วังบัวบาน ภาควิจารณ์

ก๊อปมาและแทรกความเห็นส่วนตัวในแง่คิดและมุมมองส่วนตัวครับ
"บัวบาน" มีตำนานเล่าขานถึง 4-5 เรื่อง ..จึงไม่แน่ใจว่าเป็น"บัวบาน"ไหนที่ถูกต้อง
          แต่ทั้งหมดก็คือที่มาของ  “วังบัวบาน” วังน้ำที่อยู่เบื้องล่างชะง่อนผาสูงบริเวณเหนือน้ำตกห้วยแก้ว อยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ วังน้ำนี้เดิมเรียกว่า "วังคูลวา" หรือ "วังกุลา" ตามเรื่องเล่าถึง"คูลวา-กุลา" ซึ่งหมายถึงแขกคนหนึ่งพลัดตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ ซึ่งคำว่า "คูลวา-กุลา" ในภาษาล้านนาหมายถึงแขกหรือฝรั่งชาวต่างชาติซึ่งถือว่าไม่เป็นที่พึงต้อนรับ

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนสารคดี บันทึกไว้ว่า วังน้ำแห่งนี้ เปลี่ยนชื่อ เป็น"วังบัวบาน" เมื่อ พ.ศ.2497 เมื่อมีเหตุหญิงสาวชื่อ "บัวบาน" ตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้
          อุดม รุ่งเรืองศรี ได้เขียนถึง"บัวบาน"ไว้ในเว็บ lannaworld ถึงการเสียชีวิตว่ามีทั้งเชื่อว่าอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย และถูกฆาตกรรม
          แต่ทุกตำนาน มีเรื่องที่เหมือนกัน นั่นคือ"บูชารัก" โดยกล่าวถึงที่มาของทั้งหมดจาก 4-5 ที่มา
           ศิริพงษ์ ศรีโกศัย นักจัดรายการวิทยุที่ใช้นามแฝงว่า"ย่าบุญ" เล่าเรื่อง"บัวบาน"เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ว่าที่ตั้งบ้านของบัวบาน ปัจจุบันอยู่ฟากถนนตรงกันข้ามกับอาคารอำนวยการหลังเก่าของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่
          บัวบาน เป็นครูสอนในโรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนซินเซิง โรงเรียนฮั่วเคี้ยวและโรงเรียนฮั่วเอง มีคนรักเป็นนายทหารรักษาพระองค์
          ต่อมา ครูบัวบานถูกทหารคนดังกล่าวสลัดรัก ทำให้เจ้าตัวเสียใจมากและได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในวังน้ำแห่งนั้น
“จากข้อสันนิฐานนี้ดูจะไม่ถูกและขัดแย้งกันอย่างมาก เกี่ยวกับที่ตั้งของบ้านครูบัวบานกับวังบัวบาน ออกจะห่างไกลกันจนไม่น่าที่จะเป็นไปได้ และเมื่อเทียบกับถนนหนทางในสมัยนั้นเรียกว่าต้องเดินทางด้วยเกวียนหรือเดินไป ซึ่งจากบ้านจนถึงน้ำตกอยู่ไกลเกือบ 10 กิโลเมตร ไม่มีความเป็นไปได้ว่าครูบัวบานจะตั้งใจไปฆ่าตัวตายไกลถึงขนาดนั้น คิดเอาง่ายๆ ว่าเวลาเราโมโหหรือโกรธอะไรมากๆ แค่เดินหรือวิ่งไป 40-50 เมตรก็เหนื่อยและคลายความรู้สึกนั้นจนหมดแล้ว และถ้าพูดถึงการกระโดดน้ำทำไมต้องไปไกลถึงขนาดนั้น ครูบัวบานมีโอกาสผูกคอตายหรือกระโดดลงน้ำปิงที่อยู่ใกล้บ้านเสียมากกว่า ฉะนั้นการตายในลักษณะนี้ถือว่าผิดปกติวิสัย ประกอบกับครูเป็นคนหน้าตาดี เป็นไปได้ว่าอาจมีคนรู้จักชักจูงให้ไปที่นั่น ซึ่งอาจจะเกิดศึกกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันในสถานที่นั้น และเมื่อตกลงกันไม่ได้หรือเกิดการขืนใจกันขึ้นจึงได้ฆ่าครูบัวบานเสีย”

ขณะที่ เจ้าบุญศรี ณ เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 13 ตุลาคม 2541 โดยยืนยันว่า บ้านของครูบัวบานที่ศิริพงษ์กล่าวมานั้นถูกต้อง
          แต่ข้อมูลที่แตกต่างกันก็คือ ครูบัวบานเป็นคนสวยที่ถูกกล่าวขานทั่วล้านนา ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2482-2488)
          เจ้าบุญศรีเล่าว่า ครูบัวบาน สอนที่โรงเรียนวัดฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง เชียงใหม่ และในช่วงสงครามนั้น ก็มีทหารหน่วยราบจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาตั้งฐานทัพที่วัดฟ้าฮ่าม
          นายทหารหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อครูบัวบานคนสวย ก็สนิทสนมและคบหาเป็นคู่รักกัน
          ต่อมา นายร้อยตรีผู้นั้น ถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ แต่ได้สัญญากับครูบัวบานว่าจะขึ้นมาแต่งงานกัน แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ เพราะนายทหารหนุ่มคนนั้นมีภรรยาอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว
          ระหว่างที่รอ ครูบัวบานที่เริ่มตั้งท้องก่อนนายทหารหนุ่มกลับกรุงเทพฯก็เริ่มครรภ์โตมากขึ้น และเมื่อรู้ความจริงว่าเธอถูกหลอก ครูสาวคนสวยจึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำตาย
อย่างไรก็ตาม ในบทความชื่อ "วังบัวบาน"ของสมาน ไชยวัณณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร "คนเมือง ฉบับดำหัว" ฉบับต้อนรับสงกรานต์ 2511 กลับชี้ว่า ครูบัวบานเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ
          โดยบทความดังกล่าว ได้อ้างเอาคำสารภาพก่อนตายของอดีตครูประชาบาลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรักของครูบัวบาน
“เมื่อพูดถึงการกล่าวอ้างในเรื่องนี้ โดยส่วนตัวต้องถามประวัติความเป็นมาว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนั้น แท้จริงแล้วได้มีหน่วยหรือกองทหารได้มาปักหลักอยู่แถววัดฟ้าฮ่ามจริงหรือเปล่า ที่สำคัญจากประวัติวัดฟ้าฮ่ามไม่เคยมีประวัติกองกำลังทหารมาประจำการอยู่ใกล้วัดฟ้าฮ่ามแต่อย่างใด ฉะนั้นจึงขัดกับความเป็นมาเป็นไปของประวัติครูบัวบานเพียงประวัติเดียวที่บอกว่ามีกองกำลังทหารจากกรุงเทพมาประจำการที่ใกล้วัดฟ้าฮ่าม”

ผู้เขียนบทความกล่าวว่า ตนรู้จักกับครูบัวบานเป็นอย่างดี โดยครูบัวบาน เกิดมาในครอบครัวของผู้มีชื่อเสียงดี ฐานะดี จบการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งที่มีชื่อในตัวเมืองเชียงใหม่ และมีความสัมพันธ์ฉันคนรักกับครูประชาบาลคนหนึ่ง บังเอิญครูประชาบาลหนุ่มคนนั้นมีภรรยาอยู่แล้ว
          สมานเขียนในบทความนี้ว่า วันหนึ่ง ครูประชาบาลคนรักเก่าของครูบัวบานป่วยหนักอยู่ในบ้านกลางเมืองเชียงใหม่ เจ้าตัวก็ได้สารภาพกับภรรยา บุตรและญาติสนิทว่า ตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับครูบัวบาน ทั้งๆที่ตนก็มีภรรยาอยู่แล้ว
          จากนั้น เมื่อครูบัวบานตั้งครรภ์ ก็ได้นัดครูประชาบาลคนรักไปตกลงกันในที่ปลอดคนแห่งหนึ่งบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว
          ครูบัวบานรู้เรื่องครอบครัวของแฟนหนุ่ม แต่ได้ขอให้เขาจัดวานแต่งกับตนเพื่อมิให้เป็นที่ละอายแก่ชาวบ้าน และเพื่อลูก
          หลังเจรจาพูดคุยกันอยู่พักหนึ่ง ครูหนุ่มก็บอกว่าตนไม่อาจด่วนทำอะไรลงไปได้ เพราะมีลูกเมียอยู่แล้ว
ครูบัวบานไม่อาจทนฟังต่อไปได้ จึงผละจากแล้ววิ่งหนีไปโดยไม่ทันระมัดระวัง จนเกิดอุบัติเหตุตกจากหน้าผาลงสู่ "วังคูลวา-กุลา"
          สมานเขียนด้วยว่า ผลกรรมที่ทำให้ครูบัวบานเสียชีวิต ทำให้ครูหนุ่มคนนั้นต้องกลายเป็นอัมพาต เพราะเกิดพายุใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ทำให้มะพร้าวต้นหนึ่งล้มฟาดลงมาทับหลังของครูประชาบาลผู้นั้นจนหลังหักและกลายเป็นอัมพาต
          เจ้าตัวจึงยอมเปิดปากสารภาพกับสมาน และย้ำว่าครูบัวบานเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ
“ตรงจุดนี้ผมมีข้อสันนิฐานอีกว่าครูประชาบาลคนดังกล่าวเป็นใคร ไม่มีทั้งประวัติของชื่อและตระกูลรวมไปถึงครอบครัวของครูประชาบาลคนดังกล่าวว่ามีตัวตนอยู่จริง และด้วยมุมมองอีกมุมที่ผมยังกังขายังมีอีกว่าในเมื่อครูบัวบานเสียใจและเกิดตกลงกันไม่ได้ที่จะต้องไปตกลงกันที่น้ำตก มันจะเป็นเรื่องสร้างความสนใจของให้ผู้ค้นคว้าหรือเปล่า และการตกลงอะไรก็ตามในสมัยนั้นมันผิดวิสัยของคนสมัยนั้นอย่างมาก เพราะในเมื่อต่างก็มีครอบครัว โดยปกติวิสัยแล้วในสังคมของคนในสมัยนั้นที่ยึดสืบต่อกันมาก็คือ เมื่อมีเรื่องราวใหญ่โตเกิดขึ้นมาขนาดนี้แล้วแน่นอนว่าย่อมจะต้องมีตัวกลางเข้ามาตัดสินในเรื่องนี้ ซึ่งก็หนีไม่พ้นไปจาก 3 ครอบครัว คือ ครอบครัวครูประชาบาล ครอบครัวเมียของครูประชาบาล และครอบครัวครูบัวบาน ยิ่งบอกว่าครูบัวบานเกิดในชนชั้นคนมีฐานะดีด้วยแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่จะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับครูประชาบาลเลยว่ามีลูกเมียอยู่แล้ว อีกทั้งเชียงใหม่ในสังคมชั้นสูงย่อมรักศักดิ์ศรีและชื่อเสียงวงศ์ตระกูลมาเป็นอันดับหนึ่ง”

แต่ในวิทยานพินธ์ปริญญาโท สาขาภาษาและวรรณ-กรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2531 ของสุธาทิพย์ สว่างผล กลับเป็นอีกเรื่อง
          โดยสุธาทิพย์อ้างอิงจากนิทานพื้นบ้านไทย ของ วสันต์ ปัณฑวงศ์ พ.ศ.2522 ที่กล่าวถึงครูบัวบาน ว่ามีปลัดอำเภอหนุ่ม รักกับลูกสาวคหบดีชื่อบัวบาน และได้หมั้นหมายกันไว้โดยที่ไม่มีผู้ใดขัดข้อง
          แต่อุปสรรครักก็มี เพราะปลัดอำเภอเป็นทาสการพนันทุกชนิด จนติดหนี้ติดสินไปทั่วเมือง และทำผิดด้วยการยักยอกเงินของทางราชการไปใช้หนี้และเล่นการพนัน
          ต่อมา ปลัดหนุ่มคนนั้นได้ขอเงินจากบัวบานว่าจะไปใช้หนี้ราชการ แต่กลับนำไปเล่นการพนันอีกจนหมด
          เมื่อหมดตัว ปลัดอำเภอหนุ่มก็ได้นัดบัวบานไปสารภาพผิดที่หน้าผา แต่ทั้งคู่กลับทะเลาะกันอย่างรุนแรง ทำให้บัวบานทนไม่ได้ จึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย
           สุธาทิพย์ สว่างผล ได้ไปสัมภาษณ์คนที่สนิทกับครอบครัวของครูบัวบานผู้หนึ่ง คือนางอรุณ หมู่ละสุคนธ์ เลขที่ 130 ถนนแก้วนวรัฐ อ.เมือง เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531  
          นางอรุณเล่าว่า บัวบานและหนุ่มชาวภาคกลาง รักกันโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง และเมื่อเกิดเรื่อง บัวบานเสียชีวิตชายหนุ่มก็หายหน้าไป ทำให้ญาติของบัวบานคิดว่าเป็นการฆาตกรรม แต่ผู้เล่าเห็นว่าน่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือบัวบานกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายมากกว่า
“ณ ตรงนี้ถือว่ามีความเป็นไปได้ในลักษณะอยู่ด้วยกันโดยที่อีกฝ่ายติดอบายมุก แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่าครูบัวบานจะเสียใจถึงกับฆ่าตัวตายเพราะทนไม่ได้กับหนี้สินที่สามีตัวเองสร้างขึ้นหรือยอมรับนิสัยการติดการพนันของสามีไม่ได้ ประเด็นคือตัวของปลัดเองเสียมากกว่าที่เป็นฝ่ายฆาตกรรมครูบัวบานเพราะเหตุผลขอเงินไม่ให้ จึงเกิดโทษะฆาตกรรมครูบัวบานก็เป็นไปได้สูง แต่เราก็ต้องมาค้นคว้ากันอีกว่าในสมัยนั้นปลัดที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นเป็นใครมีตัวตนจริงหรือไม่ ซึ่งในตำนานไม่ได้กล่าวไว้”
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่