พระอภัยมณีฉบับเร่งรัด ๒๕ ก.พ.๕๘

พระอภัยมณีฉบับเร่งรัด

ชุดที่ ๙ สงครามเก้าทัพ

ตอนที่ ๑ ดูจิ้มลิ้มหลงเล่ห์ในเลขา

ฑ.มณฑา

ฝ่ายท่านท้าวเจ้ากรุงลังกานั้น เมื่อถอยทัพมาถึงเมืองแล้วก็ปลงทัพคอยอุศเรนอยู่หน้าเมือง ตัวพระองค์เองก็ถูกลูกธนูของนางวาลี
ให้เจ็บปวดรวดร้าวยิ่งนักเอายาอะไรปิดแผลก็ไม่บันเทาลงได้เลย พอทัพฟน้าถอยกลับมาถึง เสนาก็เอาโกศใส่ศพของอุศเรนมาถวาย
แล้วรายงานเรื่องราวให้ทรงทราบทุกประการ เจ้ากรุงลังกาก็พิโรธโกรธกริ้วเป็นที่สุด สั่งให้เก็บโกศทองและเครื่องประดับทั้งหมดนั้นไว้
ถ้าจับตัวพระอภัยมณีได้เมื่อไร ให้สับร่างใส่โกศกลับคืนไปบ้าง แล้วพระองค์ก็โสกาอาดูรอยู่กับศพของราชบุตรอุศเรนจนถึงค่ำคืน

เมื่อดวงใจไปจากอุระแล้ว
ไม่คลาดแคล้วกายาคงอาสัญ
สิ้นชีวิตบิตุรงค์สิ้นพงศ์พันธุ์
ใครจะกันเขตแคว้านแดนลังกา
ยังแต่น้องของเจ้าเป็นสาวรุ่น
แม้นสิ้นบุญบิตุเรศกับเชษฐา
จะเปล่าเปลี่ยวเดี่ยวดิ้นกินน้ำตา
โอ้นึกน่าหนักทรวงเป็นห่วงใย
หวังจะปลูกลูกรักทั้งชายหญิง
ให้ยอดยิ่งญาติกาได้อาศัย
ไม่สมคิดบิตุราชแทบขาดใจ
เหลืออาลัยลูกยาธิดาดวง
เสียดายศักดิ์รักตระกูลพูนเทวษ
น้ำพระเนตรมิรู้สิ้นรินรินร่วง
เหมือนอกเจ็บเหน็บเข็มไว้เต็มทรวง
โอ้บาทหลวงพระไม่ช่วยฉันด้วยเลย
ระทวยทอดกอดศพซบสอื้น
ไม่พลิกฟื้นวรองค์ทรงเสวย
พอสายัณห์จันทร์กระจ่างน้ำค้างเชย
ท้าวก็เลยล่วงสวรรค์ครรไล

เมื่อพระเจ้ากรุงลังกาโศกเศร้าจนสิ้นพระชนม์ไปแล้ว เสนามหาอำมาตย์ทั้งหลาย ก็จัดการแห่พระศพทั้งสองเข้าไปในกรุงลังกา
แล้วกราบทูลความทั้งหมด ให้นางละเวงวัณฬา กุมารีได้ทราบ นางก็ตกตลึงสิ้นเรี่ยวแรงร้องกรีดแล้วก็ล้มสลบลงไปในทันที
เมื่อพี่เลี้ยงแก้ไขจนฟื้นขึ้นมา ก็เฝ้าแต่ร่ำรำพันถึงพระบิดาและพระเชษฐา ถึงกับคิดจะตายตามไปด้วย
แต่พี่เลี้ยงและขุนนางได้พากันยื้อยุดและห้ามปรามไว้ แล้วก็เชิญนางขึ้นครองราชสมบัติกรุงลังกาแทน

นางละเวงก็ไม่ยอมรับ ด้วยคิดว่าตนเองเป็นหญิง คงไม่สามารถปกครองบ้านเมืองให้เรียบร้อยไปได้ตลอดรอดฝั่ง
แต่ขุนนางน้อยใหญ่ก็ช่วยกันอ้อนวอน

อันคนอื่นพื้นแต่ไพร่มิใช่กษัตริย์
สุดจะจัดขึ้นเป็นปิ่นบดินทร์สูร
แม่เป็นหญิงจริงอยู่แลแต่ตระกูล
สืบประยูรปกเกล้าชาวลังกา
แม้นเมืองน้อยร้อยเอ็ดไม่เข็ดขาม
จะปราบปรามข้าศึกทรงปรึกษา
ข้าพเจ้าเหล่าอำมาตย์มาตยา
ขออาสาสิ้นชีวิตไม่คิดกาย
ประการหนึ่งซึ่งตราพระราหู
เป็นของคู่ขัตติยาเทวาถวาย
เป็นตราแก้วแววเวียนวิเชียรพราย
แต่เช้าสายสีรุ้งดูรุ่งเรือง

ดวงตราพระราหูนี้ เป็นของคู่บ้านคู่เมืองลังกา สำหรับกษัตริย์ทรงไว้ติดกายป้องกันภัยได้ทุกประการ ทั้งยามปกติและยามศึก

แม้นเดินหนฝนตกไม่ถูกต้อง
เอาไว้ห้องเห็นแห่งตำแหน่งไหน
ไม่หนาวร้อนอ่อนอุ่นละมุนละไม
ถ้าชิงชัยแคล้วคลาดซึ่งสาตรา
แต่ครั้งนี้ท้าวมิได้เอาไปศึก
เพราะท้าวนึกห่วงพระแม่แน่หนักหนา
ด้วยเป็นหญิงทิ้งไว้จึงได้ตรา
ไว้รักษาก็เป็นอันตราย
จึงธนูผู้หญิงมันยิงถูก
ควรพระลูกทดแทนให้แค้นหาย
หญิงผลึกศึกกล้าเสียกว่าชาย
เชิญพระแม่แก้อายอย่าวายวาง

นางละเวงจึงยอมรับตำแหน่งเจ้ากรุงลังกา ตามที่ขุนนางถวาย ขณะที่มีอายุเพียงสิบหกปีเท่านั้น
เมื่อจัดการพระศพของพระบิดาและเชษฐาเรียบร้อยแล้ว ก็ปรึกษาราชการกับสมเด็จพระสังฆราชพระบาทหลวงว่า
จะทำอย่างไรกับข้าศึกทางเมืองผลึก พระบาทหลวงก็ว่าเมืองผลึกนั้นดีแต่สู้กับผู้ชาย
บัดนี้กรุงลังกามีกษัตริย์เป็นผู้หญิง คงจะเอาชนะได้ไม่ยากนัก แล้วพูดเป็นปริศนาทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า

จะต้องตรองตรึกตราวิชาหญิง
สละทิ้งเสียทั้งตราพระราหู
แม้นคิดเห็นเช่นเราทั้งชมพู
ไม่หาญสู้ศึกโยมนะโฉมงาม

นางละเวงวัณฬาเฝ้าแต่คิดถึงปริศนาของพระบาทหลวง ก็คิดไม่ออกว่าให้ทิ้งตราราหูรู้อย่างหญิงนี้ จะต้องทำอย่างไร
ซักถามท่านก็ไม่เฉลย คิดอยู่นานจนเสวยไม่ได้บรรทมไม่หลับมาหลายราตรี สุดท้ายก็ติองตามไปเฝ้าที่อารามท้ายเมือง
เพื่อขอร้องให้ท่านแนะนำให้แจ่มแจ้ง

พระบาทหลวงก็ยอมเปิดเผย ข้อปริศนาที่ให้ไว้ว่า จำเป็นจะต้องสละดวงตราราหู โดยป่าวประกาศไปยังเมืองต่าง ๆ
ถ้าใครยกกองทัพมารบชนะเมืองผลึก ก็จะให้เป็นครองนครลังกา ได้รับตราราหูไว้ครอบครอง
และในใบบอกนั้นจะต้องวาดรูปของนางให้สวยงาม เพื่อให้เจ้าเมืองทั้งหลายหลงใหลพากันมาอาสาสมัคร

แล้วก็ไขตู้เอาแผนที่อาณาเขตประเทศต่าง ๆ รอบกรุงลังกา พร้อมทั้งตำราทำเสน่ห์เล่ห์กล
สำหรับหญิงใช้ผูกใจชายให้อยู่ในกำมือ มาถวายนางละเวง อีกทั้งกำชับให้พากเพียรเรียนร่ำตำราให้รู้แจ้งเห็นจริง
แล้วเอาไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์สืบไป

นางละเวงก็รับเอาแผนที่และตำรานั้น มาศึกษาหาความรู้พร้อมกับได้ฝึกสาวสนมกำนัลใน
ให้รู้จักกลสตรีตามตำรับนั้นอีกร้อยคน กับเอามาฝึกเพลงอาวุธเช่นชาย เพื่อจัดเป้นกองทหารรักษาพระองค์อีกสามพันคน
แล้วก็ระดมฝึกไพร่พลในกองทัพให้คล่องแคล่วในการรบอยู่อีกสองปี พร้อมทั้งดำเนินการสร้างวังขึ้นใหม่
ที่ท่าข้ามหน้าเมืองลังกา สำหรับเป็นที่พำนักในเวลาทำสงคราม ระยะห่างจากพระราชวังเดิมไปเมืองใหม่นั้น
ใช้เวลาเดินทางสามวัน ก่อสร้างอยู่ปีครึ่งจึงแล้วเสร็จ

แล้วนางก้แต่งตั้งขุนนางผู้ใหญ่ให้ว่าราชการงานเมืองแทน ส่วนตนเองยกพลจำนวนแสน กับองครักษ์อีกสามพัน
ไปตั้งมั่นที่เมืองใหม่ให้ใกล้ทะเล จากนั้นก็ร่างพระราชสาร พร้อมด้วยรูปวาดสวยสดงดงามเหมือนองค์จริง
ใส่กล่องแก้วให้ราชทูตคุมทหารร้อยคน ลงเรือออกไปเจริญพระราชไมตรียังเมืองต่าง ๆ ตามแผนที่ของพระบาทหลวง

รายแรกที่ไปถึงก็คือ เจ้าละมาน อยู่เมืองทมิฬรูปร่างใหญ่โตสูงได้หกศอก จมูกแหลมแก้มแฟบฟันเสี้ยม
หน้าตาเหี้ยมหาญเหมือนมารร้าย ไม่กินข้าว กินแต่ปลากับเนื้อสัตว์ดิบ ๆ มีกำลังวังชาแข็งแร
ใช้เหล็กทำคันธนู สายธนูทำด้วยลวด จะยิงช้าง แรด วัว ควาย ตายทุกที เจ้าละมานองค์นี้เป็นม่าย
เพราะมเหสีตายแล้วไม่ยอมมีใหม่ รักองค์เก่ามากหานางใดก็ไม่เหมือน

เมื่อราชทูตมาถึงเมืองทมิฬก็เข้าเฝ้าเจ้าละมานและถวายสาร เจ้าละมานรับกล่องมาเปิดออกดู
พอเห็นรูปวาดก็ตกตลึงถึงกับสิ้นสติไปทันที เมื่อหมอหลวงแก้ไขให้ฟื้นขึ้นมา
ก็หลงชมความงามของรูปนั้นจนไม่ยอมวาง

งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มดูพริ้มพักตร์
พระเกศปักปิ่นทองใส่ช้องผม
นิ้วนิดนิดชิดแช่มแฉล้มกลม
แต่ทรวงห่มส่านพับนั่งหลับตา
นวลละอองสองแก้มเหมือนแย้มยิ้ม
ดูจิ้มลิ้มหลงเล่ห์ในเลขา
พระโอษฐ์อิ่มพริ้มพรายชม้ายมา
พอปะตาเต็มรักพระยักคิ้ว

จากนั้นก็เฝ้าคลั่งใคล้ใหลหลง เวลานอนก็เอาวางไว้ข้างหมอน เวลาจะไปไหนก็พับแอบเอาไว้แนบอก
แล้วสวมเสื้อทับไม่ให้ใครรู้

เมื่อ่านสารได้ความว่าจะให้ไปปราบเมืองผลึก ถ้าได้ชัยชนะก็จะให้ตราพระราหู และยกกรุงลังกาให้ครอบครอง
สืบวงศ์กษัตริย์ต่อไป เจ้าละมานก็ยกกองทัพเรือถึงพันห้าร้อยลำ มีพลประจำลำละพันคน ถือคันศรประจำมือทุกคน
เคลื่อนพลไปทางตะวันออกเป็นเวลาเดือนหนึ่งก็ถึงเมืองใหม่ ที่ท่าข้ามกรุงลังกา

ครั้นขึ้นไปเฝ้านางละเวงวัณฬา สนทนาปราศัยไต่ถามทุกข์สุขกันตามธรรมเนียมแขกบ้านแขกเมืองแล้ว
นางละเวงก็จัดโต๊ะสุราอาหารมาเลี้ยงดู และให้นางสนมกำนัลคอยปฏิบัติดูแล ไม่ให้อนาทรร้อนใจ

เจ้าละมานพักอยู่เพียงคืนเดียว รุ่งขึ้นเช้าก็ยกกองทัพเรือออกจากกรุงลังกา มุ่งไปเมองผลึกโดยไม่ชักช้า
เดินทางได้สิบห้าวันถึงปากอ่าวเมืองผลึก ก็ยกพลขึ้นบกข้ามท้องทุ่งมาจนถึงกำแพงเมือง
เตรียมเข้าตีเมืองให้แตกหักเสียโดยเร็ว จะได้กลับไปรับบำเหน็จรางวัล ตามประกาศต่อไป.

#############
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่