**** 8 ประเทศวิกฤต ติดหนี้แดนมังกรท่วมหัว **** (แวะอ่านสักนิด)

โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ #OneBeltOneRoad ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดี #สีจิ้นผิง ทำให้เงินลงทุนจาก #จีน หลั่งไหลสู่ประเทศต่าง ๆ พร้อมกับการขยายอิทธิพลของจีน

จีนตั้งเป้าจะลงทุนโครงการ One Belt One Road มูลค่ากว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ในเอเชีย แอฟริกา และยุโรปด้วยลีลา “เจ้าบุญทุ่ม” ให้เงินกู้ก้อนโตกับประเทศยากจน โดยไม่กลัวทุนหายกำไรหด ประเทศต่าง ๆ จึงไม่ยอมพลาดโอกาสทอง อ้าแขนรับเงินทุนจากจีนอย่างเต็มกระเป๋า

แต่สิ่งที่บางประเทศอาจแกล้งลืมคือ เงินทุนจากจีนไม่ใช่ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่เป็นการให้ #เงินกู้ ก้อนใหญ่ หลายประเทศเมื่อไม่สามารถชำระเงินกู้คืนได้ ก็จำต้องยอมมอบสิทธิ์ครอบครองพื้นที่หรือสาธารณูปโภคให้กับจีนเพื่อเป็นหลักประกันหนี้สิน

ท่าเรือฮัมบันโททาใน #ศรีลังกา ก่อสร้างด้วยเงินทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ โดย 85% มาจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน รัฐบาลศรีลังกาตั้งเป้าหมายเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่หลังเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2010 ท่าเรือไม่สามารถทำรายได้ได้ตามเป้าหมาย รัฐบาลศรีลังกาจำต้องยอมให้บริษัทของจีนเช่าท่าเรือแห่งนี้เป็นเวลานานถึง 99 ปีเพื่อชดใช้หนี้ให้กับจีน ทุกวันนี้ท่าเรือแห่งนี้ดำเนินการโดยฝ่ายจีนเกือบทั้งหมด แม้แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ใช้คนจีน

**** 8 ประเทศวิกฤต ติดหนี้แดนมังกรท่วมหัว ****

ผลการวิจัยของศูนย์ศึกษาการพัฒนาโลกระบุว่า มี 68 ประเทศรับเงินสนับสนุนตามโครงการ One Belt One Road ของจีน และ 23 ประเทศมีความเสี่ยงไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดย 8 ประเทศอยู่ในขั้นวิกฤต ได้แก่

#จิบูตี ประเทศในแอฟริกา ซึ่งได้รับคำเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ในระยะเวลาเพียง 2 ปี หนี้สาธารณะต่างประเทศของจิบูตีเพิ่มจากร้อยละ 50 ของ GDP เป็นร้อยละ 85 เกือบทั้งหมดเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันให้กับรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนในโครงการที่ได้รับเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศจีน อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสแห่งนี้มีหนี้สินจากโครงการ One Belt One Road สูงถึง 90.97%

#ทาจิกิสถาน หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย ถึงแม้จะได้รับคำเตือนจากทั้ง IMF และธนาคารโลกเรื่องภาระหนี้สินจนไม่มีใครยอมให้เงินกู้ แต่ประเทศจีนได้สนับสนุนการลงทุนในระบบคมนาคมและพลังงาน จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่เพียงรายเดียว มีมูลหนี้สูงถึง 79.14% ของ GDP

#คีร์กีชสถาน ลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน ด้วยมูลหนี้สูงกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70.81% ของ GDP หนี้สินของจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 40 ของหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดของประเทศนี้

#ลาว มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก One Belt One Road หลายโครงการ โครงการใหญ่ที่สุดคือ ทางรถไฟเชื่อมอาเซียนมูลค่า 6,700 ล้านดอลลาร์ หนี้สินคิดเป็นสัดส่วน 68.61% ของ GDP จนลาวต้องให้สิทธิ์ใช้ที่ดินรอบตลอดเส้นทางรถไฟกับจีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินกู้

#มัลดีฟส์ ประเทศแสนสวยงามกลางมหาสมุทร แต่เป็นหนี้แดนมังกรมหาศาลถึง 67.84% ของ GDP จีนลงทุนในโครงการสำคัญคือ การพัฒนาสนามบินนานาชาติมูลค่า 830 ล้านดอลลาร์, การสร้างที่พักอาศัยและสะพานใกล้สนามบินมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ และการย้ายท่าเรือหลักของประเทศ ซึ่งไม่ระบุมูลค่า นอกจากมูลหนี้ที่สูงลิ่วแล้ว มัลดีฟส์ยังเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้น

#มองโกเลีย แผ่นดินอันไพศาลของเจงกิสข่าน ซึ่งเคยยกทัพเข้าปกครองแผ่นดินใหญ่ของจีนมาแล้ว แต่วันนี้มองโกเลียเป็นหนี้จีนสูงถึง 55.92% ของ GDP ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนให้เงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์กับมองโกเลียเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและทางหลวง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า จีนอาจสนับสนุนเงินกู้อีก 30,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าตามโครงการ One Belt One Road ซึ่งหากมองโกเลียมีมูลหนี้มหาศาลเพียงนี้ โอกาสที่จะชำระหนี้ไม่ได้จะสูงอย่างยิ่ง

#ปากีสถาน จีนได้เสนอโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” ให้ความช่วยเหลือปากีสถานหลังจากพ้นสงครามกับกลุ่มติดอาวุธทาลิบัน และเพื่อคานอำนาจกับอินเดีย โครงการลงทุนมีมูลค่าสูงกว่า 62,000 ล้านดอลลาร์ โดยฝ่ายจีนสนับสนุนมากถึงร้อยละ 80 แต่คิดดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ปากีสถานเป็นหนี้สินกับจีนสูงถึง 47.28% ของ GDP

#มอนเตเนโกร ธนาคารโลกประมาณการณ์ว่าหนี้สาธารณะของประเทศแห่งนี้สูงถึง 83% ของ GDP ในปี 2018 โดยเป็นหนี้ในโครงการ One Belt One Road สูง 44.03% โครงการลงทุนใหญ่คือการสร้างถนนและระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ในแถบทะเลบอลติก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนได้เสนอเงินกู้ให้กับมอนเตเนโกรตั้งแต่ปี 2014 โดยสนับสนุนเงินทุนกว่า 850 ล้านดอลลาร์สำหรับการลงทุนในเฟสแรก แต่ผลการประเมินความเสี่ยงพบว่า โครงการต่าง ๆ อาจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ หากมอนเตเนโกรไม่ได้รับเงินกู้ในเฟสที่สองและสามได้ด้วยเงื่อนไขสุดพิเศษ

เงินทุนจากจีนช่วยให้หลายประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความช่วยเหลือจากจีนยังไม่ได้เป็นการบังคับขู่เข็ญเหมือนการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในอดีต แต่โลกนี้ไม่มีของฟรี หากไม่ประมาณตน เมื่อหนี้สินล้นพ้นตัวก็อาจต้องเป็น “ทาสน้ำเงิน” และอาจต้องยกแผ่นดินใช้หนี้..

#แอฟริกา อดีตดินแดนอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ ณ วันนี้ #จีน คือมหาอำนาจตัวจริงแห่งกาฬทวีป กองทัพจีนสร้างฐานทัพในต่างประเทศแห่งแรกที่ประเทศจิบูตี บริษัทจีนรับสัมปทานโครงการต่าง ๆ มากมาย จีนคือหุ้นส่วนการค้า และผู้ให้เงินช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

การประชุมความร่วมมือจีน-แอฟริกาที่กรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงถึงอิทธิพลของแดนมังกรบนกาฬทวีปได้อย่างแจ่มชัด เมื่อผู้นำ 53 ชาติในแอฟริกาต่างเดินทางมาอย่างพร้อมหน้า ซึ่งทางการจีนก็ได้ “จัดเต็ม” ตอบแทนอย่างเต็มที่

ประธานาธิบดี #สีจิ้นผิง ประกาศว่า จีนยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือแก่แอฟริกาวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังจะยกเลิกหนี้สินที่ติดค้างจีนและมีกำหนดคืนในสิ้นปี 2018 นี้ให้กับประเทศแอฟริกาที่ยากจนที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

จีนมีความสัมพันธ์กับทวีปแอฟริกามานานแล้ว จีนได้สถานภาพชาติสมาชิกถาวรในสหประชาชาติช่วงทศวรรษ 1970 ส่วนหนึ่งเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากชาติต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา จีนจึงคงยุทธศาสตร์แสวงหาความเป็นพันธมิตรกับประเทศในแอฟริกา เพื่อประโยชน์ต่อจุดยืนของจีนด้านการทูตในระดับโลก

จีนยังเล็งเห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจในแอฟริกา ที่ช่วยให้จีนเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมันและแร่ธาตุ จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากแอฟริกา 1.4 ล้านบาเรลต่อวัน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกันแอฟริกามีประชากรจำนวนมาก จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่เพื่อการส่งออกสินค้าของจีน

ในรอบ 10 ปีมานี้ จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุดในทวีปแอฟริกาแทนสหรัฐและยุโรป จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ด้วยยอดมูลค่าการค้าปี 2017 ที่ 2 แสน 2 หมื่นล้านดอลลาร์

จีนเข้าร่วมการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมมากกว่า 100 แห่งในทวีปแอฟริก และยังสนับสนุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางรถไฟ ทางด่วน และโรงไฟฟ้า สาธารณูปโภคที่จีนสร้างขึ้นช่วยพัฒนาแอฟริกาอย่างมาก ทางรถไฟที่จีนสร้างทำให้จีนขยายอิทธิพลไปได้ทั่วกาฬทวีป

ในด้านวัฒนธรรม มีการตั้งสถาบันขงจื่อประมาณ 50 แห่งในทวีปแอฟริกาเพื่อสอนภาษาจีนและเผยแพร่วัฒนธรรมจีน นักศึกษาแอฟริกาได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนในประเทศจีน ขณะเดียวกัน ผู้บริหารของเครือบริษัทใหญ่ๆของจีนก็หาประสบการณ์ด้วยการไปทำงานที่ทวีปแอฟริกาในระยะหนึ่ง

**** ตั้งฐานทัพนอกประเทศ ไม่แทรกแซงการเมือง ****

ในช่วงที่โจรสลัด #โซมาเลีย อาละวาด จีนเคยส่งเรือรบของจีนไปคุ้มครองเรือสินค้าถึงที่ พร้อมประกาศว่าจะรักษาความปลอดภัยเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญสำหรับจีน

เมื่อปีที่แล้ว กองทัพจีนตั้งฐานทัพที่ประเทศจิบูตี เป็นฐานทัพในต่างประเทศแห่งแรกของจีน จีนเปิดฐานทัพแห่งนี้โดยมุ่งหวังที่จะปกป้องผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคนี้

ความสำเร็จของจีนในทวีปแอฟริกามาจากวิธีการที่แตกต่างกับฝ่ายตะวันตก จีนปล่อยกู้อย่างสะดวกโดยไม่ตั้งเงื่อนไขหรือมาตรฐานที่รัดกุม ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายตะวันตกที่ตั้งเงื่อนไขให้บรรดาประเทศแอฟริกาปฏิบัติตาม

ขณะที่ #สหรัฐ ตัดความช่วยเหลือแอฟริกาลงเรื่อย ๆ และเหยียดเชื้อชาติต่อชาวแอฟริกา แต่จีนกลับให้เพิ่มขึ้น แถมยังไม่กำหนดกะเกณฑ์ว่า “ต้องเป็น #ประชาธิปไตย”

ถึงแม้ความช่วยเหลือทั้งต่าง ๆ จากจีนจะถูกวิจารณ์ว่าเป็น “กับดักหนี้” “กอบโกยทรัพยากร” “หาประโยชน์จากความขัดแย้ง” แต่นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนสวนกลับอย่างคมคายว่า “รองเท้าคู่ไหนที่ใส่สบาย ต้องถามคนที่ใส่จึงจะถูกต้อง”


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่