มีเพื่อนหรือคนใกล้ตัวที่มีอาการ "โรคจิต" แบบนี้บ้างไหม T_T

Note :
- อาจจะยาวนิดนึงนะครับ แต่ผมมั่นใจว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยขน์ต่อตัวท่านเอง หรือคนรอบข้างคุณไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน จึงอยากให้ลองอ่านให้จบ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและครบถ้วนครับ
- เนื่องจากเกิดจากประสบการณ์จริง ผมจึงจะใช้ลักษณะการเล่าเรื่อง แต่จะสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญๆให้ครอบคลุมที่สุดครับ
- ถึงผู้ดูแลเว็บพันทิป ผมอาจจะตั้งชื่อหัวข้อกระทู้ไว้หลายชื่อ เพื่อที่จะให้คนได้มีโอกาสได้อ่านเยอะที่สุด แต่รับรองว่า tag ตรงหัวข้อไม่มากก็น้อยครับ แต่ถ้าผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

สิ่งที่คุณจะได้รับหลังจากอ่านกระทู้นี้จบ

1.    คุณอาจจะไม่รู้ว่าบนโลกนี้มีคนเป็น โรคเกี่ยวกับจิตเวชจำนวนมาก อาจจะมากกว่าที่คุณคิดซะอีก อาจจะเป็นคนรู้จัก หรือคนใกล้ตัวคุณเองด้วยซ้ำ เพียงแต่คุณไม่รู้…ซึ่งผมจะบอกวิธีสังเกตคร่าวๆให้รู้ครับ
2.    มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับ กลุ่มโรคจิตเวชอย่างถูกต้อง (เพราะคนทั่วไปเข้าใจกันผิด เหมือนที่ผมเคยเข้าใจผิด)

ที่มาที่ไป

    เนื่องจากเกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง ร่วมทั้งมีญาติ และเพื่อนๆเป็นกันหลายคน จนทำให้ผมรู้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นหรือเสี่ยงที่จะเป็น บ้านผมเคยมีหนี้มีสินหลักล้าน สาเหตุเกิดจากโรคกลุ่มนี้ เคยเกือบเสียคุณแม่ที่เป็นที่รักและน่ารักเนื่องจากท่านกรีดข้อมือตัวเอง(แต่ช่วยท่านทัน) ผมจึงรู้ซึ้งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีคนใกล้ตัว เป็นโรคในกลุ่มนี้ ดังนั้นผมจึงอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ ความรู้ เผื่อมีคนรู้จัก หรือคนใกล้ตัวเป็นหรือน่าสงสัย คุณจะได้รับมือกับปัญหาได้ทันท่วงที เพราะผมรู้ว่ามันเครียดแค่ไหน ซึ่งผมไม่อยากจะให้ใครมาเจออย่างผมอีกครับ ^^

ปฐมบท : ครั้งแรกในชีวิตกับการไปแผนก “จิตเวช”

    เช้าวันหนึ่งระหว่างนั่งอยู่บนรถพร้อมคุณแม่ที่ท่าทางดูเหม่อลอย นี้เป็นวันแรกที่จะพาไปพบหมอครั้งแรกที่แผนก “จิตเวช” ภายในหัวนึกถึงหนังเรื่องที่เคยดู นั้นคือเรื่อง “หลังคาแดง” ภาพที่ในหัวพุดขึ้นมาคือมีคนเดินไปเดินมา พูดจาเพ้อเจ้อ ทำตัวแปลกเหมือนในหนังไหมน้า และที่สำคัญระหว่างที่เราจะไปแผนกนั้น คนอื่นๆจะมองเรายังไง คิดวนไปวนมาจนเดินมาถึงหน้าประตูแผนก ก่อนที่จะสไลด์เปิดประตู ผมสูดหายใจลึกที่สุดในชีวิต รวบรวมความกล้าทั้งหมดที่มี เอาวะเป็นไงเป็นกัน.. ผมค่อยๆสไลด์เปิดประตูเบาๆและแล้วถึงกับถอนหายใจเฮือกใหญ่กับภาพที่ตัวเองเห็น....นี้หรือแผนก “จิตเวช” ภาพที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้าคือ เด็กใส่ชุดนักเรียน นักศึกษา กำลังนั่งเล่นเฟสบุ๊คบนipad1 (สมัยนั้นยังไม่มีไลน์เลย) ผู้ชายแต่งตัวดี ใส่เสื้อเชิ้ตผูกไทต์ กำลังนั่งอ่านหนังสือบริหารของปริญญาโท มีคุณนายใช้ ipad ดูข้อมูลตลาดหุ้น(ที่รู้เพราะเห็นแต่ตัวเลขและมีสีเขียว สีแดงเต็มไปหมด) ผมก็ยืนงงๆ ทำตัวไม่ถูกอยู่แถวหน้าประตูอยู่พักหนึ่งพยาบาลก็ทักขึ้นมาว่า “นัดไว้หรือเปล่าคะ” ผมยังเงอะๆงะๆ รับบัตรคิวพร้อมกับยังงงๆสับสนกับจินตนาการและสิ่งที่เคยรับรู้มา

    หลังจากนั้นก็พาคุณแม่ไปนั่งรอคุณหมอหน้าห้องตรวจ ก็มีผู้หญิงวัยกลางคนทักทายด้วยประโยคว่า “น้องมาครั้งแรกใช่ไหมเนี่ย ตอนที่พี่มาครั้งแรกๆก็อย่างนี้แหละ” ผมก็ยิ้มและถามกลับไปว่า “พี่พาใครมาหรอครับ” พี่สาวก็ตอบว่า “พี่มาตรวจเองจะ พี่เป็นโรคซึมเศร้า” ทันใดนั้นในหัวก็มีความคิดพุดขึ้นมา “นี้คือคนเป็นโรคซึมเศร้าหรอ...คนซึมเศร้าต้องนั่งเครียดๆ อมทุกข์ แต่นี้กลับเป็นคนยิ้มแย้มดูอัธยาศัยดี...นี้มันอะไรกันเนี่ย” หลังจากนั้นคุณหมอก็เรียกให้เข้าไปตรวจ จึงกล่าวลาพี่ท่านนั้นไปด้วยความงงๆ เหมือนเดิม

ตอนที่ 2 : ด้วยความสงสัยจึงต้องถาม “อากู๋”

    หลังจากวันนั้นผมก็สงสัยว่าจะมีคนที่เป็นโรคพวกนี้เยอะไหม แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าใครที่เป็น หรือไม่เป็น ผมจึงนึกถึง “อากู๋” ผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน (จริงๆนะ มันดูสภาพอากาศได้ อิอิ) ปัญหาต่อมา คือแล้วผมจะ หาคำว่าอะไรหละ ผมจึงคิดประเด็นใหญ่ๆที่ผมจะค้นหาคือ

1.จะมีวิธีสังเกตยังไงว่าใครเป็นหรือไม่เป็น เพราะตามข่าวตามทีวีก็เห็นหรือได้ยินคำว่า “คนโรคจิต” เยอะแยะ แต่ภาพที่เราเห็นในแผนก “จิตเวช” วันนั้นมันเริ่มทำให้ผมไม่มั่นใจกับความเข้าใจเดิมๆของตัวเอง
2.แล้วถ้าเรารู้ว่าเขาน่าจะเป็น โรคในกลุ่มจิตเวช แล้วเราจะรู้ได้ยังไงหละว่าเขาเป็นโรคอะไร และมันมีโรคอะไรบ้างกันแน่

    หลังจากหาข้อมูลอยู่นาน จึงได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีสังเกตว่าใครเป็นหรือมีแนวโน้มที่จะเป็น ดังนี้
ข้อสังเกตใหญ่ๆที่สังเกตได้ง่ายที่สุด

1.    คนเหล่านั้นมักจะไม่มีความพอดี...ไม่มากไปก็น้อยไป ขาดๆเกินๆ
2.    ไม่รู้จักกาลเทศะ..ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ
3.    บกพร่องต่อหน้าที ความรับผิดชอบ ... เริ่มไม่สนใจชีวิตตัวเอง
4.    หมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

พฤติกรรมที่พบได้บ่อยๆ

    โดยธรรมชาติของมนุษย์ จะมี “กลไกการป้องกันตัวของจิตใจ (ตาทฤษฏีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์)” แต่คนที่เข้าข่ายหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกลุ่มนี้มักจะมีมากกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่พฤติกรรมเหล่านี้

1.    เก็บกด : จะพยายามแก้ปัญหาต่างๆด้วยการทำเป็น “ลืม” ปัญหา เก็บไว้ลึกๆให้เหมือนไม่มีนั้นเอง แต่เนื่องจากปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข จึงเก็บสะสมอยู่ในจิตใจ
2.    ชอบป้ายความผิดให้คนอื่น : อันนี้อาจจะเห็นกันบ่อยๆ ที่เขาเหล่านั้นทำเช่นนั้นเพื่อลดความวิตกกังวลโดยป้ายความผิดให้คนอื่นเพื่อที่ตัวเองจะได้สบายใจขึ้น ตัวอย่างแปลกๆ เช่น ถ้าคนไข้ไม่ชอบใครแทนที่จะบอกไม่ชอบเขา(สมมติ ชื่อนาย A)  แต่คนไข้จะบอกคนอื่นว่า นาย A ไม่ชอบเขาแทน เป็นต้น
3.    หาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง : อันนี้ก็เห็นได้บ่อยๆเช่นกัน โดยคนไข้มักจะหาเหตุผลที่คนทั่วไปยอมรับ มาเป็นข้ออ้าง เช่น
a.    พ่อแม่ตีลูก ก็อ้างว่า เด็กต้องมีการลงโทษบ้างจะได้เป็นเด็กดี ทั้งๆที่ตัวเองตีเพราะโมโห
b.    เด็กนักเรียนสอบตก ก็อ้างว่า ไม่สบาย ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้อ่านหนังสือ

บางครั้งก็จะใช้เหตุผลแบบ “องุ่นเปรี้ยว” เช่น อยากเรียนหมอ แต่สอบได้วิศวะ ก็จะบอกว่าวิศวะก็ดี อาชีพอิสระกว่าหมอ เป็นหมอเหนื่อย เป็นต้น

หมายเหตุ: “การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง” แตกต่างกับ “การโกหก” ตรงที่ “ผู้ที่แสดงพฤติกรรมนี้ไม่รู้สึกว่าตนผิด”

4.    การถดถอย เช่น คนที่ชอบทำตัวเป็นเด็ก ไม่ยอมโต อาจจะเพราะมีปมด้านความรักสมัยเด็กๆ
5.    แสดงออกตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ อันนี้แปลกมากครับ อย่างเช่น แม่ไม่รักลูกคนโตแต่อาจจะแสดงว่ารักอย่างมากผิดปกติ หรือ มีนักเรียนมาใหม่เข้ามาแต่ไม่ชอบเพื่อนใหม่นี้ แต่จะเข้าไปทำตัวสนิทสมกับเพื่อนใหม่คนนี้ (ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เคยโดนเพื่อนสนิททำร้ายจิตใจ แต่มารู้ที่หลังว่าเขาไม่ค่อยปกติครับ)
6.    ฝันกลางวัน สร้างวิมานในอากาศ อันนี้อาจจะดูยากนิดนึง เพราะคนประสบความสำเร็จหลายๆคนก็สำเร็จได้เพราะความฝัน แต่ที่จะสังเกตได้ง่ายๆคือ คิดฝัน แต่ไม่ค่อยลงมือทำไรครับ และจะฝันแปลกๆครับ
7.    การแยกตัว ไม่ใช่คนที่ไม่ชอบไปไหน หรือไม่ค่อยเข้าสังคมจะเป็นทุกคนนะครับ ส่วนมากต้องเป็นขั้นเก็บตัว ปิดตัวเองอยู่แต่ในห้อง ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจากับใครเลย ประมาณนั้นครับ
8.    หาสิ่งอื่นมาทดแทน เช่น โกรธเจ้านายมาแต่ด้วยความที่ทำอะไรเจ้านายไม่ได้ แต่พอกลับมาบ้านมาลงไม้ลงมือกับภรรยาหรือลูกแทน หรือไม่ก็ลงกับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนมากมักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวครับ
9.    การเลียนแบบ เช่น เลียนแบบพ่อแม่ คนมีชื่อเสียง ตัวละครในหนังในทีวี โดยมักจะเอาความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดที่เห็นมาเป็นของตัวเอง คือเป็นคนที่ไม่มีความคิดความรู้สึกเป็นของตัวเองประมาณนั้นครับ

     ถ้าใครอยากเข้าใจหรืออยากรู้ว่าโลกของคนที่เป็นโรคกลุ่มนี้เป็นยังไง แนะนำให้ดูซีรีย์ฝรั่งเรื่อง “Criminal mind” ครับ หรือถ้าหนังสั้นๆ ก็ “Beautiful mind” (เรื่องนี้ดีมากๆครับ ได้รับรางวัลหลายสาขาเลยครับ) ถ้าหนังไทยๆ ก็ “คนโลกจิต” แต่ทีเด็ดเลยคือ ซีรีย์เกาหลีเรื่อง “It’s okay that’s love” ว่างๆถ้าใครยังไม่เคยดูลองหาดูนะครับ^^ (ผมไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆจากการขายแผ่นนะครับ 555)

    กลับเข้าเรื่องของเรากันต่อดีกว่า ตอนนี้ผมก็เลยสงสัยว่า แล้วอย่างที่เราชอบใช้ว่าพวกโรคจิต อย่างแอบดูกางเกงใน จับ...ผู้หญิง พวกนี้เขาโรคจิตไหม จากการที่ศึกษาหาข้อมูล สรุปได้ง่ายๆอย่างนี้ว่า พฤติกรรมที่คนเราแสดงออกนั้นเกิดจาก “นิสัย” แต่คนที่เป็น “เกิดจากโรค” อย่างคนที่ชอบจับส่วนต่างๆของผู้หญิง อาจจะเพราะมีนิสัย “ลามก” แต่บางคนอาจจะ “เป็นโรคจิต”จริงๆก็ได้ แล้วอย่างนี้เราจะรู้ได้ยังไงหละ.... ต้องคุยกับและต้องคุยอย่างมีจิตวิทยาด้วยครับ เพราะเราจะแยกแยะคนเหล่านี้จากความคิด การใช้เหตุผล ซึ่งหากคนที่เป็นโรค สิ่งเหล่านี้เมื่อได้คุยจะแตกต่างจากคนปกติครับ หรือคนที่ดูมีพฤติกรรมปกติแต่ถ้าหากได้คุย เขาอาจจะมีความคิดที่ไม่ปกติก็ได้ครับ อย่างคุณหมอเคยเล่าให้ฟังว่ามีคนไข้คนหนึ่งเป็น โรค “Bipolar(อารมณ์สองขั้ว)” ชีวิตเขาก็ดูปกติครับ ตอนไม่มีแฟนอยู่กับเพื่อน ก็เที่ยวเล่นกัน แต่หลังเลิกกับแฟนก็ซึมเศร้า ทุกคนเวลาเลิกกับแฟนก็เศร้าเป็นธรรมดาครับ เพื่อนๆก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ แค่อาจจะเศร้านานและดูจริงจังกว่าคนปกติ แต่ก็ไม่มีใครคิดอะไร เพราะคิดว่าแฟนคนแรกอาจจะเจ็บมากมั้ง...จนวันหนึ่งกรีดข้อมือตัวเอง และต้องมาที่โรงพยาบาล หลังจากเย็บแผลทำไรเสร็จต่อมาก็พบว่าเด็กคนนั้นเป็นโรค Bipolar ครับ อย่างเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น หรือโอกาสน้อยลง หากเพื่อนๆสงสัย และรู้ว่าจะจัดการยังไงครับ เพราะคนไทยถ้ายังไม่แบบฆ่าตัวตาย ไปเผาบ้าน หรือทำอะไรใหญ่โต ไม่ค่อยพาคนไข้มาหาหมอครับ เพราะมักจะคิดว่าคนไข้แค่มีนิสัย อย่างจับจ่ายสุรุ่ยสุร่าย ขี้หงุดหงิด อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ฯลฯ แต่หลายๆครั้งพอได้มาปรึกษาจิตแพทย์ ก็พบว่านิสัยเหล่านี้คนไข้ไม่ได้ตั้งใจแสดงออก คนไข้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เนื่องจากเป็นเพราะ”โรค” หลังจากรักษาก็มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเหมือนคนละคนเลยครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่