ฎีกายืน “สมคิด บาลไธสง” อดีต ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย จ่ายเงิน 5 แสน เหตุอภิปรายหมิ่นทหารคุมม็อบเสื้อแดง

กระทู้สนทนา
ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ “สมคิด บาลไธสง” อดีต ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย จ่ายค่าสินไหมทดแทน 5 แสน กรณี อภิปรายหมิ่นนายทหารทำหน้าที่คุมม็อบเสื้อแดงป่วนหน้าแฟลตดินแดง ปี 52
       
       ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (24 ธ.ค.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.117/2554 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมคิด บาลไธสง อดีต ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 326 และ 328 สืบเนื่องจาก วันที่ 23 เม.ย. 2552 จำเลยได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร พาดพิง พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ ว่าใช้มือกระชากผมหญิงผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง
       
       คดีนี้อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2554 ระบุว่า วันที่ 23 เม.ย. 2552 เวลากลางวัน จำเลยได้ใส่ความ พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ยศขณะนั้น) ด้วยการอภิปรายในการประชุมร่วมของรัฐสภาว่า พ.ท.เกรียงศักดิ์เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชายแต่งกายเสื้อยืดสีเขียว กางเกงสีเข้ม ทำร้ายร่างกายหญิงซึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง โดยใช้มือกระชากผมแล้วลากไปตามถนน การอภิปรายนั้นมีการถ่ายทอดสดผ่านวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ ทำให้ผู้เสียหายต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยคดีนี้ พ.ท.เกรียงศักดิ์ ผู้เสียหายได้ขอให้ชดใช้ค่าสินไหม 500,000 บาทด้วย
       
       โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 328 จึงให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาทด้วย
       
       จากนั้นจำเลยยื่นฎีกาและขอทุเลาการบังคับคดี โดยขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องและพิพากษาลดค่าเสียหายให้เป็นธรรมแก่จำเลย
       
       ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นว่าที่จำเลยฎีกาว่าการพูดอภิปรายของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสุจริตและไม่มีเจตนาใส่ความผู้เสียหายนั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าจำเลยอภิปรายใส่ความผู้เสียหายถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทและคดีมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรค 1 คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้
       
       คงมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายหรือไม่เพียงใด เห็นว่าการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่ง ศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญารับฟังเป็นข้อยุติว่าจำเลยหมิ่นประมาทผู้เสียหายโดยการโฆษณาแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่การกำหนดค่าสินไหมทดแทน ให้จำเลยชดใช้แก่ผู้เสียหายเพียงใดนั้น ศาลสามารถกำหนดได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรค 1 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายรับราชการทหารมียศพันโททำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมืองและก่อความไม่สงบใน กทม. การที่จำเลยใส่ความผู้เสียหายว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระชากผมผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงหรือบุคคลอื่น ที่เชื่อว่าผู้เสียหายกระทำต่อผู้หญิงจึงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า ทำให้ผู้เสียหายและครอบครัวถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายได้ และเมื่อพิจาร ณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 5 แสนบาทจึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9570000147651
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่