Kola superdeep borehole จากกระแสท่องอวกาศ เปลี่ยนมามุดดินไปกับโครงการสำรวจที่ลึกที่สุดที่มนุษย์เคยทำ

สวัสดีครับ เมื่อวานนี้หลายๆคนคงได้ตื่นตากับภาพใกล้สุดของดาวพลูโตกันไปแล้ว ทำเอานักวิทยาศาสตร์รวมทั้งคนทั่วโลกตื่นตาตื่นใจกันไปพอสมควร ก็น้องพลูโตหน้าตาน่ารักซะขนาดนั้น

เงยหน้าขึ้นไปบนฟ้า 4.7พันล้านกิโลเมตร คือตัวเลขที่ยานอวกาศ New horizon เดินทางห่างออกไปจากโลก โดยใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น ร่วมๆสิบปี ถ้าคิดเล่นๆว่ามีคนทำถนนไปดาวพลูโต เราคงต้องใช้เวลาขับรถกันประมาณ 5,300 กว่าปี ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง มนุษย์สามารถสำรวจอวกาศออกไปได้ไกลแสนไกล มีภาพสวยๆของกาแลกซี่ต่างๆ หรือแม้แต่ดาวพลูโต ทำให้เรารู้สึกยิ่งใหญ่ของจักรวาล ส่วนยานอวกาศที่เดินทางออกไปไกลจากโลกมากที่สุดตอนนี้คือ Voyager 1 ตัวเลขระยะห่างจากโลกเมื่อ กันยายน 2012 คือ 18.2 พันล้าน กิโลเมตร (ขับรถไปประมาณ21,000 ปี ผมคิดให้แล้ว อิอิ) และยังเดินทางห่างออกไปด้วยความเร็ว 16 กิโลเมตรต่อวินาที (เร็วจัง )


ที่นี้ลองก้มหน้าลงไปมองข้างล่าง... หลายๆคนคงมองเห็นแค่เป้ากางเกงตัวเองขณะนั่งอยู่หน้าคอม
ไม่ใช่สิ ... สิ่งที่ผมจะสื่อคือ ในขณะที่มีการสำรวจอวกาศไปได้ไกลแสนไกล เราได้เห็นภาพ หรือทราบข้อมูลอะไรต่อมิอะไรมากมาย เคยคิดมั้ยครับว่าโครงสร้างของ "โลก" ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวดินมันมีหน้าตาเป็นยังไง ??? แล้วมนุษย์เคย "สำรวจ" หรือส่งอะไรลงไปใต้ผิวโลกได้ลึกที่สุดสักเท่าไร ?? ไอ้หนังเว่อๆที่ทำยานเจาะเข้าไปแกนโลกเราจะทำได้จริงมั้ย ??

26 ปี คือตัวเลขที่ยาน Voyager 1 ใช้ในการเดินทางออกจากระบบสุริยะ และด้วยเวลาใกล้เคียงกัน (24 ปี) คือเวลาที่ Kola superdeep borehole project ใช้ในการขุดเจาะหลุมที่ลึกลงไปใต้โลกมากที่สุด !!!!


สภาพของหลุมขุดเจาะที่ลึกที่สุดในโลก หลังจากโปรเจคต้องล้มเลิก

6,371 กิโลเมตร คือค่าเฉลี่ยของรัศมีของโลก มนุษย์สามารถสำรวจอวกาศไปได้ไกลแสนไกลหลายพันล้านกิโลเมตร แต่ในทิศตรงข้าม ตัวเลขอย่างเป็นทางการที่มนุษย์สามารถสำรวจลงไปได้ลึกที่สุดจากผิวดิน คือ 12.6 กิโลเมตรเท่านั้น (ขับรถไปกี่นาทีคิดเองนะครับ ฮ่าๆ)  ด้วยความสิ้นเปลืองของงบประมาณการขุดเจาะ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ใหม่ๆที่ทำให้เรารู้ถึงโครงสร้างใต้โลกโดยไม่ต้องเจาะหลุม ดูเหมือนว่าเราจะยังไม่ได้เจาะสำรวจลงไปลึกกว่านี้ในเร็ววัน

อาจจะพอทราบว่า โครงสร้างโลกประกอบเป็นชั้นๆ คร่าวๆได้แก่ เปลือกโลก เนื้อโลก และ แก่นโลก  เป้าหมายหลักของโครงการ Kola Project คือ เพื่อขุดเจาะลึกลงไปให้ถึงสุดเปลือกโลก ซึ่งสถานที่สำรวจคือ Kola peninsula ซึ่งมีความหนาของเปลือกโลกประมาณ 35 km   แต่เมื่อสิ้นสุดโครงการหลังใช้ระยะเวลามานานกว่า 26 ปี ปรากฏว่าสำรวจลงไปได้แค่ 1 ใน 3 ของความลึกที่ตั้งเป้าไว้เท่านั้น


แผนที่ความหนาของเปลือกโลก

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มีมาตั้งแต่ช่วงยุด 50s 60s หลังเข้าสู่สงครามเย็น ทั้งอเมริกาและโซเวียดต่างพยายามแย่งกันเป็นมหาอำนาจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งกันไปดวงจันทร์ และเช่นกัน แข่งกันขุด(เจาะ)โลก !!! แต่โครงการของอเมริกา (Project Mohole) นั้นล้มเลิกไปเสียก่อนเพราะขาดเงินทุนสนับสนุน จึงเป็นฝ่ายโซเวียดที่นำหน้าในการสำรวจเปลือกโลก หลังจากวางแผนมาหลายปี การขุดเจาะก็เริ่มต้นในช่วงปี 1970 ค่อยๆขุดเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ จนตัวเลขสูงสุดก็มาหยุดในปี 1994 เนื่องด้วยเงินทุน และที่สำคัญคือ เรื่องของความยากลำบากของการขุดเจาะที่ความลึกมากกว่านี้

ก่อนที่จะมีการเริ่มขุดเจาะนักวิทยาศาสตร์ต่างพากันคาดการณ์ว่าจะพบชั้นรอยต่อระหว่างหินแกรนิตและหินบะซอลต์ แต่ในหลังการทำการสำรวจกับพบว่าไม่มีหินบะซอลต์อย่างที่พวกเขาคิด พบเพียงแต่หินแกรนิตและหินแปรที่เกิดจากความดันและความร้อนมหาศาลที่ความลึก 4-6 กิโลเมตร แต่ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจก็คือ การค้นพบ “น้ำ” จำนวนมาก ที่แทรกอยู่ในรอยแตกของหินเหล่านี้ ซึ่งพวกเขาคาดการณ์ว่าน่าจะมาจากการรวมตัวของโฮโดรเจนและออกซิเจนที่ถูกขับออกมาจากหินภายใต้เงื่อนไขของความดันและความร้อน หลังจากเกิดน้ำขึ้น น้ำเหล่านี้ไม่สามารถซึมออกมาสู่ผิวโลกได้เพราะถูกปิดไว้ด้วยชั้นหินหนาที่มีค่าซึมผ่านต่ำ หรือน้ำแทบจะไม่สามารถซึมผ่านได้เลย

นอกจากนี้อีกสิ่งที่น่าสนใจที่ถูกค้นพบโดย Kola project  คือการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตอายุมากกว่า 2พันล้านปี นับเป็นฟอสซิลที่มีอายุเก่าแก่มากกกกกกก อายุเกือบครึ่งหนึ่งของอายุโลกเลยทีเดียว ซึ่งพวกเขาก็ยังแปลกใจที่ซากฟอสซิลเหล่านี้ยังคงสภาพอยู่แม้ว่าอุณหภูมิและความดันที่ความลึกนี้ น่าจะทำลายสภาพมันไปจนหมดสิ้นแล้ว


ทีมงานขุดเจาะขณะพยายามเก็บตัวอย่างหิน

แม้ว่าโครงการนี้จะให้ข้อมูลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์และชาวโลกตื่นตาตื่นใจไม่น้อย แต่ที่สุดโครงการก็ต้องยุติลง หลังขุดลงไปได้ถึงความลึกสุดท้าย จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะพบอุณหภูมิที่ประมาณ 100 องศาเซลเซียส กลับกลายเป็นว่าที่ความลึกนี้กลับมีอุณหภูมิสูงถึง 180 องศาเซลเซียส หินที่ความลึกมากลงไปกว่านี้เหมือนจะมีความหนาแน่นน้อยลง มีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีความพรุนสูงขึ้น ลักษณะของสารเหมือนจะเป็นลักษณะของ ”พลาสติก” มากกว่า “ของแข็ง” การขุดเจาะที่ออกแบบมาสำหรับของแข็งแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ความลึกมากกว่า (ซึ่งหลังจากนี้เราก็แบ่งเปลือกโลกเป็น เปลือกโลกชั้นบน และ เปลือกโลกชั้นล่าง ตามคุณสมบัติที่ต่างกัน ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าโครงสร้างแบบพลาสติกที่เปลือกโลกชั้นล่างนี้ มีการไหลอย่างช้าๆ เสียด้วย)

(บางแหล่งในอินเตอร์เน็ทยังให้ข้อมูลเสียด้วยซ้ำว่ามีการค้นพบทองที่ปริมาณ 80 กรัมต่อตัน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก เพราะค่าใช้ที่สำหรับการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเหมืองทองผิวดินอยู่ที่ประมาณ 4กรัมต่อตัน แต่ข้อมูลนี้ผมพยายามหาแหล่งข้อมูลอื่นมาเพิ่มเติมได้ไม่มากนะครับ ใครทราบชี้แจงด้วยว่า project นี้เจอทองขนาดนั้นจริงรึป่าว)

แม้ปัจจุบัน Kola borehole จะไม่ใช่หลุมเจาะที่ยาวที่สุดในโลกแล้ว เพราะมีหลุมเจาะเพื่อการสำรวจปิโตรเลียมหลายหลุมที่ยาวมากกว่า แต่ Kola ยังคงเป็นหลุมเจาะที่ลึกจากผิวโลกที่สุดอยู่ดี เพราะหลุมเจาะเพื่อปิโตรเลียมนั้นมีการขุดเจาะในแนวทแยง ทำให้ความลึกจากผิวโลกยังคงน้อยกว่า Kola นั่นเอง


นักวิทยาศาสตร์และทีมงานกำลังเฉลิมฉลองที่ความลึก 12000 เมตร โดยไม่รู้หรอกว่าหลังจากนี้ พวกเขาไปต่อได้อีกแค่200 กว่าเมตรเท่านั้นเอง

แม้อวกาศจะกว้างใหญ่สักเพียงไหน แม้โลกจะยิ่งใหญ่สักเพียงใด สุดท้ายปัญญาและความพยายามของมนุษย์ ก็ค่อยๆ ก้าวผ่านขีดจำกัดเหล่านั้นไปได้เรื่อยๆ ยังมีเรื่องตื่นเต้นอีกมากมายรอให้เราค้นหาเพื่อค้นพบ


กระทู้แรกครับ ผิดพลาดขออภัยด้วยครับ ติชมด้วยนะครับ พยายามปรับปรุงแล้วนำเรื่องน่าสนใจมาฝากอีกเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ

อ้างอิง
http://www.slate.com/blogs/atlas_obscura/2014/05/08/kola_superdeep_borehole_is_the_world_s_deepest_hole.html
http://www.atlasobscura.com/places/kola-superdeep-borehole
http://www.space.com/17688-voyager-1.html
http://englishrussia.com/2009/07/22/the-kola-superdeep-borehole/2/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่