เปรียบเหมือน "กลอง" : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี



พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

อาตมายังชอบใจคำโบราณอยู่คำหนึ่งซึ่งท่านอุปมาอุปมัยเปรียบไว้
ท่านแสดงว่า พระไตรปิฎกน่ะทั้งสามคัมภีร์  ท่านว่า

"พระสูตรเป็นตัวกลอง พระวินัยเป็นสายรัด พระปรมัตถ์เป็นผืนหนัง
จตุสัจจะทันดัง อริยสัจธรรมทั้งสี่เป็นเหมือนค้อน"


กลองนั้นจะต้องมีสายรัด แล้วก็มีผืนหนังหุ้มหน้ากลองแล้วก็จะต้องมีค้อนสำหรับตีกลอง
กลองถึงค่อยจะดัง  ท่านอุปมาเปรียบพระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า  
“พระสูตรเป็นตัวกลอง”  หมายความว่า “ตัวของเราทั้งหมดคือ พระสูตร”
ตัวของเรานี่เป็นตัวพระสูตรทีเดียว  คำที่ว่า สูตร ในที่นี้น่ะ “เป็นเรื่องเป็นราว”
แสดงถึงเรื่องถึงราว เป็นอาการ  พูดถึงเรื่องคนเราแต่ละคนตั้งแต่เกิดจนวันตาย
เป็นนิทานยืดยาวนั่นเรียกว่า สูตร ในพระสูตรคือตัวตนคนเราแต่ละคนละคน
จะต้องมี “พระวินัยเป็นหนังรัด” คือว่า “วินัย ได้แก่ ศีล” ตามภูมิของตน  
อุบาสกอุบาสิกามีศีล ๕ ศีล ๘ สามเณรศีล ๑๐ ภิกษุศีล ๒๒๗ ลักหลั่นกันเป็นตามชั้นตามภูมิ  

หากว่าไม่มี “หนัง” นี้ ไม่มีพระวินัยคือหนังเป็นเครื่องรัดเสียแล้ว
คนเราจะกระจัดกระจาย  คือ ไม่มีขอบเขต  ประพฤติตนไม่มีขอบเขต
ไม่มีศีลเป็นเครื่องร้อยรัดเสียแล้วปฏิบัติไม่มีขอบเขตเลย  
คนเราถึงเคยอธิบายแล้วว่า  จะดีได้ก็เพราะพระวินัยหรือศีลเป็นเครื่องวัด  
ไม่มีศีลไม่มีพระวินัยเป็นเครื่องวัดเสียเลย  คนเราก็จะไม่มีคุณค่าอะไร

หรือถ้าจะเทียบเปรียบเหมือนกับสัตว์ทั่วๆไป  เราก็จะมองเห็นได้
บรรดาสัตว์ทั่วๆไปเขาไม่ได้รักษากายวาจาเพื่อมีศีลเป็นเครื่องอยู่  
ก็จะมีคุณค่าวิเศษอันใดถ้าหากคนเราเป็นเช่นนั้น   ก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น    
แต่นี่คนเรามีศีลเป็นเครื่องร้อยรัดคือ ศีลนั้นๆว่ารัดไว้  ไม่ให้กระจัดกระจาย
อยู่ในขอบเขตของศีล เช่น งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์  
ประพฤติผิดในเรื่องเหล่านี้  อยู่ในขอบเขต  คนเราจึงสูง  ดีกว่ากัน  
มีสูงต่ำเหลื่อมล้ำกันเพราะคุณงามความดีอันนี้แท้ๆ นี้จึงว่า พระวินัยเป็นสายรัด


ท่านอุปมาเปรียบเหมือน “พระปรมัตถ์เป็นผืนหนัง” พระปรมัตถ์ คือ อภิธรรม
ที่เราพากันเรียกว่า อภิธรรม อภิธรรมรวบรวมจิต เจตสิก รูป นิพพาน รวมลงมีสี่
จิตหนึ่ง เจตสิกหนึ่ง รูปหนึ่ง นิพพานหนึ่ง แสดงถึงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก
ถึงเรื่องรูป ถึงเรื่องนิพพาน ก็คือ “ตัวของเรา” ไม่ใช่ที่อื่น  
รูปอยู่ที่ตัวของเรา จิตก็จิตของเรา  เจตสิก รูป ตัวของเรา  
ตัวของเรานี่ที่เอาหนัง คือ อภิธรรมได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
นี่มาหุ้มห่อตัวของเราไว้  หนังสือโบราณ คัมภีร์โบราณจะอธิบายยืดยาว
พูดถึงเรื่องพระอภิธรรมตกแต่งร่างกาย แสดงถึงเรื่องอักขระ ๓๒ ตัว
พยัญชนะ ๘ มาตกแต่งผม เอ็น กระดูก อู้หู...ยืดยาว  เอาพระอภิธรรมมาตกแต่งตัว

คือท่านแสดงอยากจะให้เห็นว่า  “ตัวของเราคือเป็นปรมัตถธรรม”
“ตัวของเราคือเป็นธรรมะ” ท่านอยากให้แสดงตรงนั้นเอง  อยากให้เข้าใจมาตรงนี้เอง
แต่คนก็เข้าใจผิดไป  ถือเอาพระอภิธรรมมาตกแต่งเอาจริงๆจังๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
นี่ล้วนแต่อภิธรรมทั้งนั้นมาแต่ง อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าออก เรียกว่า พระสูตรพระวินัย
ลมหายใจออกเรียกพระวินัย ลมหายใจเข้าเรียกว่าพระสูตร  เป็นคัมภีร์ใหญ่โตกว้างขวาง  
นั่นเรียกว่า “ปรมัตถ์คือผืนหนัง” อันนี้กลองแล้วครานี้
ถ้ามีตัวกลองแล้วก็มีผืนหนังหุ้มหน้ากลองแล้วก็มีสายรัด อันกลองนั้นแหละถึงจะดัง  

กลองที่หุ้มหนังแล้วนั่น มีสายรัดแล้วนั่น  ถ้าหาก “ไม่ตี” ก็ไม่ดังอีกหรอก
ขาดผู้ตี   คอยท่าสิ่งที่จะมาตีจึงค่อยดัง  ถ้าไม่ตีก็ทิ้งอย่างนั้น  ไม่ดังหรอก  
ท่านจึงอธิบายต่อไปว่า  “จตุสัจจะทันดัง อริยสัจธรรมเป็นไม้ค้อน” ตีก้องกังวาน  
อริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ “ทุกข์  สมุทัย นิโรธ มรรค”   ตีตรงไหน..ตีกลองนั่นเอง  
ก็หมายความว่า สัจธรรมทั้งสี่ไม่ได้หนีจากตัวของเรา  ทุกข์มันดัง
ทุกข์จนกระทั่งออกปากบางคน..ร้องโฮเลย มันดังออกมา คือ “ทุกข์ตี” นั่นเอง  
ความเสียอกเสียใจน้อยใจ เศร้าสลดใจด้วยประการต่างๆออกปากร้องโฮมาดังเลย  
นั่นล่ะคือ “สัจธรรมเป็นค้อนตี”   ทุกข์อยู่ตรงนั้น คือ ค้อนตีกลองมันดัง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่