จุดอ่อน SME ไทย


เรื่อง : วรวุฒิ อุ่นใจ

    ในฐานะที่มีประสบการณ์เคยเป็นวิทยากรรับเชิญให้หลายสถาบันอยู่บ้างเพื่อพัฒนา SME หรือผู้ประกอบการไทยที่มีความต้องการพัฒนาตนเองนั้นมีความรู้ความเข้าใจที่จะนำพาธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาว และจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัส กับธุรกิจ SME ของไทยหลายร้อยกิจการก็พอจะประมวลจุดอ่อนของ SME ไทยได้ดังนี้ครับ

1. การดำเนินธุรกิจที่ไม่มีอนาคต

    เริ่มมาก็วงแตกกันเลยนะครับกับข้อนี้ และมักจะพบเห็นกันมากซะด้วยกับจุดอ่อนข้อนี่ ธุรกิจที่ไม่มีอนาคต คือ อะไร? ... ก็คือธุรกิจที่ทำไป ทำมา ลูกค้าหรือตลาดหายไปหรือเล็กลงเรื่อยๆ เพราะขาดการวิเคราะห์ตลาด เนื่องจากไม่ได้เริ่มธุรกิจจากสิ่งที่ตลาดต้องการ และขาดการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในตอนแรก ประมาณว่า เริ่มธุรกิจจากสิ่งที่เราชำนาญ หรือมีความรู้ในการผลิตเล็กน้อยเท่านั้นเอง

2. การขาดความคิดสร้างสรรค์

    ข้อแรกก็เหนื่อยแล้วมาเจอข้อนี้ซ้ำไปอีกก็จอดไม่ต้องแจวกันละทีนี้ ขอยกตัวอย่าง ไวน์ผลไม้นะครับ ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่เรามีความรู้หรือความชำนาญในการทำธุรกิจ เช่น กลุ่มตลาดอาจดูแคบหรืออนาคตริบหรี่เหมือนข้อแรก แต่ยังไม่เป็นไร ถ้าเรามีความรู้หรือความคิดที่จะสร้างความต้องการนั้นให้เกิดขึ้นกับลูกค้าหรือตลาดให้ได้ โดยการสร้างสรรค์ในเรื่อง Packaging หรือ บรรจุภัณฑ์ให้สวย น่าสนใจ ก็จะทำให้กลุ่มเป้าหมายอยากดื่มขึ้นมาได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างกรณีน้ำยาอุทัยทิพย์ ที่ปรับสูตรขายใหม่กลายเป็นเครื่องสำอางราคาย่อมเยาใช้ทาแก้มให้ระเรื่อ เป็นอีกหนึ่งความคิดที่น่าชมชเย ความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ที่ SME ไทยเราไม่ค่อยมีแต่เมื่อใครมีก็เกิดการแห่ทำธุรกิจตามกันซะล้นตลาด เช่น ร้านหมูกระทะ หรือช่วงนี้ฮิตเปิดร้านกาแฟสดก็แห่เปิดกันจนแข่งกันเจ๊ง “ความจริงจะเปิดธุรกิจเหมือนๆกันก็ไม่ผิดนะ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์และโดดเด่น นั่นต่างหากที่ไม่ควรมองข้าม”

3. การขาดการควบคุมคุณภาพ มาตราฐานในสินค้าและบริการ

    ข้อนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ผ่าน 2 ข้อแรกมาได้จนขายดีแล้วเริ่มเติบโต แต่สุดท้ายการที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่มีมาตราฐานกลับทำให้ธุรกิจเหล่านี้โตไม่ออก ตัวอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ คือ ร้านอาหารบางแห่งครับ ช่วงแรกลูกค้าไม่เยอะ ยังทำอร่อยและบริการได้รวดเร็วอยู่ แต่พอขายดี ก็มีทางเลือกที่ผู้บริโภคต้องจำทน คือ ทำทันจากการเพิ่มพ่อครัวที่ไม่มีฝีมือเข้ามา หรือ ถ้ายังใช้พ่อครัวคนเก่งคนเดิมก็เสริฟช้า ลูกค้าต้องรอนานจนเบื่อ บางทีก็เจอการลดปริมาณอาหารในจานลงเพื่อหวังเพิ่มกำไรกันดื้อๆ.....สิ่งเหล่านี้แหละครับ คือ การไม่มีมาตราฐานในสินค้าและบริการ ลองเปรียบเทียบกับฟาสท์ฟู้ดของฝรั่งที่ขยันขยายสาขาเป็นพันเป็นหมื่นได้รวดเร็ว ก็อาจจะพบว่า เค้าสร้างมาตราฐานในสินค้าและบริการได้อย่างคงที่ถึงขยายตัวและเติบโตได้

4. การตัดราคาโดยใช้ราคาที่ถูกกว่าเป็นอาวุธในการแข่งขัน

    เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่พบเห็นได้มากเช่นกันในผู้ประกอบไทย เมื่อขาดความคิดสร้างสรรค์และขาดการควบคุมคุณภาพเสียแล้ว วิธีผิดๆที่เชื่อว่า จะทำให้ขายได้ก็คือการตัดราคา ขอยกตัวอย่างเดิมอีกทีนะครับ เช่น ร้านหมูกระทะ เมื่อไม่สามารถหาจุดขายที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์เ แถมยังไม่รักษาคุณภาพอีก คราวนี้ก็งัดไม้ตายราคาถูกออกมาถล่มกัน จะเห็นได้ว่า เริ่มจากราคา 99 บาทลงมา 89 บาท หลังๆ เล่น 59 บาทก็มี แล้วด้วยราคาขนาดนี้ คุณภาพก็ไม่ต้องพูดถึง

        การพยายามขายสินค้าโดยตัดราคา ถือเป็นจุดเริ่มต้นหายนะของผู้ประกอบธุรกิจ เพราะเมื่อถูกตัดราคาแล้ว มีหรือที่คู่แข่งจะไม่ตัดราคาลงมาสู้ แล้วเมื่อตัดราคากันไปถึงจุดๆหนึ่ง คุณก็จะไม่มีกำไรเหลือไปปรับปรุงคุณภาพธุรกิจและหาจุดขายที่แตกต่างได้ เมื่อเริ่มสงครามราคาขึ้นแล้ว หนีออกมาไม่ได้ ก็เตรียมนับถอยหลังธุรกิจของตัวเองได้เลย...

    แล้วเราควรทำอย่างไรกับสงครามราคาดี? คำตอบ คือ คุณต้องค้นหาจุดขาย จุดแข็งที่แตกต่างให้พบ เช่น ถ้าคิดทำหมูกระทก็ตั้งราคาไปที่สูงกว่าซะเลย เช่น หัวละ 129 บาท แต่ตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศโดดเด่นเฉพาะที่จะหาจากร้านอื่นไม่ได้ เช่น บรรยากาศชายทะเล หรือ แบบคันทรี คาวบอย เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องแล้วแต่กึ๋นที่คุณจะต้องศึกษาและพัฒนาให้มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้หนีพ้นไปจากสงครามราคา

    ลองนึกดูนะครับ ผู้นำในธุรกิจไม่ใช่คนที่ขายถูกที่สุดนะครับ ยกตัวอย่างเช่น บ้าน LH สุกี้ MK หรือ ร้าน 7-11 ธุรกิจเหล่านี้อยู่เหนือสงครามราคาได้เพราะมีจุดขาย จุดแข็งที่แตกต่างและลูกค้าหาจากที่อื่นไม่ได้ เค้าถึงเป็นผู้ที่ขายดีที่สุดและเป็นผู้นำครองตลาดได้ทุกวันนี้

5. การขาดความมุ่งมั่นในการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง

    ข้อนี้ผมอยากจะถือว่าเป็นต้นตอของปัญหาทั้งมวล และขณะเดียวกันก็เป็นทางออกของปัญหาทั้งหมดด้วย

    ทุนที่ผมเชื่อว่า ผู้ประกอบการ SME ไทย ขาดแคลนที่สุดไม่ใช่เงินทุนนะครับ....แต่เป็นความรู้ ความคิดในการประกอบธุรกิจ ซึ่งถ้าคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่...ก็ยังไม่น่าห่วง เพราะอย่างน้อยคุณก็ได้พยายามหาความรู้ด้วยการอ่านบทความที่ให้ความรู้ และข้อเสนอแนะในการทำธุรกิจกับคุณอยู่ แต่เชื่อมั้ยครับว่า ผู้ประกอบการ SME ไทยส่วนใหญ่โดยภาพรวมมีการหาความรู้และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองน้อยมากครับ ทำให้ทุนในการประกอบธุรกิจ คือ ความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการ ความรู้ด้านบัญชี หรือความรู้ที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการทำธุรกิจ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักรกลต่างๆ ก็ยังอยู่ในระดับที่น้อยมาก

    ดังนั้นผมถึงได้บอกไงครับว่า ทุนที่ผู้ประกอบการไทยขาดแคลนที่สุด ไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นทุนความรู้ทุนความคิดครับ ถ้าคุณมีความรู้และมีความคิดสร้าสรรค์แล้วการจะหาแหล่งเงินทุนก็ไม่ใช่เรื่องยากหรอกครับ แต่ถ้าคุณไม่มีความรู้ ไม่มีความคิดดีๆไปเสนอกับแบงค์แล้วละก็...ยากส์ครับที่เค้าจะสนับสนุนเงินกู้เพื่อการลงทุนให้กับคุณ

    ...หวังว่าทุกท่านคงได้ลองเอาประเด็นที่ผมนำเสนอมาวิเคราะห์เพื่อหาจุดอ่อนของธุรกิจ ถ้าพบจุดอ่อนของตนเองไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่ทุกท่านจะทำการขจัดจุดอ่อนที่มีอยู่ให้หมดไปนะครับ

Create by smethailandclub.com

ติดตามข่าวสาร เศรษฐกิจ และเรื่องราวการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่
Thinkvestment Fanpage : https://www.facebook.com/thinkvestment

อมยิ้ม03

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่