[BERSERK] ตามหาพระเจ้าในโลกมโนคติ


          ผมได้นำประเด็นเกี่ยวกับ ก็อดแฮนด์ มาพูดแล้วในกระทู้ BERSERK ครั้งก่อน   ดังนั้น คราวนี้ผมจึงขอหยิบยกเรื่องของ ‘ผู้สร้าง’ ก็อดแฮนด์มาพูดกันบ้าง  เพราะคงมีแฟนานุแฟนของเบอร์เซิร์กสนใจอยู่ไม่น้อย
          ในเรื่องเบอร์เซิร์ก ก็อดแฮนด์ ถือเป็นตัวตนระดับสูงที่มีดูเร้นลับมืดมน โดยช่วงแรกๆ อาจทำให้เรานึกสงสัยกันว่า พวกก็อดแฮนด์และเบเฮลิตที่ก็อดแฮนด์และเหล่าสาวกมีในครอบครองนั้นถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร  ซึ่งผู้เขียนก็ได้เผยคำตอบให้เราเห็นเป็นครั้งแรกในมังงะตอนที่ 82 และ 83 ซึ่งมีชื่อตอนว่า พระเจ้าแห่งห้วงลึก (God of Abyss) โดยตอนที่ 83 นั้นถือเป็น ‘ตอนลับ’ ที่ไม่ปรากฏหรือหายไปจากหนังสือรวมเล่ม ด้วยเหตุผลเพราะผู้เขียนเห็นว่าเนื้อหาในตอนนี้เปิดเผยพล็อตของเรื่องมากเกินไป  แต่ปัจจุบันเราก็สามารถหาอ่านได้ตามเว็บไซต์มังงะแปลอังกฤษทั่วไป
          ในทั้งสองตอนนี้ได้ปรากฏรูปโฉมของสิ่งที่เรียกว่า อุดมคติแห่งความชั่วร้าย (Idea of Evil) ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมันทำให้เราได้รู้ว่าสิ่งนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของก็อดแฮนด์และเบเฮลิต และตอนนี้นี่เองที่ได้เผยให้เราเห็นถึงรูปร่างของ อันติมสัจ (ultimate reality) หรือความจริงสูงสุดของจักรวาลในการ์ตูนเรื่องนี้

          อุดมคติแห่งความชั่วร้ายคืออะไร?
          อุดมคติแห่งความชั่วร้าย คือสิ่งที่ดำรงอยู่ใน จิตไร้สำนึกร่วม (Collective unconscious) ของมวลมนุษยชาติ มันจะตอบสนองความปรารถนาของมนุษยชาติทั้งปวง มีอำนาจในการควบคุมเหตุการณ์และโชคชะตาของมนุษย์  เป็นจิตสำนึกส่วนรวมที่อยู่เหนือความเป็นปัจเจก หรือก็คือมันดำรงอยู่ในฐานะ อัตตาของโลก (the ego of the world) นั่นเอง ซึ่งมันก็คือ “พระเจ้าในอุดมคติของโลกนี้” นั่นเอง
          อุดมคติแห่งความชั่วร้าย เป็นศูนย์รวมของความรุนแรง ความว้าเหว่ และอารมณ์ด้านลบทั้งปวงของมนุษย์  มันเป็นแหล่งรวมและแหล่งระบาย (หรือตอบสนอง) ความทะยานอยากของมวลมนุษย์
          โดยทั่วไป อิทธิพลของ อุดมคติแห่งความชั่วร้าย จะส่งผลต่อโลกในทางอ้อม (คือมันมักจะไม่ส่งผลต่อโลกโดยตรง) ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ความปรารถนาของมันจะถูกดำเนินการให้สำเร็จผ่านทางก็อดแฮนด์และเหล่าสาวก (ซึ่งก็อดแฮนด์และเหล่าสาวกจะเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขากระทำนั้นเป็นความปรารถนาของตัวเอง แม้จะถูกต้อง แต่จริงๆแล้วมันก็ถือเป็นความปรารถนาของพระเจ้าตนนี้ด้วยเช่นกัน)
          ตอนที่กริฟฟิธได้พบกับ อุดมคติแห่งความชั่วร้าย ในตอนที่ 83 นั้น มันได้ยอมรับกับกริฟฟิธว่า มันเป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์ทั้งหมดที่อยู่รายล้อมตัวกริฟฟิธเพื่อเหนี่ยวนำให้เขามุ่งไปสู่วิถีแห่งการเป็นก็อดแฮนด์  ซึ่งนั่นก็หมายความว่า วิถีของสรรพสิ่งใดๆ ในโลกล้วนอยู่ใต้อิทธิพลของมัน มันเป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์ทั้งหมดของโลกนี้     
          นอกจากนี้มันยังได้บอกกริฟฟิธอีกว่า ตัวมัน ‘เกิด’ ขึ้นมาจากความปรารถนาของมนุษยชาติ!
          มนุษย์ต้องการเหตุผลของการมีชีวิต  ทำไมถึงต้องเจ็บปวด?  ทำไมถึงต้องโศกเศร้า?  ทำไมถึงต้องตาย?  ทำไมถึงต้องทุกข์ทรมาน?   มนุษย์ต้องการคำตอบของคำถามเหล่านี้ และสิ่งที่มนุษย์คิดว่าจะตอบคำถามและตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ก็คือโชคชะตาหรือบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เหนือความรู้ของมนุษย์
          มนุษย์เรียกสิ่งนั้นว่า พระเจ้า
          และ อุดมคติแห่งความชั่วร้าย ก็คือสิ่งนั้นเอง มันคือพระเจ้าที่เกิดจากมนุษย์  เป็นตัวตนที่บังเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการเหตุผลในการมีชีวิตของมนุษยชาติ  มันคือ ‘อุดมคติ’ ที่มนุษย์ปรารถนา  และมันก็เป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจสมดังที่มนุษย์ใฝ่ฝันจริงๆ มันเป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์ของโลก ควบคุมชะตากรรม และถักทอโชคชะตาของมนุษย์ทุกคน ทั้งยังเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของมนุษย์ด้วย
          
          ในบทสนทนาสุดท้ายของ อุดมคติแห่งความชั่วร้าย กับกริฟฟิธ มันได้บอกว่ากริฟฟิธ (ซึ่งกำลังจะได้เป็นเฟมโต) จะได้รับอำนาจในการควบคุมชะตากรรมของมนุษย์  กริฟฟิธเป็น "ผู้ถูกเลือก" ให้เป็นก็อดแฮนด์ผู้แทรกซึมประวัติศาสตร์มนุษย์  แต่เขาต้องการมอบสิ่งใดให้กับมนุษย์กัน?  เขาจะทำลายหรือว่าจะปลดปล่อยมนุษย์สู่ความหลุดพ้น?
          จากตรงนี้คงทำให้เราเข้าใจได้ว่า เฟมโต ดูเหมือนจะเป็นก็อดแฮนด์ที่เป็น ‘แก่นแท้’ ที่สุด   และเขาก็ได้ใช้อำนาจที่มีเปิดโลกแฟนตาเซียออกมา ทำให้เมืองฟาลโคเนียแห่งตำนานปรากฏ และมุ่งจะขึ้นเป็นกษัตริย์ที่สูงส่งตามอุดมคติของมนุษย์ เป็นพญาเหยี่ยวแห่งแสงสว่าง  หรือว่าเฟมโตจะเป็นฮีโร่?  หรือเขาต้องการทำให้ความฝันของมวลมนุษย์เป็นความจริง?  เขาต้องการปลดปล่อยมนุษย์จากห้วงทุกข์อย่างนั้นหรือ? (พอคิดอย่างนี้แล้วอยากเห็นตอนจบจริงๆ)

          อุดมคติแห่งความชั่วร้ายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
          อุดมคติแห่งความชั่วร้าย ได้บอกว่าตัวมันเกิดขึ้นมาจากความปรารถนาหรืออารมณ์ด้านมืดในหัวใจของมนุษย์ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีมาแต่ดั้งเดิมหรือเป็นพระเจ้าที่ดำรงอยู่มาก่อนสรรพสิ่ง  นอกจากนี้ยังมีหลักฐานสนับสนุนอยู่ในคำกล่าวของ วอยด์ ที่ว่า “พระเจ้าสร้างโดยมนุษย์” อีกด้วย
          สรุปแล้ว นิยามของ อุดมคติแห่งความชั่วร้าย ก็คือ ‘พระเจ้าที่เกิดจากความชั่วร้ายของมนุษยชาติ’ นั่นเอง
          ด้วยเหตุผลที่ อุดมคติแห่งความชั่วร้าย เกิดขึ้นมาจากอารมณ์ด้านมืดของมวลมนุษย์ ดังนั้นจึงมีบางคนเสนอว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะลบล้างมันให้หายไปจากโลก (ของเบอร์เซิร์ก) ถ้ามนุษยชาติสามารถพร้อมใจกันปลดเปลื้องความชั่วหรืออารมณ์ด้านมืดทิ้งไป (แต่มันจะเป็นไปได้หรือ?)

          อุดมคติแห่งความชั่วร้ายอยู่ที่ไหน?
          ถ้าพูดตาม ‘หลักการ’ ของเบอร์เซิร์ก อุดมคติแห่งความชั่วร้าย จะดำรงอยู่ใน โลกมโนคติ (Ideal World) ซึ่งเป็นโลกระดับสูงที่สุดตามโครงสร้างจักรวาลในเบอร์เซิร์ก มันเป็นโลกที่บางคนเรียกว่าสรวงสวรรค์ หรือบางคนก็เรียกว่านรกโลกันต์   แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร มันก็คือโลกในอุดมคติของมนุษย์นั่นเอง   แต่ถ้าพูดให้กระจ่างขึ้นมาหน่อยก็ต้องบอกว่า อุดมคติแห่งความชั่วร้าย ดำรงอยู่ในก้นบึ้งของห้วงลึกที่เป็นแก่นของการดำรงอยู่ของโลก  หรืออาจพูดได้อีกอย่างว่า มันดำรงอยู่ในจิตไร้สำนึกร่วมของมนุษยชาติ (โคตรจะอภิปรัชญาเลย!)
          

          ความหมายทางปรัชญาของอุดมคติแห่งความชั่วร้าย
          ในแง่มุมทางปรัชญา ผมมองว่า อุดมคติแห่งความชั่วร้าย อาจเทียบได้กับแนวคิดของ สัจภาวะ หรือ อันติมสัจ ในทางศาสนา ซึ่งสำหรับศาสนาเอกเทวนิยม (Monotheism) ก็หมายถึงพระเจ้านั่นเอง  โดยแนวคิดว่าด้วยพระเจ้าในศาสนาต่างๆ นั้นมักจะมีคอนเซ็ปต์ที่สำคัญร่วมกัน คือ พระเจ้าเป็นสิ่งสัมบูรณ์ที่ดำรงอยู่นิรันดร์ ไม่มีวันดับสูญ มีพลังไม่จำกัด อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง และเป็นจุดหมายสุดท้ายของจิตวิญญาณมนุษย์  หากมองในแง่สังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา แนวคิดทางศาสนาล้วนเป็นผลมาจากความต้องการของมนุษย์ มนุษย์พบว่าตนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ดังใจ มนุษย์ต้องพบกับความตาย ความแก่ ความเจ็บป่วย และความทุกข์ยาก  เมื่อมนุษย์เห็นว่าชีวิตของตนไม่มีความคงทนถาวร ดังนั้นมันจะต้องมีสิ่งที่ทรงมหิทธานุภาพซึ่งอยู่เหนือมนุษย์และสรรพสิ่ง สิ่งนั้นจะต้องศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง มีพลังอำนาจ ไม่มีวันตาย ไม่มีวันแก่ ไม่มีวันเจ็บปวด และไร้ซึ่งความทุกข์ยากใดๆ ทั้งสิ้น และสิ่งนั้นจะช่วยพามวลมนุษย์ไปสู่ ‘ความรอด’ หรือ ‘ความหลุดพ้น’  และสิ่งนั้นก็คือ พระเจ้า นั่นเอง
          ตรงจุดนี้ผมมองว่าผู้เขียนเบอร์เซิร์กต้องการถ่ายทอดมุมมองต่อพระเจ้าในรูปแบบดังกล่าวนี้  คือสื่อให้เห็นว่าพระเจ้าไม่ได้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในเนื้อแท้ของธรรมชาติจริงๆ แต่อาจเป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาเองเพื่อตอบสนองความต้องการของเรา และด้วยความที่ความต้องการอันนี้เป็นความต้องการส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง แนวคิดเรื่องพระเจ้าจึงฝังลึกลงไปในจิตไร้สำนึกร่วมของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม
          ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องสิ่งสัมบูรณ์นี้มีอยู่เสมอทุกสถานที่และทุกกาลเวลา ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในรูปพระเจ้าก็ได้ อย่างเช่นแนวคิดเรื่องอวกาศและเวลาแบบสัมบูรณ์ แนวคิดเรื่องจักรวาลที่คงที่ไม่แปรเปลี่ยน หรือแนวคิดเรื่องความว่างเปล่าอย่างสมบูรณ์  ซึ่งวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าความสมบูรณ์แบบอาจไม่มีอยู่จริง  เพราะอวกาศและเวลาไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์  จักรวาลต้องเปลี่ยนแปลงสู่ความเสื่อมสูญ   และความว่างเปล่าก็ไม่ได้ว่างเปล่าจริงๆ
          นอกจากนี้ผมยังเห็นว่าแนวคิดของ "อุดมคติแห่งความชั่วร้าย" มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของสัจภาวะแบบองค์รวมกับส่วนย่อย คือแนวคิดที่มองว่าความจริงสูงสุดมีหนึ่งเดียว และจิตวิญญาณของมนุษย์ก็เป็นส่วนย่อยของความจริงสูงสุดนั้น อย่างเช่นแนวคิดเรื่อง ปรมาตมัน กับ อาตมัน ของศาสนาพราหมณ์ หรือแนวคิดเรื่อง โมนาด (Monad) ของนักปรัชญา ก็อตต์ฟรีด ไลบ์นิซ (Gottfried Leibniz)   ซึ่งในเรื่องเบอร์เซิร์กนั้น อุดมคติแห่งความชั่วร้าย เป็นตัวแทนของ ปรมาตมัน หรือตัวตนสูงสุด ส่วนจิตวิญญาณของมนุษย์ทั้งหลายก็คือ อาตมัน หรือตัวตนส่วนย่อย  แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดของเบอร์เซิร์กก็มีจุดต่างกับแนวคิดของพราหมณ์ตรงที่ว่า ตามแนวคิดของพราหมณ์ ตัวตนใหญ่เป็นต้นกำเนิดของตัวตนย่อย ทว่าในเบอร์เซิร์ก ตัวตนย่อยกลับเป็นต้นกำเนิดของตัวตนใหญ่แทน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่