เรื่องสั้น ชุดฉากชีวิต
ผู้น่าสงสาร
" เพทาย "
ในการเดินเข้าออกหมู่บ้านของผมนั้น ผมมักจะพบเห็นคนขอทานอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ป้ายรถเมล์หน้าหมู่บ้าน บนสะพานลอย และตามสี่แยกเล็ก ๆ ของซอยภายในหมู่บ้าน ทั้งคนพิการทางตา ซึ่งตั้งวงดนตรีมีเครื่องขยายเสียง ที่ดังจนก่อความรำคาญให้แก่ผู้อยู่ใกล้เคียง มากกว่าที่จะชวนฟัง บางทีก็มีออร์แกนเล็ก ๆ ตัวเดียวดีดไปร้องไป หรือชายดีดหญิงร้อง สุดท้ายใช้การเป่าใบไม้ให้เป็นเพลงก็ยังมี
ส่วนที่พิการอย่างอื่นนั้น ส่วนใหญ่จะขออย่างเดียว บางทีก็ชอบนั่งหรือนอนตากแดด เพื่อให้ดูน่าสงสารมากขึ้น อีกหลายรายที่ชอบอุ้มทารก หรือปล่อยให้คนหนึ่งนอนคนหนึ่งนั่งเล่นดินทราย ซึ่งว่ากันว่าเป็นขบวนการที่มีผู้ควบคุม เอารถมาส่งในพื้นที่และรับกลับด้วยซ้ำ แต่ไม่เคยเห็นด้วยตาเอง ขบวนที่ว่านี้เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว
แต่มีอยู่คนหนึ่งเป็นหญิงอายุค่อนข้างชราแล้ว นุ่งผ้าถุงเรียบร้อย สวมเสื้อที่ดูดี แต่มีลักษณะเป็นคนชนบท ชอบนั่งเงียบ ๆ อยู่ตรงหัวมุมซอยเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน ลักษณะไม่น่าจะใช่คนขอทาน ผมไม่ทราบว่าแกมาจากไหน ดูคล้ายกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มานั่งรอรับลูกหลาน ซึ่งกลับจากโรงเรียนอนุบาลประเภทที่มีรถรับส่งมากกว่า สายตาที่มองดูรอบ ๆ กายอย่างเหม่อลอยนั้นชวนให้น่าสมเพช
เวลาผมเดินผ่านแกจะมองตามผม ด้วยสายตาเศร้า ๆ เช่นนั้นเสมอ ทำให้ผมนึกถึงคนชราที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง ไม่สามารถจะทำมาหากินอย่างอื่นได้ นอกจากรอความเมตตาจากเพื่อนมนุษย์ที่มีจิตเป็นกุศล ช่วยบริจาคเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ พอหาอาหารประทังชีวิตไปวัน ๆ เท่านั้น
ผมไม่ค่อยได้พบแกทุกวัน แต่วันหนึ่งเห็นแกเอามือวางแบอยู่บนหัวเข่าที่นั่งชันอยู่ข้างหนึ่ง โดยไม่พูดว่าอะไร ผมจึงควานหาเศษเหรียญในกระเป๋ากางเกง ใจก็คิดว่าไม่น่าจะให้เพียงบาทเดียว เพราะไม่ได้เห็นภาชนะอื่นใดที่จะใส่เงิน เหมือนคนอื่น พอดีเจอเหรียญห้าบาท ก็ใส่ลงในฝ่ามือนั้นแล้วก็รีบเดินเลยไป
หลังจากนั้นถ้าผมเจอแกอีกก็ให้เหรียญห้าบาท หรือกำเศษเหรียญบาทให้ไปโดยไม่ได้นับ ผมก็ไม่ทราบว่าแกจะมีรายได้วันละเท่าไร เพราะที่ตรงนั้นไม่ใช่ทางที่จะมีผู้เดินผ่านมากมาย แต่เป็นทางที่ผมต้องผ่านเป็นประจำ นาน ๆ จึงจะพบแกสักครั้ง ทุกครั้งที่เจอก็ไม่ได้ยินคำขอ และไม่ได้มีคำขอบคุณ ออกจากปากของแกเลยสักครั้งเดียว มีแต่แววตาเท่านั้นที่บอกถึงความรู้สึก
ยิ่งบางครั้งผมมีแต่เหรียญสิบบาท และตัดใจส่งให้ไป แกจะเงยหน้าสบตาผม และมีแววของความตื่นเต้นยินดีปรากฎขึ้นอย่างชัดเจน
วันนี้เมื่อผมกลับเข้าบ้านก็เป็นเวลาเย็นมากแล้ว พอผ่านบริเวณที่ว่าก็มองเห็นหญิงชราเจ้าเก่านั่งอยู่อย่างเคยแต่ไกล ผมจึงควานมือลงไปในกระเป๋ากางเกง ด้วยความเคยชิน แต่ปรากฎว่าไม่มีเศษเหรียญอยู่เลย เพราะควักจ่ายค่ารถเมล์ไปจนหมดสิ้นแม้แต่เหรียญสลึง ครั้นเปิดกระเป๋าสตางค์ดูก็มีธนบัตรใบละยี่สิบบาทเหลืออยู่เพียงใบเดียว ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเดินมาถึงตัวแกแล้ว จึงตัดใจยัดธนบัตรใบนั้นใส่ลงในฝ่ามือ แกเงยหน้าขึ้นมองดูผมเหมือนจะไม่เชื่อใจ ผมยิ้มให้แล้วก็ขยับจะเดินเลยไป
ก็พอดีมีรถเก๋งขนาดใหญ่สีดำวาววาม แล่นเฉียดเข้าซอยมา แกรีบเก็บธนบัตรยัดใส่ชายพกอย่างเร่งร้อน แล้วรีบลุกขึ้นยืนจะเดินออกจากที่นั้น รถเก๋งคันนั้นก็เบรคหยุดลงตรงหน้า ประตูรถเปิดออกโดยแรง แล้วก็มีเสียงดังลั่นซอย
" ต๊าย...คุณแม่ มานั่งทำอะไรอยู่ที่นี่น่ะ "
รู้สึกว่าหญิงชราตกใจงก ๆ เงิ่น ๆ ไม่ทันจะทำอย่างไร เจ้าของเสียงก็ก้าวลงมาจากรถ จากเครื่องแต่งตัวและเครื่องประดับครบครัน แสดงถึงฐานะอันสูงส่งของเธอผู้นั้น ทำให้ผมพลอยตกตลึงไปด้วย
" เย็นค่ำแล้วมาเดินอยู่ได้ เดี๋ยวก็กลับบ้านไม่ถูกหรอก ไปขึ้นรถเถอะ หนูจะไปส่ง "
ว่าแล้วเธอก็จูงมือหญิงผู้เป็นมารดาให้ก้าวขึ้นนั่งบนรถด้านหลัง แล้วหันมาหาผมซึ่งยืนเบิ่งอยู่ อย่างที่ไม่รู้ว่าจะทำตนอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น
" คุณแม่เป็นโรคสมองเสื่อมค่ะ ทำอะไรไปไม่ค่อยรู้ตัว นี่เอามาพักอยู่กับหลานสาว เพราะที่บ้านต้องออกไปทำงานกันหมด ไม่มีใครดูแล คนใช้ก็หายาก "
ผมคงจะยิ้มอย่างแหยเต็มที เธอจึงพูดต่อโดยไม่สนใจ
" เห็นเขาว่าชอบออกมาเดินเล่นบ่อย ๆ แล้วก็กลับบ้านไม่ค่อยจะถูก ต้องออกมาตามกันอยู่เสมอ ห้ามก็ไม่ฟัง พอเผลอก็ออกมาทุกที เคราะห์ยังดีที่ไม่ไปไกล หรือขึ้นรถเมล์ไปถึงไหน ๆ ละก็ยุ่งกันใหญ่แน่ "
ผมก็ยังคงเป็นเบื้ออยู่อย่างเดิม
" นี่หนูจะมาเยี่ยมน่ะค่ะ ก็เจอเข้าพอดี ถ้าคุณลุงเจออีกกรุณาพาไปส่งบ้านด้วยนะคะ ไม่ไกลหรอกค่ะ บ้านสีเขียวหัวมุมแยกหน้านี้เอง "
และโดยไม่สนใจฟังว่าผมจะเอ่ยอะไรออกมา เธอก็ขึ้นรถ ขับออกไปจากที่นั้น ผมมองตามท้ายรถไปไม่ไกล ก็เห็นเลี้ยวเข้าไปในบ้านหลังที่เธอชี้บอก
ผมก้าวเดินไปทางบ้านผม ซึ่งเป็นคนละทางกับบ้านนั้น ความคิดหลายอย่างประดังขึ้นมาในใจ นึกถึงหญิงชราผู้น่าสงสาร แต่แม้จะช่วยตนเองไม่ค่อยได้ ก็ยังดีที่มีลูกหลาน คอยเอาใจใส่ดูแลอยู่ ไม่ได้ทอดทิ้งอย่างที่ผมคิด
ส่วนผมนั้นแม้จะช่วยตนเองได้ แต่ขณะนี้ก็ไม่เหลือเงินติดตัวเลย และที่สำคัญก็คือ อีกตั้งสองวัน กว่าเงินบำนาญจะออก.
##########
จาก นิตยสารทหารปืนใหญ่
ตุลาคม ๒๕๔๔
ผู้น่าสงสาร ๒๒ ก.ค.๕๘
ผู้น่าสงสาร
" เพทาย "
ในการเดินเข้าออกหมู่บ้านของผมนั้น ผมมักจะพบเห็นคนขอทานอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ป้ายรถเมล์หน้าหมู่บ้าน บนสะพานลอย และตามสี่แยกเล็ก ๆ ของซอยภายในหมู่บ้าน ทั้งคนพิการทางตา ซึ่งตั้งวงดนตรีมีเครื่องขยายเสียง ที่ดังจนก่อความรำคาญให้แก่ผู้อยู่ใกล้เคียง มากกว่าที่จะชวนฟัง บางทีก็มีออร์แกนเล็ก ๆ ตัวเดียวดีดไปร้องไป หรือชายดีดหญิงร้อง สุดท้ายใช้การเป่าใบไม้ให้เป็นเพลงก็ยังมี
ส่วนที่พิการอย่างอื่นนั้น ส่วนใหญ่จะขออย่างเดียว บางทีก็ชอบนั่งหรือนอนตากแดด เพื่อให้ดูน่าสงสารมากขึ้น อีกหลายรายที่ชอบอุ้มทารก หรือปล่อยให้คนหนึ่งนอนคนหนึ่งนั่งเล่นดินทราย ซึ่งว่ากันว่าเป็นขบวนการที่มีผู้ควบคุม เอารถมาส่งในพื้นที่และรับกลับด้วยซ้ำ แต่ไม่เคยเห็นด้วยตาเอง ขบวนที่ว่านี้เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว
แต่มีอยู่คนหนึ่งเป็นหญิงอายุค่อนข้างชราแล้ว นุ่งผ้าถุงเรียบร้อย สวมเสื้อที่ดูดี แต่มีลักษณะเป็นคนชนบท ชอบนั่งเงียบ ๆ อยู่ตรงหัวมุมซอยเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน ลักษณะไม่น่าจะใช่คนขอทาน ผมไม่ทราบว่าแกมาจากไหน ดูคล้ายกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มานั่งรอรับลูกหลาน ซึ่งกลับจากโรงเรียนอนุบาลประเภทที่มีรถรับส่งมากกว่า สายตาที่มองดูรอบ ๆ กายอย่างเหม่อลอยนั้นชวนให้น่าสมเพช
เวลาผมเดินผ่านแกจะมองตามผม ด้วยสายตาเศร้า ๆ เช่นนั้นเสมอ ทำให้ผมนึกถึงคนชราที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง ไม่สามารถจะทำมาหากินอย่างอื่นได้ นอกจากรอความเมตตาจากเพื่อนมนุษย์ที่มีจิตเป็นกุศล ช่วยบริจาคเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ พอหาอาหารประทังชีวิตไปวัน ๆ เท่านั้น
ผมไม่ค่อยได้พบแกทุกวัน แต่วันหนึ่งเห็นแกเอามือวางแบอยู่บนหัวเข่าที่นั่งชันอยู่ข้างหนึ่ง โดยไม่พูดว่าอะไร ผมจึงควานหาเศษเหรียญในกระเป๋ากางเกง ใจก็คิดว่าไม่น่าจะให้เพียงบาทเดียว เพราะไม่ได้เห็นภาชนะอื่นใดที่จะใส่เงิน เหมือนคนอื่น พอดีเจอเหรียญห้าบาท ก็ใส่ลงในฝ่ามือนั้นแล้วก็รีบเดินเลยไป
หลังจากนั้นถ้าผมเจอแกอีกก็ให้เหรียญห้าบาท หรือกำเศษเหรียญบาทให้ไปโดยไม่ได้นับ ผมก็ไม่ทราบว่าแกจะมีรายได้วันละเท่าไร เพราะที่ตรงนั้นไม่ใช่ทางที่จะมีผู้เดินผ่านมากมาย แต่เป็นทางที่ผมต้องผ่านเป็นประจำ นาน ๆ จึงจะพบแกสักครั้ง ทุกครั้งที่เจอก็ไม่ได้ยินคำขอ และไม่ได้มีคำขอบคุณ ออกจากปากของแกเลยสักครั้งเดียว มีแต่แววตาเท่านั้นที่บอกถึงความรู้สึก
ยิ่งบางครั้งผมมีแต่เหรียญสิบบาท และตัดใจส่งให้ไป แกจะเงยหน้าสบตาผม และมีแววของความตื่นเต้นยินดีปรากฎขึ้นอย่างชัดเจน
วันนี้เมื่อผมกลับเข้าบ้านก็เป็นเวลาเย็นมากแล้ว พอผ่านบริเวณที่ว่าก็มองเห็นหญิงชราเจ้าเก่านั่งอยู่อย่างเคยแต่ไกล ผมจึงควานมือลงไปในกระเป๋ากางเกง ด้วยความเคยชิน แต่ปรากฎว่าไม่มีเศษเหรียญอยู่เลย เพราะควักจ่ายค่ารถเมล์ไปจนหมดสิ้นแม้แต่เหรียญสลึง ครั้นเปิดกระเป๋าสตางค์ดูก็มีธนบัตรใบละยี่สิบบาทเหลืออยู่เพียงใบเดียว ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเดินมาถึงตัวแกแล้ว จึงตัดใจยัดธนบัตรใบนั้นใส่ลงในฝ่ามือ แกเงยหน้าขึ้นมองดูผมเหมือนจะไม่เชื่อใจ ผมยิ้มให้แล้วก็ขยับจะเดินเลยไป
ก็พอดีมีรถเก๋งขนาดใหญ่สีดำวาววาม แล่นเฉียดเข้าซอยมา แกรีบเก็บธนบัตรยัดใส่ชายพกอย่างเร่งร้อน แล้วรีบลุกขึ้นยืนจะเดินออกจากที่นั้น รถเก๋งคันนั้นก็เบรคหยุดลงตรงหน้า ประตูรถเปิดออกโดยแรง แล้วก็มีเสียงดังลั่นซอย
" ต๊าย...คุณแม่ มานั่งทำอะไรอยู่ที่นี่น่ะ "
รู้สึกว่าหญิงชราตกใจงก ๆ เงิ่น ๆ ไม่ทันจะทำอย่างไร เจ้าของเสียงก็ก้าวลงมาจากรถ จากเครื่องแต่งตัวและเครื่องประดับครบครัน แสดงถึงฐานะอันสูงส่งของเธอผู้นั้น ทำให้ผมพลอยตกตลึงไปด้วย
" เย็นค่ำแล้วมาเดินอยู่ได้ เดี๋ยวก็กลับบ้านไม่ถูกหรอก ไปขึ้นรถเถอะ หนูจะไปส่ง "
ว่าแล้วเธอก็จูงมือหญิงผู้เป็นมารดาให้ก้าวขึ้นนั่งบนรถด้านหลัง แล้วหันมาหาผมซึ่งยืนเบิ่งอยู่ อย่างที่ไม่รู้ว่าจะทำตนอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น
" คุณแม่เป็นโรคสมองเสื่อมค่ะ ทำอะไรไปไม่ค่อยรู้ตัว นี่เอามาพักอยู่กับหลานสาว เพราะที่บ้านต้องออกไปทำงานกันหมด ไม่มีใครดูแล คนใช้ก็หายาก "
ผมคงจะยิ้มอย่างแหยเต็มที เธอจึงพูดต่อโดยไม่สนใจ
" เห็นเขาว่าชอบออกมาเดินเล่นบ่อย ๆ แล้วก็กลับบ้านไม่ค่อยจะถูก ต้องออกมาตามกันอยู่เสมอ ห้ามก็ไม่ฟัง พอเผลอก็ออกมาทุกที เคราะห์ยังดีที่ไม่ไปไกล หรือขึ้นรถเมล์ไปถึงไหน ๆ ละก็ยุ่งกันใหญ่แน่ "
ผมก็ยังคงเป็นเบื้ออยู่อย่างเดิม
" นี่หนูจะมาเยี่ยมน่ะค่ะ ก็เจอเข้าพอดี ถ้าคุณลุงเจออีกกรุณาพาไปส่งบ้านด้วยนะคะ ไม่ไกลหรอกค่ะ บ้านสีเขียวหัวมุมแยกหน้านี้เอง "
และโดยไม่สนใจฟังว่าผมจะเอ่ยอะไรออกมา เธอก็ขึ้นรถ ขับออกไปจากที่นั้น ผมมองตามท้ายรถไปไม่ไกล ก็เห็นเลี้ยวเข้าไปในบ้านหลังที่เธอชี้บอก
ผมก้าวเดินไปทางบ้านผม ซึ่งเป็นคนละทางกับบ้านนั้น ความคิดหลายอย่างประดังขึ้นมาในใจ นึกถึงหญิงชราผู้น่าสงสาร แต่แม้จะช่วยตนเองไม่ค่อยได้ ก็ยังดีที่มีลูกหลาน คอยเอาใจใส่ดูแลอยู่ ไม่ได้ทอดทิ้งอย่างที่ผมคิด
ส่วนผมนั้นแม้จะช่วยตนเองได้ แต่ขณะนี้ก็ไม่เหลือเงินติดตัวเลย และที่สำคัญก็คือ อีกตั้งสองวัน กว่าเงินบำนาญจะออก.
##########
จาก นิตยสารทหารปืนใหญ่
ตุลาคม ๒๕๔๔