คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแสนแพง

สืบเนื่องจากช่วงนี้มีปัญหาเรื่องโรงพยาบาลเอกชนกันมาก จึงขอเสนอแนะแนวทางหลีกเลี่ยงค่ารักษาแสนแพง ดังนี้

1. เริ่มต้นตรวจสอบสิทธิการรักษาของท่านตั้งแต่วันนี้
สิทธิ30บาท: http://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-forpeople_check.aspx หรือ เบอร์1330
สิทธิประกันสังคม: http://www.sso.go.th/wpr/home.jsp หรือเบอร์ 1506
สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรง: http://welcgd.cgd.go.th/wel/login.jsp

2. หากท่านต้องย้ายที่อยู่ไปทำงาน เรียน หรือใดๆก็ตาม ที่ไม่ใช่การไปเพียงชั่วคราว กรุณาย้ายสิทธิการรักษาของท่านไปยังที่อยู่ใหม่ด้วย

3. หากท่านเจ็บป่วยกรุณาเลือกไปยังโรงพยาบาลที่ท่านมีสิทธิการรักษาอยู่ เพื่อที่จะได้ใช้สิทธิและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หากเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน กรุณาไปในเวลาทำการจะดีมาก เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์นอกเวลาราชการที่มีจำนวนน้อย สามารถให้การรักษาผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่(คำจำกัดความของ"กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินจะกล่าวถึงไว้ด้านล่าง)

4. หากไปรักษาตามสิทธิแล้วพบว่าใช้เวลาในการรอคอยนาน ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ให้พิจารณาเวลาที่เสียไป ว่าคิดเป็นรายได้เท่าไหร่ และคำนวณว่าคุ้มค่าหรือไม่หากเทียบกับราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชน

5. โรงพยาบาลเอกชนควรทำรายการแจ้งค่ารักษาพยาบาล หัตถการ ยา วัสดุทางการแพทย์อย่างละเอียด เช่น gauze แต่ละขนาดมีราคาชิ้นละเท่าไหร่ ติดประกาศอย่างชัดเจนไว้หน้าโรงพยาบาลและบนwebsiteโรงพยาบาล เพื่อผู้ป่วยจะได้นำไปคำนวณประกอบการตัดสินใจในข้อที่4

6. หากท่านคิดว่าราคาตามข้อที่5ยังแพงเกินไป ให้พิจารณาเรื่องความคุ้มค่าของการทำประกันสุขภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจในข้อที่4

7. หากท่านตัดสินใจรับบริการโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีหลายระดับราคา กรุณาศึกษาข้อมูลข้อที่5ของแต่ละโรงพยาบาลอย่างละเอียด(ถ้าศึกษาเตรียมไว้ก่อน จะช่วยให้ท่านสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วเมื่อเจ็บป่วย)

8. หากท่านสงสัยว่าการเจ็บป่วยของตนเองเป็น"กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน" กรุณาศึกษารายละเอียดต่อไปนี้

      “การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะวิกฤตและต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ทันที สังเกตได้จาก 6 อาการ ดังนี้ 1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพทันที 2. การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3. ระบบหายใจมีอาการ ดังนี้ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ 4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5. อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6.อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น”



Ref: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000037668

9. หากการเจ็บป่วยของท่านเข้าได้กับข้อที่8 กรุณาไปรับการรักษายังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรเบอร์1669 ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน กรุณาแจ้งทางโรงพยาบาลว่าท่านต้องการย้ายกลับไปโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของท่านเมื่อพ้นภาวะฉุกเฉินทันที ทางเอกชนจะได้ติดต่อกับโรงพยาบาลตามสิทธิไว้ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเตียงเต็มและค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากสิทธิฉุกเฉิน หากโรงพยาบาลเอกชนพยายามเรียกเก็บเงินจากท่านในกรณีฉุกเฉิน ให้ท่านขอเหตุผลและหลักฐาน และโทรไปติดต่อยังเบอร์ในข้อที่1(ในกรณีนี้การย้ายสิทธิตามข้อที่2จะมีประโยชน์ เพราะถ้าโรงพยาบาลตามสิทธิอยู่ไม่ไกลนัก ระยะเวลาในการส่งตัวจะน้อย เมื่ออาการท่านคงที่ระดับหนึ่งก็สามารถย้ายไปตามสิทธิได้เลย แต่หากท่านไม่ย้ายสิทธิตามการย้ายถิ่นฐาน เช่น สิทธิอยู่แม่ฮ่องสอน มาทำงานกรุงเทพ เจ็บป่วยที่กรุงเทพ ก็ต้องรอให้อาการคงที่มากพอที่จะเดินทางระยะหลายร้อยกิโลเมตรได้ จึงจะสามารถส่งตัวกลับตามสิทธิได้ ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายนอกสิทธิฉุกเฉินที่มากขึ้น)

แต่หากอาการของท่านไม่เข้ากับข้อที่8 กรุณาไปพบแพทย์ตามสิทธิการรักษาของท่านในวันรุ่งขึ้น ในเวลาทำการ

10. หากท่านตัดสินรับการรักษาที่โรงพยาบาลในการเจ็บป่วยที่ไม่เข้ากับข้อที่8 และต้องมีหัตถการหรือการรักษาต่อเนื่อง คำนวณแล้วไม่คุ้มค่าตามข้อที่4และ5 รวมทั้งไม่มีประกันสุขภาพตามข้อที่6 กรุณาแจ้งความประสงค์ขอไปรักษาตามสิทธิของท่าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่