บันทึกน้ำตาหมื่นลิตร แชร์ประสบการณ์ เมื่อฉันต้องกลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่ากระทู้นี้อยากแชร์เรื่องราวส่วนตัวของตัวเอง ที่อาจจะมีสาระ หรือไม่มีสาระบ้าง แต่อย่างน้อย ก็อยากจะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆให้คนอื่นได้รับรู้ค่ะ คิดว่าคงพอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง เนื้อหาอาจจะยาวซักหน่อยนะคะ ยังไงจะพยายามแยกประเด็นใหม่ในแต่ละ comment แทนเนาะ จะได้อ่านง่ายๆ

และขอเตือนอีกครั้ง เนื้อหาอาจเป็นเรื่องส่วนตัวที่อาจจะไม่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าซะทีเดียว แต่เราก็อยากเล่าค่ะ ถือซะว่า กำลังอ่านบันทึกของใครคนนึงเพลินๆละกันนะคะ ^^

ปล. เราขอไม่เอ่ยสถานที่ หรือสถาบันใดๆนะคะ บอกตรงๆ แค่อยากแชร์เรื่องราวค่ะ แต่ไม่อยากให้รู้ว่าเราเป็นใคร ทำอะไรที่ไหน ถ้าใครรู้หรือพอเดาๆออก ก็จุ๊ๆไว้นะคะ
แต่ถ้าอยากรู้หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา สามารถสอบถามมาหลังไมค์ได้ค่ะ
-----------------------
เริ่มเลยนะคะ ขอบอกประวัติตัวเองคร่าวๆก่อนว่า เป็นผู้หญิงธรรมดา ทั่วๆไปค่ะ อายุ 25 ปี การศึกษาก็เคยเรียนจบป.ตรีทางด้านสื่อสารมวลชน และตอนนี้กำลังต่อป.โท ในสาขาปรัชญาและศาสนา (ซึ่งตอนนี้กำลังง่วนกับทีสิสอยู่เลยค่ะ) ส่วนตัวเคยทำงานด้านตัดต่อวิดีโอกับบริษัทแห่งนึงมาได้ประมาณแปดเดือน สุดท้ายก็ลาออกมาเรียนต่อป.โท ปัจจุบันไม่ได้ทำงานค่ะ อาศัยเงินจากทางบ้านส่งให้ใช้

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อไม่นานมานี้ค่ะ เกือบถูกรถชน ซึ่งก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไรมากหรอกค่ะ คือตอนนั้นเดินเลียบถนนอยู่ถึงช่วงทางแยกที่จะมีรถเลี้ยวเข้าออกไรงี้ เราก็ว่าดูทางดีแล้วนะ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าผิดพลาดอะไรยังไง รถคันนั้นพุ่งมาเร็วมาก แบบผิดวิสัยของรถที่ปกติถ้าจะเลี้ยวก็ต้องชะลอความเร็วกันนิดนึงใช่มะคะ เราแบบเฮ้ย ตกใจแรงมาก แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครเป็นอะไรค่ะ แต่แค่รู้สึกเฟลมาก เลยไปบ่นลงเฟซบุคตามประสาคนติดโซเชียล

แล้วทีนี้ค่ะ ไม่มีใครสนใจเลย…

คือถ้าเป็นปกติอย่างน้อยก็น่าจะมีคนมีถามแล้วว่าเป็นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้น ตรงไหนแก อะไรอย่างงี้ใช่มั้ยคะ หรือถ้าสนิทกันก็อาจจะโทรถาม แต่นี่คือแบบ…เงียบมาก

แต่ที่เราเจ็บปวดคือ หลังจากที่ตามเชคเรื่อยๆ บรรดาเพื่อนๆในเฟซทั้งหลายแหล่ ส่วนใหญ่ก็โพสต์รูปไปมีตติ้งบ้าง รูปไปเที่ยวนู่นนี่นั่นแบบแฮปปี้ดี๊ด๊าบ้าง หรือทำกิจกรรมสุดเก๋ สุดฮิป อะไรกันก็ว่าไป

คือตอนนั้นเราแบบเจ็บจี๊ด คือรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นส่วนเกินของทุกคนเลยค่ะ ไม่มีใครสนใจไม่พอ พอเขาไปเที่ยวกัน เขามีความสุขกัน ทำไมเขาไม่นึกถึงเราเลย เราเป็นเพื่อนกัน รู้จักกัน เคยสนิทกันไม่ใช่เหรอ? นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจ ณ ตอนนั้นค่ะ

หลังจากที่คิดวนเวียนซ้ำๆอยู่ทั้งคืน คือร้องไห้ และนอนไม่หลับเลยทั้งคืน ต่อด้วยการโพสต์สเตตัสที่เวิ่นเว้อที่สุดในสามโลกแบบยาวเหยียดตอนดึกๆ คือเครียดมาก ไม่ชอบความรู้สึกแบบนี้เลยค่ะ รู้นะคะว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยมากกกกกๆ ทำไมถึงเอาแต่เก็บมาคิดมากอยู่ได้ แต่ ณ จุดนั้น อาจจะสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล ความเหนื่อย ความเครียดที่สะสมมานาน คือร้องไห้ทั้งคืนจนนอนไม่หลับ แบบไม่หยุดเลย

จริงๆเราเคยมีอาการแบบนี้มาแล้วสองสามครั้งค่ะ แต่ก็ผ่านมาได้ ถึงแม้จะใช้เวลาอยู่บ้างก็ตาม จนเราเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย ไม่อยากเป็นแบบนี้อีกแล้ว อยู่ๆก็คิดอยากจะไปพบจิตแพทย์ค่ะ คือสรุปว่าคืนนั้นร้องไห้ไปด้วย นั่งเสิร์ชหาข้อมูลไปด้วยว่าควรจะไปโรงพยาบาลไหนอะไรยังไง เสร็จสรรพ ราวๆตีสี่ ตีห้าค่ะ คือร้องไห้จนเหนื่อย จนล้า ก็เลยหลับตานอนได้ในที่สุด

คือขอบอกก่อนว่าช่วงที่รู้สึกแย่และพีคมากๆนี้มันเกิดประมาณวันพฤหัสค่ะ พอวันศุกร์ดันตื่นสายอีก เลยทำได้แค่โทรไปสอบถามข้อมูล แต่ก็ไม่ได้นัดหมอหรืออะไรนะคะ เพราะทำไม่ทันแล้ว อีกอย่างต้องทำประวัติคนไข้ก่อนด้วย สรุปก็เลยกะว่าจะรออาทิตย์หน้า แล้วดันติดวันหยุดยาวอีก คือรอไปหลายวันมากค่ะกว่าจะได้ทำเรื่องพบหมอ

พอวันรุ่งขึ้นสายๆ เพื่อนที่เรียนป.โทด้วยกันที่เห็นสเตตัสเวิ่นเว้อนั้น ก็นัดเจอไปหาอะไรอร่อยๆกินกันตอนบ่ายๆ จะได้พบปะพูดคุย เผื่ออะไรจะได้ดีขึ้น
ก็ไปค่ะ

จริงๆเหนื่อยและเพลียมาก แต่ก็อยากเจอใครสักคนค่ะ อยากพูด อยากระบาย
พอได้คุยกันก็ทำให้ได้รู้ว่าเพื่อนของเราคนนี้ก็เคยมีอาการซึมเศร้า ไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งนึงของรัฐ ไประบายให้หมอฟังกว่าหลายชั่วโมง แล้วหมอก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าให้ยาไปกิน เพื่อนบอกว่ายาที่ได้มาก็ดีนะ กินแล้วมีความสุขมาก แต่ก็รู้สึกหลอกตัวเอง เพราะที่มีความสุขเป็นเพราะยา ไม่ได้มาจากใจ จากความรู้สึกจริงๆ เพื่อนก็เลยหยุดกินยา หยุดพบหมอค่ะ เพราะคิดว่าหมอแค่ทำตามหน้าที่เท่านั้น จริงๆแล้วไม่ได้เข้าใจในตัวคนไข้เลย(อันนี้คือสิ่งที่เพื่อนเราพูด)

เพื่อนเราก็เลยเลือกที่จะปรับเปลี่ยนที่ทัศนคติ แล้วหันมาคุยกับตัวเอง ใส่ใจกับความคิดของตัวเองมากขึ้นแทนค่ะ ปัจจุบันก็ดูชีวิตเป็นปกติสุขดีนะคะ เท่าที่เราเห็น

คือตอนนั้นเราก็ปรึกษาแหละค่ะว่าอยากลองพบจิตแพทย์ดู คือมันไม่ไหวแล้ว เรารู้สึกตัวเองเป็นคนนอก เป็นส่วนเกินของกลุ่มเพื่อน ของสังคมตลอดเวลา สำหรับเรา คิดว่าไม่มีเพื่อนคนไหนที่เรียกได้อย่างเต็มปากว่าเพื่อนสนิทเลยค่ะ เหมือนตัวคนเดียว แล้วยิ่งพอคิดย้ำไปย้ำมาแบบนี้เราก็ยิ่งร้องไห้ค่ะ สรุปวันนั้นเราร้องไห้กับเพื่อนกันทั้งคู่เลยค่ะ ฮา

หลังจากกลับมาก็ยังคงมีน้ำตาซึมๆอยู่บ้างค่ะ
วันรุ่งขึ้น
วันเสาร์ เราต้องกลับบ้านที่ต่างจังหวัดค่ะ เพราะว่าต้องกลับไปเยี่ยมยายทุกอาทิตย์ ก่อนหน้านี้ยายเคยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบค่ะ มีอาการคล้ายคนเป็นอัมพาตครึ่งซีกเลย ดีที่รักษาทัน ปัจจุบันช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง แต่ก็ต้องมีคนคอยดูแลอยู่เป็นเพื่อนค่ะ ปล่อยให้อยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าโรคจะกลับมากำเริบอีกเมื่อไหร่ ปัจจุบันยายอยู่กับป้าตลอดค่ะ โดยมีลูกๆหลานๆแวะมาเยี่ยมเยียนบ้างตามโอกาส แต่เราก็จะพยายามกลับไปทุกอาทิตย์ค่ะ
แล้ววันเสาร์ช่วงเย็นๆค่ะ เรากลับถึงบ้านแล้วแหละ เพื่อนอีกคนที่เรียนป.โทด้วยกัน(คนละคนกับคนแรก) ก็โทรมาหา ประมาณว่าเห็นสเตตัสเวิ่นเว้อนั้นด้วย แล้วก็เดาๆว่าคงเครียดๆเรื่องที่บ้านของตัวเองด้วยอะไรด้วย ก็เลยอยากคุยกันประมาณนั้น

เราก็คุยไปว่า เรารู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้นะ มันไม่โอเคเลยว่ะ หลังจากนั้นก็คุยเรื่องของเพื่อนคนนั้นไปบ้าง เราก็จำอะไรไม่ค่อยได้หรอกค่ะ รู้แค่ว่าการได้พูดคุยกับเพื่อนคนนี้ทำให้ความคิดเราวนเวียนกลับมาที่ความรู้สึกแบบเดิมอีกแล้ว ความรู้สึกที่เหมือนตัวเองเป็นส่วนเกิน ไม่มีใครยอมรับ ความรู้สึกฝืนพยายามทำตัวเป็นคนดี เพราะกลัวโดนคนอื่นเกลียด

สรุปคืนนั้นเราร้องไห้อีกแล้วค่ะ ขนาดนอนข้างๆยายเลยนะคะ แต่ก็พยายามนอนหันหลังให้ แล้วก็ไม่ได้สะอื้นค่ะ แค่น้ำตาไหลนอง จนนอนไม่หลับค่ะ ถึงราวๆตีสอง เครียดมาก จนหยิบมือถือมาเล่น มาทำนู่นทำนี่ ดูทีวี ก็ไม่หลับ เครียดก็เครียด น้ำตาก็ไหลไม่หยุด ไม่รู้ว่าหลับไปตอนไหน แต่ความรู้สึกตอนนั้นคือชีวิตมีปัญหามากค่ะ

วันเวลาค่อยๆผ่านไปอย่างช้าๆค่ะ ทรมานมาก บอกตรงๆ ถึงจะแค่ช่วงสั้นๆ แต่ทุกคืนกว่าจะข่มตานอนได้ยากมาก แถมเรายังต้องตื่นแต่เช้ามาอุ่นกับข้าว ทำอาหารให้ยายกินอีก คือเหนื่อยและเพลียมาก แต่ก็ต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำ ป้าตื่นสายมาก บางทีก็แปด เก้าโมงโน่น

ซึ่งตอนเราไม่อยู่บ้าน เราก็ไม่รู้ว่าเค้าอยู่กันยังไงนะคะ บอกตรงๆสงสารยายมากค่ะ ขนาดยาหลังอาหารทุกมื้อ ป้าเรายังให้ยายหยิบกินเองเลยค่ะ แต่จะแยกไว้ให้ว่ากองไหนมื้อเช้า มื้อเย็น แต่ถ้าเราอยู่บ้านหน้าที่พวกนี้เราจะทำเองค่ะ เพราะยายก็แก่มากแล้ว งกๆเงิ่นๆ ไม่รู้ว่าแกหยิบยาถูกรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่เราเป็นหลานไงคะ บอกอะไรไปก็ไม่มีใครฟัง เลยได้แต่ปล่อยเลยตามเลย

จนผ่านมาถึงวันจันทร์ วันนี้เราต้องกลับมาที่กรุงเทพฯค่ะ จะได้เตรียมมาทำเรื่องอะไรให้เรียบร้อย จะได้นัดหมอซะที ตอนนั้นบอกกับตัวเองในใจค่ะ ว่าอีก
ไม่นานทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าเราได้พบหมอ เราก็คงรู้แหละว่าเราเป็นอะไร มีอะไรผิดปกติกันแน่

วันอังคาร
เราไปที่โรงพยาบาลแต่เช้าเลยค่ะ แต่เนื่องจากที่พักเราอยู่ไกลจากโรงพยาบาลมาก แบบคนละทางเลย 555 กว่าจะไปถึงก็สิบโมงได้ แต่ก็ยังทันไปทำประวัติผู้ป่วยได้ค่ะ แป๊บเดียวเอง ได้บัตร ได้เลขทะเบียนผู้ป่วยใหม่เรียบร้อย แล้วก็กะว่าจะขึ้นไปนัดพบหมอที่แผนกจิตเวชซะเลย ใจก็คิดว่านัดหมอไว้ก่อน อาจจะได้พบหมอวันอื่นๆถัดไปก็ไม่เป็นไร

แต่คือพอขึ้นไปถึงแผนกจิตเวชปุ๊บ ตอนนั้นคือเรารู้สึกแบบเครียด และกดดันขึ้นมาดื้อๆเลยค่ะ รู้สึกว่าเราต้องกลายเป็นคนไข้ของแผนกนี้จรึงๆเหรอเนี่ย แล้วเราก็เดินเข้าไปในแผนกจิตเวชค่ะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 75
ต้องขอโทษไปถึงข้อความหลังไมค์บางท่านด้วยที่ไม่สามารถตอบกลับได้นะคะ
คือเราไม่ได้เป็นสมาชิกยืนยันตัวตน บางท่านที่ตั้งค่าข้อความไว้ให้ตอบได้เฉพาะสมาชิกอย่างเป็นทางการ กรุณาปลดล็อคด้วยนะคะ

เห็นมีถามกันเข้ามาหลายท่านว่าเรารักษาที่ไหน งั้นเราขอตอบตรงนี้ แบบไม่ต้องเหนียมอายเลยละกันนะคะ

"เรารักษาที่ รพ ศิริราช ค่ะ"

เราคงสามารถตอบได้แค่ในกระทู้ของเรา หวังว่าคุณผู้อ่านท่านอื่นๆ ที่อาจตามมาอ่านภายหลังจะเห็นนะคะ เดี๋ยวเลือกคอมเมนท์นี้ให้เห็นบนสุด น่าจะง่ายขึ้น

ส่วนใครที่มีปัญหาอะไร หรืออยากระบาย จะส่งมาทางหลังไมค์ หรือบ่นในกระทู้นี้ก็ได้ค่ะ ยินดีรับฟังเสมอ
ขอบคุณค่ะอมยิ้ม17
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 8
สองวันถัดมาเป็นวันนัดเข้าคลินิกคลายเครียด

วันนี้เริ่มทำตัวเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของคนในแผนกนี้ไปแล้วค่ะ 55 ไม่เครียด ไม่ร้องไห้ แต่ช่วงระหว่างที่รอเนี่ยแหละ ช่วงทรมาน เพราะมันต้องนั่งเฉยๆว่างๆไงคะ ความคิดอะไรก็แล่นเข้ามาในหัวเต็มไปหมด เกือบจะร้องไห้ออกมาอีกแล้ว แต่ก็กลั้นไว้ได้ แต่สุดท้ายตอนเข้าห้องไปคุยกับคุณหมอก็ไม่รอดค่ะ 555

คุณหมอถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง เราพยายามจะตอบว่าดีขึ้นแล้วค่ะ แต่เหมือนก้อนน้ำตามันขึ้นมาจุกอยู่ตรงคออ่ะค่ะ คุณหมอก็เลยถามว่า ทำไมดีขึ้นแล้ว แต่เมื่อกี๊เสียงมันเหมือนจะร้องไห้เลยล่ะ นั่นแหละค่ะ เราก็ร้องไห้ออกมาจนได้

คุณหมอบอกว่าร้องไห้ได้นะ ไม่เป็นไร สักแป๊บนึงสงบสติอารมณ์ได้ ก็พูดคุยกับคุณหมอ เราก็บ่นเรื่องนู่น นี่ นั่น แล้วก็เข้ามาอีหรอบเดิม เหนื่อยใจกับสังคมหรือสิ่งรอบตัว ทุกคนดูเห็นแก่ตัวจังเลย หนูเลยต้องเป็นฝ่ายยอมเสียสละอยู่ทุกวันนี้นี่ไง

คุณหมอก็เลยหยิบกระดาษมาใบนึง แล้วก็วาดจุดด้วยปากกาลงไปหนึ่งจุด แล้วก็ถามว่าเราเห็นอะไร
แน่นอนเรื่องนี้เราเคยเรียนหรือผ่านตามาบ้างแล้วแหละ ว่าคนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะตอบว่าเห็นจุด เพราะสีดำพื้นที่เล็กๆ ซึ่งมักเปรียบได้กับข้อเสีย หรือข้อด้อย มักถูกเพ่งเล็งได้ง่ายกว่า ถึงแม้จะมีสีขาวอยู่เยอะก็ตาม ตอนนั้นเราก็ตอบไปตามตรงว่าเห็นจุดนะ แบบไม่อยากแอ๊บแบ๊วโลกสวยตอบว่าเห็นสีขาว

คุณหมอก็บอกว่าตอนนี้เรามองแต่ข้อเสียไง ทั้งที่จริงๆก็ยังมีด้านดีๆด้านอื่นอีก ก็เหมือนกับชีวิตคนเรานี่แหละ ไม่มีใครสมบูรณ์เพียบพร้อมไปหมดหรอก คุณหมอก็ถามว่าแล้วถ้าเห็นจุดแบบนี้จะทำยังไง จะลบมันได้มั้ย เราก็บอกว่า จริงๆสีขาวก็มีตั้งเยอะ แค่เปลี่ยนมามองแต่ด้านที่มีสีขาวก็น่าจะโอเคนะคะหมอ

แล้วหลังจากนั้นเราก็บ่นเรื่องรู้สึกตัวเองแปลกไปจากคนอื่น ก็เลยเล่าถึงเรื่องวันที่ต้องไปนั่งรออาจารย์ตั้งหลายชั่วโมงกว่าจะได้เจอ คือระหว่างรอเนี่ย เราก็โอเคนะ อาจจะหงุดหงิดนิดหน่อย ว่าอาจารย์เมื่อไหร่จะมา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอึดอัดและทรมานคือสายตาของอาจารย์ท่านอื่นๆหรือคนอื่นๆที่เดินผ่านไปผ่านมาตรงทางเดิน แล้วเห็นเรานั่งรออยู่คนเดียว นิ่งๆ ไม่ไปไหนสักที เป็นหลายชั่วโมง คือแบบไม่ชอบความรู้สึกแบบนี้เลย

คุณหมอก็เลยแนะนำทฤษฎีมาให้ คือ C B T
C = cognitive ความคิด ความรู้สึก
B = behavior พฤติกรรม
T = Therapy

ซึ่งคุณหมอก็แบ่งกระดาษออกเป็น 3 ช่อง แล้วก็ให้ยกเหตุการณ์ระหว่างที่เรานั่งรออาจารย์นั้นแหละมาเขียนแยกตามทฤษฎีนี้

ทางด้าน C เราก็เขียนไปว่าหงุดหงิด กระวนกระวาย เมื่อไหร่จะมา เสียเวลา / เครียด ไม่สบายใจ อยากอยู่เฉยๆคนเดียว อย่าเดินมาบ่อยได้มั้ย ทำตัวไม่ถูก (ที่แยกออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกความรู้สึกในขณะนั่งรอ ส่วนหลังคือเมื่อนั่งรอแล้วมีคนเดินผ่านไปผ่านมา) จริงๆมีมากกว่านี้อีกเยอะ แต่จำไม่ได้ละ 55

ส่วน B เราเขียนพฤติกรรมระหว่างนั่งรอไปว่า นั่งเฉยๆ เล่นมือถือ คอยมองหาอาจารย์ วนลูป

แล้วคุณหมอก็เอาไปดู ตามทฤษฎีเค้าบอกว่าความคิดกับพฤติกรรมเนี่ยมันส่งผลถึงกันนะ แล้วดูสิ พฤติกรรมของเรามีแค่ 3 อย่างเอง แต่ความคิด โอ้โห เยอะแยะไปหมด

คุณหมอก็แนะนำว่า ถ้าจะแก้ไข ก็อาจจะลองเปลี่ยนดูอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างเปลี่ยนความคิด กับพฤติกรรม เช่นถ้าระหว่างนั่งรออยู่แล้วมันเบื่อ มันหงุดหงิด อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมออกไปทำอย่างอื่นแทน หรือไม่ก็เปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่นแทนเลย เช่น เย็นนี้จะดูหนังอะไรดี กินข้าวที่ไหน อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันน่าจะบำบัดอาการหรือความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจที่เกิดขึ้นได้ อยากให้ลองทำดู

แล้วคุณหมอก็ยังบอกอีกว่าตอนนี้ชีวิตเราเองมาทางฝั่งการเป็นผู้ให้ หรือ give คนอื่นมาก เหมือนตาชั่งที่เอียงไปข้างใดข้างนึงเลย มันไม่สมดุล ชีวิตที่มีความสุข ก็คือความพอดี การตามหาสมดุลให้เจอ ตั้งแต่คราวที่แล้ว คุณหมอก็จะพูดเสมอถึงเรื่อง give&take คือต้องรู้จักการเป็นผู้ให้และการเป็นผู้รับ

แล้วยังสอนอีกว่า การที่เราให้อย่างเดียว ก็เป็นการตัดโอกาสคนอื่นไม่ให้สามารถกลายเป็นฝ่าย Give ด้วยเหมือนกันนะ แล้วก็หัดรู้จักเป็นผู้รับบ้าง เพื่ออย่างน้อยก็เป็นการสอนเพื่อนหรือคนรอบข้างเราไปในตัวด้วย ว่ามันต้อง give&take นะ เพื่อนจะได้ไม่เสียนิสัย 555

แล้วคุณหมอก็จะย้ำอยู่เสมอว่าการที่เราทำอะไร ให้ถามก่อนเลย เราทำเพื่อใคร เพื่อตัวเอง หรือเพื่อคนอื่น ตอนนี้ทุกอย่างที่เราทำคือมันเพื่อคนอื่นไง เพราะอยากให้ทุกคนเห็นว่าเราเป็นคนดี อยากได้รับการยอมรับ

คุณหมอก็เลยแนะนำว่า ทุกครั้งเวลาจะทำอะไร ถามตัวเองก่อนเลย คุ้มมั้ยกับสิ่งที่ทำอยู่ คือถ้าเพื่อความสุขของตัวเอง หรือเพื่อคนอื่น อย่างไหนมันคุ้มค่า และสร้างความสุขให้กับเราได้มากกว่ากัน
เราก็เออ จริงด้วยนะ เราไม่เคยคิดถึงมุมมองนี้มาก่อนเลย ก็นั่นแหละ คุ้มมั้ยเล่ากับการเสียเวลามานั่งร้องไห้ฟูมฟาย โดยไม่บอกให้ใครรู้ ถ้าคิดว่าไม่คุ้มแล้วจะทำยังไงต่อไป (ก็หยุดร้องสิเจ้าคะ เวลาเหลือก็เอาไปทำอย่างอื่นที่มันจรรโลงใจ สรรค์สร้างความสุขให้กับตัวเองได้อีกเยอะ)

แล้วคุณหมอก็ถามว่าที่ว่าเราเห็นคุณค่าของตัวเองเนี่ย สรุปแล้วเราเห็นค่าของตัวเองจริงๆ หรือต้องผ่านจากมุมมองของคนอื่น เราก็บอกว่าก็เห็นคุณค่าของตัวเองนะ แต่ก็แบบ ชีวิตหนูมันธรรมดาอ่ะค่ะคุณหมอ ความสามารถก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร การเรียนถึงจะพอไปวัดไปวาได้ แต่ความคิดความอ่านก็สู้เพื่อนๆที่เรียนมาด้วยกันไม่ได้เลย เรียกง่ายๆว่ารู้สึกไม่เจ๋งเท่าคนอื่นอ่ะ คือในใจลึกๆก็อยากเป็นคนที่มีอะไรที่เก่ง หรือพิเศษซักด้านนึง ให้คนอื่นเขาพูดถึงเราอย่างนั้นบ้าง ชื่นชมบ้าง

คุณหมอก็เลยลองให้เปลี่ยนมุมมองดู สมมุติให้เรามองไป เห็นเด็กผู้หญิงคนนึงที่เติบโตมากับยายเพียงสองคน ต้องมีชีวิตอยู่เพียงโดดเดี่ยวลำพัง แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นลูกที่ดี เป็นหลานที่ดี เรียนจบปริญญาตรี กำลังจะต่อโทด้วย เหล้ายา ก็ไม่กิน ไม่เคยทำตัวเสื่อมเสีย เป็นคนดีของสังคม มองจากมุมนี้แล้ว คิดว่าเด็กผู้หญิงคนนั้นเป็นอย่างไรคะ

เราก็เลยตอบว่า เด็กคนนั้นแข็งแกร่งมากค่ะ แล้วก็น่าชื่นชมมากด้วย(ซึ่งเด็กคนนั้นก็คือตัวเรานั่นแหละ) คุณหมอก็บอก นั่นไงคะ ชีวิตคนเราต่างก็ต้องผ่านอะไรมาเยอะ อาจจะเริ่มต้นไม่พร้อมเท่าคนอื่น และกว่าจะมายืนอยู่ถึงจุดนี้ได้ ต้องแข็งแกร่ง ต้องต่อสู้กับอะไรมามากมาย เห็นมั้ยว่าเก่งขนาดนี้ แล้วแบบนี้จะไม่ชมตัวเองหน่อยเหรอ ชมตัวเองบ้างนะคะ คนเรามีคุณค่าเสมอ ไม่เห็นต้องคอยเปาไปเทียบกัยคนอื่นเลยจริงมั้ย

แล้วคุณหมอก็พูดถึงเรื่องนิยามความดี สำหรับเราคือยังไง
ตอนนั้นก็อื้ออึงนะ แบบเท่าที่เรียนมาความดีมันมีหลายแบบมาก เราก็นิยามไม่ถูกหรอก แต่ก็ตอบไปแบบโง่ๆว่า คือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อกัน ทำดีต่อกันค่ะ

คุณหมอก็เลยถามว่า สมมุติว่ามีคนนึงเนี่ย เขาไม่เคยทำดีกับใครเลยนะ แต่ในใจเขาไม่เคยคิดร้ายกันคนอื่นเลย อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนดีได้มั้ยคะ

เราก็นิ่งคิดไปแป๊บนึง แล้วก็ตอบว่า ถ้าเขาไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ก็น่าจะเรียกว่าดีได้นะคะ

คุณหมอก็เลยบอกว่าความดีมันก็มีหลายแบบ เราไม่จำเป็นต้องฝืนทำในสิ่งที่คนอื่นมองว่าดีก็ได้ เห็นมั้ยการไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครก็ถือว่าเป็นความดีได้เหมือนกัน เราก็อืม จริงด้วยสินะ เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลย

จบการพูดคุยครั้งนี้แต่เพียงเท่านี้ ซึ่งตอนนี้เราไม่ได้กินยา คุณหมอก็เลยขอนัดเจอกันถี่นิดนึง ก็อีกสองอาทิตย์ข้างหน้า ค่อยมาดูกันว่ามันจะดีขึ้นหรือแย่ลง 555

===========
คือหลังจากที่ได้คุยกับคุณหมอในคลินิกคลายเครียดก็ทำให้เราได้ข้อคิด วิธีรับมืออะไรหลายอย่างมากนะ

ทั้งเรื่องคุ้มมั้ยกับสิ่งที่ทำ มันสร้างความสุขให้เรารึเปล่า เราทำเพื่อใคร
ทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือแนวคิด
การมองเห็นคุณค่าและยอมรับในตนเอง
เรื่อง Give&Take ที่ทั้งสองฝ่ายควรจะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องให้อย่างเดียว หรือคอยแต่จะรับอย่างเดียว
การหาสมดุลในชีวิตให้เจอ

อืม ก็บอกตรงๆนะว่าทำให้มองโลกใหม่ ด้วยสายตาที่เข้าใจมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังปรับไม่ได้ซะหมด 100% หรอกค่ะ บางครั้งเราตามความคิดไม่ทัน ก็มีคิดแง่ลบ จนเศร้า จนร้องไห้ ก็มีอยู่บ่อยๆ(ยิ่งตอนนั่งรถเมล์ตอนรถติดนานๆ ฟุ้งซ่านค่ะ เผลอร้องไห้ไปหลายทีมาก อารมณ์แปรปรวนมาก สงสารคนที่นั่งข้างๆจุง 555)
แต่ก็คิดว่านี่ก็ดีขึ้นมากแล้วนะ แล้วก็จะพยายามปรับเปลี่ยนมุมมอง หรือพฤติกรรมเราไปเรื่อยๆ

เรายังคงเชื่อ และมีความหวังอยู่เสมอค่ะ ว่าเราจะต้องดีขึ้น จะต้องหายจากอาการเหล่านี้ จะต้องเป็นคนที่มีความสุขให้ได้ ถึงแม้จะไม่รู้ว่านานเท่าไหร่ แต่เราก็จะพยายามค่ะ

ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ ย้าว ยาว แต่เนื้อหาสาระไม่ค่อยจะมีซะเท่าไหร่ ใครมีอะไรก็มาเล่าสู่กันฟังได้นะคะ


จริงๆอยากทำภาคเจาะลึกชีวิตของตัวเองนะ แต่กลัวจะยาวเกิน ไม่มีใครอยากอ่าน
ก็เอาเป็นว่า ณ ตอนนี้ก็ยังต้องคอยไปหาหมออยู่ค่ะ และก็ยังคงมีอาการอยู่บ้าง แต่ไม่ได้แย่จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันแล้วนะ นอนดึก นิดหน่อย แต่นอนหลับเต็มอิ่มค่ะ กินข้าวได้ โดยรวมแฮปปี้อมยิ้ม01

เดี๋ยวกะว่าจะแชร์กระทู้นี้เข้าเฟซบุคตัวเองอยู่เหมือนกัน ยังแอบกลัวๆนะคะ ว่าคนอื่นจะคิดกับเรายังไง จะรับได้มั้ย จะหาว่าเพ้อเจ้อหรือเปล่า แต่ก็อยากบอกให้คนอื่นๆรู้บ้างอ่ะเนาะ เผื่อใครที่เค้ามีอาการ หรือรู้สึกแบบเดียวกับเรา จะได้เห็นว่านี่ไง มีคนแบบเราเป็นเพื่อนอยู่นะ อยากให้ทุกๆคนมีความสุขนะคะอมยิ้ม04

สวัสดีค่ะ
ความคิดเห็นที่ 10
โรคซึมเศร้าแบบย่อ เกิดจากมีฮอร์โมนหลายตัวสูงเกินไปครับ ถ้าควบคุมระดับฮอร์โมนได้ อาการต่างๆก็จะหายและใช้ชีวิตได้มีความสุขเอง

ความเครียด1----->อะดรีนารีน2 ----->คอติซอล3

2. เวลากลัวหรือเครียด โดปามีนถูกเปลี่ยนเป็นอะดีนารีน(ฮอร์โมนแห่งการต่อสู้หรือหนีภัย) ทำให้โดปามีนต่ำลง(ฮอร์โมนแห่งความสุขและพึ่งพอใจ)..... ใครมาทำดีด้วย แต่ไม่มีโดปามีนให้หลั่ง จึงรู้สึกไม่มีความสุข เมื่อโดปามีนหลั่งต่ำ ฮอร์โมนออกซิโทซิน(ฮอรโมนแห่งความรัก ผูกพัน เชื่อใจและมั่นใจในตนเอง)จะหลั่งต่ำตาม..... ความรู้สึกมั่นใจในตนเองจึงลดลง รู้สึกไม่มีใครรักและไม่รักใคร
3. อะดรีนารีนที่สูงจะเพิ่มการหลั่งฮอรโมนคอติซอลให้สูงด้วย(ฮอร์โมนแห่งการระวังภัย) ทำให้เพิ่มน้ำตาลในเลือด(อ่อนเพลีย) สมองไวเร้า(หลับไม่สนิท ตกใจเสียงต่างๆเช่นฟ้าผ่า) และกดการสร้างเซลล์ใหม่เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสียหาย(เมื่อใช้งานเซลล์สมองหนักจนเกิดความเสียหาย ปกติร่างกายจะสร้างเซลล์ใหม่ทดแทน แต่คอติซอลกดการทำงานนี้)

ปล. อย่าหยุดยาเอง อย่าหยุดไปรักษาเอง โรคนี้ถ้ากินยาควบคุมระดับฮอรโมนต่างๆได้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุขแน่นอน (ไม่ตั้งใจรักษา มีแต่ทำให้สมองทำงานหนักจนได้รับบาดเจ็บ และซ่อมแซมได้ช้า) ลองอ่านแบบละเอียดดูนะครับ ค่อยๆพยายามอ่าน http://ppantip.com/topic/33099319
เมื่อเข้าใจกลไกของโรค ก็จะเข้าใจวิธีรักษาและลดอาการ และเก็บความรู้ไว้ป้องกันเมื่อกลับเป็นซ้ำ อาการจะไม่รุนแรงครับ ทำให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีความสุขครับ

1. ไม่อยากกินยากลัวผลข้างเคียง
ความจริงแล้ว ผลข้างเคียงของยาไม่รุนแรงหรอกครับ สิ่งที่ทำให้เข้าใจผิดว่ารุนแรง คือ ตัวอาการของโรครุนแรง เลยทำให้คิดไปเองว่า เกิดจากยา (สังเกตุ ถ้าคุณอาการไม่หนัก กินยาตัวเดียวกัน ไม่มีผลข้างเคียงอะไรเลยครับ)

2. กลัวจะติดยา
ไม่ติดหรอกครับ ที่เข้าใจผิดว่าติดยาคือ ไม่ตั้งใจรักษาดูแลอาการให้ดีจริง(ไม่แก้ไขปัญหาให้ตรงสาเหตุของโรค) ไม่กินยาครบตรงเวลา ไม่เบียงเบนความคิด ไม่กินอาหารให้ครบและไม่ออกกำลังกาย จึงต้องพึ่งแต่ยานอนหลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ(เนื่องจากฮอรโมนคอติซอลหลั่งเพิ่มขึ้นอีก ทำให้สมองไวต่อสิ่งเร้าเพิ่มขึ้นอีก จึงหลับไม่สนิทครับ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่