ยโสชสูตร ว่าด้วยภิกษุผู้นั่งอาเนญชสมาธิ ไม่หวั่นไหวสุขและทุกข์

๓. ยโสชสูตร
             [๗๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
มีพระยโสชะเป็นประมุข เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาค ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปราศรัยอยู่กับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น
ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ ได้ส่งเสียงอื้ออึง ครั้งนั้นแล พระผู้มี
พระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ใครนั่นมีเสียงอื้ออึงเหมือน
ชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระยโสชะเป็นประมุขเหล่านี้ เดินทางมาถึงพระนคร
สาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัย
อยู่กับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่
ส่งเสียงอื้ออึง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมาตามคำ
ของเราว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระ
ภาคแล้ว เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า
พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระ
ผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไรหนอ เธอ
ทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ฯ
             [๗๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระยโสชะได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเหล่านี้
เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้
อาคันตุกะเหล่านี้ปราศรัยกับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตร
และจีวรกันอยู่ส่งเสียงอื้ออึง พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไป เราประณามเธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา ฯ
             ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม
พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีก
จาริกไปทางวัชชีชนบท เที่ยวจาริกไปในวัชชีชนบทโดยลำดับ ถึงแม่น้ำ
วัคคุมุทานที กระทำกุฎีมุงบังด้วยใบไม้ เข้าจำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที ฯ
             [๗๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระยโสชะเข้าจำพรรษาแล้ว เรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงใคร่ประโยชน์ ทรง
แสวงหาประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ ประณามเรา
ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคพึงทรงใคร่ประโยชน์แก่เราทั้งหลายผู้อยู่ด้วยประการ
ใด ขอเราทั้งหลายจงสำเร็จการอยู่ด้วยประการนั้นเถิด ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่าน
พระยโสชะแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มี
ความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ทุกๆ รูปได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษา
นั้นเอง ฯ
             [๗๔] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตาม
พระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครเวสาลี เสด็จเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ
ได้เสด็จถึงพระนครเวสาลี ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลีนั้น ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการ
กำหนดใจของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที ด้วยพระทัยของพระองค์
แล้วตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
นที อยู่ในทิศใด ทิศนี้เหมือนมีแสงสว่างแก่เรา เหมือนมีโอภาสแก่เรา เธอ
เป็นผู้ไม่รังเกียจที่จะไปเพื่อความสนใจแห่งเรา เธอพึงส่งภิกษุผู้เป็นทูตไปในสำ
นักแห่งภิกษุทั้งหลายผู้ที่อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีด้วยสั่งว่า พระศาสดารับสั่งหาท่าน
ทั้งหลาย พระศาสดาใคร่จะเห็นท่านทั้งหลาย ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระ
ภาคแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า ดูกรอาวุโส
ท่านจงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที ครั้นแล้ว จงกล่าว
กะภิกษุทั้งหลายผู้ที่อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีอย่างนี้ว่า พระศาสดารับสั่งหาท่าน
ทั้งหลาย พระศาสดาทรงประสงค์จะเห็นท่านทั้งหลาย ภิกษุนั้นรับคำท่านพระ
อานนท์แล้วหายจากกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ไปปรากฏข้างหน้าภิกษุเหล่านั้นที่ฝั่ง
แม่น้ำวัคคุมุทานที เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียด
ฉะนั้น ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีว่า
พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดาทรงประสงค์เห็นท่านทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นรับคำภิกษุนั้นแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร หายจากที่ฝั่งแม่น้ำ
วัคคุมุทานที ไปปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ฯ
             [๗๕] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ด้วยสมาธิอันไม่
หวั่นไหว ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความดำริว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ด้วยวิหารธรรมไหนหนอ ภิกษุเหล่านั้นมีความดำริอีกว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ด้วยอาเนญชวิหารธรรม ภิกษุทั้งหมดนั้นแลนั่งอยู่ด้วยอาเนญชสมาธิ
             ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีล่วงไป เมื่อปฐมยามผ่านไป ท่านพระอานนท์
ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมอัญชลีไปทางที่พระ-
*ผู้มีพระภาคประทับอยู่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรี
ล่วงไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่งอยู่นานแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า ฯ
             เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์
ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระ-
*ผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ราตรีล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่งอยู่นานแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า แม้ครั้ง
ที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งอยู่ ฯ
             แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว
เมื่อราตรีรุ่งอรุณ ท่านพระอานนท์ลุกขึ้นจากอาสนะกระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว
อรุณขึ้นแล้ว ราตรีรุ่งอรุณ ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มี-
*พระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า ฯ
             ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้น แล้วตรัสกะท่าน
พระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ถ้าว่าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้มีประมาณเท่านี้
ก็ไม่พึงปรากฏแก่เธอ ดูกรอานนท์ เราและภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ทั้งหมด นั่งแล้วด้วย
อาเนญชสมาธิ
             ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทาน
นี้ในเวลานั้นว่า
                          ภิกษุใดชนะหนาม คือ กาม ชนะการด่า การฆ่า และการ
                          จองจำได้แล้ว ภิกษุนั้นมั่นคงไม่หวั่นไหวดุจภูเขา ภิกษุนั้น
                          ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์ ฯ
จบสูตรที่ ๓
http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=2162&Z=2253


ขยายความเรื่องอาเนญชสมาธิ ใน ปัญญาวรรค อิทธิกถา
[๖๘๔]  มูล ๑๖ แห่งฤทธิ์เป็นไฉน ฯ
             จิตไม่ฟุบลง ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้น จึง
ชื่อว่าอเนญชา (จิตไม่หวั่นไหว)  จิตไม่ฟูขึ้น ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอุทธัจจะ
เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอเนญชา จิตไม่ยินดี ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะราคะ ... จิต
ไม่มุ่งร้าย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะพยาบาท ... จิตอันทิฐิไม่อาศัย ย่อมไม่หวั่นไหว
เพราะทิฐิ ... จิตไม่พัวพัน ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะฉันทราคะ ... จิตหลุดพ้น
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกามราคะ ... จิตไม่เกาะเกี่ยว ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกิเลส ...
จิตปราศจากเครื่องครอบงำ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความครอบงำแห่งกิเลส ...
เอกัคคตาจิตย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกิเลสต่างๆ ... จิตที่กำหนดด้วยศรัทธา ย่อม
ไม่หวั่นไหวเพราะความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ... จิตที่กำหนดด้วยวิริยะ ย่อมไม่หวั่น
ไหวเพราะความเกียจคร้าน ... จิตที่กำหนดด้วยสติ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความ
ประมาท ... จิตที่กำหนดด้วยสมาธิ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอุทธัจจะ ... จิตที่
กำหนดด้วยปัญญา ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอวิชชา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอเนญชา
จิตที่ถึงความสว่างไสว ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความมืดคืออวิชชา เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่าอเนญชา มูล ๑๖ แห่งฤทธิ์นี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ เพื่อความ
ได้เฉพาะฤทธิ์ เพื่อแผลงฤทธิ์ได้ต่างๆ เพื่อความสำเร็จแห่งฤทธิ์ เพื่อความ
เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ เพื่อความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์ ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=31&A=10090&Z=10320
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่