“ตู่”กลับเข้าคุก ศาลฎีกาสั่งขัง 1 ปีไม่รอลงอาญา หมิ่น “อภิสิทธิ์”สั่งฆ่าประชาชน (เฮ้อ มีสิทธิ ในการหนีแท้ๆ กลับไม่ใช้)

MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำคุก “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.เป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาท “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” กรณีปราศรัยที่ัวัดไผ่เขียว ปี 52 กล่าวหาเป็นทรราชฟันน้ำนม สั่งฆ่าประชาชน
       
       วันนี้ (20 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332
       
       โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.52 ระบุว่า วันที่ 10 พ.ค.52 นายจตุพร จำเลยได้ปราศรัยด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชน จำนวนกว่าหมื่นคน ใส่ความรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ (ขณะนั้น)ว่า ทำนองว่า เป็นรัฐบาลภายใต้ทรราชฟันน้ำนม รวมทั้งกล่าวหาว่า โจทก์เป็นนคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน ใส่ร้ายประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง โจทก์จะต้องถูกประหารชีวิต ข้อหาฆ่าคนตาย และข้อความอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ การกระทำของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมาก ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จากประชาชนที่ได้ยินได้ฟังการปราศรัยของจำเลย เหตุเกิดที่วัดไผ่เขียว แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. คดีนี้หลังจากศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ
       
       คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.55 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่าทางนำสืบรับได้ว่าเป็นกรณีที่ได้มีการปราศรัย แถลงข่าว วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการตอบโต้ทางการเมืองทางวิธีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท
       
       ต่อมา โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริง ที่เป็นมูลเหตุที่นำมาสู่การกล่าวหมิ่นประมาท ที่มิใช่เพียงการโต้ตอบทางการเมือง
       
       ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาแล้วนั้น รูปคดีมีเหตุผลที่ทำให้จำเลยเชื่อว่าน่าจะมีมูลเหตุในเรื่องที่จำเลยได้กล่าวถึงจริง ซึ่งการกล่าวของจำเลยเป็นการปกป้องตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้องจำเลย
       
       ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา
       
       ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า จากข้อเท็จจริงเห็นว่าโจทก์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเสร็จไปก่อนเกิดความไม่สงบที่กระทรวงมหาดไทย ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะสร้างสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก และไม่สมเหตุผลที่โจทก์จะต้องสร้างสถานการณ์ไม่สงบให้เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลโจทก์ เมื่อพิจารณาภาพเหตุการณ์ประกอบหนังสือพิมพ์ปรากฏว่าวันดังกล่าวมีกลุ่มคนสวมเสื้อแดงรุมทุบทำลายรถ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ หากรัฐบาลโจทก์จัดฉากก็น่าจะนำนายนิพนธ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลออกไปพร้อมโจทก์ด้วย ไม่น่าจะจัดฉากสร้างสถานการณ์ ข้ออ้างไม่มีน้ำหนัก
       
       จำเลยในฐานะแกนนำมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองกับโจทก์อย่างรุนแรง จึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด และวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้านก่อนที่จะมีการกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะการปราศรัยของจำเลยในฐานะแกนนำดังกล่าว ย่อมเป็นข่าวออกไปและส่งผลกระทบต่อโจทก์ รวมทั้งสังคมอย่างกว้างขวาง หรือถ้าหากจำเลยต้องการที่จะกล่าวปราศรัยถึงเหตุการณ์ความไม่สงบที่กระทรวงมหาดไทย จำเลยก็อาจกล่าวอ้างว่าได้ข้อมูลมาอย่างไร ในลักษณะไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลของโจทก์เป็นผู้จัดฉากสร้างสถานการณ์ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงทุบรถของโจทก์ โดยความจริงโจทก์ก็ไม่ได้อยู่ในรถ เพื่อให้เห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงมีอาวุธ ก่อเหตุร้ายในที่ต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงอย่างรุนแรง โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะยืนยันว่ารัฐบาลของโจทก์จัดฉากสร้างสถานการณ์ขึ้นโดยโจทก์ไม่ได้อยู่ในรถคันเกิดเหตุที่กระทรวงมหาดไทย
       
       จึงเป็นกรณีเลือกเชื่อที่จะหยิบยกข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนนี้มาใส่ความโจทก์เพื่อหวังผลทางการเมือง หาใช่เป็นการเชื่อโดยสุจริต การกล่าวปราศรัยของจำเลยไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนเอง หรือมีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 วรรคหนึ่ง และเมื่อฟังได้ว่าไม่ได้แสดงความเห็นโดยสุจริตแล้ว การกระทำย่อมไม่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามโจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  328 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี พร้อมให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เดลินิวส์ มติชน ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยชำระค่าโฆษณา
       
       ภายหลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้ควรคุมตัวนายจตุพรที่ยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้ม ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาต่อไป

http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9600000073842
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่