เข้าใจคนพม่าเลยแหล่ะ น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง บทความเขียนได้น่าสนใจครับ -ชาวโรฮิงญา

เข้าใจคนพม่าเลยแหล่ะ น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
http://prachatai.com/journal/2013/01/44767
บทความเขียนได้น่าสนใจครับ
ข่าวคราวเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวมุสลิมที่หลบหนีจากความไม่สงบภายในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศพม่า เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากชาวไทยจำนวนมากในช่วงระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากชาวมุสลิมที่เรียกตัวเองว่า “โรฮิงญา” เหล่านี้ ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ หลังจากที่ต้องหลบหนีเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฏหมาย เนื่องจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในพม่านั้นทวีความรุนแรงและบานปลายจนรัฐไม่สามารถที่จะควบคุมได้ (ในทัศนะของผู้ที่ไม่ชอบรัฐบาลพม่าและชาวโรฮิงญามองว่ารัฐไม่พยายามที่จะควบคุม) ผู้เขียนติดตามเรื่องของชาวโรฮิงญามานานพอสมควรและมีโอกาสได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพม่าและอาณาจักรอาระกัน(ก่อนที่จะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่า)ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญาในหลายแง่มุม เห็นว่าอาจมีประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ จึงขอใช้พื้นที่นี้เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงในมุมอื่นๆของเรื่องนี้

สิ่งแรกที่ต้องขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านก็คือ เราต้องแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความสงสารเห็นใจ ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจชาวโรฮิงญาที่ถูกกระทำทารุณกรรม ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยโดยตรงกับชาวโรฮิงญาในหลายโอกาส และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นายกสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทย Mr. Maung Kyaw Nu รวมทั้งมีโอกาสได้ติดตามไปพูดคุยกับชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (ชาวโรฮิงญาส่วนมากประกอบอาชีพขายโรตี) พบว่าคนเหล่านี้ เป็นคนอัธยาสัยไมตรีน่ารัก เป็นมิตรและมีน้ำใจมากๆ

ในขณะเดียวกันก็พบว่าประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่มาระหว่างปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างชาวพม่าและชาวโรฮิงญานั้น (ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น) มีหลายแง่มุมที่ถูกละเลย ไม่นำมากล่าวถึง ซึ่งอาจไม่ค่อยเป็นธรรมกับชาวพม่าส่วนใหญ่ คำถามคือ ประเทศพม่าใจกว้างพอที่จะยอมรับว่ามีชนกลุ่มน้อยในประเทศทั้งสิ้น 135 ชาติพันธุ์ ทำไมจึงจะยอมรับ ชาวโรฮิงญา เพิ่มอีกสักหนึ่งชาติพันธุ์ไม่ได้ ? ปกติชาวพม่าซึ่งถูกปกครองจากรัฐบาลอย่างเข้มงวดและมักมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐบาลตลอด เหตุใดท่าทีของชาวพม่าต่อปัญหาชาวโรฮิงญาจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล? นาง อองซานซูจี ผู้ได้รับการยกย่องจากสังคมโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ยังคงมีท่าทีนิ่งเฉยต่อปัญหานี้ทั้งที่ประชาคมโลกกำลังจับตามอง แม้กระทั่งประธานาธิบดีโอบามา ยังหยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาขึ้นมากล่าวในการแสดงสุนทรพจน์เมื่อครั้งที่มาเยือนพม่าเร็วๆนี่

ในอดีต อาระกันเป็นรัฐอิสระ มีประวัติศาตร์ยาวนาน ร่วมสมัยพุทธกาล แม้หลักฐานที่ขุดค้นได้จะยืนยันการมีอยู่ของเมืองต่างๆในบริเวณนี้ช่วงประมาณ คริสตศตวรรษที่ 5 เช่นเมือง ธัญวดี (Thandayawaddee) ไวสาลี (Visali) และ เลมโร (Lemro) ในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองท่าที่สำคัญ เป็นช่องทางการติดต่อค้าขายระหว่างรัฐที่อยู่ภายในทวีปกับรัฐที่อยู่แถบชายฝั่ง รูปแบบของรัฐในสมัยโบราณเราจะเห็นว่าล้วนถือกำเนิดภายในทวีปและติดต่อค้าขายกันไปมาหาสู่โดยเส้นทางบก ต่อเมื่อมีการพัฒนาของเทคโนโลยีการเดินเรือซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลมากขึ้น และระยะเวลาน้อยลง รัฐที่อยู่แถบชายฝั่งก็ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอาจจะด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากกิจกรรมการค้าขายเป็นหลัก มีหลักฐานชัดเจนว่าชาวอินเดียรวมไปถึงชาวอาหรับได้นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายที่อาระกัน อาจมีบางส่วนได้เข้าตั้งรกรากอยู่ที่นี่ พร้อมๆการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม หลักฐานทางโบราณคดีชี้ชัดว่าพื้นที่นี้เดิมเป็นพื้นที่อารยธรรมฮินดูและพุทธ การที่ศาสนาอิสลามได้เริ่มเผยแผ่เข้ามาในคริสตศตวรรษที่ 7 ไม่ได้หมายความว่าชาวอาหรับเป็นบรรพบุรุษของชาวโรฮิงญา เช่นเดียวกับการที่เรามีพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ หรือมุสลิมในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไม่ได้หมายความว่าชาวมุสลิมเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับ แต่อย่างใด

อาระกันคงความเป็นอิสระมาอย่างยาวนาน อาจเป็นเพราะทำเลที่ตั้งมีเทือกเขาอาระกันโยมาเป็นเสมือนปราการธรรมชาติกั้นระหว่างอาระกันกับพม่าทำให้ยากแก่การโจมตี ประมาณคริสตศตวรรษที่ 15 กษัตริย์อาระกัน พระเจ้านรเมขลา หรือ เมง ซอ หม่อง (Narameikhla, Min Saw Maung, Man Co Mwan) ได้หลบหนีภัยคุกคามในราชสำนักไปหลบภัย และพึ่งพิง อาณาจักรเพื่อนบ้าน คือ เบงกอล อยู่ถึง 24 ปี ก่อนที่จะกลับมาฟื้นฟูอำนาจในปี ค.ศ. 1430 โดยการช่วยเหลือของกษัตริย์เบงกอล (ซึ่งเป็นมุสลิม) และตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ คือ มรัคอู (Mrauk-U) ในปี ค.ศ. 1433 กษัตริย์อาระกันยอมอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของเบงกอล อาจเป็นเพราะเคยได้รับความช่วยเหลือจากเบงกอล หลังจากนั้นมีการระบุและจารึกชื่อกษัตริย์อาระกัน ที่เป็นแบบกษัตริย์มุสลิม ควบคู่กับชื่อดั้งเดิม มีการออกเหรียญกาลิมะ (Kalima) ขณะเดียวกันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการว่ากษัตริย์อาระกันได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาระกัน อาทิ Dr. Jacques P. Leiden ทำการศึกษาและเผยแพร่บทความเรื่อง Buddhist Kings with Muslim Names : A Discussion on Muslim Influence in the Marauk-U Period ใจความว่ากษัตริย์อาระกันไม่เคยเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามแต่อย่างใด หลังจากนั้นอีกหลายรัชกาลที่กษัตริย์อาระกันใช้ชื่อดั้งเดิมควบคู่กับชื่อมุสลิม ภายหลังอาระกันเข้มแข็งจนสามารถผนวกเบงกอลเข้าเป็นส่วนหนึ่งและก็เลิกใช้ชื่อที่เป็นแบบมุสลิมควบคู่กัน และเป็นที่แน่ใจว่าหลังจากนั้นกษัตริย์อาระกันนับถือศาสนาพุทธ เพราะมีการสร้างวัดจำนวนมากซึ่งยังคงหลงเหลือเป็นโบราณสถานให้เห็นในสภาพที่สมบูรณ์มาจนทุกวันนี้

อาระกันคงความเป็นรัฐอิสระจนถึงปลายปี ค.ศ.1784 ก็พ่ายแพ้แก่กษัตริย์โบดอพญาของพม่าที่คนไทยรู้จักกันในนามพระเจ้าปดุงพร้อมอัญเชิญ พระมหามัยมุณี จากมรัคอูไปยังเมืองอมรปุระ(ปัจจุบันคือชานเมืองมัณฑเลย์ ชาวพม่านับถือพระมหามัยมุณีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเหมือนที่ชาวไทยนับถือพระแก้วมรกต) อาระกันถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าเหมือนการผนวกล้านนาหรือเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของสยาม แต่ 40ปี หลังจากนั้นพม่าแพ้สงครามอังกฤษในสงคราม Anglo-Burmese War ครั้งที่ 1 พม่าเสียอาระกันไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พม่ารบกับอังกฤษ สามครั้ง จนครั้งสุดท้ายทั้งประเทศก็ตกเป็นรัฐในอาณานิคมของอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1885 ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พม่ามีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของบริติชอินเดีย (British India) พื้นที่อาระกันเดิมกับเบงกอล ซึ่งอยู่บริเวณชายขอบของบริติชอินเดียเดิมกับพม่านั้น ผู้คนก็ไปมาหาสู่ กันอย่างเป็นอิสระเพราะได้กลายมาเป็นประเทศเดียวกัน ทั่วทั้งประเทศพม่าก็มีคนอินเดียอพยพเข้ามาเป็นแรงงานจำนวนมาก เหมือนกับการอพยพของชาวจีนเข้ามาเป็นแรงงานในสยามยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น คนอินเดียส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นนายทุนปล่อยเงินกู้ ภายหลังก็เข้าครอบครองพื้นที่ที่แต่เดิมเป็นของชาวพม่าที่ไม่สามารถไถ่ถอนได้ คนพม่าจึงรู้สึกไม่ค่อยชอบคนอินเดียมานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อังกฤษใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง ส่งเสริมให้คนกลุ่มน้อย ได้รับการศึกษา อาทิ กะเหรี่ยง คะชิ่น ซึ่งจำนวนมากหันมานับถือศาสนาคริสต์ อังกฤษ ใช้คนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นทหาร ตำรวจ ปกครองคนพม่าซึ่งเป็นคนหมู่มากของประเทศ ส่วนชาวไทใหญ่หรือ ฉาน อังกฤษให้คงระบบเจ้าฟ้าปกครองกันเอง กระแสขัดแย้งไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยกับคนพม่าก็หยั่งรากลึกสืบเนื่องเป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อตอนอังกฤษปกครองพม่านั้นได้มีการสำรวจจำนวนประชากรซึ่งทำได้ละเอียดตามมาตรฐานอังกฤษ เป็นที่น่าสังเกตว่าผลสำรวจของอังกฤษประชาชนที่อยู่ในรัฐอาระกันขณะนั้นมีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่น้อยกว่าผู้นับถือศาสนาพุทธมากกล่าวคือมีผู้นับถือาสนาอิสลามเป็นจำนวนหลักร้อยเท่านั้นเอง ในขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนนับล้านคนเลยทีเดียว

พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษกว่าร้อยปี ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีกลุ่มนายทหาร 30 นาย (30 Comrades) นำโดย อองซาน เคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษ เพื่อแยกตัวเป็นอิสระภาพ โดยการชักนำและช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่นในการขับไล่อังกฤษ ในช่วงเวลานี้เองที่กองทัพอังกฤษซึ่งถอยร่นไปอยู่ในอินเดีย ได้ติดอาวุธให้กับชาวมุสลิมในรัฐอาระกันเพื่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น แม้ภายหลัง อองซานจะกลับลำหันมาสนับสนุนอังกฤษอีกครั้งเมื่อพบว่าการตกอยู่ใต้อำนาจกองทัพญี่ปุ่นอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่า ประเด็นนี้ผู้เขียนได้สอบถามชาวโรฮิงญาที่อยู่ในเมืองไทยซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าสมัยเด็กคุณปู่ของเค้าเคยนำปืนที่ได้จากกองทัพอังกฤษมาให้ดูเป็นการยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง และนี่อาจจะเป็นปมที่ทำชาวพม่ามองชาวมุสลิมในรัฐอาระกัน ว่าเป็นคนละพวกกับตนเอง(ตามทัศนะผู้เขียน)

ก่อนหน้าที่พม่าจะได้รับอิสระภาพจากอังกฤษ นายพล อองซาน ได้เชิญตัวแทนชนกลุ่มน้อยต่างๆประชุมกันที่เมืองปางโหลง มีการลงชื่อในสนธิสัญญาปางโหลงเป็นข้อตกลงระหว่างพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในการที่จะรวมตัวกันเป็นสหภาพก่อนเมื่อได้อิสระภาพจากการเป็นอาณานิคม รายละเอียดจะไม่ขอกล่าวถึง แต่จะขอตั้งข้อสังเกตุว่า ชนกลุ่มน้อยจากอาระกันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม ในขณะที่กะเหรี่ยงปฏิเสธตั้งแต่ต้นที่จะไม่เข้าร่วมเพราะต้องการที่จะแยกตัวเป็นอิสระทันทีที่ได้รับอิสระภาพ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่