การใช้สรรพนามบุรุษที่1,2,3 ภาษาที่พูดคุยกันในแต่ละยุคสมัย สะท้อนอะไรได้บ้างครับ

ปกติผมไม่ค่อยได้ดูละครทีวีสักเท่าไหร่เวลาที่ทำงานอยู่
แต่ตอนนี้โดนเจ้านายบีบให้ออกจากงานมาใช้เงินเก็บให้หมดก่อน
ก็เลยมีเวลาว่างดูละครทีวีทุกเย็นและดึก
ผมรู้สึกดีขึ้นแฮะ เมื่อเทียบความรู้สึกกับการดูละครในยุคก่อนๆ
รู้สึกดีขึ้นในแง่ที่ภาพในละครฉากต่างๆมันเจริญหูเจริญตาขึ้นหนึ่งละ
มันคงสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ที่ร่ำรวยขึ้นของคนส่วนหนึ่ง
ในสังคม
จะมากน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้นะ แต่ในละคร ตัวละครที่ฐานะธรรมดาค่อนไปทางยากจน
บ้านช่องห้องหับก็ดูดีมีระดับอย่างไม่น่าเชื่อ
ดูแล้วก็สบายตาสบายใจดี จะเป็นแค่มายาหรือความจริงในสังคม ก็พักไว้ก่อนแล้วกัน
เพราะโลกและมุมมองของผมมันแคบเกินไปที่จะวิเคราะห์
แต่ที่ผมรู้สึกได้และรู้สึกดีมากๆคือการใช้คำพูด พูดคุยกัน
ในบทละคร
การใช้ภาษา การใช้สรรพนามต่างๆได้ไพเราะเพราะพริ้งขึ้น
คำหยาบคาย การด่าทอด้วยอารมณ์ที่กราดเกรี้ยวลดน้อยลงไปเยอะจากเมื่อก่อนที่มีบ่อยๆ
การพูดคุยกันในครอบครัว อบรมสั่งสอนลูกหลานก็ฟังดูดีขึ้น

หรือจะเป็นความบังเอิญช่วงหนึ่งของการทำรายการทีวีในช่วงนี้ก็สุดจะเดา
ที่แน่ๆเลยคือมันแบ่งแยกชนชั้นกันอย่างชัดเจนด้วยการใช้สรรพนามแทนตัวต่างๆ
คือ ผม คุณ ครับ ค่ะ ดิฉัน เขา ท่าน คำเหล่านี้คือคำพูดของคนรวย คนมีการศึกษา คนที่มีพลังทางสังคม มีอำนาจบารมีในการกำหนดทิศทางความเป็นไปในสังคม
ส่วนคำว่า ไอ้ อี มึ_  กุ  คำด่าทอหยาบๆต่าง เราจะได้ยินก็ต่อเมื่อมีบทตัวละครที่เป็นคนชั้นล่างจริงๆ
ส่วนใหญ่เป็นพวกอ่อนแอด้อยพลัง ไร้อนาคตในสังคมใช้กัน
(ในละครนะ)
ที่ผมว่ามันน่าสนใจก็คือคำพูดเหล่านี้เราจะได้เห็นในการแสดงได้อีกในหนังหรือละครย้อนยุคต่างๆที่ย้อนขึ้นไปเป็นร้อยๆปี
แต่คำศัพท์เหล่านี้เป็นคำศัพท์ของเจ้านายชั้นสูงใช้มาก่อน
คนพูดจะต้องมีอำนาจบารมีสูงส่ง
หรือคนชั้นล่างที่อยากแสดงอำนาจบารมีอยู่เหนือคนที่สนทนาด้วยก็จะใช้คำเหล่านี้
กษัตริย์ เจ้านายชั้นสูง     กุ มึ_ ไอ้ อี  และคำด่าหยาบๆอีกมากมายหาอ่านได้ตามวรรณคดีสมัยเก่าทั่วไป
ไพร่ ขี้ข้า คนรับใช้       เจ้าค่ะ ขอรับ กระผม อิฉัน  
ก็ใช้กันมาแบบนี้ทั่วบ้านทั่วเมืองเป็นเวลาหลายร้อยปี

สงสัยก็คือทำไมบทบาทของคนในสังคมที่เลือกใช้คำพูดเหล่านี้ถึงสลับกันเสียล่ะครับ
แล้วในสมัยก่อนคนที่พูดคำศัพท์ตามๆเจ้านายชั้นสูงพูด ถือเป็นคำหยาบคายไหม

แล้วคนที่พูดขอรับกระผม เจ้าคะเจ้าขา ในสมัยนั้นถือเป็นคำพูดหยาบคายเหมือนคนพูดกุมึ_ในสมัยนี้ไหมครับ
แล้วทำไมสมัยก่อนจึงนิยมพูดกุมึ_กันทั่วไป แล้วก็ด่าทอกันด้วยคำหยาบต่างๆมากกว่าคำพูดที่สุภาพไพเราะ
เพราะต้องการเลียนแบบชนชั้นสูงในสังคมใช่หรือไม่ครับ

ที่สำคัญคือปัจจุบันนี้มันกลับบทบาทกันไปอย่างสิ้นเชิง
สงสัยอีกว่า ในอนาคตอีกร้อยๆปีมันจะสลับกลับกันอีกรึเปล่าครับ
คือว่าตอนนี้ก็เริ่มมีบางคนบ่นเกลียดคนรวย คนพูดจาดี
หน้าเนื้อใจเสือ โจรในเสื้อสูทรบ้าง  ถูกมองว่าเป็นชนชั้นเอารัดเอาเปรียบบ้าง
ซึ่งเป็นความรู้สึกของบางคนนะครับไม่ใช่ทั้งหมด
ส่วนผมรู้สึกดีกับละครทีวีที่ด่ากันน้อยลง
อาภาปราศรัยกันในครอบครัวมากขึ้น
มีการอบรมสั่งสอนลูกหลานกันด้วยเหตุด้วยผลมากขึ้น
ผมหวังว่าสักวันสังคมเราจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขี้นจากการดูละครทีวี
และจดจำเอาตัวอย่างที่ดีไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ด้วยความใจเย็น มีเมตตาและปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างอ่อนโยนมากขึ้น ลุแก่โทสะโมหะน้อยลง
ผมคิดว่าคงไม่มีใครชอบทั้งการพูดคุยและการปฏิบัติต่อกันแบบไพร่ชั้นต่ำอีกแล้วใช่ไหมครับ
บอกตรงผมได้ยินมามากโดนปฏิบัติมามากแล้วในชีวิตจริง
เบื่อแล้ว เลิกเสียเถอะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่