หนังอินเดียไม่ได้มีแต่บอลลีวู้ด ตอนที่ 1: Kollywood

ในฐานะแฟนหนังอินเดียที่ดูมาหลายภาษามาก เวลาเห็นกระทู้ในพันทิป ยังมีคนเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับหนังอินเดีย เลยขอนำเอาข้อมูลมาบอกให้รู้กัน แล้วก็ขอแนะนำหนังที่น่าสนใจไปในตัว

ข้อมูลในเรื่องประวัติความเป็นมาก็เอามาจากวิกิพีเดีย แหล่งข้อมูลที่หาง่ายที่สุดนะคะ ส่วนหนังแนะนำ จะเป็นหนังที่เราเคยดูแล้วชอบทั้งสิ้น

***ก่อนอื่นวงการหนังอินเดียมีหลายวู้ดนะคะ บอลลีวู้ดจะเป็นอุตสาหกรรมหนังที่ฐานการผลิตอยู่เมืองมุมไบ ภาษาที่ตัวละครในหนังพูดจะเป็นภาษาฮินดี ในด้านรายได้และความกว้างของตลาด บอลลีวู้ดจัดว่ามากกว่าใครๆ แต่ในด้านปริมาณการผลิตหนังนั้นก็สลับๆกันระหว่างวู้ดอื่นๆที่เราจะเล่าให้ฟังค่ะ

ดังนั้นหากใครบอกว่า วงการบอลลีวู้ดผลิตหนังได้มากที่สุดในโลก หรือ บอลลีวู้ดผลิตหนังได้เป็นพันเรื่องต่อปี เป็นคำพูดที่ผิดนะคะ แสดงว่าคนพูดไม่รู้จักอุตสาหกรรมหนังอินเดียเลย แต่ถ้าบอกว่า "วงการหนังอินเดียผลิตหนังได้เป็นพันเรื่องต่อปี" อันนี้จริง! เพราะเมื่อรวมทุกวู้ดทั่วทั้งอินเดียแล้วเกินพันเรื่องในบางปีด้วยซ้ำค่ะ







เริ่มกันเลยดีกว่า

อุสาหกรรมภาพยนต์ภาษาทมิฬ [Kollywood]  

แต่เดิมรัฐทมิฬนาฑู ที่เมืองเจนไนเป็นฐานการผลิตภาพยนต์ของอินเดียทางตอนใต้ทั้งหมด ทั้งหนังภาษาเตลูกู ภาษากันนาดา ภาษามะละยาลัมและมีภาพยนต์ฮินดีบางเรื่องผลิตที่เชนไนด้วย

สำหรับฐานการผลิตภาพยนต์ภาษาทมิฬนั้นอยู่ในเขตไม่ไกลจากตัวเมืองเจนไน ชื่อว่า "Kodambakkam" เลยทำให้อุตสาหกรรมภาพยนต์ทมิฬใช้ชื่อเล่นว่า Kollywood ตามชื่อเขตที่เป็นฐานการผลิต อีกอย่างคงไม่อยากให้ซ้ำกับ Tollywood ของเตลูกูด้วย ถ้าหากจะเอาตัวอักษรตัวแรกในภาษาอังกฤษของคำว่าทมิฬมาใช้

อุตสาหกรรมภาพยนต์ทมิฬก็เริ่มต้นด้วยหนังเงียบเหมือนกับทุกที่ทั่วโลก โดยเรื่องแรกคือเรื่อง Keechaka Vadham ออกฉายในปี 1916 ส่วนหนังที่มีเสียงเรื่องแรกเป็นหนังหลายภาษา ชื่อเรื่องว่า Kalidas ออกฉายเมื่อ 31 ตุลาคม 1931 ... หลังจากนั้นมาทางผู้สร้างทมิฬก็มีการผลิตหนังออกมามากมายปัจจุบันก็ตกปีละสองร้อยกว่าเรื่อง ไม่เฉพาะสำหรับฉายในรัฐทมิฬนาฑูเท่านั้น แต่รัฐเพื่อนบ้านอย่าง Andhra Pradesh ก็เอาไปพากย์ฉายด้วย ส่วน Karnataka และ Kerela ฉายในภาษาทมิฬ บางครั้งก็ฉายในรัฐทางเหนืออย่าง Maharastra, Gujarat และ New Delhi นอกจากนี้หนังทมิฬยังทำตลาดในต่างประเทศด้วย โดยผู้ชมส่วนใหญ่เป็นชาวทมิฬที่ไปตั้งรกรากอยู่ในต่างประเทศ ตลาดหลักๆได้แก่ ศรีลังกา มาเลเซีย สิงคโปร์ และแคนนาดา นอกจากฐานผู้ชมที่เป็นชาวทมิฬพลัดถิ่นแล้ว หนังทมิฬยังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมชาวแอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น Oceania (ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค) ตะวันออกกลาง และยุโรป [รวมถึงคนไทยอย่างเราด้วย]

สิ่งที่น่าสนใจจริงๆของหนังทมิฬ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของหนังแต่กลับเป็นเรื่อง การสนับสนุนจากภาครัฐ ในที่นี้หมายถึงรัฐบาลของรัฐทมิฬนาฑู ที่มีการออกกฏหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีภาพยนต์ ข้อที่เอื้อประโยชน์กับหนังทมิฬอันนึงเลยก็คือ "ภาพยนต์ที่มีชื่อเรื่องเป็นภาษาทมิฬจะได้รับการยกเว้นภาษี" หลังจากผ่านกฏหมายนี้ในวันที่ 22 กรกฏาคม 2006 หนังเรื่องแรกที่ออกมาภายใต้กฏหมายนี้ คือ เรื่อง Something Something Unakkum Ennakkum ได้ตัดชื่อภาษาอังกฤษออกไป เหลือแค่ Unakkum Ennakkum ในการออกฉาย นอกจากนี้ยังยกเว้นภาษีให้กับภาพยนต์ที่ได้ใบรับรองเรท U (หมายถึงเรท "ทั่วไป" ที่รับชมได้ทุกเพศทุกวัย) แต่หากภาพยนต์เรื่องไหนได้ใบรับรองเรท A จะถูกเก็บภาษีเต็มๆ (นี่อาจเป็นเหตุผลที่หนังของอินเดียใต้ไม่ค่อยจูบจริงก็ได้)

นอกจากเรื่องการยกเว้นภาษีแล้ว ราคาขายตั๋วก็ถูกควบคุมจากรัฐเช่นกัน โดยโรงภาพยนต์ที่มี 1 โรงฉาย ให้เก็บค่าตั๋วสูงสุดไม่เกิน 50 รูปี สำหรับโรงภาพยนต์ที่มากกว่า 3 โรงฉาย ให้เก็บค่าตั๋วได้สูงสุดไม่ 120 รูปี ถูกมากกกกกกกกก

หลังจากที่เราได้ลองดูหนังทมิฬที่ไม่ใช่แอ๊คชั่นแล้ว (แอ๊คชั่นทมิฬคือประเภทกู่ไม่กลับ) พบว่าหนังมีความแปลกใหม่น่าสนใจทีเดียว วิธีการเล่าเรื่อง มุมมองแตกต่างจากหนังบอลลีวู้ดอยู่มาก เรียกว่ากล้าทำกล้าเสี่ยง ก็ต้องบอกตรงๆว่าหน้าตานักแสดงแบบดราวิเดียนก็สู้หน้าตาแบบอารยันไม่ได้หรอก แต่นักแสดงทมิฬหลายคนสะกดคนดูได้ด้วยแววตาของพวกเค้าค่ะ




หนังแนะนำอยู่ในความคิดเห็นค่ะ




เพจคนรักหนังอินเดีย
https://www.facebook.com/IndianfilmsloverTh/

เพจรีวิวหนัง+ร้านอาหารอินเดีย
https://www.facebook.com/IndianFilmsandFoodsReview/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่