ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง เรื่องหลักการและเหตุผลในพุทธศาสนา

เรื่องหลักการและเหตุผลของพุทธศาสนา

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า หลักการของพุทธศาสนาคือ สอนให้คนเป็นคนดี ไม่ทำทำชั่ว และสอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส โดยการสอนนั้นก็จะสอนให้เชื่อมั่นไว้ก่อนแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ก็ตาม ส่วนเหตุผลก็คือ การทำชั่วจะทำให้ตกนรกที่เชื่อว่าอยู่ใต้ดิน ถ้าทำดีก็จะได้ขึ้นสวรรค์ที่เชื่อว่าอยู่บนฟ้า ถ้าทำจิตให้บริสุทธิ์ก็จะนิพพาน คือไม่เกิดมาเป็นทุกข์อีกอย่างถาวร

แต่ในความเป็นจริงนั้น พุทธศาสนาไม่ได้มีหลักการและเหตุผลเช่นนั้นเลย แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะชาวพุทธในอดีตที่ไม่เข้าใจในหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ได้นำเอาหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่เป็นคำสอนนอกพุทธศาสนาเข้ามาเจือปนคำสอนในพุทธศาสนา จึงทำให้เกิดความเข้าใจและความเชื่อที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ขึ้นมา

หลักการ  หมายถึง  สาระสำคัญที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

เหตุ หรือ สาเหตุ หรือมูลเหตุ คือ สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งอื่นตามมา

ผล หรือ ผลลัพธ์ คือ สิ่งที่เกิดตามมาจากเหตุ

หลักการที่แท้จริงในพุทธศาสนาคือ สอนให้คนเกิดปัญญาสำหรับนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ชีวิตไม่มีปัญหาที่จะนำทั้งความทุกข์ทางใจ และความเดือดร้อนทางร่างกายมาให้ ดังนั้นการละชั่ว ทำดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ จึงต้องมีปัญญานำ

ส่วนเหตุผลคือ โดยสรุปแล้ว ความทุกข์นั้นคือปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ดังนั้นการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและเร่งด่วนที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ซึ่งการที่จะแก้ปัญหาใดๆได้อย่างแท้จริง เราจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องของเหตุและปัจจัย ที่ทำให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมาอย่างถูกต้องและครบถ้วน เราจึงจะแก้ไขหรือขจัดหรือป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างถูกต้อง โดยผลที่เกิดมาจากการแก้ไขปัญหาได้ก็คือความไม่มีทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน และความสงบสุขของสังคม รวมทั้งสันติภาพของโลก ซึ่งความรอบรู้ในเรื่องของเหตุและปัจจัย ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอย่างถูกต้องและครบถ้วนนี้เองที่เรียกว่า ปัญญา

คำว่า ปัญญา หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นแจ้งในชีวิตและโลกรวมทั้งธรรมชาติในส่วนที่ควรรู้อย่างถูกต้องตามที่เป็นอยู่จริง เมื่อมีปัญญาก็เปรียบเหมือนคนมีดวงตาที่ดี ที่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้อย่างแจ่มชัด จึงสามารถเดินทางหรือปฏิบัติสิ่งต่างๆได้อย่างถูกต้องและไม่มีความผิดพลาด ถ้าไม่มีดวงตาหรือตาบอด ก็ย่อมเดินทางหรือปฏิบัติสิ่งต่างๆผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องเหมือนกับคนที่มีดวงตา  ซึ่งผลจากการมีดวงตาก็คือการประสบผลสำเร็จที่นำความไม่มีทุกข์รวมทั้งปกติสุขมาให้ ส่วนผลจากการไม่มีดวงตาก็คือการประสบปัญหา ที่นำความทุกข์รวมทั้งความเดือดร้อนมาให้

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เกิดปัญญาและใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ซึ่งการที่จะเกิดปัญญาก็ต้องใช้เหตุผลในการศึกษา และศึกษาจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงๆอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการพิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดก่อนจึงค่อยปลงใจเชื่อ ซึ่งนี่ก็คือหลักอันเป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์นั่นเอง ส่วนความเชื่อนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะยังเป็นความรู้ของคนอื่นอยู่ เราจะต้องเปลี่ยนความเชื่อให้เป็นปัญญาก่อน โดยการนำความเชื่อนั้นมาพิจารณาหาเหตุผล จนเกิดเป็นความเข้าใจ และนำความเข้าใจนั้นมาพิสูจน์ จนเกิดเป็นความเห็นแจ้ง จึงจะทำให้ความเชื่อนั้นกลายมาเป็นปัญญาได้ ส่วนความเชื่อใดที่นำมาพิจารณาหาเหตุผลไม่ได้ และพิสูจน์ไม่ได้ ความเชื่อนั้นก็จะยังไม่ใช่ปัญญา แต่จะกลายเป็นความงมงายไปทันทีไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นความเชื่อที่ดีก็ตาม และเมื่อความเชื่อไม่ใช่ปัญญา ดังนั้นความเชื่อทั้งหลาย จึงนำมาใช้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดของชีวิตไม่ได้

การศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญานั้น เริ่มต้นเราก็ต้องอาศัยการอ่าน (จากตำรา) หรือฟังคำสอนจากคนอื่นมาก่อน แต่อย่าเพิ่งเชื่อ ให้นำมาพิจารณาดูก่อนว่ามีโทษหรือมีประโยชน์  ถ้าเห็นว่ามีโทษก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ไม่มีโทษ ก็ให้ลองนำเอามาปฏิบัติดูก่อน ถ้าปฏิบัติเต็มมาตรฐานแล้วไม่บังเกิดผลจริง ก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วบังเกิดผลจริง จึงค่อยปลงใจเชื่อ และนำเอาคำสอนนั้นมาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป

แต่ถ้าเราเอาแต่เชื่อโดยไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นผลจริงก่อน ก็จะไม่เกิดปัญญา เมื่อไม่มีปัญญา ถึงแม้จะเป็นคนดี แต่ก็เป็นคนดีที่ไร้ปัญญา ซึ่งการเป็นคนดีที่ไร้ปัญญานั้น แม้จะยังไม่มีปัญหาในปัจจุบัน แต่เมื่อไม่ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ก็จะทำให้เกิดการดำเนินชีวิตผิดพลาด เมื่อมีการดำเนินชีวิตผิดพลาด ก็แน่นอนว่าจะเกิดปัญหาต่างๆขึ้นมาและสั่งสมไว้ นานเข้าปัญหาที่สะสมไว้มากๆก็จะค่อยๆล้นทะลักล้นออกมา แล้วก็สร้างความทุกข์ทางใจและความเดือดร้อนทางกายให้แก่เราและสังคมอย่างรุนแรง อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน

สรุปได้ว่า หลักการของพุทธศาสนาก็คือ สอนวิธีการแก้ปัญญาเรื่องความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน รวมทั้งสอนวิธีการแก้ปัญหาของสังคมโดยใช้ปัญญา ส่วนเหตุผลก็คือ ปัญญานั้นเป็นความรอบรู้ในชีวิตและโลกอย่างถูกต้อง เมื่อมีความรอบรู้ก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าไม่ใช้ปัญญา แล้วเอาแต่ความเชื่อที่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นจริงหรือเปล่ามาใช้แก้ปัญหา เราก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของชีวิตและสังคมรวมทั้งของโลกได้อย่างถูกต้อง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่