วัฒนธรรม "ไม่เป็นไร" จากกรณี "เภา บอดี้สแลม"


วัฒนธรรม "ไม่เป็นไร"
เราคงเคยได้ยิน หรือถูกสอนมา ว่าประเทศไทย คือสยามเมืองยิ้ม คนไทยใจดี มีอะไรให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธกัน “ไม่เป็นไร”

ครับ นั่นคือภาพลักษณ์ที่ดีของ “ไม่เป็นไร” แบบไทยๆ ที่เราเห็นกันจนชินตา

แต่อีกมุมหนึ่ง “ไม่เป็นไร” กลับทำให้เกิดความเสียหายมานักต่อนัก มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นมาจากการใช้ “ไม่เป็นไร” แบบผิดที่ผิดเวลา ผิดสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการทำงานและธุรกิจ

ส่วนตัวแล้ว คำว่า “ไม่เป็นไร” นั้น ผมคิดว่าควรนำไปใช้กับการให้อภัย การปลอบใจ และให้กำลังใจเสียเป็นส่วนมาก แต่กลับเห็นการใช้ผิดๆ เช่น ใช้ในการปล่อยปะละเลย

แซงคิว ไม่เป็นไร หยวนๆ
ไม่ปฏิบัติตามกฎ ก็ไม่เป็นไร
พนักงานไม่ทำตามที่สั่งมาเพราะยุ่งยาก เอาเถอะ ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยตามแก้ทีหลัง

คำว่าไม่เป็นไร ในความหมายดีๆ จึงกลับกลายเป็นคำที่ใช้อ้าง ด้วยความมักง่าย

ผมเคยมีประสบการณ์ การทำงานพิเศษในร้านอาหารไทยในญี่ปุ่น ผมเคยฟังผู้จัดการร้านบ่นถึงเพื่อนร่วมงานคนไทยอีกคนหนึ่งว่า ทำไมเวลาฟังเขาอธิบายอะไรถึงต้องพยักหน้าแล้วก็บอกว่าเข้าใจแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจ แล้วไปทำผิดจนเกิดความยุ่งยาก ทำไมคนไทยไม่เข้าใจถึงไม่ถาม เขาพูดกับผมว่า คำว่าไม่เป็นไร มันเป็นคำที่ดี แต่อย่าคิดว่ามันจะใช้ได้กับทุกเรื่องนะ

ประโยคหลังสุดเป็นประโยคที่ผมจำขึ้นใจ

อย่าคิดว่า “ไม่เป็นไร” จะใช้ได้กับทุกเรื่อง

การปล่อยผ่านละเลย กับอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้ผมต้องหันมามองประเทศนี้ใหม่ เวลาเปลี่ยนไป ค่านิยมเปลี่ยนไป การใช้ชีวิตและดำเนินชีวิตก็เปลี่ยนไป ทำให้คนเปลี่ยน เมื่อคนเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยนตาม

จากเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นแบบนั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกันตามปกติไปเสียฉิบ การปล่อยปะละเลยยิ่งขยายจากหน่วยเล็กๆ เป็นปล่อยปะละเลย มักง่าย แล้วแทนที่ด้วยคำว่า “ไม่เป็นไร” ประกอบเหตุผลเข้าข้างตัวเองนาๆ ล้านแปด

สิ่งที่เห็นได้ชัดเป็นอย่างยิ่ง คือคติในการทำงานใดๆ ของคนไทยหลายๆ คน

คนไทยไม่ค่อยจะมีความรักในองค์กรสักเท่าไหร่ อย่างที่เราเรียกกันว่าการทำงานเช้าชามเย็นชาม

“ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ ใส่ใจทำมากก็ได้เท่าเดิม ฉันไม่เห็นมีความจำเป็นต้องไปทำให้มันดีเลย”

คติแบบนี้อันตรายครับ คนไทยหลายคนไม่เคยคิดว่า การทำงานไปงั้นๆ ไม่เป็นไร ผ่านไปวันๆ จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ตรรกะง่ายๆ หากคุณทำงานไม่ดี ผลประกอบการออกมาแย่ บริษัทจำต้องปิดตัวลง ผลคือคุณตกงาน แต่สำหรับบางคน ก็อาจจะ “ไม่เป็นไร” อีก เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ต้องมาแบกรับปัญหากิจการล้มละลาย แต่ก็ไม่เคยตระหนักเช่นกันว่าฟันเฟืองเล็กๆ อย่างตัวเองนั้นก็มีส่วนช่วยให้องค์กรล้มละลาย

ผู้จัดการร้านเคยบอกผมว่า ทุกอย่างเป็นวงกลม หากคุณทำไม่ดี สิ่งนั้นก็จะส่งผลย้อนกลับมาหาคุณ ไม่ผิดเลยครับ การจะทำอะไรสักอย่างก็ทำให้เต็มที่ ไม่ใช่คิดว่า “ไม่เป็นไร” แล้วมาตามไล่แก้ปัญหาทีหลัง ทำไมเราถึงต้องทำงานซ้ำซ้อนและเสียเวลา เสียโอกาสด้วย?

วัฒนธรรม “ไม่เป็นไร” ของคนไทยในปัจจุบัน ผมมองว่ามันส่งผลในระดับชาติ มันทำให้เกิดความหละหลวมในอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งทั้งที่จริงไม่ควรจะมี

“ไม่เป็นไร” ที่กลับมาพร้อมกับความมักง่าย และความประมาทอย่างร้ายแรง

ผมหวังว่า ผู้ที่ได้อ่านสิ่งที่ผมเขียนขึ้นจะฉุกคิด และตระหนักเวลาจะทำอะไร หรือผ่อนปรนอะไร ว่าสิ่งที่จะทำจะส่งผลแค่ไหน การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผมคิดว่าการมองโลกในแง่ลบอีกด้านหนึ่ง มันจะเป็นการช่วยให้ชีวิตมีปัญหาน้อยลง ทำให้ตัวเองและคนรอบข้างใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขขึ้น

บางครั้งการมองโลกในแง่ดี กับคำว่าประมาท มันต่างกันเพียงแค่กระดาษบางๆ กั้นเท่านั้นครับ

อย่าปล่อยปะละเลย เพียงเพราะแค่คิดว่า “ไม่เป็นไร ฉันสบายก่อน”
อย่าปล่อยปะละเลย เพียงเพราะแค่คิดว่า “ไม่เป็นไร ใครๆ เขาก็ทำกัน”
อย่าปล่อยปะละเลย เพียงเพราะแค่คิดว่า “ไม่เป็นไร ไม่เกี่ยวกับฉัน”

แล้วสังคมเราจะน่าอยู่ขึ้นครับ

ที่มา : http://kurohara.blogspot.com/2014/02/blog-post.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่