ค่าใช่จ่ายร่างรัฐธรรมนูญ4 พันล้าน ประชาชนได้อะไร



อลหม่านไปทั่วรัฐสภาเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เนื่องจากปมการลงมติ "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" ร่างรัฐธรรมนูญถาวรที่วิป สปช.เคาะวัน ว. เวลา น. ยกมือโหวตไปแล้วในวันที่ 7 กันยายนนี้

เท่ากับว่าเหลือไม่ถึง 30 วันก็จะรู้ดำรู้แดงว่า ร่างรัฐธรรมนูญถาวรที่ 36 อรหันต์ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" เป็นประธาน นั้นจะผ่านการเห็นชอบของ สปช.หรือไม่

ถ้าหากผ่านก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ หากผ่านการเห็นชอบของประชาชนก็นับถอยหลังเข้าสู่ห้วงเวลาของการเลือกตั้งในช่วงกลางปี"59 ได้เลย

แต่ถ้า 7 ก.ย.นี้ สปช.เกิดไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถาวรขึ้นมา ตามโรดแมปที่ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี บอกไว้ จะต้องเปลี่ยนทีมยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งใช้ชื่อว่า "กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" จำนวน 21 คน ขึ้นเขียนใหม่ ใช้เวลาทั้งสิ้น 6 เดือน แล้วทำประชามติใหม่อีก 4 เดือน ถ้าประชาชนเห็นชอบก็ทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 6 เดือน ก่อนจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งโดยใช้เวลา 3 เดือน เบ็ดเสร็จโรดแมปจะถูกขยายยาวไปถึงเมษายนปี"60 ประชาชนถึงจะได้หย่อนบัตรเลือกตั้ง

แต่ที่ว่าอลหม่านนั่นคือ สปช.ทั้ง 249 คน จะถูกยุบทันทีหลังการยกมือโหวต แล้ว คสช.จะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป 200 คนขึ้นมาแทนที่นั่นจึงทำให้บรรยากาศที่อาคารรัฐสภาตลบอบอวลไปด้วยข่าวคว่ำ-ไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์

กลุ่มก้อนใน สปช.ในจังหวะเวลานี้จึงแบ่งออกเป็น 2 ข้างใหญ่ ๆข้างหนึ่ง หนุนให้ สปช.ยกมือผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนลงประชามติ แล้วพ่วงคำถามแนบท้ายว่า อยากให้ คสช.ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือไม่

อีกข้างหนึ่ง หนุนให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้โรดแมป คสช.ขยายโดยอัตโนมัติ เพื่อปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง

ยังไม่นับข้างที่ 3 ตัวแปรสำคัญที่รอยลโฉมร่างรัฐธรรมนูญก่อนตัดสินใจ แต่ 2 ข้างแรกแม้วิธีการต่างกัน แต่ปลายทางล้วนอยากให้ คสช.และรัฐบาลกุมอำนาจต่อไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย

จนถูกมองว่า สปช. 2 ข้างแรกเชื่อว่าแนวทางขยายโรดแมปอำนาจที่ฝ่ายตัวเองเสนอจะถูกใจ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อตีตั๋วให้ตัวเองมีชื่ออยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หลัง สปช.ถูกยุบ ไม่แปลกหากจะมี สปช.ออกมาตีปี๊บส่งเสียงดังลั่นรัฐสภา ดังระงมไปทั่วทั้งกระดาน

คนหนึ่งที่ออกมาเปิดหน้ากล่าวต่อสาธารณะ "สิระ เจนจาคะ" สปช.ด้านสังคม ใกล้ชิดหลวงปู่พุทธะอิสระระบุว่า มี สปช.พลเรือนกึ่งนักการเมืองได้ขอร้องให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญถาวร แลกกับการมีชื่อเข้าไปอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป แต่สิระเห็นว่า "เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ควรจะสนับสนุน เพราะหากถูกคว่ำไป คสช.และ สปช.จะต้องรับผิดชอบ เพราะได้เสียทั้งเวลาและงบประมาณกว่าพันล้านบาท"

ทว่า ร่างรัฐธรรมนูญถาวรที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง 36 อรหันต์จะต้องยกร่างให้เสร็จภายในวันที่ 21 ส.ค.นี้ เพื่อส่งให้ สปช.ไปพิจารณาก่อนการยกมือโหวตในวันที่ 7 ก.ย.

เม็ดเงินซึ่งเป็นค่าเบี้ยประชุมของทั้ง 36 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ. 2557

ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.ก.ดังกล่าวกำหนดว่า ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาท

สําหรับ "บวรศักดิ์" ผู้ทําหน้าที่ประธานให้ได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีก 3,000 บาท รวมเป็น 9,000 บาท

ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีตำแหน่งใน คสช. สปช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เช่น บุคคลที่ คสช.และคณะรัฐมนตรีเลือกเข้ามาอย่างนายเจษฎ์ โทณะวณิก นายประสพสุข บุญเดช จำนวน 10 คน จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 ของค่าตอบแทนรวม 9,000 บาท

ขณะนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ประชุมมาแล้วตั้งแต่ 6 พ.ย. 2557 จนถึง 7 ส.ค. 2558 รวม 140 ครั้ง

เท่ากับ "บวรศักดิ์" ได้รับค่าเบี้ยประชุมเป็นเงิน 1,260,000 บาท ขณะที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็น สปช.และ สนช. 25 คนได้เบี้ยประชุมตกคนละ 840,000 บาท รวม 21,000,000 บาท ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาก คสช.และ ครม.10 คน ได้เบี้ยประชุมคนละ 1,260,000 บาท รวม 12,600,000 บาท

เงินค่าเบี้ยประชุมเฉพาะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน คำนวณได้ 34,860,000 บาท ยังไม่นับรวมค่าเบี้ยประชุม ค่าที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ จ.ชลบุรี 2 ครั้ง ซึ่งแยกย่อยเป็นค่าที่พักของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ฯลฯ โดยยังไม่นำค่าดำเนินการมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายอีกหลายล้านบาท

ส่วนตัวเลขที่เป็นค่าใช้จ่ายในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีการตั้งงบฯไว้ทั้งสิ้น 1,480,466,300 บาท เบิกจริง 1,163,932,127 บาท เป็นงบฯเงินเดือน-ค่าจ้างประจำ เช่น ส.ส.ร. 100 อัตรา ข้าราชการการเมือง 6 อัตรา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 อัตรา ข้าราชการอัตราเดิม 1,682 อัตรา เงินประจำตำแหน่งข้าราชการ เงินเพิ่มค่าการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 479,176,800 บาท

แยกเป็นเงินเดือนของ ส.ส.ร. 100 อัตรา รวมทั้งสิ้น 104,567,100 บาท กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน มีเงินเดือนรวม 36,631,400 บาท

งบฯดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 678,694,200 บาท อาทิ ค่าเบี้ยประชุม 586,684,600 บาท ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้คณะกรรมาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญ 4,800,000 บาท

ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 1,200,000 บาท

ค่าตอบแทนพิเศษตามโครงการประเมินผลการปฏิบัติการราชการ 13,100,300 บาท  

ค่าใช้สอย ค่าวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งสิ้น 397,671,000 บาท อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักและค่ายานพาหนะ ฯลฯ  

งบฯจ่ายอื่น 262,149,600 บาท อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  

และเมื่อนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดของ ส.ส.ร. 2550 มารวมกับงบประมาณจำนวน 1,900 ล้านบาท ที่ใช้ในการทำประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 เพื่อ "ทำคลอด" รัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะมีมูลค่าในบรรทัดสุดท้ายกว่า 3,000 ล้านบาท

ขณะที่การทำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 99 คน มีรายได้เป็นเงินเดือนตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง พ.ศ. 2539  

แบ่งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 64,890 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท รวม 110,390 บาท

รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้รับเงินประจำตำแหน่ง 63,890 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 106,390 บาท

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้รับเงินประจำตำแหน่ง 62,000 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 104,330 บาท

ขณะที่เบี้ยประชุมจะได้ครั้งละ 500 บาท

นับตั้งแต่การประชุม ส.ส.ร.นัดแรกในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2540 รวม 33 ครั้ง เบี้ยประชุมของ ส.ส.ร. 99 คน รวมเป็นเงิน 1,633,500 บาท

นอกจากนี้ ตามบันทึกของสภาผู้แทนราษฎรที่บันทึก "รายละเอียดเงินอนุมัติประจำงวดเป็นค่าใช้จ่ายของ ส.ส.ร." ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ระบุไว้ดังนี้

1.ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุงานกิจการสภาผู้แทนราษฎร เงินอนุมัติประจำงวดที่ 5156 ลงวันที่ 31 มกราคม งวดที่ 1 ครั้งที่ 12 เป็นเงิน 100,000,000 บาท

2.ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุงานกิจการสภาผู้แทนราษฎร เงินอนุมัติประจำงวดที่ 6998 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2540 งวดที่ 2 ครั้งที่ 4 (ค่าใช้จ่ายจัดทำสื่อพิมพ์ของคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ ส.ส.ร.) เป็นเงิน 7,115,500 บาท

3.งบกลาง ค่าใช้จ่ายโครงการดำเนินการของคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์ ส.ส.ร.เป็นเงิน 46,835,000 บาท

4.งบกลาง ค่าใช้จ่ายกิจกรรมประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำจังหวัดและศูนย์แต่ละภูมิภาค 20 ศูนย์ ค่าใช้จ่ายโครงการดำเนินการของคณะกรรมาธิการจดหมายเหตุตรวจรายงานการประชุม ค่าใช้จ่ายโครงการดำเนินการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรวม 53,376,300 บาท

รวมเป็นเงิน 207,326,800 บาท

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายของสมาชิก ส.ส.ร.ประจำจังหวัด โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่าย ส.ส.ร.ประจำจังหวัด 76 จังหวัด (ในขณะนั้น) อีกจังหวัดละ 1 ล้านบาท รวม 76,000,000 บาท ทั้งนี้ เป็นค่าใช้จ่ายตั้งสำนักงานประจำจังหวัด ค่าใช้จ่ายโครงการรับฟังความคิดเห็นประชาพิจารณ์ ค่าใช้จ่ายในการตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น ค่าใช้จ่ายจัดทำสรุปและรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นประชาพิจารณ์

ค่าใช้จ่ายในการจัดทำประชาพิจารณ์ระดับจังหวัด จังหวัดละ 100,000 บาท ใน 61 จังหวัด เป็นเงิน 6,100,000 บาท จัดสรรให้สงขลา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ จังหวัดละ 120,000 บาท เป็นเงิน 1,680,000 บาท และจัดสรรให้ กทม. 220,000 บาท รวมเป็นเงิน 8,000,000 บาท

ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกิจกรรมประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำจังหวัด ส.ส.ร.จำนวน 76 จังหวัด เป็นเงิน 31,400,000 บาท

และค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ของ กทม.ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมอีก 2,000,000 บาท

เบ็ดเสร็จรวมกว่า 300 ล้านบาท

ถ้ารวมค่าร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ยุค มูลค่าการทำรัฐธรรมนูญจะอยูราวๆ 4 พันล้านบาท

เมื่อรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีค่าใช้จ่าย

ไม่ว่าผลการโหวตร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ก.ย.เป็นอย่างไร ก็คือภาษีประชาชน

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1439104967
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่