+ สรุปสาระสำคัญของการแก้กฎหมาย เรื่องค้ำประกัน และ จำนอง +

แก้ ม.681 บอกว่าหากจะให้ค้ำประกันหนี้ในอนาคตก็ทำได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ด้วยว่าเป็นลักษณะหนี้ประเภทใด ในเรื่องใด ไม่ใช่ครอบจักรวาลหรือไม่ได้ระบุไว้เลย การค้ำประกันในลักษณะนี้ส่วนใหญ่ใช้กับค้ำประกันบุคคลเข้าทำงาน และบัญชีเดินสะพัด

เพิ่ม ม.681/1 คือ ข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะลูกหนี้ร่วม... อันนี้ตกเป็นโมฆะ คือใช้ไม่ได้เลยนะ (ผู้ค้ำหลุดพ้นเลย)

เพิ่ม ม.685/1 คือ ข้อตกลงที่แตกต่างไปจาก ม.681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และ ม.694 ม.698 ม.699 เป็นโมฆะ
ดู ม.681 ที่อธิบายไปแล้ว

แก้ ม.694 คือ ผู้ค้ำฯยกข้อต่อสู้ของตนเองหรือของลูกหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้ไปตกลงกันว่าผู้ค้ำฯยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ไม่ได้ อันนี้คือตกเป็นโมฆะนั่นเอง

แก้ ม.698 คือ ผู้ค้ำฯหลุดพ้นเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับไปไม่ว่าเหตุใดๆ แต่ถ้าไปตกลงว่าหนี้ของลูกหนี้ระงับ แต่ของผู้ค้ำฯไม่ระงับ อันนี้ใช้บังคับไม่ได้จ้า

แก้ ม.699 บอกว่าการค้ำฯหนี้ที่ต่อเนื่องกันไปหลายคราวไม่จำกัดนั้น ผู้ค้ำจะเลิกเมื่อใดก็ได้
แต่ถ้าไปตกลงว่าผู้ค้ำฯบอกเลิกไม่ได้ หรือ รับผิดไปตลอดเนี้ย ข้อตกลงนี้ใช้บังคับไม่ได้เลย
ซึ่งเมื่อก่อนบังคับกันได้ (ส่วนใหญ่เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของธนาคาร และ เกี่ยวกับค้ำฯคนเข้าทำงาน)

แก้ ม.686 คือต่อไปนี้ลูกหนี้ผิดนัด จะฟ้องผู้ค้ำประกันต่อศาลทันทีไม่ได้แล้ว ต้องมีหนังสือส่งไปทวงไปยังผู้ค้ำฯก่อน ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากไม่ส่งหนังสือไป หรือส่งแต่ว่าส่งเกินกว่า 60 วันไปแล้ว ผู้ค้ำฯไม่ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ค่าสินไหมต่างๆ ค่าโน้นค่านี่ ค่าทวงถาม ค่าอื่นๆทั้งหมด แต่ว่าผู้ค้ำฯก็ยังต้องรับผิดในต้นเงินของลูกหนี้อยู่นะ ไม่ใช่ว่าผู้ค้ำฯหลุดพ้นไปทั้งหมดเลย และผู้ค้ำก็ยังมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ได้ตาม ม.693 อยู่เหมือนเดิม

แก้ ม.691 คือ ถ้าเจ้าหนี้ไปลดหนี้ให้ลูกหนี้ ต่อมาลูกหนี้ชำระไม่ครบแล้วผู้ค้ำฯไปชำระจนครบ หรือ ลูกหนี้ไม่ชำระเลยแล้วผู้ค้ำฯไปชำระให้จนครบ แม้ว่าจะล่วงเลยกำหนดชำระแล้วก็ตาม ผู้ค้ำฯหลุดพ้นจากการค้ำประกัน
วรรคสองบอกว่า ถ้ามีข้อตกที่เพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำฯ ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

แก้ ม.700 (อันนี้สำคัญมาก) คือ ถ้ามีกำหนดเวลาชำระหนี้เอาไว้แน่นอนแล้ว หากเจ้าหนี้ไปผ่อนเวลากับลูกหนี้ต่อไปอีก ผู้ค้ำหลุดพ้นเลย... ยกเว้นว่าผู้ค้ำไปตกลงด้วยในเรื่องการผ่อนเวลา
แต่ว่า วรรคสองบอกต่อมาอีกว่า การที่ผู้ค้ำฯตกลงด้วยในเรื่องผ่อนเวลานั้น ต้องมาตกลงกันภายหลัง ไม่ใช่ตกลงกันก่อนที่หนี้ถึงกำหนด ซึ่งก่อนแก้กฎหมายเจ้าหนี้ทำสัญญาตกลงกันก่อนได้ แต่แก้กฎหมายแล้วทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว หากจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำฯด้วย (แล้วผู้ค้ำฯโง่ คนไหนจะยอมล่ะ..จริงมั้ย)

เพิ่ม ม.714/1 คือบอกว่า ถ้าไปตกลงให้แตกต่างกับ ม.728 ,729, 735 อันนี้เป็นโมฆะ (ดูรายละเอียดถัดไป)

แก้ ม.727 คือเอามาบังคับกับ ม.691 ,697 ,700 ,701 ด้วย

เพิ่ม ม.727/1 (อันนี้สำคัญมากเป็นเรื่องใหม่) คือ หากเราเอาทรัพย์มาค้ำประกันโดยการจำนองแก่เจ้าหนี้เพื่อค้ำประกันบุคคลอื่น ถ้ามีการบังคับจำนองหรือเอาจำนองหลุด เงินยังขาดเท่าใด เราไม่ต้องรับผิดเลย
ซึ่งเมื่อก่อน เราจะต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่ เช่น ติดหนี้ 1 ล้าน ยึดบ้านเราไปขายได้ 8 แสน เรายังรับผิดอีก 2 แสน แต่ต่อจากนี้ไป เราไม่ต้องรับผิดอีก 2 แสนเลย
และที่สำคัญกฎหมายระบุชัดลงไปว่า หากไประบุให้แตกต่างไปจากวรรคแรก (คือระบุให้รับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่อีกจนครบ) ข้อตกลงนี้เป็นโมฆะ คือ กฎหมายปิดช่องแบบสนิมฝาโลงเลยครับ ซึ่งเมื่อก่อนผู้จำนองซวยโดนข้อยกเว้นมาเป็นข้อสัญญาให้รับผิดตลอด แต่จากนี้ไปผู้จำนอง นอนตายตาหลับครับ อย่างมากก็ถูกยึดทรัพย์ที่จำนองไป แต่ไม่ต้องรับผิดอีกแล้ว

แก้ ม.728 คือ เมื่อก่อนบอกว่าต้องส่งหนังสือบังคับจำนองกำหนดเวลาพอสมควร แต่แก้ใหม่เป็น ไม่น้อยกว่า 60 วัน
วรรคสองบอกว่า แต่ถ้ามีผู้อื่นมาจำนองให้เรา เจ้าหนี้ต้องแจ้งไปยังผู้จำนองด้วยภายใน 15 วัน นับจากส่งหนังสือให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าเจ้าหนี้ไม่แจ้ง หรือเกินกำหนดแล้ว ผู้จำนองหลุดพ้นดอกเบี้ย ค่าสินไหมต่างๆ นับจากว้นที่พ้นจากระยะเวลา 15 วัน คือถ้าให้เข้าใจง่ายๆคือ ไม่แจ้งหรือแจ้งเกินกำหนด หลังจากพ้น 15 วันนับจากลูกหนี้ได้หนังสือตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย ค่าอื่นๆอีกเลย

แก้ ม.729 ถ้าจะเอาจำนองหลุดต้องได้ความว่า
ลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ย 5 ปี และ ราคาทรัพย์สินที่จำนองนั้นมีราคาน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ

เพิ่ม ม.729/1 (อันนี้เพิ่มความสะดวกโดยไม่ต้องฟ้องศาล)
กฎหมายให้สิทธิผู้จำนองมีหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้เอาทรัพย์ของตนเองที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาดได้เลยโดยไม่ต้องฟ้องศาล โดยที่ผู้รับจำนองเมื่อได้รับหลังสือแล้ว ต้องดำเนินการขายทอดตลาดภายใน 1 ปีนับจากวันที่ได้รับหนังสือ
วรรคสองบอกว่า ถ้าผู้รับจำนองไม่ดำเนินการขายทอดตลาดภายใน 1 ปี ตามวรรคหนึ่ง ผู้จำนองหลุดพ้นในเรื่องดอกเบี้ย ค่าสินไหม และค่าอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลัง 1 ปีไปแล้ว
ในวรรคท้ายยังกำหนดลงไปให้ชัดอีกว่า ถ้าเป็นกรณีที่ผู้จำนองไม่ใช่ลูกหนี้ แต่เอาทรัพย์มาจำนองค้ำประกันบุคคลอื่น ตาม ม.727/1 ก็จะไปเรียกเก็บในส่วนที่ยังขาดกับผู้จำนองไม่ได้เลย

แก้ ม.735 การบังคับจำนองกับผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนอง ก็ต้องบอกล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 60 วันด้วย

แก้ ม.737 ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ผู้รับโอนต้องไถ่ภายใน 60 วัน (แต่ไม่ยักจะบอกว่า ถ้าไม่ไถ่ภายใน 60 วันอะไรจะเกิดขึ้น...)

แก้ ม.744 คือกำหนดชัดลงไปว่า จำนองระงับด้วยเหตุใดบ้างนั่นเอง

บทเฉพาะกาล
ไม่กระทบกับสัญญาที่ทำไว้ก่อนแก้กฎหมายนี้
หากลูกหนี้ผิดนัด ก็ต้องเป็นไปตาม ม.686 ที่แก้ใหม่
ถ้าเจ้าหนี้ได้กระทำการใดๆก่อนแก้กฎหมายนี้ เช่น ลดจำนวนหนี้ ลดดอกเบี้ย ค่าสินไหม ค่าติดพันอื่นๆ ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น ตาม ม.691 ที่แก้ใหม่นี้ (ย้อนไปดูมาตรา 691 ครับ)

หลักๆก็มีเพียงเท่านี้ครับ


ปล.ท่านใดที่เป็นนักกฎหมายที่มีความเห็นเพิ่มเติม หรือ จะอธิบายหลักกฎหมายในเรื่องนี้เพิ่มเติม เชิญเพิ่มเติมได้เลยครับ
จะได้ครบถ้วนสมบูรณ์กับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ หรือ เข้าใจไม่ท่องแท้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่