[CR] ทริปปั่นจักรยานตะลุยอังกอร์ ตอนที่ 3: ป่าฝนแห่งเมืองพระนคร

ตอนก่อนหน้าติดตามได้ตามลิ๊งค์ครับ
ทริปปั่นจักรยานตะลุยอังกอร์ ตอนที่ 1: รถทัวร์วิ่งตรง หมอชิต - เสียมราฐ
http://ppantip.com/topic/33294051
ทริปปั่นจักรยานตะลุยอังกอร์ ตอนที่ 2: มหัศจรรย์มหานครโบราณ
http://ppantip.com/topic/33297856


วันนี้เตรียมความพร้อมลุยอังกอร์ด้วยจักรยานอีกวัน แต่ต้องแปลกไปกว่าที่เคย ลืมแผนที่ท่องเที่ยวอังกอร์ไปก่อนได้เลย เพราะเราจะลุยแทร็ค ลุยป่าฝน ไต่กำแพงหินของเมืองเก่าของนครธม และชมปราสาทหินบนเส้นทางวงรอบใหญ่ (Le Grand Circuit)

วันนี้ผมไม่ค่อยได้ถ่ายภาพ เพราะปั่นในป่า มือไม่ว่าง ถ่ายแต่วีดีโอมาด้วยกล้องติดหมวกมาแทนครับ

วีดีโอบอกเล่าเรื่องราวทั้งทริปนี้ครับ (HD)
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เซ็ตจักรยาน เตรียมน้ำดื่มแล้วก็ลุยกันเลยครับ

ตั้งแต่ออกจากโรงแรม ก็เลี่ยงถนนใหญ่ ลัดเลาะเข้าตรอกซอยต่างๆ ในเมือง จนกระทั่งภาพความเป็นสังคมเมืองก็ค่อยๆ หายไป กลายเป็นพื้นที่ของสังคมชนบทอย่างรวดเร็ว ภาพของบ้านไม้ดั้งเดิมแบบชนพื้นเมืองเริ่มปรากฏอยู่ตลอดสองข้างทางของถนนลูกรังหยาบๆ ปนหินและทราย จักรยานล้อเล็กๆ ปั่นเส้นทางนี้ไม่ง่ายแน่นอนครับ สมาชิกกลุ่มบางท่านจึงทุลักทุเลบ้างเล็กน้อย  

จากหมู่บ้านสุดท้ายในชานเมืองของเสียมเรียบ เส้นทางแคบลงจนเหลือทางดินเลนเดียวนำทางเข้าป่าทันที เส้นทาง Single track ในป่ามีอากาศเย็นและชื้นขึ้น และไม่โดนแดด ลุยลัดเลาะกันได้เต็มที่เลยครับ เตรียมแว่นที่เลนส์ไม่มืดนักไว้ก็ดีครับ แสงส่องในป่าน้อย แต่ควรใส่แว่นเพื่อป้องกันกิ่งไม้ หนามเกี่ยวโดนดวงตานะครับ


ปั่นลุยเพลินๆ ไม่นาน ออกมาเจอคูน้ำขนาดใหญ่ เหมือนที่เจอเมื่อวาน คูน้ำที่ล้อมรอบนครวัดนั่นเอง ได้มามองจากมุมที่ไร้นักท่องเที่ยวแล้วยิ่งสวยงาม ทีนี้ เราปั่นรอบคูน้ำกันต่อเลยครับ ฝั่งนึงเป็นป่า อีกฝั่งเป็นคูน้ำ


ต่อจากเส้นทางรอบคูน้ำ ตัดเข้าป่าอีกนิด แล้วมาออกหน้าประตูทิศใต้ของนครธมเลย ถึงจะอากาศค่อนข้างเย็นและไม่ได้ปั่นกลางแดดแต่ก็ได้เหงื่อชุ่มกันไปตามๆ กัน

แวะทานน้ำมะพร้าวเติมเต็มพลังงานกันสักหน่อย แล้วปั่นลอดประตูทิศใต้นครธม ทางดียวกับเมื่อวานนี้ล่ะครับ แต่หลังจากลอดประตูเข้ามาแล้ว เราไม่ไปตามถนนที่จะพาไปเจอปราสาทบายน แต่เราจะปีนทางดินเข้าป่า ไต่กำแพงเมืองนครธมกันเลย

กำแพงเมืองของนครธมขนาดสูงใหญ่ที่เคยใช้ป้องกันข้าศึกจากเมืองอื่น ปัจจุบันรกครื้มไปด้วยต้นไม้ รากไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุม กลายเป็นป่าปนกำแพงหินที่น่าทึ่ง มองลึกลงไปจากกำแพงฝั่งซ้าย จะมองเห็นคูน้ำที่ล้อมรอบเมืองไว้ เส้นทางสวยงาม แปลกตาและยอดเยี่ยมมากครับ

พื้นที่ของนครธมใหญ่กว่านครวัดมาก ปั่น 1 รอบจะใช้เวลาพอสมควร เราจะปั่นกันจากกำแพงทิศใต้ ไปจนถึงกำแพงทิศเหนือ นั่นคือครึ่งรอบเมืองโบราณแห่งนี้กันเลยทีเดียว

ปั่นมาจนถึงประตูตะวันออกของนครธม หน้าตาไม่ต่างจากกำแพงทิศใต้ คือประตูเมืองมีใบหน้ายิ้มเลศนัยรอต้อนรับ สะพานข้ามคูเมืองที่มีภาพแกะสลักลอยตัว แต่ความสมบูรณ์ของงานก่อสร้างน้อยกว่าทางทิศใต้ เราอยู่กันบนกำแพง จะปั่นข้ามใบหน้าบนซุ้มประตูเมืองไม่ได้นะครับ ต้องปั่นลงมาจากกำแพงเมืองก่อนแล้วค่อยขึ้นไปต่ออีกฝั่ง แล้วก็วิ่งบนกำแพงเมืองต่อไป จนกระทั่งถึงประตูทิศเหนือ

บนกำแพงเมืองนครธม ตรงจุดซุ้มประตูตะวันออก

ดิสเบรคคดเลย

ลงมาจากกำแพงกันอีกรอบที่ฝั่งเหนือ ครึ่งวันพอดี หาอาหารเที่ยงทานกันให้อิ่มอร่อยกันดีกว่าครับ มีซุ้มอาหารอยู่ใกล้ๆ ประตูทิศเหนือ อาหารค่อนข้างหลากหลายไม่เบาที่ซุ้มนี้

ประตูเมืองนครธมทิศเหนือ


ทานอาหารเสร็จ ลอดประตูทิศเหนือแล้วปั่นบนถนนทางเรียบกันบ้างให้หายเหนื่อยจากการปั่นทางดินมาทั้งวัน ตามทางมาไม่ไกลก็จะเจอปราสาทพระขรรค์ อีกหนึ่งปราสาทที่น่าทึ่งและลืมไม่ลง ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชมอย่างถึงที่สุด

ปราสาทพระขรรค์เป็นกลุ่มปราสาทที่มีการก่อสร้างหลากหลายรูปแบบ ต้นไม้และรากไม้ขนาดมหึมาขึ้นปกคลุมกลมกลืนไปกับตัวปราสาท มีบรรยากาศร่มรื่นท่ามกลางกองหินที่หล่นกระจัดกระจาย ให้ความรู้สึกในแบบนักสำรวจผจญภัยยุคโบราณกันเลยทีเดียวครับ




ปราสาทพระขรรค์ตั้งอยู่ในเส้นทางวงรอบใหญ่ของเมืองพระนคร ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง ปราสาทหลังหนึ่งสร้างด้วยเสาหินทรายกลมขนาดใหญ่รับน้ำหนักโครงสร้างและคาน คล้ายสิ่งก่อสร้างในแบบโรมัน ที่บานประตูแต่ละปราสาท มีรูปสลักอสูรเป็นคู่ๆ ยืนถือกระบองเสมือนคอยพิทักษ์ดูแลศาสนสถานแห่งนี้ ภาพสลักนูนต่ำจำนวนมากตามผนังหรือเสาภายใต้ซุ้มเป็นภาพฤๅษีกำลังนั่งบำเพ็ญ พรตในท่า “โยคาสนะ” นั่งชันเข่าไขว้เท้า

จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ยังกล่าวถึงการสร้าง “ธรรมศาลา” (ที่พักคนเดินทาง) และ “อโรคยศาล” (โรงพยาบาล) ตามเส้นทางจากนครธมไปยังเมืองต่าง ๆ รอบราชอาณาจักร และจารึกยังกล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ เพื่อประดิษฐานยังหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของปราสาทต่างๆ

ในเมื่อเป็นที่พักคนเดินทาง เราก็จะพักกันสักหน่อยที่นี่ ใช้เวลากับที่นี่นานพอสมควรเลยครับ เพราะมีอะไรให้ดูมากมาย และมุมถ่ายรูปเยี่ยมๆ ที่ไม่ต้องแย่งกันถ่าย เพราะนักท่องเที่ยวที่มาถึงวงรอบใหญ่มีน้อยกว่าบนเส้นทางรอบเล็กมาก




วันของเราไม่จบเท่านี้แน่นอน ไปต่อกันอีกหลายปราสาท บนเส้นทางวงรอบใหญ่ แต่ละปราสาทหินจะอยู่ห่างกันมากกว่าบนเส้นทางวงรอบเล็กซึ่งจะมีปราสาทอยู่ติดๆ กันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นปัญหากับจักรยานเสือภูเขาที่ทำความเร็วได้ดี ส่วนนักท่องเที่ยวที่ใช้จักรยานแม่บ้านก็มีมาปั่นบนเส้นทางนี้เช่นกัน ซึ่งเห็นมีหลายๆ คนดูเหนื่อยล้าแทบล้มพับกันกลางทางเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะปั่นจักรยานแม่บ้านบนวงรอบใหญ่ต้องแข็งแรงพอสมควรนะครับ

ปราสาทยังเรียงต่อกันมาตามทางเลยครับ มีปราสาทเล็กๆ น้อยๆ อยู่มาก ส่วนปราสาทใหญ่ๆ จะมีเรียงกันตามเส้นทางตามนี้เลยครับ
ปราสาทนาคพัน ที่อยู่กลางน้ำ
ปราสาทตาสม
ปราสาทแม่บุญตะวันออก
ปราสาทแปรรูป

แล้วก็จะครบรอบ มาเจอสระทรง ปราสาทกระวาน และกลับมาเจอนครวัด และเส้นทางกลับเสียมเรียบเลยครับ

ส่วนใครที่สนใจจะไปปราสาทในรอบนอกด้วย ก็จะแยกออกไปที่สามแยก ตรงปราสาทแม่บุญคตะวันออกนะครับ ปราสาทรอบนอกมีหลายแห่ง เช่น บันทายศรี พนมกุเลน กบาลสเปียน บึงมาลา เกาะแกร์ รวมไปถึงเขาพระวิหาร บางที่อยู่ไกลนะครับ อาจใช้เวลาเดินทางทั้งวันเลย

แต่ปราสาทยอดฮิตอีกแห่งก็ไม่ได้ไกลนัก คือบันทายศรี อาสาพาไปเลยดีกว่า

แยกมาจากสามแยกที่ปราสาทแม่บุญตะวันออก ออกไปนอกเมือง ชมทิวทัศน์ท้องทุ่ง หมู่บ้าน ชุมชน สนุกไม่เบาครับ ระหว่างทางมีที่เที่ยวน่าสนใจอีกแห่งคือพิพิธภัณฑ์กับระเบิด (Landmine Museum) ที่บอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตของการวางกับระเบิด ผลกระทบที่ตามมาต่อประชาชนชาวกัมพูชา และความพยามในการเก็บกู้กับระเบิด เป็นอีกสถานที่ที่น่าสนใจ ได้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตของมนุษย์ชาติ และเป็นแรงบัลดาลใจที่ดีครับ

เดินทางต่อไปก็จะเจอกับปราสาทบันทายศรี แม้จะเป็นแค่ปราสาทขนาดเล็กๆ และอยู่ไกลถึง 30 กิโลเมตรจากปราสาทนครวัด แต่ก็มีนักท่องเที่ยวมากมาย ปราสาทนี้ถูกเก็บรักษาดีกว่าที่อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด มีการล้อมรั้วห้ามนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ มีเจ้าหน้าที่เฝ้าอย่างหนาแน่น ในฐานะของต้นแบบแห่งศิลปะเขมร

ภาพสลักนูนต่ำบนหินทรายสีชมพูที่ปรานีตวิจิตร มีรายละเอียดความนูน-ลึกที่น่าทึ่งมากๆ ครับ ภาพสลักมีเรื่องราวให้ดูได้เพลินๆ  มีเนื้อหา มีเรื่องเล่า รับรองว่ามาที่นี่ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ



วันนี้ไปมาหลายที่ เสร็จจากชมปราสาทบันทายศรีก็เย็นย่ำแล้ว กิจกรรมยอดฮิตของการชมอังกอร์อีกอย่างคือ ชมพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถชมได้จากหลายปราสาท บรรยากาศแตกต่างกันออกไป ปราสาทที่ฮิตกันมากก็คือ พนมบาเค็ง ที่เป็นปราสาทบนเนินเขา มองเห็นนครวัดจากระยะไกลได้เลยทีเดียว แน่นอนว่าคนมาจับจองที่นั่งกันแน่นขนัดทุกวัน

ใครที่อยากได้มุมสงบ ผ่อนคลายจากการทัวร์ปราสาทหินทั้งวัน มีมุมเยี่ยมๆ อื่นๆ ซ่อนอยุ่อีกมากในเมืองพระนคร

ปราสาทแปรรูปก็เป็นหนึ่งในนั้น และเหมาะกับคนที่เที่ยวบนวงรอบใหญ่ ปราสาทแปรรูปหน้าตาคล้ายๆ ปราสาสาทแม่บุญตะวันออกยังไงยังงั้น แต่ขนาดใหญ่กว่ามาก และก็ตามชื่อของปราสาท คำว่าแปรรูปหมายถึง การเปลี่ยนสภาพของร่างกายมนุษย์ จึงเป็นที่เชื่อถือว่าเป็นสถานที่ในพิธีงานศพ

ปราสาทนี้มีงานก่อสร้างส่วนใหญ่มาจากส่วนผสมของอิฐ ศิลาแลงและหินทราย โทนสีอุ่นๆ ของปราสาทเหมาะกับการเข้าชมยามสัมผัสแสงอาทิตย์อัสดง โรแมนติกไปอีกแบบครับ

ถ้าเที่ยวด้วยรถ ก็ดูไม่เป็นปัญหาอะไรกับการชมพระอาทิตย์ตกและอยุ่จนมืดค่ำ แต่ใช้จักรยานแล้วต้องคำนึงความปลอดภัยในการปั่นยามดึกตามมา เพราะในเขตอังกอร์ มืดแล้วมืดมิดมาก ไร้ซึ่งไฟถนน คนกลัวผีอาจจะปั่นไปขนลุกไปได้เลย 555

กลุ่มของเรามีไฟจักรยานไม่ครบทุกคันค่ำนี้จึงเป็นอีกวันที่ต้องปั่นคลำทางในห้วงอวกาศ และวันนี้ไกลกว่าเมื่อวานซะด้วย ร้านรวงก็ปิดกันหมด รถแทบไม่มี กว่าจะปั่นมาถึงเขตเมืองแมลงก็ติดเต็มหน้าแล้วครับ 55

ถึงช่วงชานเมืองเราเลี่ยงไปปั่นบนไฮเวย์แทนเส้นทาง เสียมเรียบ-นครวัดเส้นปกติ ถนนไฮเวย์ราบเรียบดีกว่า ปั่นเร็วได้สบายๆ และมีไฟถนนครับ

กลับถึงโรงแรมก็แทบหมดสภาพกันเลยทีเดียว เพราะลุยหนักทั้งวัน แต่อาบน้ำอาบท่าแล้วไปเที่ยวตลาดกลางคืนต่อเลยดีกว่า

ใครที่อยากรู้ว่าตลาดกลางคืนเสียมเรียบเป็นยังไง น่าสนใจหรือน่ามาหรือเปล่า บอกได้เลยว่าไม่ผิดหวังแน่นอนครับ เพียบพร้อมทุกอย่างทั้งเรื่องกินเรื่องดื่ม ของฝาก ทั้งแต่ราคาถูกไปถึงถึงร้านไฮเอนด์ บรรยากาศถนนคนเดินทั้งไนท์มาเก็ตและผับสตรีทมีสีสันมากครับ
ชื่อสินค้า:   ทริปปั่นจักรยานตะลุยอังกอร์ ตอนที่ 3: ป่าฝนแห่งเมืองพระนคร และวงรอบใหญ่
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่