พุทธวิธีควบคุมความคิด

(บางส่วน)


[๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่
วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น

เมื่อเธอมนสิการ นิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล
วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล

เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่
วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วย ฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล

เมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่
วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล เมื่อ

ภิกษุนั้นมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่
วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล

เมื่อภิกษุนั้นกัดฟันด้วยฟันดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่
วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้างโทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก
เธอจักจำนง วิตกใดก็จักตรึกวิตกนั้นได้ จักไม่จำนงวิตกใด ก็จักไม่ตรึกวิตกนั้นได้
ตัดตัณหาได้แล้ว  คลี่คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ
[ได้มารู้ยิ่งซึ่งธรรมของท่านที่เป็นพระอรหันต์โดยชอบ]



วิตักกสัณฐานสูตร
ว่าด้วยอาการแห่งวิตก


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  บรรทัดที่ ๔๐๙๙ - ๔๒๐๗.  หน้าที่  ๑๖๖ - ๑๗๐.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=4099&Z=4207&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=256

----------------------


(บางส่วน)

[๒๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.


[๒๕๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก่อนแต่ตรัสรู้ทีเดียว ได้คิดอย่างนี้ว่า
ถ้ากระไร เราพึงแยกวิตกให้เป็น ๒ ส่วนๆ ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรานั้นจึงแยก กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก นี้ออกเป็นส่วนหนึ่ง
และแยกเนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก นี้ออกเป็นส่วนที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรานั้น ไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่อย่างนี้
กามวิตกย่อมบังเกิดขึ้น เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า กามวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้วแล
ก็แต่ว่ามันย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองบ้าง ทำให้ปัญญาดับ
ก่อให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองบ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า มันทำให้ปัญญาดับ ทำให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ดังนี้บ้าง มันก็ถึงความดับสูญไป

---------------------------------------

(บางส่วน)

[๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
มีหมู่เนื้อเป็นอันมาก พากันเข้าไปอาศัยบึงใหญ่ในป่าดงอยู่

ยังมีบุรุษคนหนึ่งปรารถนาความพินาศ ประสงค์ความไม่เกื้อกูล ใคร่ความไม่ปลอดภัย เกิดขึ้นแก่หมู่เนื้อนั้น
เขาปิดทางที่ปลอดภัย สะดวก ไปได้ ตามชอบใจของหมู่เนื้อนั้นเสีย  เปิดทางที่ไม่สะดวกไว้ วางเนื้อต่อตัวผู้ไว้ วางนางเนื้อต่อไว้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ โดยสมัยต่อมา หมู่เนื้อเป็นอันมาก ก็พากันมาตายเสีย จนเบาบาง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
แต่ยังมีบุรุษอีกคนหนึ่งปรารถนาประโยชน์ ใคร่ความเกื้อกูล ใคร่ความปลอดภัย แก่หมู่เนื้อเป็นอันมากนั้น
เขาเปิดทางที่ปลอดภัย สะดวก ไปได้ตามชอบใจ ให้แก่หมู่เนื้อนั้น  ปิดทางที่ไม่สะดวกเสีย  กำจัดเนื้อต่อ เลิกนางเนื้อต่อ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ โดยสมัยต่อมา หมู่เนื้อเป็นอันมาก จึงถึงความเจริญ คับคั่ง ล้นหลาม แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้ออุปมานี้ก็ฉันนั้นแล เราได้ทำขึ้นก็เพื่อจะให้พวกเธอรู้ความหมายของเนื้อความ ก็ในอุปมานั้น มีความหมายดังต่อไปนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
คำว่า บึงใหญ่ นี้เป็นชื่อของกามคุณทั้งหลาย
คำว่า หมู่เนื้อเป็นอันมาก นี้เป็นชื่อของหมู่สัตว์ทั้งหลาย
คำว่า บุรุษผู้ปรารถนาความพินาศ ประสงค์ความไม่เกื้อกูล จำนงความไม่ปลอดภัย นี้เป็นชื่อของตัวมารผู้มีบาป
คำว่า ทางที่ไม่สะดวกนี้เป็นชื่อของทางผิด อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ มิจฉาทิฏฐิ ๑
มิจฉาสังกัปปะ ๑ มิจฉาวาจา ๑ มิจฉากัมมันตะ ๑ มิจฉาอาชีวะ ๑ มิจฉาวายามะ ๑ มิจฉาสติ ๑ มิจฉาสมาธิ ๑
คำว่า เนื้อต่อตัวผู้ นี้เป็นชื่อของนันทิราคะ [ความกำหนัดด้วยความเพลิน]
คำว่า นางเนื้อต่อ นี้เป็นชื่อของอวิชชา
คำว่า บุรุษคนที่ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความปลอดภัย [แก่เนื้อเหล่านั้น]
นี้หมายเอาตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า ทางอันปลอดภัย สะดวก ไปได้ตามชอบใจ นี้เป็นชื่อของทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
ซึ่งเป็นทางถูกที่แท้จริง คือสัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑
สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑.

[๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล เป็นอันว่าทางอันปลอดภัยซึ่งเป็นทางสวัสดี เป็นทางที่พวกเธอควรไปได้ด้วยความปลาบปลื้ม
เราได้เผยให้แล้ว [และ] ปิดทางที่ไม่สะดวกให้ด้วย เนื้อต่อก็ได้กำจัดให้แล้ว ทั้งนางเนื้อต่อก็สังหารให้เสร็จ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เอ็นดู อาศัยความอนุเคราะห์ แก่เหล่าสาวกจะพึงทำ
กิจอันนั้นเราทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างเปล่า เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท
อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่เธอทั้งหลาย.

......พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล....



เทวธาวิตักกสูตร
ว่าด้วยความวิตก ๒ ส่วน

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  บรรทัดที่ ๓๙๕๓ - ๔๐๙๘.  หน้าที่  ๑๖๐ - ๑๖๕.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=3953&Z=4098&pagebreak=0

    ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=251
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่