เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางถึงปากีสถานเมื่อวันจันทร์ (20 เม.ย.) และเริ่มเปิดตัวการลงทุนอภิมหาโครงการทางด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมเป็นมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนอกจากเป็นการตอกย้ำแผนการทะเยอะทะยานทางเศรษฐกิจของปักกิ่งในเอเชียแล้ว ความเคลื่อนไหวนี้ยังมีนัยในการคานอิทธิพลของอเมริกาและอินเดีย
ระหว่างการเยือนปากีสถาน 2 วันคราวนี้ สี กับผู้นำปากีสถานจะกำกับดูแลการลงนามในข้อตกลงจำนวนมากระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสถาปนา “ระเบียงเศรษฐกิจปากีสถาน-จีน” ขึ้นครอบคลุมอาณาบริเวณระหว่างเมืองท่า “กวาดาร์” ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลอาราเบียทางภาคใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงเขตปกครองตนเองซินเจียง (ซินเกียง) ทางภาคตะวันตกของแดนมังกร
แผนการนี้ซึ่งจีนจะลงทุนเป็นเงินมากกว่าที่สหรัฐฯใช้จ่ายอยู่ในปากีสถานตลอดช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาเสียอีก ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหมสายใหม่” ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งมุ่งผูกโยงดินแดนจีนเข้ากับตลาดต่างๆ ในเอเชียกลาง เอเชียใต้ ไปจนถึงยุโรป และตะวันออกกลาง
สี ระบุว่า การลงทุนเช่นนี้จะผูกพันประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองอย่างแน่นหนา ในฐานะที่เป็น “หุ้นส่วนเพื่อการร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ซึ่งทนทานต่อทุกสภาพอากาศ”
ขณะที่นายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ ของปากีสถาน กล่าวว่า ระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้จะเปลี่ยนโฉมปากีสถานให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของภูมิภาค ส่วนทางจีนก็จะได้เส้นทางซึ่งสั้นลงและถูกลงสำหรับการค้าและการลงทุนกับเอเชียใต้ เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ตลอดจนตะวันออกกลาง และแอฟริกา
ระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายถนน ทางรถไฟ และสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ จะพาดผ่านแคว้นบาลูจิสถาน ที่เป็นพื้นที่ยากจนของปากีสถาน และประสบปัญหาการก่อความรุนแรงของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน
ด้วยเหตุนี้ ความปลอดภัยของคนงานจีนจึงน่าจะเป็นข้อกังวลหลักที่ สี จะหยิบยกขึ้นหารือกับชารีฟ และผู้นำทางทหารของปากีสถาน นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้ว่า ประมุขแดนมังกรจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการร่วมมือกันของขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมในซินเจียงกับกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ชาวปากีสถาน
ก่อนการเดินทาง สี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อปากีสถานว่า สองประเทศควรส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงไปพร้อมกัน โดยที่คาดกันว่า ผู้นำจีนยังจะเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการฟื้นเสถียรภาพในอัฟกานิสถาน ขณะที่ปากีสถานก็ต้องการจำกัดอิทธิพลของอินเดียในประเทศดังกล่าวเช่นกัน
อาห์ซาน อิกบัล รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการพัฒนาของปากีสถานแถลงแจกแจงว่า จีนจะลงทุนเป็นมูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์ในโครงการก๊าซ ถ่านหิน และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 16,400 เมกะวัตต์ เปรียบเทียบกับเงินที่อเมริกาอัดฉีดปากีสถานนับจากปี 2002 ที่มีมูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งราว 2 ใน 3 ทุ่มให้กับกิจการด้านความมั่นคง
ทางด้าน แอนดริว สมอลล์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-ปากีสถาน ชี้ว่า แม้จีนและอเมริกาแข่งขันกันสร้างอิทธิพลในเอเชีย แต่สองประเทศก็มีผลประโยชน์ร่วมกันจำนวนมากในปากีสถาน โดยเฉพาะความต้องการที่จะให้ประเทศนี้มีรัฐบาลซึ่งมีเสถียรภาพเพื่อกวาดล้างกลุ่มหัวรุนแรง ปักกิ่งจึงต้องการให้วอชิงตันให้ความช่วยเหลือ ขายอาวุธ และให้การสนับสนุนอื่นๆ แก่อิสลามาบัดต่อไปเช่นเดิม
นอกจากนั้น สียังอาจขอให้ปากีสถานให้ความมั่นใจว่า จะมีการปราบปรามการทุจริต รวมทั้งรับประกันว่า ผู้นำรัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้านจะยึดมั่นในข้อตกลงที่ทำกับจีนในระยะยาว
เจ้าหน้าที่ปากีสถานเปิดเผยว่า รัฐบาลและธนาคารของจีน อาทิ ไชน่า ดิเวลอปเมนต์ แบงก์ และอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า จะปล่อยกู้แก่บริษัทจีนต่างๆ ดังเช่น ทรี จอร์จ, ไชน่า พาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล ดิเวลอปเมนต์ เพื่อนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ในปากีสถาน
ทั้งนี้ ปากีสถานหวังว่า การลงทุนของจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ รวมทั้งยุติปัญหาการขาดแคลนพลังงานเรื้อรัง ซึ่งบ่อนทำลายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก
อิกบัลมองการลงทุนของจีนในแง่บวกอย่างมาก โดยบอกว่า เป็นการรวมสามพื้นที่ที่กำลังมีพลวัตการเติบโต ได้แก่ เอเชียใต้ เอเชียกลาง และจีน
กระนั้น ยังมีนักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า โครงการของจีนดูเหมือนเลิศเลอเกินกว่าจะเป็นจริงได้ อีกทั้งอิสลามาบัดยังต้องสะสางปัญหาอีกมากมายเพื่อทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงๆ
'สี'เยือนปากีฯผุดอภิมหาโปรเจ็กต์ ลงทุนเป็นมูลค่า46,000ล้านดอลลาร์
ระหว่างการเยือนปากีสถาน 2 วันคราวนี้ สี กับผู้นำปากีสถานจะกำกับดูแลการลงนามในข้อตกลงจำนวนมากระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสถาปนา “ระเบียงเศรษฐกิจปากีสถาน-จีน” ขึ้นครอบคลุมอาณาบริเวณระหว่างเมืองท่า “กวาดาร์” ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลอาราเบียทางภาคใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงเขตปกครองตนเองซินเจียง (ซินเกียง) ทางภาคตะวันตกของแดนมังกร
แผนการนี้ซึ่งจีนจะลงทุนเป็นเงินมากกว่าที่สหรัฐฯใช้จ่ายอยู่ในปากีสถานตลอดช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาเสียอีก ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหมสายใหม่” ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งมุ่งผูกโยงดินแดนจีนเข้ากับตลาดต่างๆ ในเอเชียกลาง เอเชียใต้ ไปจนถึงยุโรป และตะวันออกกลาง
สี ระบุว่า การลงทุนเช่นนี้จะผูกพันประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองอย่างแน่นหนา ในฐานะที่เป็น “หุ้นส่วนเพื่อการร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์ซึ่งทนทานต่อทุกสภาพอากาศ”
ขณะที่นายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ ของปากีสถาน กล่าวว่า ระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้จะเปลี่ยนโฉมปากีสถานให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของภูมิภาค ส่วนทางจีนก็จะได้เส้นทางซึ่งสั้นลงและถูกลงสำหรับการค้าและการลงทุนกับเอเชียใต้ เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ตลอดจนตะวันออกกลาง และแอฟริกา
ระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายถนน ทางรถไฟ และสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ จะพาดผ่านแคว้นบาลูจิสถาน ที่เป็นพื้นที่ยากจนของปากีสถาน และประสบปัญหาการก่อความรุนแรงของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน
ด้วยเหตุนี้ ความปลอดภัยของคนงานจีนจึงน่าจะเป็นข้อกังวลหลักที่ สี จะหยิบยกขึ้นหารือกับชารีฟ และผู้นำทางทหารของปากีสถาน นอกจากนั้น ยังมีความเป็นไปได้ว่า ประมุขแดนมังกรจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการร่วมมือกันของขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมในซินเจียงกับกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ชาวปากีสถาน
ก่อนการเดินทาง สี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อปากีสถานว่า สองประเทศควรส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงไปพร้อมกัน โดยที่คาดกันว่า ผู้นำจีนยังจะเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการฟื้นเสถียรภาพในอัฟกานิสถาน ขณะที่ปากีสถานก็ต้องการจำกัดอิทธิพลของอินเดียในประเทศดังกล่าวเช่นกัน
อาห์ซาน อิกบัล รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการพัฒนาของปากีสถานแถลงแจกแจงว่า จีนจะลงทุนเป็นมูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์ในโครงการก๊าซ ถ่านหิน และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 16,400 เมกะวัตต์ เปรียบเทียบกับเงินที่อเมริกาอัดฉีดปากีสถานนับจากปี 2002 ที่มีมูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งราว 2 ใน 3 ทุ่มให้กับกิจการด้านความมั่นคง
ทางด้าน แอนดริว สมอลล์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-ปากีสถาน ชี้ว่า แม้จีนและอเมริกาแข่งขันกันสร้างอิทธิพลในเอเชีย แต่สองประเทศก็มีผลประโยชน์ร่วมกันจำนวนมากในปากีสถาน โดยเฉพาะความต้องการที่จะให้ประเทศนี้มีรัฐบาลซึ่งมีเสถียรภาพเพื่อกวาดล้างกลุ่มหัวรุนแรง ปักกิ่งจึงต้องการให้วอชิงตันให้ความช่วยเหลือ ขายอาวุธ และให้การสนับสนุนอื่นๆ แก่อิสลามาบัดต่อไปเช่นเดิม
นอกจากนั้น สียังอาจขอให้ปากีสถานให้ความมั่นใจว่า จะมีการปราบปรามการทุจริต รวมทั้งรับประกันว่า ผู้นำรัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้านจะยึดมั่นในข้อตกลงที่ทำกับจีนในระยะยาว
เจ้าหน้าที่ปากีสถานเปิดเผยว่า รัฐบาลและธนาคารของจีน อาทิ ไชน่า ดิเวลอปเมนต์ แบงก์ และอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า จะปล่อยกู้แก่บริษัทจีนต่างๆ ดังเช่น ทรี จอร์จ, ไชน่า พาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล ดิเวลอปเมนต์ เพื่อนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ในปากีสถาน
ทั้งนี้ ปากีสถานหวังว่า การลงทุนของจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ รวมทั้งยุติปัญหาการขาดแคลนพลังงานเรื้อรัง ซึ่งบ่อนทำลายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก
อิกบัลมองการลงทุนของจีนในแง่บวกอย่างมาก โดยบอกว่า เป็นการรวมสามพื้นที่ที่กำลังมีพลวัตการเติบโต ได้แก่ เอเชียใต้ เอเชียกลาง และจีน
กระนั้น ยังมีนักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า โครงการของจีนดูเหมือนเลิศเลอเกินกว่าจะเป็นจริงได้ อีกทั้งอิสลามาบัดยังต้องสะสางปัญหาอีกมากมายเพื่อทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงๆ