คุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา"เอกลาภ ยิ้มวิไล" อดีตเจ้าของ Zipmex เว็บเทรดคริปโตไทย

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่มีผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ซึ่งเคยเป็นผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่โด่งดังและเป็นที่นิยมมากที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย และนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท ซิปเม็กซ์ฯ เป็นจำเลยที่ 1 และ 2

ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานและมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยพิพากษาลงโทษปรับบริษัท ซิปเม็กซ์ฯ เป็นเงิน 100,000 บาท และลงโทษจำคุกนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

ภายหลัง นายกิจจา จงขวัญยืน ตัวแทนผู้เสียหายกลุ่ม 'ร่วมสู้ Zipmex' ซึ่งได้ส่งทีมกฎหมายเข้าสังเกตการณ์ฟังคำพิพากษา เปิดเผยว่า ขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนตัวเล็ก ๆ ที่ลุกขึ้นสู้กับผู้มีอำนาจ และขอบคุณเพื่อนผู้เสียหายและทีมทนายที่ช่วยกันเดินหน้าฟ้องคดีอาญาจนเกิดความคืบหน้า โดยปัจจุบันมีผู้เสียหายรวมตัวกันกว่า 700 ราย มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และทางกลุ่มได้ร่วมกันยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม (consumer class action) โดยฟ้องจำเลย 23 ราย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อเรียกค่าเสียหายและลงโทษ รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมาย VLA ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ตัวแทนกลุ่มร่วมสู้ Zipmex ที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่ม เปิดเผยว่า คดีนี้มีประชาชนเสียหายเป็นหมื่นราย แต่เรื่องผ่านมาเกือบ 3 ปี กลับต้องให้ประชาชนเป็นฝ่ายฟ้องคดีอาญาเองจนชนะคดีในที่สุด ซึ่งเป็นผลเฉพาะราย จึงขอให้ภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งดำเนินคดีอาญาแผ่นดินเพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่สองราย และเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้เสียหายทุกคนโดยเร็วที่สุด

"เรามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศร่วมมือกันหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจว่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าซิปเม็กซ์ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยและไม่มีความเสี่ยง แต่แท้จริงแล้วได้นำสินทรัพย์ของผู้เสียหายไปใช้ในการกู้ยืมเงินในต่างประเทศโดยผิดกฎหมายเพื่อหวังกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัว จนทำให้ลูกค้ากว่าหมื่นรายได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง" นายวีรพัฒน์กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องที่สำนึกผิด แสดงความจริงใจโดยเร่งช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายโดยเร็วที่สุด

ที่มา https://mgronline.com/crime/detail/9680000015842
ที่มา https://www.matichon.co.th/local/crime/news_5053926
ภาพ https://www.prachachat.net/ict/news-986451

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่