เมื่อดัชนีหุ้นขึ้นมาสูงมากติดต่อกันหลายปีเป็นตลาดหุ้น “กระทิงดุ” คำถามที่ตามมาก็คือ ตลาดหุ้นขึ้นมาถึง “ดอย” หรือยัง? เพราะถ้ามันใกล้หรือถึงจุดสูงสุดแล้ว สิ่งที่หลายคนโดยเฉพาะนักลงทุนที่เล่นหุ้นระยะสั้นหรือระยะกลางจะทำก็คือ ขายหุ้นทิ้งเสียเก็บเงินสดไว้รอช้อนหุ้นที่จะตกลงมาแรง ๆ หรือไม่ก็หันไปลงทุนอย่างอื่นที่จะได้ผลตอบแทนดีกว่า การที่จะวิเคราะห์ได้ว่าตลาดหุ้นใกล้ถึง Peak หรือจุดสูงสุดและกำลังปรับตัวลงมากลายเป็นตลาด “หมี” หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะตลาดหุ้นนั้น ในระยะสั้น “คาดการณ์ไม่ได้” อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตของผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนที่คร่ำหวอดในตลาดหุ้นมายาวนานนั้น ตลาดกระทิงที่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดนั้น มักจะมีอาการหรือสัญญาณหลาย ๆ อย่างประกอบกันพอสรุปได้ดังต่อไปนี้
ข้อแรกก็คือ ค่า PE หรือราคาหุ้นต่อกำไรของบริษัทของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปมักจะอยู่ในระดับสูงใกล้กับระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ค่า PB หรือราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปนั้นอยู่ในระดับสูง ส่วนอัตราเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือ Dividend Yield นั้นจะค่อนข้างต่ำ ดูจากตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ผมคิดว่าค่า PE ของตลาดหุ้นน่าจะใกล้ระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับค่า PB อย่างไรก็ตาม ปันผลนั้นยังค่อนข้างจะพอใช้ได้ที่ประมาณ 2.5%-3% ในความเห็นของผมนั้น ตัวเลขชุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหุ้นน่าจะถึงยอดดอยแล้ว เหตุผลก็คือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดของเราในช่วงนี้ต่ำเป็นประวัติการณ์ เงินฝากอยู่ในระดับไม่เกิน 2%-3% ดังนั้น ค่า PE ระดับ 17-18 เท่าและปันผลจากการลงทุนในหุ้นยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพอสมควร
ข้อสองคือ หุ้นที่เข้าข่ายที่จะเป็นหุ้น “Value” นั้นหาได้ยากขึ้นมาก หุ้นดี ๆ ราคาก็ค่อนข้างแพงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหุ้นพื้น ๆ นั้น ราคาก็ไม่ถูก จริงอยู่ เราอาจจะพอลงทุนได้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มี “Margin of Safety” เหลือเพียงพอสำหรับ “VI พันธุ์แท้” ที่เน้นลงทุนระยะยาวจริง ๆ ในข้อนี้ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ก็เข้าข่ายแล้ว
ข้อสามที่อาจจะบ่งบอกว่าหุ้นใกล้ถึงดอยก็คือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดกำลังขึ้น หรือสภาพคล่องทางการเงินเริ่มลดลง หรือในภาษาทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ Money Supply กำลังหดตัว ซึ่งในตลาดของไทยนั้น ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยของเรายังไม่มีท่าทีว่าจะขึ้น ว่าที่จริงอาจจะมีแนวโน้มที่จะลดลงด้วยซ้ำถ้าดูจากการลงมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุดที่มีกรรมการ 2 เสียงลงมติให้ลดดอกเบี้ยในขณะที่เสียงส่วนใหญ่ยังให้คงไว้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องนี้มีโอกาสเปลี่ยนได้เร็ว และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเองที่มีอิทธิพลต่อตลาดเงินโลกก็มีท่าทีว่าภายในปีหน้าก็จะปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น สัญญาณข้อนี้จริง ๆ ยังไม่น่าไว้วางใจ
ข้อสี่คือเรื่องหุ้น IPO นี่เป็นสัญญาณที่แรงมากในตลาดหุ้นไทย นั่นก็คือ ในช่วงที่ตลาดหุ้นใกล้ถึงจุดสุดยอดนั้น จะมีหุ้น IPO ออกขายมากมายและราคาหุ้นที่เข้าตลาดในวันแรก ๆ ก็จะปรับตัวสูงขึ้นมาก และนี่ก็เป็นข้อที่ผมรู้สึกกังวลว่า ตลาดหุ้นไทยนั้นอาจจะใกล้ Peak
ข้อห้าเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ทางเทคนิคซึ่งผมเองก็ไม่ได้ศึกษา แต่มีคนเคยศึกษาหรือให้ข้อสังเกตว่า ถ้าหุ้นกว่า 75% ในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีราคาสูงกว่าแนวโน้มระยะยาวของมันมาระยะหนึ่งซึ่งอาจจะหลายปีแล้ว ต่อมาจำนวนมันลดต่ำลงกว่า 75% นี่ก็อาจเป็นสัญญาณว่า หุ้นถึงดอยแล้ว ผมเองไม่ทราบว่ามีใครศึกษาเรื่องแบบนี้ในตลาดหุ้นไทยหรือไม่ ความเชื่อของผมก็คือ หุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้นั้น กว่า 75% มีราคาสูงกว่าแนวโน้มระยะยาวเพราะราคาหุ้นได้สูงขึ้นมามาก สิ่งที่ไม่รู้ก็คือ ขณะนี้มันลดลงมาต่ำกว่า 75% หรือไม่
ข้อหก คือสัญญาณที่ ปีเตอร์ ลินช์ เรียกว่า ทฤษฎี “งานเลี้ยงค็อกเทล” นี่คือเหตุการณ์ที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักลงทุนมืออาชีพหันมาสนใจการลงทุนหรือเล่นหุ้น ช่วงแรก ๆ ก็อาจจะสนใจไม่มาก แต่เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว การทำเงินจากการเล่นหุ้นดูเหมือนจะง่ายมาก คนก็สนใจหุ้นมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่คนที่ไม่ควรสนใจลงทุนในหุ้นเลยเช่นช่างทำผมหรือคนขับแท็กซี่หันมาสนใจเรื่องหุ้น ถ้าเกิดอาการแบบนี้ ก็อาจจะเป็นสัญญาณว่าหุ้นกำลังถึงยอดดอยและใกล้จะลง จากการสังเกตของผม ผมคิดว่าช่วงนี้ในตลาดหุ้นไทยมีคนกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาสนใจลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่น่าจะค่อนข้างมีฐานะและ/หรือมีการศึกษาพอสมควร ส่วนในคนทั่วไปนั้นผมก็คิดว่ามีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผมไม่รู้ว่ามากเท่าไร โดยรวมแล้ว น่าจะเป็นช่วงที่มีความตื่นตัวในหุ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ผมเคยเจอมา ดังนั้น ผมคิดว่าอาการนี้น่าจะ “ก้ำกึ่ง” สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้
ข้อเจ็ด คือเรื่อง “การสนองตอบต่อข่าวสารของหุ้น” ความหมายก็คือ ในช่วงที่หุ้นยังเป็น “ขาขึ้น” หรืออยู่ในภาวะกระทิงอยู่นั้น ข่าวสารที่ดี ๆ เช่น บริษัทประกาศผลประกอบการที่ดี ราคาหุ้นก็จะ “วิ่ง” รับกับข่าวชิ้นนั้น บางทีวิ่งมากกว่าข่าวดีด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่จะสิ้นสุดยุคกระทิง ข่าวดีที่ประกาศออกมานั้นกลับไม่ได้ได้รับการตอบรับที่ดีเท่า บางครั้งประกาศข่าวดีแต่ราคาหุ้นกลับลง ดูเหมือนว่าหุ้นนั้นรับข่าวดีไปหมดแล้ว ไม่มีเงินเหลือที่จะซื้อหุ้นอีกต่อไป คนรอแต่จะขายหุ้น สำหรับในข้อนี้ ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่เห็น ผมยังรู้สึกว่าข่าวดีนั้นยังได้รับการตอบรับที่ดี บางทีหุ้นยังขึ้นมากกว่าข่าวโดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก ๆ ที่ราคายังขึ้นมากมายรับข่าวดีเล็ก ๆ ที่อาจจะไม่ผลอะไรกับบริษัทจริง ๆ
ข้อแปดคือเรื่อง “การเปลี่ยนกลุ่มหุ้นชั้นนำในตลาด” ความหมายของเรื่องนี้ก็คือ ในแต่ละช่วงเวลานั้น จะมีหุ้นบางกลุ่มเป็นหุ้นกลุ่มชั้นนำในตลาดเช่น ถ้าย้อนหลังไปหลายสิบปี ในช่วงนั้น หุ้นกลุ่มแบงค์เคยเป็นหุ้นกลุ่มนำ ต่อมาอสังหาริมทรัพย์ก็เคยเป็นกลุ่มที่ทุกคนสนใจเล่นและมีขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มไฟแน้นซ์ ต่อมาก็หุ้นสื่อสารและกลุ่มพลังงานที่โดดเด่นมาจนถึงล่าสุด คำถามก็คือ ตอนนี้เรากำลังมีการ “เปลี่ยนกลุ่ม” หรือไม่โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน? ที่อาจจะมีปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ในเรื่องนี้ผมเองก็วิเคราะห์ไม่ออก แต่การเปลี่ยนกลุ่มหุ้นชั้นนำในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วนั้น หลายครั้งสอดคล้องกับการกลับตัวของทิศทางดัชนีตลาดหุ้น
ข้อเก้าก็คือ เรื่องของข่าวสารข้อมูลตลาดหุ้นและการลงทุนทางสื่อมวลชนด้านต่าง ๆ ในช่วงใกล้ถึงจุดสูงสุดของตลาดหุ้นนั้น ข่าวและคอมเม้นท์จะมีมากมายในสื่อซึ่งถ้ามากถึงจุดหนึ่งก็จะออกทางสื่อมวลชน “กระแสหลัก” สำหรับในข้อนี้ผมคิดว่า “ข่าวหุ้น” ของไทยนั้น มีค่อนข้างมากและกว้างขวาง การจัดสัมมนาและมหกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับหุ้นได้รับการต้อนรับมากขึ้นเรื่อย ๆ บ่อยครั้งสื่อกระแสหลักก็นำเรื่องเกี่ยวกับตลาดหุ้นไปออก ข้อนี้ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยมีอาการระดับ 8-9 จากคะแนนเต็ม 10
สุดท้ายคือคำพูดหรือความรู้สึกของคนที่มีเงินและเป็นนักลงทุน ในช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นแย่ที่สุดอย่างช่วงปีวิกฤติ 2540 นั้น ทุกคนบอกว่า “Cash is King” แต่ในช่วงที่หุ้นจะถึง “ดอย” นั้น คำพูดจะเปลี่ยนเป็น “Cash is Trash” หรือเงินก็คือ “ขยะ” และสำหรับผมที่ช่วงนี้ผมมีเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นไปบางส่วนนั้น ผมรู้สึกอยู่บ้างเหมือนกันว่าเงินสดที่ถืออยู่นั้นได้ดอกเบี้ยต่ำเหลือเกิน ดูคล้ายกับขยะอะไรอย่างนั้น และทั้งหมดก็คือสัญญาณบางส่วนที่เมื่อนำมาประมวลว่าหุ้นไทยตอนนี้อยู่ที่ระดับไหน ข้อสรุปของผมก็คือ มันยังผสมผสานระหว่างใช่กับไม่ใช่ดอย นักลงทุนแต่ละคนจะต้องตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไรกับพอร์ตของตน
********************
สัญญาณแห่งดอย
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ Value Investor
Monday, 29 December 2014
ที่มา
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/29/1506
http://www.stock2morrow.com/showthread.php/67117-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%94%E0%B8%A3.%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3
สัญญาณแห่งดอย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ข้อแรกก็คือ ค่า PE หรือราคาหุ้นต่อกำไรของบริษัทของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปมักจะอยู่ในระดับสูงใกล้กับระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ค่า PB หรือราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปนั้นอยู่ในระดับสูง ส่วนอัตราเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือ Dividend Yield นั้นจะค่อนข้างต่ำ ดูจากตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ผมคิดว่าค่า PE ของตลาดหุ้นน่าจะใกล้ระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับค่า PB อย่างไรก็ตาม ปันผลนั้นยังค่อนข้างจะพอใช้ได้ที่ประมาณ 2.5%-3% ในความเห็นของผมนั้น ตัวเลขชุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหุ้นน่าจะถึงยอดดอยแล้ว เหตุผลก็คือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดของเราในช่วงนี้ต่ำเป็นประวัติการณ์ เงินฝากอยู่ในระดับไม่เกิน 2%-3% ดังนั้น ค่า PE ระดับ 17-18 เท่าและปันผลจากการลงทุนในหุ้นยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพอสมควร
ข้อสองคือ หุ้นที่เข้าข่ายที่จะเป็นหุ้น “Value” นั้นหาได้ยากขึ้นมาก หุ้นดี ๆ ราคาก็ค่อนข้างแพงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหุ้นพื้น ๆ นั้น ราคาก็ไม่ถูก จริงอยู่ เราอาจจะพอลงทุนได้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มี “Margin of Safety” เหลือเพียงพอสำหรับ “VI พันธุ์แท้” ที่เน้นลงทุนระยะยาวจริง ๆ ในข้อนี้ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ก็เข้าข่ายแล้ว
ข้อสามที่อาจจะบ่งบอกว่าหุ้นใกล้ถึงดอยก็คือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดกำลังขึ้น หรือสภาพคล่องทางการเงินเริ่มลดลง หรือในภาษาทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ Money Supply กำลังหดตัว ซึ่งในตลาดของไทยนั้น ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยของเรายังไม่มีท่าทีว่าจะขึ้น ว่าที่จริงอาจจะมีแนวโน้มที่จะลดลงด้วยซ้ำถ้าดูจากการลงมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุดที่มีกรรมการ 2 เสียงลงมติให้ลดดอกเบี้ยในขณะที่เสียงส่วนใหญ่ยังให้คงไว้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องนี้มีโอกาสเปลี่ยนได้เร็ว และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเองที่มีอิทธิพลต่อตลาดเงินโลกก็มีท่าทีว่าภายในปีหน้าก็จะปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น สัญญาณข้อนี้จริง ๆ ยังไม่น่าไว้วางใจ
ข้อสี่คือเรื่องหุ้น IPO นี่เป็นสัญญาณที่แรงมากในตลาดหุ้นไทย นั่นก็คือ ในช่วงที่ตลาดหุ้นใกล้ถึงจุดสุดยอดนั้น จะมีหุ้น IPO ออกขายมากมายและราคาหุ้นที่เข้าตลาดในวันแรก ๆ ก็จะปรับตัวสูงขึ้นมาก และนี่ก็เป็นข้อที่ผมรู้สึกกังวลว่า ตลาดหุ้นไทยนั้นอาจจะใกล้ Peak
ข้อห้าเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ทางเทคนิคซึ่งผมเองก็ไม่ได้ศึกษา แต่มีคนเคยศึกษาหรือให้ข้อสังเกตว่า ถ้าหุ้นกว่า 75% ในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีราคาสูงกว่าแนวโน้มระยะยาวของมันมาระยะหนึ่งซึ่งอาจจะหลายปีแล้ว ต่อมาจำนวนมันลดต่ำลงกว่า 75% นี่ก็อาจเป็นสัญญาณว่า หุ้นถึงดอยแล้ว ผมเองไม่ทราบว่ามีใครศึกษาเรื่องแบบนี้ในตลาดหุ้นไทยหรือไม่ ความเชื่อของผมก็คือ หุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้นั้น กว่า 75% มีราคาสูงกว่าแนวโน้มระยะยาวเพราะราคาหุ้นได้สูงขึ้นมามาก สิ่งที่ไม่รู้ก็คือ ขณะนี้มันลดลงมาต่ำกว่า 75% หรือไม่
ข้อหก คือสัญญาณที่ ปีเตอร์ ลินช์ เรียกว่า ทฤษฎี “งานเลี้ยงค็อกเทล” นี่คือเหตุการณ์ที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักลงทุนมืออาชีพหันมาสนใจการลงทุนหรือเล่นหุ้น ช่วงแรก ๆ ก็อาจจะสนใจไม่มาก แต่เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว การทำเงินจากการเล่นหุ้นดูเหมือนจะง่ายมาก คนก็สนใจหุ้นมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่คนที่ไม่ควรสนใจลงทุนในหุ้นเลยเช่นช่างทำผมหรือคนขับแท็กซี่หันมาสนใจเรื่องหุ้น ถ้าเกิดอาการแบบนี้ ก็อาจจะเป็นสัญญาณว่าหุ้นกำลังถึงยอดดอยและใกล้จะลง จากการสังเกตของผม ผมคิดว่าช่วงนี้ในตลาดหุ้นไทยมีคนกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาสนใจลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่น่าจะค่อนข้างมีฐานะและ/หรือมีการศึกษาพอสมควร ส่วนในคนทั่วไปนั้นผมก็คิดว่ามีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผมไม่รู้ว่ามากเท่าไร โดยรวมแล้ว น่าจะเป็นช่วงที่มีความตื่นตัวในหุ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ผมเคยเจอมา ดังนั้น ผมคิดว่าอาการนี้น่าจะ “ก้ำกึ่ง” สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้
ข้อเจ็ด คือเรื่อง “การสนองตอบต่อข่าวสารของหุ้น” ความหมายก็คือ ในช่วงที่หุ้นยังเป็น “ขาขึ้น” หรืออยู่ในภาวะกระทิงอยู่นั้น ข่าวสารที่ดี ๆ เช่น บริษัทประกาศผลประกอบการที่ดี ราคาหุ้นก็จะ “วิ่ง” รับกับข่าวชิ้นนั้น บางทีวิ่งมากกว่าข่าวดีด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่จะสิ้นสุดยุคกระทิง ข่าวดีที่ประกาศออกมานั้นกลับไม่ได้ได้รับการตอบรับที่ดีเท่า บางครั้งประกาศข่าวดีแต่ราคาหุ้นกลับลง ดูเหมือนว่าหุ้นนั้นรับข่าวดีไปหมดแล้ว ไม่มีเงินเหลือที่จะซื้อหุ้นอีกต่อไป คนรอแต่จะขายหุ้น สำหรับในข้อนี้ ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่เห็น ผมยังรู้สึกว่าข่าวดีนั้นยังได้รับการตอบรับที่ดี บางทีหุ้นยังขึ้นมากกว่าข่าวโดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก ๆ ที่ราคายังขึ้นมากมายรับข่าวดีเล็ก ๆ ที่อาจจะไม่ผลอะไรกับบริษัทจริง ๆ
ข้อแปดคือเรื่อง “การเปลี่ยนกลุ่มหุ้นชั้นนำในตลาด” ความหมายของเรื่องนี้ก็คือ ในแต่ละช่วงเวลานั้น จะมีหุ้นบางกลุ่มเป็นหุ้นกลุ่มชั้นนำในตลาดเช่น ถ้าย้อนหลังไปหลายสิบปี ในช่วงนั้น หุ้นกลุ่มแบงค์เคยเป็นหุ้นกลุ่มนำ ต่อมาอสังหาริมทรัพย์ก็เคยเป็นกลุ่มที่ทุกคนสนใจเล่นและมีขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มไฟแน้นซ์ ต่อมาก็หุ้นสื่อสารและกลุ่มพลังงานที่โดดเด่นมาจนถึงล่าสุด คำถามก็คือ ตอนนี้เรากำลังมีการ “เปลี่ยนกลุ่ม” หรือไม่โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน? ที่อาจจะมีปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ในเรื่องนี้ผมเองก็วิเคราะห์ไม่ออก แต่การเปลี่ยนกลุ่มหุ้นชั้นนำในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วนั้น หลายครั้งสอดคล้องกับการกลับตัวของทิศทางดัชนีตลาดหุ้น
ข้อเก้าก็คือ เรื่องของข่าวสารข้อมูลตลาดหุ้นและการลงทุนทางสื่อมวลชนด้านต่าง ๆ ในช่วงใกล้ถึงจุดสูงสุดของตลาดหุ้นนั้น ข่าวและคอมเม้นท์จะมีมากมายในสื่อซึ่งถ้ามากถึงจุดหนึ่งก็จะออกทางสื่อมวลชน “กระแสหลัก” สำหรับในข้อนี้ผมคิดว่า “ข่าวหุ้น” ของไทยนั้น มีค่อนข้างมากและกว้างขวาง การจัดสัมมนาและมหกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับหุ้นได้รับการต้อนรับมากขึ้นเรื่อย ๆ บ่อยครั้งสื่อกระแสหลักก็นำเรื่องเกี่ยวกับตลาดหุ้นไปออก ข้อนี้ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยมีอาการระดับ 8-9 จากคะแนนเต็ม 10
สุดท้ายคือคำพูดหรือความรู้สึกของคนที่มีเงินและเป็นนักลงทุน ในช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นแย่ที่สุดอย่างช่วงปีวิกฤติ 2540 นั้น ทุกคนบอกว่า “Cash is King” แต่ในช่วงที่หุ้นจะถึง “ดอย” นั้น คำพูดจะเปลี่ยนเป็น “Cash is Trash” หรือเงินก็คือ “ขยะ” และสำหรับผมที่ช่วงนี้ผมมีเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นไปบางส่วนนั้น ผมรู้สึกอยู่บ้างเหมือนกันว่าเงินสดที่ถืออยู่นั้นได้ดอกเบี้ยต่ำเหลือเกิน ดูคล้ายกับขยะอะไรอย่างนั้น และทั้งหมดก็คือสัญญาณบางส่วนที่เมื่อนำมาประมวลว่าหุ้นไทยตอนนี้อยู่ที่ระดับไหน ข้อสรุปของผมก็คือ มันยังผสมผสานระหว่างใช่กับไม่ใช่ดอย นักลงทุนแต่ละคนจะต้องตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไรกับพอร์ตของตน
********************
สัญญาณแห่งดอย
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ Value Investor
Monday, 29 December 2014
ที่มา http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/29/1506
http://www.stock2morrow.com/showthread.php/67117-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%94%E0%B8%A3.%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3