือต่างเป็นระดับเจ้าสำนัก
แต่เมื่อความประพฤติไม่ดี เดินไปในเส้นทางอธรรม  ชื่อเสียงที่สั่งสมมา ก็พินาศไปได้ง่าย
ในการตัดสินใจผิดเพียงครั้งเดียว ก็พ่ายแพ้ต่อหมากกระดานชีวิต

เฉกเช่น ที่เลียมเภา  เกือบตัดสินใจพลาดผิดไป แต่ด้วยความมีเชื้อปัญญา จึงสามารถกลับตัว กลับใจได้ทัน

อันเป็นที่มาของ เรื่องที่ท่านพระรองนำมาเขียนถึง นี่แหละครับ

ส่วนสถานะการปัจจุบัน  คำว่า " ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน "  ยังเต็มไปในวงการครับ
ยิ่งสูงวัยขึ้น ก็จะยิ่งเหมือนกับคำว่า มะละกอ ยิ่งแก่ แผลเป็นยิ่งรอบตัว

ผู้น้อยขออนุญาตสรุปแก่นเรื่อง ที่เป็นสัจธรรมด้วยคำว่า " คลื่นลูกหลัง ทะยอยไล่คลื่นลูกแรก "
นี่คือข้อคิด ที่คนสูงวัยต้องผ่านให้ได้  ไม่อย่างนั้นความอิจฉา ริษยา ก็จะทำให้คนรอบข้าง รวมไปถึงแผ่นดินปั่นป่วนครับ

ท่านพระรอง  อย่าลืมเขียนถึง  " ตงฟานปุ๊ป้าย " ( ในวงการเมือง ) ด้วยนะครับ  

ขอน้อมคารวะครับ
ความคิดเห็นที่ 11
สวัสดีค่ะท่านเจ้าของกระทู้ พึ่งทราบเหมือนกันว่าบอร์ดราชดำเนินแห่งนี้มีคนที่เก่งเรื่องสามก๊กและรู้จักวิเคราะห์ได้แบบที่เข้าใจง่าย และข้อมูลแม่นมาก ตอนแรกดิฉันก็จะตั้งกระทู้เกี่ยวกับเรื่องสามก๊กเหมือนกัน พอเห็นกระทู้นี้ก็คงไม่ตั้งแล้ว แต่จะขออนุญาตนำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวละครตัวหนึ่งที่สำคัญในเรื่องสามก๊กมาร่วมสนุกในกระทู้นี้ด้วยเลย ขออนุญาตนะค่ะ

ขอคืนความเป็นธรรมให้ "อุยเอี๋ยน"


บุคคลหนึ่งในยุคสามก๊ก ที่ถูก หลอกว้าน ผู้แต่งวรรณกรรมสามก๊ก จงใจพะยี่ห้อ "กบฏ" ให้ คงไม่มีใครโดนกล่าวหารุนแรงเท่ากับ "อุยเอี๋ยน" อีกแล้ว

อุยเอี๋ยน หรือ เว่ยเหยียน เกิดที่เมืองอี้หยาง ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน สูงแปดฟุต หน้าสีน้ำตาลเข้มดั่งผลพุทราสุก วรรณกรรมสามก๊กอ้างว่าเขาเคยเป็นนายทหารเมืองเกงจิ๋ว ลูกน้องของ “เล่าเปียว”

หลังจากเล่าเปียวตาย อุยเอี๋ยนพยายามเปิดประตูรับ เล่าปี่ ที่อพยพหนี โจโฉ ให้เข้ามาในเกงจิ๋ว แต่ นายทหารเกงจิ๋วหลายคนซึ่งเป็นพวกของชัวมอไม่ยอม ฝ่ายเล่าจ๋องลูกชายตัวน้อยของเล่าเปียวซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนใหม่ก็เด็กเกินกว่าจะตัดสินใจอะไรได้ เล่าปี่เห็นไม่เข้าท่าจึงหนีไปอยู่ที่เมืองกังเหลง

ฝ่ายอุยเอี๋ยน หลังเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นแล้วก็ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองเตียงสา ซึ่งมี ฮันเหียน เป็นเจ้าเมือง แต่ฮันเหียนไม่ชอบอุยเอี๋ยน จึงไม่เคยช่วงใช้ ทั้งยังดูถูกเขาให้ได้เจ็บใจ

ครั้นขงเบ้งให้กวนอูมาตีเมืองเตียงสา ฮันเหียนจึงให้ ฮองตง ออกไปรบ แต่แล้วฮันเหียนกลับจะประหารฮองตงเสียเพราะเข้าใจว่าขุนพลเฒ่า "ล้มมวย" แกล้งฮั้วกับกวนอู

อุยเอี๋ยนเห็นดังนั้นจึงปลุกระดมให้ทหารเมืองเตียงสาร่วมกันกำจัดฮันเหียนเสีย โดยนำทหารราวหนึ่งร้อยคนบุกเข้าไปตัดหัวฮันเหียน แล้วเอาศีรษะของฮันเหียนไปสวามิภักดิ์ต่อกวนอู

แต่แล้วเมื่อได้เข้าพบขงเบ้งและเล่าปี่ ขงเบ้งกลับ "สั่งประหาร" อุยเอี๋ยนท่ามกลางความตกตะลึงของเหล่าขุนนาง โดยขงเบ้งชี้ว่าอุยเอี๋ยนเป็นคนทรยศนาย จักเอาไว้ไม่ได้ !!

เคราะห์ดีที่เล่าปี่ได้ห้ามยอดกุนซือของตนเองไว้ โดยบอกว่าหากฆ่าอุยเอี๋ยนเสีย ต่อไปจะไม่มีใครกล้ามาสวามิภักดิ์อีก ขงเบ้งจึงยอม แล้วปรามอุยเอี๋ยนให้รับใช้เล่าปี่อย่างซื่อสัตย์


ต่อมา อุยเอี๋ยนและฮองตง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพหน้าของเล่าปี่คู่กัน โดยทั้งคู่เป็นกำลังหลัก ช่วยให้เล่าปี่ยึดเสฉวนได้สำเร็จ

อุยเอี๋ยนมีบทบาทสำคัญในการรบกับฝ่ายโจโฉอีกหลายครั้ง ในศึกชิงเมืองฮันต๋ง ขณะที่ทัพวุยกำลังเสียทีอยู่นั้น อุยเอี๋ยนเกือบปลิดชีวิตจอมคนผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศได้ โดยเขาได้ยิงเกาทัณฑ์ถูกปากของโจโฉฟันหักสองซี่ตกจากหลังม้า ทำให้โจโฉต้องถอยกลับราชธานีฮูโต๋ไปด้วยความบอบช้ำ คือเสียฮันต๋งแล้วยังเสียฟันไปอีกสองซี่

หลายปีต่อมา เมื่อขงเบ้งนำทัพลงใต้ไปปราบขบถ อุยเอี๋ยนมีส่วนในการจับเป็นเบ้งเฮ็กหลายต่อหลายครั้ง จนครบเจ็ดครั้ง เจ้าแห่งพวกม่านจึงยอมแพ้ต่อพญามังกรจูกัดเหลียง

ครั้นขงเบ้งนำทัพขึ้นเหนือไปบุกวุยก๊ก อุยเอี๋ยนได้เป็นกำลังหลักไปด้วยเช่นเคย โดยระหว่างการบุกเหนือ อุยเอี๋ยนเริ่มขัดแย้งกับขงเบ้งหลายหน

ที่น่าสนใจคือ การที่เขาได้อาสาขอนำทัพโจมตีวุยก๊กในลักษณะกองโจร โดยขอกำลังเพียงห้าพันนายจู่โจมเข้าตีเมืองเตียงอันโดยตรงแทนที่จะบุกไปทางเขากิสานเท่านั้น แต่ขงเบ้งปฏิเสธเพราะไม่อยากเสี่ยง

นักกลยุทธ์ยุคหลังหลายคนมองว่า การเอาแต่รบตามแบบแผนของกุนซือมังกรหลับในครั้งนั้น แทนที่จะลอง "รบพิสดาร" ตามข้อเสนอของอุยเอี๋ยน ทำให้ทัพจ๊กพลาดโอกาสที่จะบุกเข้าเมืองเตียงอันอย่างน่าเสียดาย

จากนั้นเป็นต้นมา อุยเอี๋ยนเริ่มแสดงอาการต่อต้านและขัดขืนคำสั่งของขงเบ้งอย่างเปิดเผย แต่ขงเบ้งก็ยังไม่คิดกำจัดเขาเพราะเสียดายฝีมือรบ

ในการบุกเหนือครั้งที่เจ็ด ขงเบ้งซึ่งล้มป่วยลงได้ทำพิธีต่ออายุตนเอง แต่แล้วเมื่อครบกำหนดเจ็ดวัน อุยเอี๋ยนได้วิ่งเข้ามาในกระโจม ทำให้เทียนนั้นดับวูบลง พิธีต่ออายุขงเบ้งจึงล้มเหลว

เมื่อขงเบ้งสิ้นลม เหล่าขุนนางนำโดย เอียวหงี ต่างเตรียมพร้อมที่จะถอยทัพกลับเสฉวนตามคำสั่งของขงเบ้ง มีแต่อุยเอี๋ยนเพียงผู้เดียวที่ยืนยันให้บุกวุยก๊กต่อไป ฝ่ายม้าต้ายได้ทำทีมาเข้าด้วยอุยเอี๋ยนตามคำสั่งเสียของขงเบ้ง แล้วยุให้อุยเอี๋ยนบุกเสฉวนตั้งตนเป็นใหญ่เสียเอง

วรรณกรรมอ้างว่า อุยเอี๋ยนโดนลูกยุก็ได้ใจ วางแผนว่าหากชนะจะบุกเข้ายึดเสฉวนแล้วตั้งตัวเป็นเจ้า แต่สุดท้าย ขณะเผชิญหน้ากับหลวงของจ๊กก๊กที่หน้าเมืองฮันต๋ง เอียวหงีที่อยู่บนกำแพงเมืองได้ท้าให้อุยเอี๋ยนตะโกนขึ้นว่า “ใครกล้าฆ่ากู” สามครั้ง แล้วตนจะขอยอมแพ้ยกเมืองฮันต๋งให้

อุยเอี๋ยนจึงตะโกนขึ้นสามครั้งว่า “ใครกล้าฆ่ากูๆๆ” พอสิ้นเสียงตะโกน ม้าต้ายที่อยู่ข้างๆ กายก็ปรี่เข้าไปตัดหัวอุยเอี๋ยนในทันที ดับชีพของนายพลอหังการ์ลงในที่สุด

ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อุยเอี๋ยนไม่เคยรับใช้เล่าเปียวมาก่อน และไม่เคยฆ่าฮันเหียน เจ้าเมืองเตียงสา เพราะหลักฐานที่มีระบุว่าฮันเหียนเป็นผู้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ด้วยตนเอง ที่จริงแล้ว อุยเอี๋ยนเริ่มต้นอาชีพทหารในสังกัดของเตียวหุย และเขาก็ได้ทำให้เตียวหุยก็ประทับใจในความเก่งกล้าสามารถ จนไต่เต้าขึ้นมาเป็นทหารเอกในที่สุด

สำหรับความขัดแย้งกับขงเบ้งนั้น ขงเบ้งเคยกล่าวถึงอุยเอี๋ยนว่า “มันมีความเป็นกบฏอยู่ในกระดูก”  หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นคนคิดคดทรยศ "โดยสันดาน" ทั้งๆ ที่ ณ เวลานั้น ยังมิได้มีหลักฐานใดบ่งชี้เลยว่าอุยเอี๋ยนเป็นคนไม่ซื่อ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอคติที่ยอดกุนซือแห่งแคว้นจ๊กมีต่อทหารเอกผู้นี้อย่างชัดแจ้ง

สำหรับการ “ก่อกบฏ” ของอุยเอี๋ยนหลังจากขงเบ้งตาย แม้ว่าอุยเอี๋ยนต้องการจะบุกวุยก๊ก ซึ่งไม่เป็นไปตามคำสั่งเสียของขงเบ้ง แต่เขาก็มิได้คิดตีเมืองฮันต๋งตามที่วรรณกรรมกล่าวอ้างแต่อย่างใด ข้อมูลที่ตรงกันก็คือม้าต้ายเป็นผู้สังหารอุยเอี๋ยนในข้อหากบฏ จากการที่เขาไม่ยอมทำตามคำสั่งเสียขงเบ้ง

หากศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน จะเห็นได้ว่าอุยเอี๋ยนมิได้มี “สันดา..กบฏ” ตามที่วรรณกรรมกล่าวอ้าง กลับเป็นขงเบ้งเสียอีกที่มีใจอคติต่อเขา

ทว่าวรรณกรรมสามก๊กกลับสร้างเรื่องราวความ “ไม่ซื่อ” ของอุยเอี๋ยน เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้กับขงเบ้งที่ได้ปฏิบัติต่ออุยเอี๋ยนอย่างเลวร้ายมาตลอดนั่นเอง !!

เครดิตผู้วิเคราะห์บทความและตัวละครนี้ คุณ CheeChud
http://www.cheechud.com/2012/07/blog-post.html
ความคิดเห็นที่ 6
ขอบคุณค่ะพี่พระรอง คราวหน้าจะติดตามแน่นอนค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าเลย เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม

อ่านแล้วได้ข้อคิดว่าอยากให้สังคมมีคนอย่างหลินเซียงหยูและเลียมเภามากๆ

หลินเซียงหยู - มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่อยากให้เกิดภาพการแตกสามัคคีอันจะเป็นช่องให้ถูกข้าศึกโจมตี
แม้นถูกกลั่นแกล้งก็หลบเลี่ยงเรื่อยมา ไม่อยากรุนแรงตอบโต้ และเมื่อผู้อื่นขอโทษยอมรับผิดอย่างจริงใจ ก็ไม่ถือโทษ
รู้จักให้อภัย คนแบบนี้ช่วงแรกอาจจะถูกเข้าใจผิดได้ แต่เมื่อนานไปสังคมจะเห็นความจริงเอง

เลียมเภา - เป็นผู้เฒ่ามีชื่อเสียงบารมี แต่เมื่อรู้ว่าตนเข้าใจผิดไป ก็กล้าขอโทษเด็กรุ่นน้องอย่างจริงใจ
แสดงถึงความเป็นสุภาพบุรุษ กล้าทำกล้ารับ น่ายกย่องชมเชย คนเราไม่มีใครไม่เคยทำผิด
แต่ที่สำคัญคือเมื่อผิดแล้วกล้ายอมรับและพร้อมแก้ไข


เสียดายที่สังคมเรามีแต่คนที่ดื้อด้านดันทุรัง หากฝ่ายตรงข้ามไม่ตอบโต้เพราะเขาเห็นแก่ส่วนรวมต้องการความสามัคคี
ก็ลำพองสำคัญตัวผิดว่าตัวเองเก่ง ข่มเขาได้ เมื่อความจริงเปิดเผยว่าตนเป็นฝ่ายผิด (เงิบ) ก็ไม่เคยยอมรับ
ยังดึงดันสร้างความเสียหายไปเรื่อยเพื่อสร้างเรื่องกลบเกลื่อน หรือบางคนเมื่อฝ่ายตรงข้ามสำนึกผิดอย่างจริงใจ
พร้อมรับผิดชอบแก้ไข แทนที่จะให้อภัยก็ยังหาทางเย้ยหยัน ซ้ำเติม บ้านเมืองถึงได้วุ่นวายไม่จบสิ้น


นอกจากสังคมเราขาดคนอย่างหลินเซียงหยูและเลียมเภายังไม่พอ ซ้ำร้ายยังมีคนที่นิสัยเหมือนอ้วนเสี้ยวอยู่มากมาย
เรื่องคือ ในสมัยสามก๊ก อ้วนเสี้ยวมีกุนซือเก่งชื่อเตียนห้อง คอยให้คำแนะนำดีๆ มีหนหนึ่งอ้วนเสี้ยวไม่ฟัง ทำตามที่ตัวเองคิด
ผลคือแพ้โจโฉยับ แล้วยังไงต่อ หลายคนคิดว่า อ้วนเสี้ยวคงได้คิดและไปขอโทษเตียนห้อง แต่เปล่าเลย
อ้วนเสี้ยวกลับจะประหารเตียนห้องซะ!! เพราะกลัวเสียหน้า ทำให้เตียนห้องรู้ชะตากรรมชิงฆ่าตัวตายไปก่อน


บ้านเมืองเราเพราะมีคนนิสัยเหมือนอ้วนเสี้ยวในประการนี้อยู่มาก เมื่อความจริงปรากฏ แทนที่จะยอมรับหรือเรียนรู้
กลับตะบี้ตะแบงต่อไปอีก เพราะกลัวเสียหน้า กลัวถูกหาว่าฝ่ายที่ตนเชียร์อยู่มันผิดนี่นา กลัวหาว่าที่ไปด่าเขาโง่
แต่ที่จริงแล้วใครเล่าที่โง่ ทุกวันนี้เราประสบทุกข์ยากหลายอย่าง แต่สลิ่มก็พร้อมใจกันเงียบและยังคงแถไถต่อไป
ความคิดเห็นที่ 14
เหลียนพอเป็นขุนพลมืออาชีพจริงๆ เสียดายไปอยู่กับอ๋องหูเบา ในรัฐจ้าว

บุคลิกเปิดเผยห้าวหาญ. ยามออกศึกเรียกแผนได้ดังใจนึก.   และมีความอดทนพอที่จะ รอคอยชัยชนะ.    นับเป็นยอดขุนพลได้เต็มปาก. ยกก็ขึ้น วางก็ลง.  จะทำอะไรก็ไม่ละอายต่อฟ้าดิน.    อะไรที่ผิดพลาดไปก็อ้าแขนรับไม่ใช่ป้ายผิดให้ผู้อื่น ให้ตนพ้นผิด.     ระหว่างชื่อเสียงและอำนาจ. กับ ประเทศชาติ.  เขาเลือกประเทศชาติ

มีปรากฎชื่อใน ประวัติศาสตร์. 2รอบ คือตอนมัดตัวเองไปรับผิดกับหลินเซียงหยู   ซึ่งลูกผู้ชาย ต่อลูกผู้ชาย พูดภาษาเดียวกัน ระอุด้วยไมตรีแห่งลูกผู้ชายที่. ไม่อายฟ้าอายดิน

อีกตอนคือตอน. การรบบนกระดาษของ. จ้าวคว่อ. ที่วางแผนการได้เลอเลิศบนกระดาษ. แต่พอไปรบจริง ขาดประสบกาณ์ อ่านสถานการณ์ไม่ขาด

สุดท้ายตัวเองก็ตาย.  พาทหารไปให้ทัพฉินฝังไป40หมื่น. การฝังครั้งนี้ เหมือนกับการฝังแคว้นจ้าวลงไปด้วยเพราะ การเสียกำลังรบแบบนี้ทำให้รัฐจ้าวอ่อนแอ. และมุ่งไปสู่การสิ้นชาติในที่สุด

เหลียนพอ ขายชาติทหาร ผู้พรั่งพร้อม ทั้งฝีมือต่อสู้และ. กลศึก กลับไม่อาจสร้างชื่อได้.    เพราะมีนายหูเบาหวาดระแวง

นายหูเบา. นิสัยหวาดระแวง. ต่อให้มีคนดี คนเก่งในมือก็ทำลายเองจนหมดสิ้น. ไม่ตัองรอให้ศัตรูทำลาย.    มีนายแบบนี้. การสิ้นชาติจึงตามมา


ถ้าเหลียนพอไปอยู่แคว้นฉิน. จะเกิดอะไรขึ้น.   

คำตอบคืออาจจะไม่ได้แก่ตาย. เพราะฉินอ๋องระแวงมากกว่าจ้าวอ๋องอีก แต่ หนักแน่นกว่ามาก   

-ลมธรรม-
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่