ศาลฎีกายกฟ้องคดี บก.นสพ.ผู้จัดการ หมิ่นฯ “เมียหมอเลี้ยบ” ปี 51 ชี้ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์

กระทู้สนทนา
ASTVผู้จัดการ - ศาลฎีกาพิพากาษายกฟ้องคดี บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการ คดี “เมียหมอเลี้ยบ” ฟ้องหมิ่นประมาทตั้งแต่ปี 2551 ชี้ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550
       
       ช่วงเช้าวันนี้ (23 ธ.ค.) ศาลฎีกาได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทที่ นางปราณี สืบวงศ์ลี ภรรยา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับ นายขุนทอง ลอเสรีวาณิช ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการวันลงข่าวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2551 ด้วยข้อความว่า “เลี้ยบลุย มั่นใจไทยแลนด์ 2” ซึ่งตั้งคำถามถึงการจัดจ้างจัดงานและประชาสัมพันธ์ในโครงการ “ดีแน่ถูกแน่ เพื่อคนไทย” โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง เนื่องจากการกระทำของจำเลย ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ตามฟ้อง
       
       ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยให้จำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
       
       สำหรับคำพิพากษาฉบับเต็มมีรายละเอียดดังนี้
       
        โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบรรณาธิการ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๑ เวลากลางวัน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับที่ ๕๕๒๕ (๕๕๒๓) ปีที่ ๑๘ พิมพ์ข้อความโฆษณาใส่ความนางปราณี สืบวงศ์ลี ผู้เสียหาย ต่อบุคคลที่สาม คือ ประชาชนที่ได้พบและอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ด้วยข้อความว่า “เลี้ยบลุย มั่นใจไทยแลนด์ ๒” สตง. พบหลังบ้านรมต.เอี่ยวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แหล่งข่าว สตง.เปิดเผยว่าการจัดงานน่าจะใช้รูปแบบและวิธีการเดียวกับครั้งแรก “ดีแน่ถูกแน่เพื่อคนไทย” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ – ๒๐ ก.ค. ที่ผ่านมาซึ่งใช้มติ ครม. ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เช่นโครงการหวยบนดิน หรือสลากเลขท้าย ๒ ตัว ๓ ตัว ที่ใช้มติ ครม. แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งนี้ไม่ใช้วิธีการประมูล ตามระเบียบโครงการที่ใช้งบสูงกว่า ๕ ล้านบาท ต้องใช้วิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการ “การลงทุนเพื่ออนาคตของคนไทย” เป็นไปตามที่ สตง.คาดการณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าซ้ำรอย “ดีแน่ถูกแน่เพื่อคนไทย” หรือไม่ นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบบริษัทเอกชนที่รับจัดงานและประชาสัมพันธ์โครงการ ฯ ด้วยว่ามีความสัมพันธ์กับ รมว. คลังและคณะที่ปรึกษาหรือไม่ โดยความคืบหน้าล่าสุดพบว่าการจดทะเบียนบริษัท ฯ เป็นช่วงเดียวกันกับการจดทะเบียนของบริษัทที่นางปราณี สืบวงศ์ลี ภริยา รมว.คลังถือหุ้นอยู่” ข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ได้อ่านเข้าใจและเชื่อว่าผู้เสียหายมีพฤติกรรมมิชอบ ไม่มีจริยธรรม จิตใจละโมบ และแสวงหาประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามีของผู้เสียหาย โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พร้อมทั้งนำหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวจำนวน ๑ ฉบับ ไปมอบให้พนักงานสอบสวนยึดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๓๓ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔ ริบของกลาง
       
           จำเลยให้การปฏิเสธ
           
           ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ประกอบพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔ จำคุก ๒ ปี และปรับ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง
       
           จำเลยอุทธรณ์
       
           ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
       
           โจทก์ฎีกา
       
           ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มิได้มีบทบัญญัติลงโทษบรรณาธิการในกรณีเนื้อหาข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และ ๓๒๘ แม้ตามมาตรา ๔ บัญญัติว่า “ “บรรณาธิการ” หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย” ก็ตาม แต่การตีความคำว่า “รับผิดชอบ” ในบทกฎหมายมาตราดังกล่าวย่อมต้องกระทำโดยเคร่งครัด มิอาจตีความขยายความว่าหมายถึงเป็นความรับผิดชอบทางอาญาเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยมิได้เป็นผู้ประพันธ์หรือร่วมประพันธ์ข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายตามฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ ฎีกาของโจทก์ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
       
           พิพากษายืน
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000147393
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่