กฎไตรลักษณ์ คือเรื่องสำคัญที่ชาวพุทธต้องศึกษาให้เข้าใจ

กฎไตรลักษณ์ คือเรื่องสำคัญที่ชาวพุทธต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะนี่คือหัวใจของปัญญาในพุทธศาสนา ถ้ายังไม่เข้าใจกฎไตรลักษณ์ ก็จะไม่เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้ฐานอยู่ก่อนแล้ว) เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า
**********************

กฎไตรลักษณ์


ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย (ไตรลักษณ์นี้บางทีก็เรียกว่า สามัญญลักษณะ ที่หมายถึง ลักษณะธรรมดาหรือสามัญของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย) คือเมื่อกฎสูงสุดของธรรมชาติได้ปรุงแต่งให้เกิดสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายขึ้นมาและดำรงหรือตั้งอยู่แล้ว มันจะต้องมีลักษณะ ๓ ประการนี้อยู่ด้วยเสมอ ดังนั้นจึงเรียกว่าเป็นกฎไตรลักษณ์ ซึ่งลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ก็ได้แก่

๑. อนิจจัง คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง หรือ ไม่สามารถตั้งอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป
๒. ทุกขัง คือ ลักษณะที่ต้องทน หรือ สภาวะที่ต้องทน
๓. อนัตตา คือ ลักษณะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

ลักษณะ ๓ ประการของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องใช้เหตุผลมาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เราจึงจะเกิดความเข้าใจในลักษณะ ๓ ประการนี้ได้อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ  เพราะลักษณะทั้ง ๓ นี้เป็นธรรมชาติที่มีความลึกซึ้งเป็นอย่างมาก ซึ่งการคิดพิจารณานี้ เราอย่ายึดติดในตัวหนังสือ เพราะถ้ายึดติดในตัวหนังสือ เราก็อาจจะไม่เข้าใจถึงสภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติได้ เพราะข้อความในหนังสือนั้นอาจจะมีความหมายที่ไม่ตรงตามที่ผู้เขียนพยายามจะอธิบายได้

ดังนั้นเราจะต้องพิจารณาดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในร่างกายและจิตใจของเราเอง หรือจากสิ่งที่เรากำลังสัมผัสอยู่จริงๆในปัจจุบัน โดยไม่ให้ความเชื่อจากตำราหรือจากคำสอนของใครๆ (แม้จากพระพุทธเจ้าเองก็ตาม) มาครอบงำทำให้การพิจารณาของเราไม่เป็นอิสระ (คือความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ แต่ตำราหรือคนสอนอาจบอกไม่ตรงกับความจริง) เราจึงจะเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งในลักษณะ ๓ ประการของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายได้

อัตตาของพราหมณ์

ก่อนที่จะรู้จักคำว่า อนัตตา เราจะต้องมารู้จักคำว่า อัตตา ก่อน เพราะเป็นคำที่มีความหมายตรงข้ามกัน โดยคำว่า อัตตา แปลว่า ตนเอง ที่หมายถึง สิ่งที่มีตัวตนเป็นของตนเองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งให้เกิดตัวตนของมันขึ้นมา ซึ่งความหมายที่เข้าใจได้ง่ายก็คือหมายถึง ตัวตนที่แท้จริง หรือ ตัวตนอมตะโดยสิ่งที่เป็นอัตตานี้ จะมีลักษณะ ๒ ประการ คือ

๑. เที่ยง หรือ ถาวร หรือ เป็นอมตะ (นิจจัง) คือจะดำรงหรือตั้งอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปชั่วนิรันดร ซึ่งก็หมายถึงว่าจะไม่มีการเกิดเพราะไม่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และไม่มีการดับหายไปอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลาย หรือไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปสักเท่าใดก็ตาม รวมทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

๒. เป็นสุข (สุขัง) คือมีแต่ความสุขสบาย ไม่มีความทุกข์เพราะไม่ต้องทนกับการเปลี่ยนแปลง

ศาสนาฮินดู (หรือศาสนาพราหมณ์) จะสอนว่า จิต หรือ วิญญาณ ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นอัตตาน้อย ที่สิงอยู่ในร่างกายของคนและสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อร่างกายตาย อัตตาน้อยนี้ก็จะออกจากร่างกายที่ตายแล้วและไปเกิดอยู่ในร่างกายใหม่ได้เรื่อยไป จนกว่าอัตตาน้อยนี้จะบำเพ็ญเพียรปฏิบัติตามความเชื่อของศาสนา จนจิตบริสุทธิ์จากกิเลสอย่างถาวร อัตตาน้อยนี้ก็จะไปรวมอยู่กับอัตตาใหญ่ชั่วนิรันดร

ความเชื่อว่าจิตหรือวิญญาณเป็นอัตตานี้เอง ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย เรื่องนรก สวรรค์อย่างเป็นสถานที่ และเรื่องเทวดา นางฟ้า อย่างที่เป็นบุคคล รวมทั้งเรื่องกรรมและการรับผลกรรมเมื่อตายไปแล้วด้วย เป็นต้นขึ้นมา และก็มีผู้เชื่อถือกันมากเพราะมันตรงกับความรู้สึกว่ามีตนเอง ที่เป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ธรรมดาทั้งหลาย ซึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน ความเชื่อนี้ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธองค์ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว แล้วก็ทำให้ผู้ที่ไม่รู้ความจริงเรื่องนี้ เมื่อมาศึกษาพุทธศาสนาในภายหลัง จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาก็สอนเรื่องอัตตาเวียนว่ายตาย-เกิดเหมือนกับศาสนาฮินดู จนทำให้เข้าใจผิดไปอีกว่า พุทธศาสนาเป็นเพียงกิ่งหรือสาขาหนึ่งของศาสนาฮินดูไปอย่างที่ชาวโลกเข้าใจผิดกันอยู่ในปัจจุบัน

อนัตตาของพระพุทธเจ้า


คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา ซึ่งก็หมายถึงว่า เป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่า จิต หรือ วิญญาณ ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นอัตตาตามที่ศาสนาฮินดูสอน ซึ่งพระพุทธเจ้าคือผู้ที่ทรงค้นพบว่า จิต หรือ วิญญาณ ของชีวิตเรานี้ไม่ใช่อัตตา และมีเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงสอนเรื่องอนัตตา  ดังนั้นจึงทำให้ความเชื่อเรื่องจิตหรือวิญญาณที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ รวมทั้งความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า และเรื่องกรรมที่ต้องไปรับผลเมื่อตายไปแล้ว เป็นต้น ที่ศาสนาฮินดูสอนนั้น ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

แต่การที่เราจะเข้าใจลักษณะของอนัตตาได้ถูกต้อง เราจะต้องเข้าใจถึงกฎสูงสุดของธรรมชาติที่ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้จะเรียกว่าเป็น สิ่งปรุงแต่ง” นี้ก่อน ซึ่งเมื่อเราเข้าใจกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้แล้ว จึงจะเข้าใจได้ว่า ทำไมสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจึงเป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) และเมื่อเราเข้าใจลักษณะของอนัตตาแล้ว เราก็จะเข้าใจลักษณะของอนิจจังและทุกขังด้วย เพราะมันคือลักษณะเดียวกัน เพียงแต่มองกันคนละมุมเท่านั้น แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจลักษณะของอนัตตาอย่างถูกต้อง เราก็จะทำให้ไม่เข้าใจลักษณะของอนิจจังและทุกขังอย่างถูกต้องด้วย

สิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมานี้เราจะเรียกว่าเป็น ตัวตนชั่วคราว เพราะมันมีลักษณะเป็นตัวตนเหมือนกันแต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หรือเป็น ตัวตนมายา เพราะมันหลอกลวงให้เข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนที่แท้จริง หรือ ตัวตนสมมติ เพราะเป็นเพียงการลงมติร่วมกันว่าเป็นตัวตนเพื่อใช้สื่อสารให้เข้าใจเท่านั้น

ลักษณะของอนัตตานี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่เราจะต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจให้ได้ (โดยเฉพาะลักษณะความเป็นอนัตตาของจิตใจของเราเอง) เพราะความรู้เรื่องอนัตตานี้เป็นความรู้ที่สำคัญที่จะช่วยให้เรามีความเข้าใจชีวิตและโลก และยังเป็นปัญญาที่จะนำมาใช้ร่วมกับสมาธิในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าใครยังไม่เข้าใจลักษณะของอนัตตาอย่างถูกต้อง (เพราะอาจยังเข้าใจผิดว่าจิตหรือวิญญาณเป็นอัตตาอยู่) ก็จะทำให้ไม่มีปัญญาสำหรับนำมาใช้ร่วมกับสมาธิ ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

อนิจจังคือไม่เป็นอมตะ


คำว่า อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง คือจะมีความหมายตรงข้ามกับคำว่า เที่ยง ของศาสนาฮินดูนั่นเอง โดยคำว่าไม่เที่ยงจะหมายถึง มีการไหลหรือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และต้องแตกหรือดับหายไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว คือเมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายได้ถูกปรุงให้เกิดขึ้นมาเป็นตัวตนแล้ว มันจะไม่สามารถดำรงหรือตั้งอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป คือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และไม่ช้าก็เร็ว ตัวตนของมันจะต้องแตกหรือดับหายไปอย่างแน่นอน  ดังนั้นจึงได้เรียกตัวตนที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมานี้ว่าเป็น ตัวตนชั่วคราว ซึ่งจะตรงข้ามกับความเชื่อว่ามีตัวตนอมตะของศาสนาฮินดู

สาเหตุที่สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงนั้นก็เพราะ สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัย ซึ่งทั้งเหตุและปัจจัยนั้นก็เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยอื่นด้วยเหมือนกัน (คือมันจะมีการปรุงแต่งกันต่อๆไป) และเมื่อพื้นฐานที่มาปรุงแต่งให้เกิดสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายขึ้นมา (อันได้แก่ธาตุ ๔ คือ ของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ) ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงอยู่แล้วตามธรรมชาติ จึงทำให้สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงตามไปด้วย ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ลึกไปมากกว่านี้แล้ว เพราะเพียงเท่านี้ก็ทำให้เราเข้าใจได้แล้วว่า “ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นมาแล้วจะเที่ยงได้” ซึ่งความเข้าใจนี้ก็คือปัญญาที่จะนำมาใช้คู่กับสมาธิ ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

ทุกขังคือสภาวะที่ต้องทน


คำว่า ทุกขัง (หรือทุกข์) แปลว่า ทน ซึ่งหมายถึง ลักษณะหรือสภาวะที่ต้องทน คือเมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายได้ถูกปรุงแต่งให้เกิดเป็นตัวตนชั่วคราวขึ้นมาแล้ว มันก็จะมีความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา คือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไหลไปสู่ความแตกดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนี่แสดงถึงว่า ตัวตนชั่วคราวนี้จะต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงภายในตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา คือมันจะต้องทนประคับประคองเหตุและปัจจัยของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่ทนมันก็จะแตกหรือดับหายไปทันที

ในกรณีของวัตถุที่ไม่มีชีวิตก็จะไม่มีปัญหา เพราะมันไม่มีจิตมารับรู้ลักษณะที่ต้องทนของมัน แต่ถ้าเราจะเพ่งพิจารณาวัตถุทั้งหลายถึงความไม่เที่ยงอย่างจริงจังแล้ว เราก็จะเกิดความรู้สึกอิดหนาระอาใจ หรือเบื่อหน่าย หรือไม่รัก-ไม่ชอบใจต่อวัตถุทั้งหลาย เพราะเข้าใจถึงสภาวะที่ต้องทนต่อความไม่เที่ยงของมัน ซึ่งนี่ก็คือการมองเห็นสภาวะที่ต้องทนในวัตถุทั้งหลาย

แต่ในกรณีของสิ่งที่มีชีวิตก็ย่อมจะมีปัญหา เพราะมีจิตรับรู้ลักษณะที่ต้องทนของมันเอง อย่างเช่น ร่างกายของเราที่เราก็จะรู้สึกถึงลักษณะที่ต้องทนอยู่ตลอดเวลา คือเมื่อใดที่ร่างกายรู้สึก เหนื่อย เจ็บ ปวด หรือร้อนมาก หนาวมาก หรือหิว กระหาย เป็นต้น ก็แสดงว่าร่างกายมีลักษณะที่ต้องทนมาก (คือทุกข์กาย) แต่เมื่อใดที่ร่างกายรู้สึกสบาย ก็แสดงว่า ร่างกายมีลักษณะที่ต้องทนน้อย (คือสุขกาย) หรืออย่างเช่น เมื่อใดที่จิตของเราเกิดกิเลสขึ้นมา จิตของเราก็จะเกิดลักษณะที่ต้องทนมาก ที่ทำให้จิตของเรารู้สึกทนได้ยาก (ที่เรียกว่าความทุกข์) แต่เมื่อใดที่จิตของเราไม่มีกิเลส จิตของเราก็จะเกิดลักษณะที่ต้องทนน้อย ที่ทำให้จิตของเรารู้สึกทนได้ง่าย หรือทนได้สบาย (ที่เรียกว่าความไม่มีทุกข์หรือนิพพาน) เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่