กฎหมายภาษีการรับมรดกและภาษีการรับ ให้ ตอบโจทย์ประเทศไทยจริงหรือ?

1) การเก็บภาษีการรับมรดกทำให้ผู้ประกอบธุรกิจบางกลุ่มขาดแรงจูงใจที่จะขยายการลงทุนเพราะทราบว่าเมื่อมีความมั่งคั่งมากขึ้นก็จะถูกเก็บภาษี จึงขาดความกระตือรือร้น โดยเฉพาะคนชั้นกลาง ธุรกิจ SME ที่เริ่มทำธุรกิจเพื่อสร้างความมั่งคั่งก็จะไม่คิดขยายการลงทุน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

2) การเก็บภาษีการรับมรดกเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ปัจจุบันผู้ประกอบการที่เสียภาษีครบถ้วนจะมีต้นทุนภาษีประมาณ 28% ซึ่งมาจากภาษีเงินได้นิติบุคคลสุทธิรวมเงินปันผล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีก 35% นอกจากนี้ เจ้ามรดกอาจเสียภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น มาแล้ว ดังนั้น การเก็บภาษีการรับมรดก จึงเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน

3) มีความยากในการจัดเก็บภาษีและแนวโน้มการจัดเก็บภาษีที่อาจขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากการเก็บภาษีทรัพย์สินทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่จดทะเบียนหรือไม่ หรืออยู่ที่ใดในโลกนี้ จะส่งผลให้เกิดการหนีภาษีและยากต่อการบังคับใช้ เพราะไม่มีหลักฐานทางทะเบียนในการตรวจสอบ รวมทั้งปัญหาการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (สังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน) มีความยุ่งยากและขาดความชัดเจน อาจก่อให้เกิดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว และอาจนำมาซึ่งการทุจริตร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินกับผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี หรือในบางครั้ง อาจเป็นการผลักภาระให้แก่ทายาท เพราะแม้ทายาทจะไม่เห็นด้วยกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของเจ้าพนักงาน แต่ทายาทมีหน้าที่นำเงินเท่าจำนวนภาษีที่ต้องเสียไปวางก่อนจึงจะเกิดสิทธิในการโต้แย้งราคาที่ประเมินได้

4) การเก็บภาษีการรับมรดกนำไปสู่การเคลื่อนย้ายเงินทุนและความมั่งคั่งของคนไทยไปยังต่างประเทศที่ไม่จัดเก็บภาษีการรับมรดก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีการลงทุนระหว่างประเทศอยู่แล้วอาจนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นและจัดตั้งทรัสต์ในต่างประเทศ จึงเป็นการยากที่รัฐบาลจะหามาตรการป้องกันการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินและความมั่งคั่งไปยังประเทศที่ไม่มีข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุนหรือมีน้อยกว่า เช่น ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งประเทศเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนี้โดยปริยาย

5) การเก็บภาษีการรับมรดกจะทำให้เกิดการขายทรัพย์สินในราคาถูก เพื่อหลบเลี่ยงภาษีการรับมรดกโดยถือเป็นเงินสดหรือทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ตรวจสอบได้ยาก

6) ราคาของอสังหาริมทรัพย์จะเคลื่อนไหวลดลง เนื่องจากมีการขายอสังหาริมทรัพย์ในราคาถูกเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด ด้วยความหวั่นเกรงกฎหมายภาษีการรับมรดก เช่นกรณีตามข้อ 4 และข้อ 5 ข้างต้น

7) ผลกระทบทางลบของตลาดทุนหรือตลาดหุ้น กล่าวคือ การจัดเก็บภาษีมรดกมีแนวโน้มส่งผลกระทบให้เจ้าของทรัพย์สินลดการลงทุนหรือไม่ลงทุนในสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียน เช่น หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

8) การเก็บภาษีการรับมรดกอาจสร้างภาระให้แก่รัฐแทน หากทายาทผู้รับมรดกเป็นบุคคลที่ไม่ความสามารถในการเลี้ยงชีพ (ผู้พิการ) บุคคลเหล่านี้เมื่อต้องชำระภาษีการรับมรดก ทรัพย์สินที่เหลือในการยังชีพจะน้อยลงและไม่อาจเพียงพอ ท้ายสุดจะตกมาเป็นภาระของรัฐที่จะต้องดูแลต่อไป

9) การเก็บภาษีการรับมรดกอาจก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแก่ทายาทผู้รับมรดกที่ไม่มีความสามารถในการดูแลทรัพย์สิน เช่น ผู้เยาว์ ผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งเมื่อบุคคลดังกล่าวต้องจ่ายภาษีมรดก ผู้ปกครองที่ดูแลบุคคลดังกล่าวอาจแสวงหาประโยชน์จากผู้เยาว์โดยการขายทรัพย์มรดกที่ได้รับให้แก่ตัวเองหรือพวกพ้องในราคาถูก เพื่อนำมาชำระภาษีที่ผู้เยาว์มีหน้าที่ต้องชำระ

10) ขัดต่อหลักความสามารถในการเสียภาษีของผู้รับมรดก ผู้รับมรดกที่มีรายได้ต่ำและไม่มีเงินสดพอที่จะเสียภาษีการรับมรดกได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ทั้งยังเป็นการทำลายกลุ่มคนฐานะปานกลางที่เริ่มจะสร้างความมั่งคั่งได้ (คนรวยรุ่นใหม่) หรือบุคคลที่มีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินจากการเพิ่มมูลค่า แต่ใช้อยู่อาศัยเมื่อได้รับมรดกก็ไม่มีเงินสดชำระภาษีตามมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ทรัพย์สินก็จะถูกขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้คนที่มั่งคั่งมากๆ สามารถซื้อทรัพย์สินนั้นได้ในราคาถูก และผู้รับมรดกก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่ที่ควรอยู่ได้

11) เป็นนโยบายที่ไม่ส่งเสริมให้มีการสืบทอดธุรกิจไทยจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง และเพิ่มความเสี่ยงให้ทายาทไม่สามารถรักษาทรัพย์สินของบรรพบุรุษไว้ได้ โดยเฉพาะการสืบทอดกิจการโดยการรับโอนหุ้นในกิจการของครอบครัว เนื่องจากทายาทอาจไม่มีเงินสดมากพอที่จะเสียภาษีและอาจเลือกขายหุ้นในธุรกิจเพื่อหาเงินสดมาชำระภาษีแทน เพราะมิฉะนั้นทายาทจะมีความผิดทางภาษี

นอกจากนี้ ในหลายประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกหรือภาษีการรับมรดกต่างก็เผชิญกับปัญหาการบริหารการจัดเก็บภาษีมากมายหลายแง่มุม เช่น รัฐบาลประเทศอังกฤษต้องใช้งบประมาณกว่า 77 ล้านปอนด์เพื่อนำไปใช้ในการรับมือกับการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก โดยเฉพาะการเพิ่มบุคลากรของรัฐและการจัดตั้งหน่วยงานป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีในต่างประเทศ (ข้อมูลจาก Government of United Kingdoms, “No safe havens : Our offshore evasion strategy 2013 and beyond”, https://www.gov.uk)

ในประเทศสหรัฐอเมริกา งานวิจัยของ ศ. คูเปอร์ที่เก็บข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 1997 - 2011 แสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียภาษีลดลงอย่างน่าใจหาย จากจำนวน 50,000 คนในปี 2000 จนกระทั่งเหลือเพียงไม่ถึง 10,000 คนในปี 2011 ในขณะที่อัตราภาษีที่เสียจริงๆ นั้นก็อยู่ที่ 18-20% ซึ่งเท่ากับว่าเศรษฐีอเมริกันประหยัดภาษีไปกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่รัฐเรียกเก็บที่ระดับ 45-50% (โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 18 ต.ค. 2557, “ภาษีการรับมรดกเก็บจริงยาก” โดย ผศ. ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์)

นอกจากนี้ ด้วยความไม่ชัดเจนในการนิยามและคำนวณมูลค่าของมรดก รวมถึงช่องทางการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมรดกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มูลค่ารวมของการจัดเก็บภาษีมรดกในประเทศต่างๆ อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก โดยในระยะหลังภาษีมรดกสร้างรายได้ให้กับประเทศต่างๆ ที่จัดเก็บต่ำกว่าร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับรายได้ภาษีทั้งหมดของรัฐบาล หรือต่ำกว่าร้อย 0.5 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ในขณะที่ต้นทุนการจัดเก็บภาษีมรดกของประเทศมักอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องมีฐานข้อมูลทรัพย์สินที่ดี ต้องมีกระบวนการรวบรวมและประเมินมูลค่ารวมไปถึงมีกรณีฟ้องร้องเกี่ยวกับวิธีการประเมินและการคำนวณภาษีมรดกเป็นจำนวนมาก
เครดิต Bangkokbiznews Dec.19 2014
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่