โรฮิงญา มาจากไหนกันแน่ เคยค้นหากันจริง หรือเชื่อๆ ตามกันมา

จากข่าวต่างๆ ที่ด่าชาวโรฮิงญา ถึงอดีตที่บอกว่า เข้ากับพวกอังกฤษ ทำสงครามกับพม่า ทำลายนู้นนี่นั่น ผมสงสัยอย่างนึงว่า เราหลักฐานอะไรมายืนยันตรงนี้ นอกจากคำบอกเล่า ในเมื่อโรฮิงญาเอง แทบจะหาเอกสารยืนยันอัตลักษณ์อะไรไม่ได้เลย เพราะพวกเค้าไร้สัญชาติ ไร้สิทธิขั้นพื้นฐานทุกอย่างในชีวิต

ลองย้อนกลับไปมองอดีต มันเหมือนกับเราถูกปลุกให้โกรธแค้นเพราะอะไรไม่รู้ เหมือนพม่าเผาเมืองตั้งแต่หลายร้อนปีก่อน เราก็ยังฝังใจกับพม่าในปัจจุบันว่า เคยมาเผาเมือง ถามว่าต่างชาติเค้าเป็นกันมั้ย อเมริกาเคยทิ้งบอมบ์ใส่ญี่ปุ่น หายไปทั้งเกาะ คนญี่ปุ่นเค้าเกลียดเมกาขนาดนี้มั้ย หรือคนลาว กัมพูชา เกลียดฝรั่งเศสมั้ยที่มาปกครองประเทศเมื่อนานมาแล้ว

โรฮิงญาอาจจะทำ หรืออาจจะไม่ทำก็ได้ แต่มันคือเรื่องในอดีตที่ผ่านมาน้านนนนนาน แล้วถามว่าคนในยุคนี้จะรู้มั้ยว่าเรื่องในอดีตเป็นไง ใครมันจะคิดเข้ามาบุกประเทศ มาเผาบ้าน เผาเมือง ในเมื่อชีวิตพื้นฐานยังเอาตัวไม่รอด ต้องหนีมาหางานทำ หาเงินเลี้ยงชีพ

ลองอ่านจากบทความที่ย่อยข้อมูล ได้ครบถ้วนที่สุดตัวนึงในสื่อออนไลน์ตอนนี้ จาก TCIJ

‘ตัวตนและภาพตัวแทน’ โรฮิงญา คนไร้รัฐไม่ไร้ราก

โรฮิงญาคือใคร : บทสำรวจตัวตน

นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มมองว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนพื้นเมืองของรัฐอาระกัน ในขณะที่บางกลุ่มเห็นว่าเป็นกลุ่มมุสลิมที่อพยพมาจากเบงกอล (ประเทศบังคลาเทศ) เข้ามาสู่พม่าด้วยกฏบังคับของอังกฤษ

นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า Aye Chan (2005) เสนอไว้ว่า  คำว่า “โรฮิงญา” ถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1951 โดยปัญญาชนมุสลิมชาวเบงกาลีในตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาระกัน ที่เป็นลูกหลานโดยตรงของผู้อพยพจากเมืองจิตตะกอง (Chittagong) ของเบงกอล มาสู่รัฐอาระกัน  หลังจากที่เมืองจิตตะกองถูกยึดครองโดยอังกฤษในปี ค.ศ. 1826 การที่ Chan อ้างว่าปี พ.ศ. 2494 เป็นครั้งแรกที่คำว่า ‘โรฮิงญา’ ปรากฎขึ้น ก็เสมือนการกล่าวเป็นนัยว่าชาวโรฮิงญาไม่เคยปรากฎในประวัติศาสตร์พม่ามาก่อน ดังนั้นคนกลุ่มนี้คือ ‘ผู้อพยพมาใหม่’

ขณะที่ Jacques Leider (2012) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัฐอาระกัน ชี้ให้เห็นว่ามีการใช้คำว่า ‘Rooinga’ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18ในบทความของ Francis Buchanan ที่ชื่อว่า “A comparative vocabulary of some of the languages spoken in the Burma Empire” ว่าชาว ‘Mohamedans’ เป็นชนชาติที่อยู่ในอาระกันมาอย่างยาวนาน และเรียกตัวเองว่า “Rooinga” นอกจากนี้ Leider ยังอ้างข้อมูลทางด้านภาษาศาสตร์จาก Thibautd’Hubert ผู้เชี่ยวชาญภาษาเบงกาลี ว่าคำว่า “Rohingya” อาจเพี้ยนมาจากคำว่า “Rakhanga” ซึ่งเป็นชื่อเก่าแก่ของรัฐอาระกัน หรือคำว่า “Roshanga” ชื่อของรัฐอาระกันในภาษาเบงกาลี  

ข้อถกเถียงนี้ ตรงข้ามกับข้อถกเถียงแรก เพราะนั่นหมายถึงว่าชาวโรฮิงญา คือ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวอาระกันในพม่านั่นเอง โดย Leider กล่าวว่า ข้อถกเถียงนี้ นับว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมในการเป็นชนพื้นเมืองของชาวโรฮิงญา

นอกจากนี้ ในงานที่ศึกษาผ่านมา เช่น งานของ Khin Maung Saw (1993) Aye Chan (2005)  Zul Nurain (2012) และ Jacques Leider (2012) ก็ล้วนเป็นงานศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โดยมุ่งหาคำอธิบายที่เกี่ยวกับที่มาของชาวโรฮิงญาในอดีต และมิติทางด้านความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ มากกว่าที่จะศึกษาวิถีชีวิตของชาวโรฮิงญาในปัจจุบัน มีเพียงงานของ Jean Berlie (2008) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการกลืนกลาย (Assimilate) ชาวมุสลิมในประเทศพม่า ที่กล่าวถึงกรณีของชาวโรฮิงญาว่า รัฐบาลพม่ามีกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ที่แฝงไว้ด้วยอคติต่อชาวโรฮิงญามาโดยตลอด เช่น การกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกก่อการร้าย หรือกระบวนการทำให้ชาวโรฮิงญาหมดความเข้มแข็งลงไป เช่น การกักขังแกนนำมุสลิมชาวโรฮิงญา การจำกัดการมีครอบครัว การจำกัดการเดินทาง และการทำให้กลายเป็นต่างชาติด้วยการกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญานั้นเป็นกลุ่มเดียวกันกับชาวเบงกาลี

อย่างไรก็ตาม Berlie ศึกษาและพบว่าชาวโรฮิงญานั้นอาศัยอยู่ที่รัฐอาระกันเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ก่อนที่รัฐโบราณนี้จะถูกครอบครองโดยพม่า ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่ถูกต้องตามกฎหมายของกฎหมายพม่า

นอกจากนี้งานของ Farzana (2011) นับว่าเป็นงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งขยายขอบเขตงานเก่าๆ นอกเหนือไปจากรากความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ในรัฐอาระกัน โดย Farzana ชี้ให้เห็นว่า การถูกบังคับให้อพยพออกจากมาตุภูมิ  คือรัฐยะไข่ในปัจจุบัน ของชาวโรฮิงญา  โดยหน่วยงานรักษาความปลอดภัยตามชายแดนของรัฐบาลพม่า (Border Security Force or NaSaKa) ไปยังชายแดนบังคลาเทศ

ปัญหาที่ น่าเป็นห่วงคือ ทั้งพม่าและบังคลาเทศต่างก็ปฏิเสธที่จะให้สัญชาติแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา  ทำให้ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้กลายเป็นบุคคลไร้รัฐ (stateless people) ไม่ได้รับการป้องกันสิทธิขั้นพื้นฐานเท่ากับคนที่มีสัญชาติตามปกติ ซึ่งในยุคของความเป็นรัฐชาติ คนจำนวนมากเหล่านี้ไม่สามารถจะกลายเป็นคนไร้สัญชาติตลอดไปได้

เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากบทความ ไปอ่านเพิ่มได้ที่  >>> http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5567.php

สุดท้ายอย่างฝากทิ้งไว้ว่า ก่อนจะโกรธแค้น เกลียดใครเข้าเส้น จนลืมสติ ให้ลองไปค้นหาข้อมูล ศึกษาให้ครบถ้วนซะก่อน ภาษีคนไทยที่บอกว่าเอามาเลี้ยงดูโรฮิงญาน่ะจริงมั้ย เพราะตอนนี้ค่ายผู้ลี้ภัยเราก็มีเป็นสิบค่าย NGO หน่วยงานจากต่างชาติมากมายที่เข้ามาสนับสนุนเงินทุนตรงนี้ ถามว่ามีตัวเลขจริงๆ หรือเปล่าที่ว่า รัฐไทยสนับสนุนเลี้ยงดูผู้ลี้ภัย ก่อนเชื่ออะไร ลองหาข้อมูลให้ลึก มองให้รอบด้านกันนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่