The Fast & The Furious กลายเป็นหนังแฟรนไชส์อันดับต้นๆ ของโลก ได้อย่างไร!?

The Fast & The Furious
กลายเป็นหนังแฟรนไชส์อันดับต้นๆ ของโลก ได้อย่างไร

คอลัมน์ Pop Teen โดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ kenshiro843@gmail.com

ไม่รู้ว่าในวันที่คุณผู้อ่านได้บทความนี้คนไทยจะมีโอกาสได้ดูFast&Furious 7 หรือชื่อเป็นทางการว่า Furious 7 แล้วหรือยัง

ผมขอไม่พูดถึงปัญหาระหว่างเสี่ยเจียงและ จา พนม แล้วกันนะครับ (บางคนแซวว่าหนังน่าจะชื่อว่า "Furious เจียง" มากกว่า "Furious เจ็ด")

แต่อยากจะเล่าให้ฟังถึงความสำเร็จที่ไม่น่าเชื่อของหนังแฟรนไชส์เรื่องนี้

ย้อนกลับไปในปี 2001 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ The Fast and The Furious ภาคแรกที่ได้เข้าฉาย ตอนนั้นหนังเรื่องนี้เป็นเพียงหนังนอกสายตาที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำเงิน เนื่องจากดารานำในขณะนั้นอย่าง Vin Diesel และ Paul Walker ค่อนข้างโนเนมมาก

หน้าหนังก็ดูเชยๆ และมีความเป็นหนังเกรดบี แถมเนื้อเรื่องอย่างตำรวจที่แฝงตัวในกลุ่มโจรก็เป็นพล็อตที่ถูกทำมาแล้วซ้ำนับไม่ถ้วน

แม้ว่าในแง่ของคุณภาพหนังจะโดนกลุ่มนักวิจารณ์สวดยับได้รับคะแนนจากRottenTomatoes เพียง 53 เปอร์เซ็นต์ และจาก IMDB เพียง 6.6/10

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้แล้ว กลับโดนใจคนดูทั่วโลก

หนังมีต้นทุนการสร้างเพียง 38 ล้านดอลลาร์ แต่ทำเงินทั่วโลกมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ จนมีกระแสเรียกร้องให้สร้างภาคต่อโดยด่วน

ผ่านไป 14 ปี The Fast and The Furious มีภาคต่อแล้ว 7 ภาค และน่าจะมีต่อไปเรื่อยๆ (แม้ว่านักแสดงนำอย่าง พอล วอล์กเกอร์ จะจากไปแล้วก็ตาม) ตอนนี้มันถูกยกย่องว่าเป็นหนังแฟรนไชส์อันดับต้นๆ ของโลก ทำเงินสูงสุดของยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ

โดยกวาดรายได้รวมกันทั้งหมด 6 ภาคมากกว่า 2,380 ล้านดอลลาร์!

ผมไม่ใช่แฟนของหนังเรื่องนี้ แต่ก็เคยดูอยู่บ้างตามช่องเคเบิลทีวี (มีใครไม่เคยดูเรื่องนี้บ้าง?)

ยอมรับครับว่าเป็นหนังที่ดูเพลินมาก หากเปิดมาเจอแล้วเผลอดูไปสัก 5 นาที ต้องมีได้ดูจนจบเรื่อง ลำพังแค่รถยนต์สวยๆ ฉากแอ๊กชั่นเว่อร์วังอลังการ และสาวเซ็กซี่ ก็ดึงดูดเราได้มากแล้ว

ผมคิดว่าความสำเร็จของ The Fast and The Furious นั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญหรือโชคช่วย แต่มีการวางแผนและคิดกันอย่างเป็นระบบ

ซึ่งหัวใจหลักๆ นั้นน่าจะมีด้วยกันหลายประการ


ปัจจัยแรก
พวกเขาเปลี่ยนจากหนังแข่งรถธรรมดาให้กลายเป็นหนังแอ๊กชั่นอาชญากรรม โดยแม้จะเริ่มต้นจากการเป็นหนังแข่งรถที่เน้นโชว์ความสวยงามและสมรรถนะของรถรุ่นเจ๋งๆ มากมาย แต่ถ้ายังฝืนทำหนังแข่งรถเหมือนเดิมต่อไป ก็มีแต่จะทำให้มันกลายเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะบ้ารถยนต์เหมือนกัน

ผู้สร้างจึงเลือกที่จะเปลี่ยนเนื้อหาให้มีความเป็นแอ๊กชั่นอาชญากรรมหรือโจรกรรมมากขึ้นในภาคหลังๆเนื่องจากสามารถกวาดผู้ชมได้กว้างกว่าเดิมโดยมีรถยนต์สวยๆ เป็นแค่องค์ประกอบ

นี่คือสิ่งที่ทำให้หนังแตกต่างจากหนังแข่งรถทั่วไป เช่น Initial D


ปัจจัยที่สอง
ผู้สร้างตั้งใจให้เป็นหนังบันเทิงแบบ Guilty Pleasure หรือถึงจะห่วยแต่คนก็รัก ไม่ต่างจากละครหลังข่าวของบ้านเรา

พวกเขาไม่ได้ต้องการทำหนังประเด็นลุ่มลึกหวังตุ๊กตาทองหรือหนังเน้นความสมจริงอะไรมากมาย

แต่ต้องการทำหนังสนุกๆในแบบที่นอนดูบนโซฟาอยู่บ้านกินพิซซ่ากับเบียร์ไปด้วยโดยไม่ต้องคิดอะไรมากแค่อยากให้คนดูลืมโลกข้างนอกชั่วคราว ได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ได้สะใจ จบแล้วก็จบไป

ความซื่อสัตย์ต่อแนวทางดังกล่าวทำให้หนังเต็มไปด้วยความบ้าระห่ำและความเว่อร์สุดขีดแบบไม่เกรงใจสื่อ


ปัจจัยที่สาม การไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา

แม้ว่าตัวหนังจะไม่ได้คมคายหรือให้แง่คิดอะไรมากนัก แต่เราก็พอจะเห็นความตั้งใจของผู้สร้างที่พัฒนาไม่หยุดนิ่ง ไม่ต้องการย่ำอยู่กับที่ หรือทำหนังแบบเดิมๆ ซ้ำซาก (แตกต่างจากหนังแฟรนไชส์อย่าง Die Hard ที่วนไปวนมา)

ยกตัวอย่างเช่น สไตล์ของหนัง จากภาคแรกที่มีความเป็น neo-Noir ขับรถแข่งใต้ดิน

ภาคสองก็มีความเป็นหนังตำรวจไล่ล่าผู้ร้าย

พอภาคสามมีการวางไดเร็กชั่นให้เป็นหนังทริลเลอร์/โจรกรรมระดับอินเตอร์เนชั่นแนล

ภาคสี่เป็นการนำตัวละครและสไตล์ของทั้งสามภาคแรกมาเขย่ารวมกัน(เขาใช้สโลแกนภาคนั้นว่า"let"sbringthe gang back together")

ภาคห้าเริ่มไปสู่หนังแบบผู้ก่อการร้าย/โจรกรรมเต็มรูปแบบ

ก่อนที่ภาคหกจะโยนสูตรหนังแข่งรถเดิมๆทิ้งไปและพยายามขยายขอบเขตสร้างหนังรูปแบบใหม่ๆ

นอกจากนี้เรายังเห็นถึงความทะเยอทะยานของผู้สร้าง ทั้งในเรื่องของทุนสร้าง สเกลงานสร้าง ฉากแอ๊กชั่น เหล่านักแสดงชื่อดังที่ตบเท้าเข้ามาสร้างสีสัน รวมถึงเส้นเรื่องที่โยงใยซับซ้อน มีการเชื่อมโยงเรื่องราวและตัวละครในแต่ละภาคเข้าด้วยกันจนสามารถสร้างจักรวาลของตัวเองได้ในระดับน้องๆ หนังซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Marvel เลยทีเดียว

Justin Lin ผู้กำกับหนังภาคสามถึงหกเคยกล่าวถึงจุดแข็งของหนังชุดนี้ว่า "ผมต้องการให้ตัวละครของผมเติบโต ผมไม่อยากให้พวกเขานั่งอยู่ที่เดิมแล้วพอเวลาผ่านไป 10 กว่าปีก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าอิสระและการเติบโตของตัวละครคือความลับของความสำเร็จที่แท้จริงของหนังแฟรนไชส์เรื่องนี้"


ปัจจัยที่สี่ หนังมีความหลากหลายทางเชื้อชาติของนักแสดงและเนื้อหาที่เน้นความเป็นครอบครัว

โดยทั่วไปแล้วตัวเอกในหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปมักเป็นฮีโร่แบบวันแมนโชว์ที่มีนักแสดงนำเป็นชายผิวขาวส่วนคนเชื้อชาติอื่นจะเป็นได้ก็เพียงตัวร้ายหรือตัวประกอบแต่ตัวละครทุกคนในกลุ่มของพระเอกในหนังชุดนี้กลับมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องและมีฉากที่ได้โชว์ความสามารถกันอย่างทั่วหน้า

นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทั้งในเรื่องเพศวัฒนธรรมเชื้อชาติโดยมีทั้งคนผิวขาว ผิวสี ละตินอเมริกา เอเชีย ซึ่งสตูดิโอได้ใช้จุดแข็งนี้ในการโหมโฆษณาเจาะตลาดผู้ชมกลุ่มดังกล่าว เช่น ในรายการทีวีของละตินอเมริกา จนมีผู้ชมกลุ่มดังกล่าวเข้ามาดูหนังแบบถล่มทลาย

การที่ตัวละครหลากหลายต้องจับมือกันทำภารกิจนั้นดูจะเข้ากันดีกับประเด็นที่หนังต้องการบอกมาตั้งแต่ภาคแรกนั่นคือ"มิตรภาพบนความแตกต่างและความเป็นครอบครัว"ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเอกพูดตอกย้ำในหนังอยู่เสมอ


ปัจจัยที่ห้า การใช้พลังของโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์

วิน ดีเซล ดารานำของหนังชุดนี้เป็นดาราที่มีผู้ติดตามแฟนเพจในเฟซบุ๊กมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ยอดไลก์มากกว่า 87 ล้านคน) แซงหน้าซูเปอร์สตาร์ที่โด่งดังกว่าเขาหลายคน ซึ่งความนิยมดังกล่าวเกิดจากการที่เขาเป็นคนโพสต์เฟซบุ๊กเองทุกครั้งโดยไม่เคยใช้ทีมงาน และสิ่งที่เขาโพสต์มักจะเป็นภาพส่วนตัวหรือข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งบอกให้แฟนเพจของเขารู้เป็นที่แรก

ทางยูนิเวอร์แซลสตูดิโอยังยึดกลยุทธ์การโปรโมตออนไลน์มาตลอดตั้งแต่ภาคแรกโดยหัวใจของกลยุทธ์คือการอาศัยแอ็กเคาต์ของนักแสดงในเรื่องช่วยกันแพร่กระจายข่าวสารเช่นTheRock ที่มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ 46 ล้านคน หรือ Ludacris ที่มียอดไลก์ในเฟซบุ๊ก 19 ล้านคน ทำให้หนังได้รับการโปรโมตไปสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด

ผลก็คือ เพจหนังอย่างเป็นทางการบนเฟซบุ๊กมียอดไลก์กว่า 57 ล้านคน ถือว่าเป็นเพจหนังที่มียอดไลก์มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

อำนาจของสื่อออนไลน์ที่มีอยู่ในมือทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับคนดูได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อไหมครับว่าตั้งแต่ที่หนังยังไม่ทันออกฉายก็มีแฟนๆกว่าสี่พันคนไปให้คะแนนในเว็บไซต์IMDB โดยได้เรตติ้งถึง 9.1! เรียกได้ว่าเป็นหนังที่มีแฟนคลับมากจริงๆ


ปัจจัยสุดท้าย การรับฟังฟีดแบ็กและเปิดโอกาสให้แฟนๆ มีส่วนร่วม

ในขณะที่หนังเรื่องอื่นๆ มักปิดบังข้อมูลการสร้างไม่ให้สาธารณะรู้ แต่หนังชุดนี้กลับทำตรงข้าม คือ มีการเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้ชมทราบเป็นระยะ

สิ่งที่ผู้สร้างหนังชุดนี้ปฏิบัติมาตลอดคือการนำเสียงวิจารณ์และข้อเสนอแนะจากเหล่าแฟนๆไปปฏิบัติตามให้เห็นเป็นรูปธรรม

เช่นชื่อหนังในภาคหลังๆก็เปิดให้โหวตกันบนโลกออนไลน์

ตัวละครตำรวจที่ตอนแรกผู้สร้างหมายตา Tommy Lee Jones ไว้ก็เปลี่ยนมาเป็น The Rock ในภายหลังเนื่องจากแฟนๆ เรียกร้อง

รวมไปถึงการนำเอาตัวละคร Letty (รับบทโดย Michelle Rodriguez) กลับมาอีกครั้งทั้งที่เธอตายไปแล้วในภาค 4

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมกับหนังอย่างมาก

ทั้งหมดนี้ทำให้TheFastandThe Furious หนังที่หลายคนมองว่าขายแค่ฉากแอ๊กชั่นและรถสวยๆ กลายเป็นหนังแฟรนไชส์ระดับโลกที่ยืนอยู่แถวหน้าเคียงคู่กับหนังแฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่อย่าง The Lord of the Rings, Harry Potter, Star Trek, Star Wars, James Bond, X-Men หรือ Batman ได้อย่างสบายๆ ไม่เคอะเขิน เผลอๆ อาจจะมีแฟนคลับมากกว่าด้วย ซึ่งเราเห็นได้ชัดเจนมากตอนที่ Paul Walker เสียชีวิตแล้วมีแฟนๆ แสดงความเสียใจกันล้นหลามราวกับเป็นญาติมิตร

แฟนคลับหลายล้านคนรักหนังเรื่องนี้รักนักแสดงเรื่องนี้รักรถในเรื่องนี้รักทัศนคติของหนังเรื่องนี้รักเหมือนกับเป็นครอบครัวของตัวเองที่ไม่ว่าจะมีอีกกี่ภาคก็จะยังคงติดตามต่อไป

ไม่ต่างจากคำพูดที่DominicTorettoตัวละครเอกในหนังเคยพูดไว้ว่า

"You don"t turn your back on family, even when they do."

"เราจะไม่หันหลังให้ครอบครัว แม้ว่าพวกเขาจะทำก็ตาม"


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ 3 เม.ย. 2558
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่