สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน มิ.ย. อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral)

8 มิ.ย. 58 - สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) นักลงทุนมองปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศส่งผลเชิงลบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นมากที่สุด
Cr: https://www.facebook.com/fetco



นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อันเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก แต่ทิศทางความเชื่อมั่นยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral)


• นักลงทุนคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 88.16 (ช่วงค่าดัชนี 0 - 200) เมื่อเปรียบเทียบจากดัชนีในเดือนที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงถึง 14.17% (ดัชนีเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 102.72) ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันว่าตลาดจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
•    เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นรายกลุ่มแล้ว พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อยอยู่ในระดับทรงตัว (Neutral) สำหรับกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และสถาบันในประเทศอยู่ในระดับซบเซา (Bearish)
•    นักลงทุนสถาบันต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนสูงสุดแต่ยังอยู่ในระดับทรงตัว (Neutral)  ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีความเชื่อมั่นต่อทิศทางตลาดหุ้นลดลงมากที่สุดจนอยู่ในระดับซบเซา
•    หมวดอุตสาหกรรม ที่น่าลงทุน มากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)  
•    หมวดอุตสาหกรรม ที่ไม่น่าลงทุน มากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
•    ปัจจัยเชิงบวก ที่มีอิทธิพลหลักต่อตลาดหุ้นมากที่สุดคือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ
•    ปัจจัยเชิงลบ ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ เศรษฐกิจในประเทศ

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจยังพบว่ามีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่นักลงทุนมองว่าส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เช่น เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว การปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ภาวะหนี้เสียของกลุ่มประเทศยูโรโซน และความไม่สงบจากภัยก่อการร้าย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่น เช่น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง การไหลเข้าออกเงินทุน การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการจัดตั้งรัฐบาล เป็นต้น

“สำหรับ  GDP ไทยในปีนี้ คาดว่าน่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 3.0%-3.5% ซึ่งเมื่อดูสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกประเทศก็เรียกได้ว่าไม่น้อยแล้ว เพราะแม้ว่า ธปท จะดำเนินนโยบายกดค่าบาทให้อ่อน ซึ่งก็คือการลดราคาสินค้าเพื่อรักษาตลาดส่งออกของไทย แต่ถ้าลดราคาแล้วคนซื้อเขายังไม่มีกำลังซื้อ จะลดเท่าไหร่ก็ยังคงซื้อไม่ไหว นอกจากนี้ เรื่องการบริโภคภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ ไม่มีกำลังซื้อนั้น หากไปดูที่ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของเราที่เกือบไปแตะที่ระดับ 90% แล้ว จึงเป็นธรรมดาที่คนจะตึงมือในการจับจ่ายใช้สอย เพราะต้องใช้หนี้ไปก่อน ก่อนที่จะมีช่องว่างทางเครดิตไปสร้างหนี้เพิ่มใหม่ให้เต็มวงเงิน อย่างไรก็ดี เรายังโชคดีที่หนี้ภาครัฐ ยังต่ำ และภาคธนาคารพาณิชย์ก็ยังมีสุขภาพทางการเงินที่ดีอยู่มาก” นางวรวรรณ ให้มุมมองเพิ่มเติม

ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ยังเป็นไปอย่างช้าๆ โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ การส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีการฟื้นตัวในระดับต่ำ เนื่องจากการส่งออกสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ (Commodity related) และการบริโภคสินค้าคงทน (durable goods) ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวได้แก่การท่องเที่ยว และการลงทุนของภาครัฐ ที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวต่อเนื่องในตลอดช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้านการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนจากภาคเอกชนคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจนมากขึ้นจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความชัดเจนจากการลงทุนของภาครัฐ

สำหรับมุมมองของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศต่อตลาดหุ้นไทยนั้น ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงรอความชัดเจนเรื่องการลงทุนของภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงยังต้องการเห็นความชัดเจนของทิศทางรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้ง นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงมองว่ามูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ยังมีอยู่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่