สว.แต่งตั้งทั้งหมดเหมือนอังกฤษ ประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ดูเหมือนจะดี แต่มีแทรกเพิ่มอำนาจนอกระบบ ต่างจากอังกฤษยังไงมาดูกัน

สภาขุนนางของอังกฤษ มักถูกยกเป็นตัวอย่างของวุฒิสภา หรือสภาสูง ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  แต่สภาขุนนางอังกฤษก็มีลักษณะพิเศษหลายประการ ที่เราต้องพิจารณาก่อนจะนำไปเทียบกับวุฒิสภาประเทศอื่น

สภาขุนนาง หรือ "House of Lords" เป็นวุฒิสภาของอังกฤษ ซึ่งมีหน้าที่ดีเบตและกลั่นกรองกฎหมาย  แม้ว่าในประเทศอื่น วุฒิสภาจะเรียกว่า "สภาสูง" แต่เว็บไซต์ของรัฐสภาอังกฤษเลือกที่จะเรียกสภาขุนนางว่า "สภาที่สอง" เพื่อสื่อว่าสภาขุนนางนั้นไม่ได้อยู่ "สูง" กว่าสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นสภาที่ "ตามหลัง" สภาผู้แทนราษฎร

สภาขุนนางอังกฤษ ไม่มีกำหนดจำนวนสมาชิกแน่ชัด  ปัจจุบันมีสมาชิก 763 คน โดยสมาชิกทุกคนจะได้คำนำหน้าชื่อว่า "ลอร์ด (Lord)"   ในจำนวนนี้ 25 คนเป็นบิชอปในศาสนจักรอังกฤษ เรียกว่า "ลอร์ดด้านจิตวิญญาณ"  ส่วนที่เหลือนั้นบ้างก็ได้ตำแหน่งเพราะสืบเชื้อสายจากตระกูลที่เป็นลอร์ด บ้างก็เป็นคนที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเข้าไป บ้างก็ถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการแต่งตั้ง โดยมักเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร หรืออดีตอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี

หลังจากมีการปฏิรูปสภาขุนนางมาหลายครั้ง ปัจจุบันลอร์ดส่วนใหญ่เป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ  โดยเป็นลอร์ดจากพรรคแรงงานมากที่สุด คือ 216 คน  ลอร์ดจากพรรคอนุรักษ์นิยม 208 คน  ลอร์ดจากพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ "ลิเบอรัล เดโมแครต" 89 คน  และไม่สังกัดพรรคการเมืองอีกประมาณ 200 คน

แม้สมาชิกสภาขุนนางจะมีที่มาหลากหลาย และสมาชิกจำนวนมากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันย่อมทำให้ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย  แต่ข้อบกพร่องนี้ก็ไม่ร้ายแรงนัก เพราะสภาขุนนางอังกฤษถูกจำกัดอำนาจในหลายด้าน

ในด้านแรก สภาขุนนางอังกฤษ แม้จะมีอำนาจดีเบตกฎหมายและชะลอการออกกฎหมายได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิยับยั้งกฎหมาย  กล่าวคือ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรโหวตยืนยันผ่านกฎหมาย สภาขุนนางก็ไม่มีอำนาจขัดขวาง

นอกจากนี้ สภาขุนนางอังกฤษ ก็ไม่มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ และไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหมือนกับที่วุฒิสภาในหลายๆ ประเทศมี

สภาขุนนางอังกฤษจึงเป็นเพียงเวทีดีเบต ที่ช่วยให้ข้อมูลประชาชนเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของกฎหมายฉบับต่างๆ ไม่ได้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือถ่วงดุลกับรัฐสภาอย่างจริงจังแต่อย่างใด

การที่อังกฤษยังคงรักษาสภาขุนนางไว้ ไม่ใช่เพื่อรักษากลไกถ่วงดุลรัฐสภา แต่เป็นการรักษาสิ่งที่ช่วยบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของอังกฤษ  ในแง่นี้ สภาขุนนางจึงคล้ายกับราชวงศ์อังกฤษ ตรงที่องค์กรทั้งสองล้วนถูกรักษาไว้ในฐานะสิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้มีอำนาจจริงแต่อย่างใด

ที่มา http://goo.gl/trAq1v


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++






สรุปคือ สว.อังกฤษมาจากแต่งตั้ง(หรือเรียกให้ดูดีว่าเลือกตั้งทางอ้อม) จริง แต่ไม่ได้มีอำนาจเหนืออำนาจประชาชนอย่างที่ไทยจะทำ ไม่มีอำนาจเปลี่ยนก.ม. ยับยั้งก.ม. ขัดขวางการทำงานของสภาผู้แทนราษฏร เนื่องด้วยรู้ว่าไม่ได้มาจากประชาชนนั่นเอง การออกแบบสว.ของอังกฤษจึงออกมาได้อย่างสมเหตุสมผล


ของไทยจะเพิ่มให้สว. แก้ไขก.ม.ได้ ขัดขวางสภาผู้แทนได้ ก็ดูเหมือนจะดี ถ้ามาจากเลือกตั้งนะ แต่มาจากแต่งตั้งนี่กลายเป็นมีกลุ่มอำนาจ สามารถชี้นิ้วปกครองประเทศได้เองเลย โดยประชาชนไม่มีส่วนตัดสินใจ

ปัญหาในไทยที่มีการกล่าวอ้างกัน คือถ้าเลือกตั้งส.ว. ก็จะได้แต่นอมินีนักการเมืองท้องถิ่นมา กลายเป็นได้คนซ้ำๆ กับส.ส. ซึงดูแล้วก็จริงบ้างเหมือนกัน
เลยมีคนในแก้ปัญหาโดยให้ส.ว.เป็นแบบเลือกเขตเดียวทั่วประเทศ แล้วให้คนได้อันดับดีๆ เป็นส.ว. ผมว่านั่นคือการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะคะแนนจะกระจาย นักวิชาการหรือนักกิจกรรมหริอคนเก่งๆ ก็จะเข้ามาได้ง่ายขึ้น ตัดปัญหาเรื่องรวมอำนาจได้ทั้งเลือกเป็นจังหวัดแบบเก่าหรือแต่งตั้งเองแบบใหม่

#ปฏิรูปแล้วประชาชนต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น_ไม่ใช่ลดลง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่