หนังอินเดียไม่ได้มีแต่บอลลีวู้ด ตอนจบ: Tollywood [เตลูกู]

ในฐานะแฟนหนังอินเดียที่ดูมาหลายภาษามาก เวลาเห็นกระทู้ในพันทิป ยังมีคนเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับหนังอินเดีย เลยขอนำเอาข้อมูลมาบอกให้รู้กัน แล้วก็ขอแนะนำหนังที่น่าสนใจไปในตัว

ข้อมูลในเรื่องประวัติความเป็นมาก็เอามาจากวิกิพีเดีย แหล่งข้อมูลที่หาง่ายที่สุดนะคะ ส่วนหนังแนะนำ จะเป็นหนังที่เราเคยดูแล้วชอบทั้งสิ้น

***ก่อนอื่นวงการหนังอินเดียมีหลายวู้ดนะคะ บอลลีวู้ดจะเป็นอุตสาหกรรมหนังที่ฐานการผลิตอยู่เมืองมุมไบ ภาษาที่ตัวละครในหนังพูดจะเป็นภาษาฮินดี ในด้านรายได้และความกว้างของตลาด บอลลีวู้ดจัดว่ามากกว่าใครๆ แต่ในด้านปริมาณการผลิตหนังนั้นก็สลับๆกันระหว่างวู้ดอื่นๆที่เราจะเล่าให้ฟังค่ะ

ดังนั้นหากใครบอกว่า วงการบอลลีวู้ดผลิตหนังได้มากที่สุดในโลก หรือ บอลลีวู้ดผลิตหนังได้เป็นพันเรื่องต่อปี เป็นคำพูดที่ผิดนะคะ แสดงว่าคนพูดไม่รู้จักอุตสาหกรรมหนังอินเดียเลย แต่ถ้าบอกว่า "วงการหนังอินเดียผลิตหนังได้เป็นพันเรื่องต่อปี" อันนี้จริง! เพราะเมื่อรวมทุกวู้ดทั่วทั้งอินเดียแล้วเกินพันเรื่องในบางปีด้วยซ้ำค่ะ

ตอนที่ 1: Kollywood
http://ppantip.com/topic/33715718

ตอนที่ 2: Mollywood
http://ppantip.com/topic/33719082

ตอนที่ 3: Marathi Cinema
http://ppantip.com/topic/33724208

ตอนที่ 4: Pollywood
http://ppantip.com/topic/33729794

ตอนที่ 5: Sandalwood
http://ppantip.com/topic/33732959

ตอนที่ 6: Tollywood [เบงกาลี]
http://ppantip.com/topic/33743028




อุตสาหกรรมภาพยนต์ภาษาเตลูกู [Tollywood]

***ปัจจุบันหากพูดชื่อตอลลีวู้ดทุกคนจะหมายถึงหนังภาษาเตลูกู***

ภาษาเตลูกู (Telugu) คือ ภาษาที่ใช้กันในรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) และ เตลังกานา (Telangana) รัฐทางตอนใต้ของอินเดีย เมื่อก่อนทั้งสองรัฐนี้คือรัฐเดียวกันแต่มาแยกเป็น 2 รัฐเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2014 ก็ปีที่แล้วนี้เอง เท่ากับว่ารัฐเตลังกานาเพิ่งมีอายุได้ขวบกว่าๆเท่านั้น ณ วันที่โพสต์กระทู้นี้ เมืองหลวงของทั้งสองรัฐคือ เมืองไฮเดอราบัด ซึ่งจะยังคงใช้ร่วมกันไปอีก 10 ปี พอถึงปี 2024 รัฐอานธรประเทศจะมีเมืองหลวงใหม่ที่ชื่อว่า "อมราวตี" (Amaravati)

ที่ต้องพูดถึงเมืองหลวงของทั้งสองรัฐนี้ เพราะว่า เมืองไฮเดอราบัดคือศูนย์กลางการผลิตของหนังภาษาเตลูกูนั่นเองค่ะ โดยสตูดิโอใหญ่ๆของ Tollywood ตั้งอยู่ที่ Film Nagar ย่านชานเมืองทางตะวันตกของไฮเดอราบัด ซึ่งนอกจาก Film Nagar จะเป็นที่ตั้งของสตูดิโอต่างๆแล้ว ยังเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนดังของไฮเดอราบัดด้วย

วงการหนังภาษาเตลูกูหรือตอลลีวู้ดนั้นมีจุดเด่นอยู่ที่ครองสถิติกินเนสบุ๊คไว้มาก และนอกจากนี้ในปี 2005, 2006 และ 2008 ยังผลิตภาพยนต์ได้จำนวนสูงสุดในอินเดียแซงหน้าบอลลีวู้ด ดังนั้นหนังในช่วงปีที่บอกไปจะมีหนังดีๆออกมาหลายเรื่องค่ะ

ในระยะแรกของหนังภาษานี้ก็เหมือนกับที่อื่นๆคือเริ่มต้นด้วยหนังเงียบ เรื่องแรกคือเรื่อง Bhishma Pratigna ออกฉายปี 1921 โดยผู้สร้างชื่อ Raghupathi Venkaiah Naidu ซึ่งถือเป็นบิดาของวงการหนังภาษาเตลูกู

ส่วนหนังพูดเรื่องแรกคือ Bhakta Prahlada เริ่มออกฉายเมื่อวันที่ 15 กันยายน 1931 และวันนี้ก็ได้ถือเป็นวันภาพยนต์ของเตลูกูด้วย

หนังเตลูกูในยุคแรกๆนี้ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ จนถึงช่วงปี 1936 จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าหรือเรื่องราวที่มาจากคัมภีร์ทางศาสนาของฮินดูเป็นหลัก จนเมื่อปี 1936 ไปแล้วก็ได้มีการปรับเปลี่ยนพล็อตมาสร้างหนังแนว "social films" จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่างปี 1939 ถึง 1945) มีการจำกัดการใช้ฟิล์มซึ่งทำให้จำนวนการสร้างหนังลดลงอย่างมาก และมีผลให้ผู้สร้างกลับไปสร้างหนังในเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านและเทพปกรณัม

กลับมาพูดถึงฐานการผลิตของหนังเตลูกูอีกรอบ แต่เดิมในช่วงปี 1948 ผู้สร้างได้ใช้เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑูเป็นฐานการผลิตหนังเตลูกู จนกระทั่ง Akkineni Nageswara Rao (*จำชื่อนี้ไว้ก่อนนะคะ) นักแสดงอาวุโสผู้ทรงอิทธิพลและมีคุณูปการต่อวงการหนังเตลูกูมากที่สุดคนนึง ได้ตัดสินใจมาสร้าง Annapurna Studios ที่เมืองไฮเดอราบัดในปี 1975 จึงเท่ากับว่าเป็นการเริ่มต้นย้ายฐานการผลิตหนังภาษาเตลูกู กลับมายังรัฐอานธรประเทศที่ใช้ภาษาเตลูกูนั่นเอง และในปี 2011 ได้สร้าง Annapurna International School of Film and Media ไว้ภายใน Annapurna Studios ด้วย

แต่กว่าผู้สร้างหนังภาษาเตลูกูจะย้ายฐานการผลิตกลับมาไฮเดอราบัดทั้งหมดก็ในช่วงต้นยุค 90s ในสมัยที่ N. T. Rama Rao เป็นมุขมนตรีของรัฐอานธรประเทศ ซึ่ง N. T. Rama Rao ก็เป็นอดีตพระเอกดัง (ยุคเดียวกันกับ Akkineni Nageswara Rao) ที่หันมาเล่นการเมืองจนครองเก้าอี้มุขมนตรีของรัฐอานธรประเทศได้ถึง 3 สมัย

ทั้งคุณปู่ Akkineni Nageswara Rao และ N. T. Rama Rao ถือได้ว่าเป็นนักแสดงที่มีอิทธิพลและมีคุณูปการต่อวงการภาพยนต์เตลูกูอย่างมาก ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วทั้งสองท่านค่ะ

สถิติกินเนสบุ๊ค ที่วงการหนังเตลูกูถือครองอยู่ ยกมาเฉพาะที่น่าสนใจ 2 ข้อ (ไม่อยากให้กระทู้ยาวเกินไปค่ะ) คือ

- สตูดิโอสร้างหนังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ Ramoji film city เปิดทำการในปี 1996 มีพื้นที่กว่า 674 hectares (1,666 acres) และยังมีสิ่งปลูกสร้างถาวรตั้งแต่วัดวาอารามไปจนถึงสถานีรถไฟ
- นักแสดงที่ครองสถิติเล่นหนังมากที่สุดในโลกคือนักแสดงเตลูกู Brahmanandam เป็นนักแสดงตลกอาวุโสที่เล่นหนังกว่าพันเรื่อง ดูหนังภาษาเตลูกูต้องเห็นหน้าคุณลุงเกือบทุกเรื่องแน่นอนค่ะ

Brahmanandam นักแสดงที่เล่นหนังมากที่สุดในโลก

ตลาดของหนังภาษาเตลูกูนอกจากจะอยู่ในทั้งสองรัฐที่ใช้ภาษาเตลูกู คือ รัฐอานธรประเทศและรัฐเตลังกานา แล้วก็ยังมีการนำไปพากย์ฉายในรัฐเพื่อนบ้านอย่างรัฐเฆราล่า รัฐทมิฬนาฑู สำหรับตลาดต่างประเทศที่สำคัญของหนังภาษาเตลูกูคือ สหรัฐอเมริกา แล้วก็มีฉายบ้างในประเทศตะวันออกกลางและยุโรป

***ปัจจุบันหนังทุนสร้างสูงสุดของอินเดียคือหนังภาษาเตลูกูชื่อเรื่อง Baahubali ซึ่งกำลังจะเข้าฉายที่อินเดียในวันที่ 10 กรกฎาคม 2015*** ด้วยทุนสร้าง 2,200 ล้านรูปี คิดเป็นเงินไทยก็หารสองได้นะคะ จะได้ตัวเลขแบบคร่าวๆ

โปสเตอร์หนังเรื่อง Baahubali




หนังแนะนำอยู่ในคอมเม้นท์ค่ะ




เพจคนรักหนังอินเดีย
https://www.facebook.com/IndianfilmsloverTh/

เพจรีวิวหนัง+ร้านอาหารอินเดีย
https://www.facebook.com/IndianFilmsandFoodsReview/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่