นักการเมืองยุโรป-อเมริกา ขานรับ “การเจริญสติ” เป็นวาระแห่งชาติ

ในยุโรปและอเมริกา มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ผู้คนมีรายได้ต่อหัวสูง มีคุณภาพชีวิตอยู่ในขั้นดี ทั้งความเป็นอยู่ การศึกษา การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ได้รับการพัฒนาขึ้นจนถึงขีดสุด


       
       โลกตะวันตกนั้นเป็นโลกวัตถุนิยม บริโภคนิยม เจริญแต่ด้านวัตถุ ส่วนจิตใจเสื่อมทรามลง สังคมถูกผลักดันด้วยความโลภของผู้คน จนบดบังสติปัญญา ทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกาจึงมีปัญหามาก ยิ่งพัฒนาเร็วเท่าไหร่ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดวิกฤติ เช่นในปัจจุบัน
       
       ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ในปี 2008 ปัญหาในวงการศึกษา ความรุนแรงในโรงเรียน ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาโรคเรื้อรังที่เป็นกันมาก วิกฤติโลกร้อน วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน น้ำ อาหาร ปัญหาเหล่านี้มีผลกระทบไปทั่วโลกอย่างรุนแรง
       
       รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่การขาดศีลธรรมพื้นฐาน ขาดจริยธรรมในวิชาชีพ ขาดธรรมาภิบาลในการทำงาน (Joseph E. Stiglitz, Free Fall, กรุงเทพฯ, MGR 360 ํ, 2554 ขุนทอง ลอเสรีวานิช แปล)
       
       ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้คนทั้งหลายมีสุขภาพจิตเสื่อมทรามลง ในสหรัฐอเมริกา ค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม โรคมะเร็ง โรคอ้วน คิดเป็นร้อยละ 75 ของงบประมาณสุขภาพของประเทศ
       
       ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป โดยรัฐบาลไม่มีการปฏิรูประบบสุขภาพ คาดว่าระบบการเงินของวงการสาธารณสุขของสหรัฐฯจะล้มละลายลงในอนาคตอันใกล้นี้
       
       โรงพยาบาลต่างๆต้องปิดตัวลง เช่นเดียวกับเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ที่ในขณะนี้อยู่ในสภาพล้มละลาย อุตสาหกรรมรถยนต์อันยิ่งใหญ่ของอเมริกาล่มสลาย โรงงานของฟอร์ด, ไครส์เลอร์, จีเอ็ม ต่างก็ปิดตัวลง ส่งผลให้ทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้าง คนงานย้ายออกไปหางานทำที่อื่น อสังหาริมทรัพย์ถูกทิ้งร้าง ไม่มีราคา ประชากรจาก 1.8 ล้านคน เหลือเพียง7-8 แสนคน บ้านเมืองเต็มไปด้วยอาชญากรรม ยาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ (สามารถเข้าไปดูสภาพบ้านเมืองของดีทรอยต์ได้ใน www.youtube.com/How the American dream went wrong in Detroit และเรื่อง How Detroit became America's warzone)
       
       ในประเทศอังกฤษ ประชากร 1ใน 4 คน จะมีปัญหาสุขภาพจิตช่วงใดช่วงหนึ่งใน 1 ปี ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเครียด และโรคซึมเศร้าผสมกัน เขาพบว่า มีคนไข้ซึ่งมาตรวจที่โรงพยาบาลร้อยละ 9 มีอาการซึ่งสามารถเข้าเกณฑ์ที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเหล่านี้ได้ และร้อยละ 8-12 ของประชากร จะมีอาการโรคซึมเศร้าในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี
       
       การดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ แพทย์จะใช้ยาและการรักษาโดยจิตบำบัด ซึ่งก็ได้ผลดีพอควร แต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของยา ค่ายาแพง (www.mentalhealth.org.uk) บางรายก็มีอาการกลับเป็นซ้ำอีก ไม่หายขาด
       
       ในปี 1991 แพทย์จ่ายใบสั่งยาต้านอาการซึมเศร้า 7 ล้านใบ ต่อมาในปี 2011จ่ายใบสั่งยาเพิ่มขึ้นเป็น 49 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 500 แสดงว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต้านซึมเศร้า มีจำนวนมากขึ้นทุกปี
       
       ทั่วโลกมีคนไข้โรคซึมเศร้าราว 450 ล้านคน และองค์การอนามัยโลกได้พยากรณ์ไว้ว่า ในปี 2030 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจด้านสุขภาพ มากกว่าโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
       
       ดังนั้น ปัญหาสุขภาพจิตของคนในโลกนี้ กำลังเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็กำลังคิดแก้ไขกันอยู่ในขณะนี้
       
       ในประเทศอังกฤษ การเจริญสติได้รับการนำมาใช้รักษาและป้องกันโรคเหล่านี้ เพราะเป็นวิธีการที่ได้ผลดี ไม่ต้องใช้ยา ค่าใช้จ่ายต่ำมาก


       
       โดย ศ.มาร์ค วิเลี่ยม (Mark Williams) จิตแพทย์แห่งศูนย์การเจริญสติ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้ศึกษาวิจัยพบว่า การเจริญสติได้ผลดีในการบำบัดโรคซึมเศร้าที่เริ่มเป็นครั้งแรก และการเจริญสติช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ถึงร้อยละ 50 (www.oxfordmindfulness.org)
       
       ดร.รีเบคกา เครน (Rebecca crane) ผู้อำนวยการศูนย์การเจริญสติ มหาวิทยาลัยแบงเกอร์ ได้ใช้การเจริญสติบำบัดในโรคเครียดและโรคซึมเศร้าอย่างได้ผลดี และจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับเจริญสติบำบัด ในหลักสูตรปริญญาโทด้านจิตวิทยา (www.mindfulnessworks.com/Rebeccacrane1.php)
       
       ศ.วิลแลม ไคก็น (Willem kuyken) แห่งศูนย์การเจริญสติ มหาวิทยาลัยเอ็กเซทเตอร์ (www.exeter-mindfulness-network.org) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิก มีความเชี่ยวชาญในการใช้การเจริญสติบำบัดในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยส่วนตัวท่านมีประสบการณ์ในการฝึกการเจริญสติอย่างยาวนาน เข้าฝึกวิปัสสนาทุกปี ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา ณ สถานปฏิบัติธรรม Gaia House กรุงลอนดอน
       
       ทั้งสามท่านนี้ได้ร่วมกับสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ จัดโครงการศึกษาถึงประโยชน์ของการเจริญสติ เพื่อนำมาใช้ทำเป็นนโยบายสาธารณะ ในการนำการเจริญสติไปใช้ในด้านการแพทย์ การศึกษา ในกระบวนการยุติธรรมด้านอาญา และฝึกการเจริญสติให้กับสมาชิกรัฐสภาทุกพรรค (All Party Parliament Group หรือ APPG)
       
       โดยเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2014 ใช้เวลาศึกษา 9 เดือน เพื่อให้สมาชิกทุกพรรคนำมาทำเป็นนโยบายสาธารณะ ในการแก้ปัญหาของคนในชาติร่วมกัน คือเป็นวาระแห่งชาตินั่นเอง ไม่แยกว่าเป็นนโยบายของพรรคไหน โดยมีสมาชิกรัฐสภา 3 ท่านเป็นผู้ประสานงาน คือ คริส รูแอน (Chris Ruane) จากพรรคแรงงาน, เทรซี่ ครูช (Tracey Crouch) จากพรรคอนุรักษ์นิยม และ ลอรี่ เบิร์ท (Lorely Burt) จากพรรคเสรีนิยม
       
       ในรัฐสภาอังกฤษ มีสมาชิกกลุ่มหนึ่ง มากกว่า 95 คน ได้รวมกลุ่มกันฝึกการเจริญสติเป็นประจำ ในจำนวนนี้มีอดีตรัฐมนตรี ลอร์ด ฮาเวิร์ธ (Lord Haworth) และ จิม ฟิซพาทริค (Jim Fitzpatrick) มาร่วมด้วย
       
       ลอร์ด แอนดริว สโตน ( Lord Andrew Stone) ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ กล่าวในการประชุมว่า
       
       “เมื่อเร็วๆนี้ ผมต้องไปพบกับผู้นำทางทหารของอียิปต์ ผมไม่รู้ว่าจะเสนอให้แก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศนั้นอย่างไร ผมรู้สึกเครียดมาก แต่การเจริญสติก็ช่วยให้ผมรู้สึกสงบนิ่ง และมีจิตใจที่เอื้ออาทรต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางการเมืองได้”
       
       คริส รูแอน (Chris Ruane) สมาชิกรัฐสภาพรรคแรงงาน ผู้ประสานงานโครงการ ซึ่งเป็นผู้นำการเจริญสติมาฝึกให้สมาชิกในรัฐสภา กล่าวว่า “การเจริญสติอยู่กับลมหายใจทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน มันช่วยให้เราลดความเครียดได้ ในเวลาที่เราทำงานในรัฐสภา ซึ่งต้องโต้เถียงกันอย่างหนัก การเจริญสติชั่วขณะหนึ่งช่วยให้เราผ่อนคลายลงได้มาก”


       
       ก่อนที่คริสจะมาเล่นการเมือง เขาเป็นครูมา 15 ปี ที่โรงเรียนระดับปฐมศึกษา ในสถานการณ์ที่ครูเครียดกันมากนั้น อาจารย์ใหญ่จะให้ฝึกสมาธิ ซึ่งก็ช่วยลดความเครียดลงได้มาก และนั่นเป็นประสบการณ์ของเขาตั้งแต่ปี 1997ซึ่งคริสบอกว่า
       
       ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นเป็นเรื่องใหญ่ เราพบว่า คนวัย 16-25 ปี มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตถึงร้อยละ 32 การที่เขาฝึกการเจริญสติ ช่วยให้เขามีสุขภาพจิตที่ดี
       
       สำหรับคนที่มีอาการซึมเศร้า การเจริญสติเป็นประจำช่วยให้หายได้ โดยไม่ต้องกินยา และช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก แถมยังช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐลงได้มากด้วย (สามารถเข้าไปฟังคำบรรยายของคริสได้ใน www.youtube.com/mindfulness in political life-Chris Ruane M.P. at awake in the world.)
       
       เทรซี่ ครูช (Tracey Crouch) สมาชิกรัฐสภา พรรคอนุรักษ์นิยม กล่าวว่า การเจริญสติช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตของเธอ เพราะปกติเธอเป็นโรคซึมเศร้าต้องกินยาเป็นประจำ การเจริญสติทำให้เธอหยุดยาได้ และเป็นวิธีอันทรงพลังที่จะหยุดความคิดในด้านลบออกไป เมื่อเรากำหนดรู้ได้ทัน รวมทั้งการเจริญสติทำให้เธออภิปรายในสภาได้ดีขึ้นด้วย
       
       ปัจจุบันนี้ มีการจัดอบรมการเจริญสติในอังกฤษราว 800 หลักสูตรต่อปีทั่วประเทศ มีผู้คนผ่านการฝึกอบรมแล้วประมาณ 50,000 คน เวลานี้คนอังกฤษเริ่มรู้ถึงคุณประโยชน์ของการเจริญสติ เนื่องจากทำให้มีสุขภาพจิตดี ในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า และถ้าฝึกเป็นประจำ จะทำให้ไม่ต้องกินยา เพราะกินยาแล้วมีอาการง่วงซึม มีปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันมาก
       
       ดังนั้น การเจริญสติจึงเริ่มฮิตในหมู่คนอังกฤษ หนังสือที่แนะนำเกี่ยวกับการเจริญสติขายได้สัปดาห์ละ 2,000 เล่ม ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศในด้านบำบัดโรค กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ แนะนำคนไข้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังให้ฝึกการเจริญสติเป็นประจำ เพื่อไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีก และการเจริญสติช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคลงได้มาก
       
       ในอเมริกาได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างกว้างขวางมาก่อนอังกฤษ โดยพบว่า การเจริญสติมีประโยชน์ในบุคลากรด้านต่างๆทุกด้านที่มีปัญหาทางกายและจิต
       
       ดังนั้น การเจริญสติในปัจจุบัน จึงเป็นกระแสหลักของโลกในการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการแพทย์ วงการศึกษา วงการการเมือง ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม
       
       ผู้นำทางปัญญา นักวิชาการต่างๆของอเมริกัน เริ่มตระหนักแล้วว่า ทางเดียวที่จะช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากภาวะวิกฤติต่างๆได้ คือ การพัฒนาคุณภาพประชากรให้เข้มแข็งด้วยการเจริญสติ
       
       เวลานี้รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเร่งระดมให้คนฝึกการเจริญสติให้ทั่วถึงทั้งประเทศ โดยจัดสรรงบประมาณให้สถาบันหลักต่างๆ จัดการเรียนการสอน ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย บริษัทห้างร้านต่างๆ กองทัพ เรือนจำ สถานปฏิบัติธรรมหลายร้อยแห่ง มูลนิธิต่างๆ และในองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน
       
       นิตยสารไทม์ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ให้ความสำคัญโดยลงภาพปกเป็นเรื่องการปฏิวัติสังคมอเมริกันด้วยการเจริญสติ หรือ Mindful Revolution

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
       
       ทิม ไรอัน (Tim Ryan) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งฝึกการเจริญสติอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา เห็นประโยชน์ของการเจริญสติอย่างมาก


       
       ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการว่าด้วยคุณภาพชีวิตของรัฐสภา เขาได้อภิปรายให้เพื่อนสมาชิกเห็นถึงประโยชน์ของการฝึกการเจริญสติในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และได้แปลญัตติจัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันหลักๆของชาติ เพื่อนำไปใช้ในการจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเจริญสติ ซึ่งเขาเห็นว่า เป็นการสร้างชาติโดยสันติวิธี ทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพจิตดี สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองในการบรรลุฝันของอเมริกันได้
       
       โดยเขาเขียนเผยแพร่แนวคิดนี้ไว้ในหนังสือ Mindful Nation ท่านผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องนี้เมื่อได้ดูภาพยนตร์สารคดี

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ทิม ไรอัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แห่งรัฐโอไฮโอ กรรมาธิการพัฒนาคุณภาพชีวิตของอเมริกา

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
      
ที่มา : บทความจาก นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ
นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558
www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9580000024717
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่