โรงพยาบาลเอกชนห้ามเรียกเก็บเงินฉุกเฉินภาย 72 ชม.ในชีวิตจริง ทำได้เหรอครับ ?และใช้อะดรีนาลีน >2 หลอด/hr ผิด?

จากข่าว Manager นะครับ
"      นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายฯ ออกแถลงการณ์เสนอ 3 มาตรการ สั้น-กลาง-ยาว ควบคุมราคารพ.เอกชน ดังต่อไปนี้
      
       มาตรการระยะสั้น ภายใน 1 เดือน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1. ภายใน 72 ชั่วโมง ห้ามรพ.เอกชนเรียกเก็บค่ามัดจำ หรือให้คนไข้หรือญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล 2. เมื่อพ้น 72 ชั่วโมง ให้รพ.เอกชนส่งตัวคนไข้ไปรพ.ตามสิทธิ โดยห้ามให้คนไข้หรือญาติสำรองจ่าย หรือเซ็นรับสภาพหนี้ 3. ในกรณีที่รพ.ตามสิทธิเตียงเต็ม ให้หน่วยงานต้นสังกัด 3 กองทุนคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ดำเนินการหาเตียงให้กับคนไข้ หากหาเตียงไม่ได้จำเป็นต้องอยู่รพ.เอกชนต่อไป ให้ทั้ง 3 กองทุนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 4. ให้มีบทลงโทษหากมีการไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2
      
       และ ข้อ 5. ให้ประกาศรูปแบบใบยินยอมให้รักษา ของทุกโรงพยาบาลให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ ให้แยกใบยินยอมให้รักษา กับใบรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ออกจากกัน
      
       มาตรการระยะกลาง 1. ให้ใช้ม.44 ยุบบอร์ดแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน แล้วเลือกคนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปเป็นกรรมการ โดยคงคณะกรรมการโดยตำแหน่งเอาไว้ 2. ให้ปกป้องสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ด้วยการผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้
      
       ส่วนมาตรการระยะยาว 1. ให้เร่งยกระดับมาตรฐานรพ.รัฐบาล ให้มีเตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ 2. เพิ่มความมั่นคงให้กับบุคลากรทางการแพทย์รพ.รัฐบาล ทั้งค่าตอบแทนและการให้ทุนเรียนต่อเฉพาะทางอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาบุคลากรเอาไว้ในระบบ 3. ให้แก้ไขพ.รบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ให้คนนอกเข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภาในสัดส่วน 50:50 เพื่อความเป็นธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นธรรมต่อประชาชน "

        ขอออกตัวก่อนเลยนะครับ ว่าผมเป็นแพทย์ที่ทำงานใน รพ.เอกชน ในปัจจุบัน และอยู่ในทีมที่ต้องดูแลผู้ป่วยวิกฤต และเคยทำงานใน รพ.รัฐบาล + รพ. มหาวิทยาลัยมาก่อน เลยได้ทราบข้อมูลมาพอสมควรทั้งข้อดี และข้อเสียของร่างพระราชบัญญัติระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน แต่พอเห็นข้อเสนอของเครือข่ายฯ คราวนี้แล้ว ผมยอมรับเลยว่าผมพูดไม่ออก ไม่คิดว่าคนบางกลุ่ม จะเห็นแก่ตัวได้มากขนาดนี้ โดยไม่มองหลักความเป็นจริงเลย, ผมขอชี้แจงเป็นข้อๆ และขอความเห็นเพื่อนๆ ใน pantip ด้วยละกันครับ ว่าข้อไหน ทำได้ หรือทำไม่ได้อย่างไรบ้าง,  

        1. ภายใน 72 ชั่วโมง ห้ามรพ.เอกชนเรียกเก็บค่ามัดจำ หรือให้คนไข้หรือญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล
           - แล้วค่าใช้จ่าย ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ใครจะเป็นคนจ่ายครับ ยกตัวอย่างนะครับ คนไข้ที่ต้อง CPR (cardiopulmonary resuscitation) 1 คน (อันนี้คงฉุกเฉินจริงๆ ครับ หวังว่าไม่มีใครเถียง -_-) แล้วบังเอิญโชคร้าย มาเป็นใกล้ๆ โรงพยาบาลเอกชน(ดวงซวย lol) ตาม guideline ของ ACLS (Advanced cardiovascular life support) เช่น การให้ยา Adrenaline เพื่อช่วยฟื้นชีพที่เป็นประเด็น ปกติ เราต้องให้ยาทุก 3 นาที นะครับ ในช่วงที่หัวใจหยุดเต้น (ราคา adrenaline 1 mg/ml IV = 0.6-2.9 USD), ปกติ ในการทำ CPR ผู้ป่วยฉุกเฉิน เราต้องทำการฟื้นชีพอย่างน้อยที่สุด 30 นาที หรือถ้าผู้ป่วยยังมีการตอบสนอง หรือญาติผู้ป่วยขอให้ยื้อต่อ จำนวนยาที่ใช้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ต้องใช้ Adrenaline 10 amp ใน การ CPR 1 ครั้ง (เทียบเวลามาตรฐาน 30 นาที ในการช่วยฟื้นชีพ) เพื่อให้ทำการฟื้นชีพได้ผลเต็มที่
             **ผมต้องขอเพิ่มความรู้ตรงนี้ เพราะกลัวจะมีคนเข้าใจผิดๆ ว่า การให้ยา adrenaline เกิน 2 amp ใน 1 ชั่วโมง จะทำให้คนไข้ตายตามที่เป็นข่าว ใครไม่เห็นด้วย หรือคิดว่าผมให้ความรู้ผิดๆ สามารถแย้งได้นะครับ หรือสนใจอยากหาความรู้เพิ่มเติม สามารถหาใน google และ พิมพ์ว่า "ACLS guideline" ได้ครับ จะมีข้อมูลโดยละเอียดอยู่ครับ**
             **ราคายาที่ผม list ให้ผม check จากราคาที่อเมริกายังไม่รวมภาษีนำเข้านะครับ**
              - หลังการ CPR แล้วตามหลักการ CPR ถ้าผู้ป่วย Coma หรือไม่รู้สึกตัว ตาม guideline เราก็ต้องทำ Hypothermia ต่ออีก 48 hr (ตรงจุดนี้บางคนอาจเคยได้ยินข่าวเด็กจมน้ำและหยุดหายใจ และฟื้นกลับมาได้เพราะแพทย์ช่วยทำ hypothermia ทันท่วงที่ครับ) เพื่อให้คนไข้มีโอกาสตื่นมากที่สุด ตรงจุดนี้ผู้ป่วยก็ต้องใช้ทั้งยาช่วยให้ผู้ป่วยสงบ (เพื่อลดการสั่นของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มของอุณหภูมิ ทำให้ทำ Hypothermia ได้ไม่มีประสิทธิภาพ; ยาที่ใช้อาจเป็น Midazolam(4 USD/5mg/ml; dose 0.3mg/kg/hr - 5mg/hr) + Propofol (1 USD/1mg/ml; dose 6mg/kg/hr) หรือยาอื่นๆ แล้วแต่ตามแต่ที่ รพ.แต่ละแห่งจะใช้ครับ) + ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจเพราะผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้ + ใช้อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย; ราคาของเมืองนอก ค่าใช้จ่ายตกประมาณ $31,254 ต่อ case นะครับ (หาข้อมูลยืนยันจาก google ได้ครับ ในหัวข้อ "Cost-effectiveness hypothermia") ส่วนเมืองไทยขนาดโรงพยาบาลเอกชนที่แพงที่สุด ยังเก็บค่ารักษาไม่เกิน 3-4 แสนบาท และต้องถามญาติผู้ป่วยทุกครั้งก่อนจะทำ เพราะทราบว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
               เอาเฉพาะ 2 หัวข้อนี้เรื่องค่าอุปกรณ์ + ค่ายา ไม่รวมค่าเสียโอกาสในการใช้สถานที่ (อย่าลืมนะครับมีคนไข้ใช้เตียงไป 1 คน ก็เท่ากับโรงพยาบาลรับคนไข้อื่นได้น้อยลง 1 คน, คุยกันตรงๆ แบไม่ใช่โลกสวย เพราะทุกอย่างก็เป็นค่าใช้จ่ายหมดครับ), ค่าบริการของ หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ (ส่วนใหญ่ทุกคนทำงานกันเต็มที่นะครับ (ผมคงไม่ garuntee ว่า 100% เพราะคงเป็นไปไม่ได้) เชื่อเถอะครับ ว่าเอกชนไม่มีใครอยากทิ้งงานหรอกครับ เพราะทุกคนรู้ว่าเราเก็บค่าใช้จ่ายคนไข้แพง คนไข้ก็มีความคาดหวังสูง เพราะฉะนั้น safety ของคนไข้ต้องมาเป็นอันดับ 1 ถ้าใครไม่ทำ ก็มีบทลงโทษหรือเตียมรับการฟ้องร้องได้เลย), ซึ่งสิ่งเหล่านี้จัดว่าอยู่ในฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง แน่ๆ และในกรณี โรคบางอย่าง เช่นหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยหนักที่อาจมีโอกาสรอด แต่ต้องใช้เครื่องปอด-หัวใจเทียม ซึ่งค่าใช้จ่ายอาจเป็นล้านบาทต่อวัน(ต้องยอมรับนะครับ ว่าโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ไม่สามารถนำมาใช้กับคน คนเดียวได้ เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการผ่าตัดหัวใจ และมีราคาสูงมากในการใช้งาน + ต้องใช้บุคลากรดูแลชนิดเฝ้าทั้งวันทั้งคืนระหว่างใช้เครื่อง, ปกติ รพ.รัฐ หรือ รพ.มหาวิทยาลัย จะมีไม่เกิน 1-2 เครื่อง ดังนั้นถ้าใช้กับคนไข้คนเดียว อาจต้องเลื่อนคิวผ่าตัดอีกเป็น ร้อยๆ คิว -_-), ซึ่งก็จัดว่าใช้ในช่วงฉุกเฉินเหมือนกันครับ
               ซึ่งพวกนี้จัดว่าอยู่ในศักยภาพที่ รพ.เอกชนทำได้ และควรทำให้เต็มที่ เพราะไม่ทำก็อาจถือว่าผิดจรรยาบรรณอีก แต่เรื่องค่าใช้จ่ายนี่อยากทราบว่า ใครจะจ่ายครับ ไม่ทราบว่ากลุ่มผู้เสียหายฯ จะช่วยจ่ายหรือปล่าวครับ และถ้าคิดว่าผมคิดราคา หรือพูดเกินความจริง ขอให้คุณลองไป check ข้อมูลให้ละเอียดทั้งเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเจ้าหน้าที่ ค่ายา รวมทั้งค่าใช้จ่ายทั้งหมด ก่อนว่าโรงพยาบาลไหนเก็บเกินจริงไปมาก ก่อนที่จะมาพูด หรือบังคับให้ รพ. ทุกโรงพยาบาลต้องทำอย่างที่คุณคิด
                แล้วอย่าบอกนะครับว่าทางกองทุนต่างๆ หรือ สปสช. จะช่วยจ่าย ลองไป check ดูเลยครับว่าที่ค้างจุฬาเอย ศิริราชเอย โรงพยาบาลชุมชนเอย ตั้งแต่หลักสิบ หรือหลักร้อยล้านได้จ่ายให้เขาสักรายหรือยัง ซึ่ง รพ.เอกชนเป็นธุรกิจที่ต้องมีค่าใช้จ่ายทุกเดือน เพราะเจ้าหน้าที่ หรือหมอ หรือพยาบาลแม้กระทั่งแม่บ้านหรือยาม ทุกคนที่ทำหน้าที่เต็มที่ก็ต้องกินต้องใช้เหมือนกันนะครับ จะให้บอกว่ารอรัฐบาลมาจ่าย ไม่ตกงาน ก็อดตายก่อนครับ -_-
                ** หนี้เสียปีนี้ของโรงพยาบาล ก็เพราะ case ฉุกเฉิน (รวมคนไทย + ต่างชาติ) ปีนี้ของโรงพยาบาลผม 60+ ล้านแล้วนะครับ, แล้วขอบอกว่าทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้ดำเนินการฟ้องทุกราย ถ้าไม่เจตนาเบี้ยว ผ่าตัดฟรีก็มีเยอะ, ผมจึงอยากลองนำเสนอข้อมูลในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนให้คนทั่วไปทราบดูบ้าง เพราะหลังจากอ่านข่าวของกลุ่มผู้เสียหายฯ แล้วยอมรับว่าปวดตับมาก ถึงมากที่สุด ข้อเสนอแต่ละอย่าง ก็.....
           2. การ refer ใน 72 hr ถ้าทำได้นี่จะเป็นพระคุณมาก แต่ติดต่อที่ไหน ก็มีแต่เต็มตลอด ไม่มีใครยอมรับ refer แถมถ้า case หนัก นอนยาว โรงพยาบาลต้นสังกัดไม่ยอมเขียน refer ตามมาให้ ก็อย่าหวังว่าจะมี รพ.ไหนรับ เพราะมีแนวโน้มสูงว่าที่ รพ. ที่รับไปต้องเข้าเนื้อแน่ๆ เพราะหนี้เก่า จาก 30 บาท รัญบาลก็ยังไม่จ่าย แถมรับ case หนักมา 1 case ไม่มี refer ก็หนี้บานปลายอีก -_-, บอกตรงๆ นะครับ รพ. เอกชน ไม่มีใครอยากยื้อคนไข้ไว้หรอกครับ ถ้าเป็น case ฉุกเฉินแบบนี้ เพราะ ร้อยละ 90++ เข้าเนื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่อยู่ รพ.ครับ

               ผมขอให้ข้อมูลเท่าที่ผมมีความรู้ในส่วนของคำว่าฉุกเฉินละกันครับ และขอยืนยันว่าทาง รพ. ที่หลายๆ คนบอกว่าแพงที่สุดในไทย ยังยืดหยุ่นกว่าอีกหลายแห่งนะครับ เรื่องยาถ้าตัวไหนแพง รพ.ก็ไม่ได้ห้ามให้หมอแนะนำคนไข้ ให้ไปซื้อจากข้างนอก (แต่บาง รพ. เอกชนบางแห่ง ไม่ได้นะครับ แพทย์จะถูกเตือนทันที) และส่วนตัวผมเอง case ไหนถ้าฉุกเฉิน หรือคนไข้มาผิด รพ. และไม่มีเงินจริงๆ ผมก็ไม่คิดค่า Doctor fee ซึ่งทาง รพ. ก็ไม่ได้ห้ามเช่นกัน

               ส่วนมาตรการระยะกลาง กับระยะยาว ผมไม่ออกความเห็นละกันครับ แต่ผมเห็นด้วยนะครับ กับมาตรการระยะยาวถ้าคุณทำได้จริง (ในชาตินี้ม ผมรอมา 20+ปีแล้ว -_-) แต่ขอแค่ติงนิดหน่อย เรื่องให้บุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ มาตัดสิน หรือออกความเห็นในฐานะ แพทยสภา, ผมขอถามแค่ว่า ขนาดข้อเรียกร้องที่กลุ่มคุณผู้เสียหายฯ ยกขึ้นมาแต่ละข้อ คุณเรียกร้องมา แล้วตามหลักความเป็นจริงมันทำได้หรือเปล่า แล้วทำแล้วมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนต่อวงการแพทย์คุณทราบหรือไม่, ขนาดที่ตัวคุณเองบอกว่าคุณทำเรื่องเหล่านี้มาเป็นสิบๆ ปี แต่คุณไม่เคยมองให้รอบด้านเลย คุณมองแต่ว่าพวกคุณเป็นผู้สูญเสีย แต่การกระทำของคุณทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบรุนแรงเพียงใด คุณไม่เคยคิด แล้วถ้าคุณขึ้นมาในตำแหน่งที่ต้องเป็นกระจก ที่ต้องสะท้อนทั้งฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ และฝั่งผู้เสียหาย คุณจะเป็นกระจกสองหน้า หรือกระจกหน้าเดียว ก็ขอให้คิดดูดีๆ ด้วยนะครับ

            ****PS ในส่วนของ case ที่ฝั่งกลุ่มผู้เสียหายฯ ยกตัวอย่าง ถ้าต้องรอแพทย์นาน หรือเป็นการเบิกยาเกินจริง ถ้าผิด ก็ต้องว่าไปตามผิดครับ แต่ผมให้ข้อมูลเรื่อง Adrenaline เพิ่ม เพราะกังวลว่าต่อไป เดี๋ยวตอน CPR มีใครไม่กล้าใช้ Adrenaline เกิน 2 amp ใน 1 ชั่วโมงจริงจะเป็นเรื่องเอา สำหรับน้องหมอใหม่ๆ, พี่แนะนำว่าให้ลองอ่านทั้ง BLS และ ACLS guideline ซึ่งหาได้ทั่วไปจาก Internet และเป็นมาตรฐานสากลทั่วโลกครับ ^_^****
            ****ขอเพิ่ม tag ศาลาประชาคมนะครับ เพราะอยากขอความเห็นทางกฏหมายด้วย เพราะเห็นว่ากลุ่มผู้เสียหายฯ จะให้มีโทษทางกฏหมายด้วยถ้า รพ. ไม่ทำตาม ซึ่งผมอยากทราบว่าในกรณีนี้ รพ.ทำผิดกฏหมายข้อไหนหรือครับ ถ้าไม่ทำตามที่กลุ่มอ้างมาในกรณีฉุกเฉิน ข้อ 1 และ ข้อ 2 ?
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่