เพื่อนพันทิพๆคิดยังไงกับพรบ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หอพัก-แยกหอพักชาย-หญิง ห้ามถึงแค่จบปตรี

เพื่อนๆมีความคิดเห็นกับพรบนี้ครับ ส่วนตัวผมเห็นด้วยนะคุมหอพักแยกชายหญิงแค่ มัธยมถึงจบ ปริญญาตรี หลังจากนั้นไม่คุมอยู่กันได้ปกติ เพราะปัจจุบันผมเห็นทั้งมหาลัยเอกชนและรัฐบาลมีชื่อหลายแห่ง แฟนชายหญิงแยกออกมาอยู่เป็นคู่ๆ กันมากมายจนเป็นเรื่องปกติ เลย โดยที่พ่อแม่ไม่รู้

#########
ที่มา
http://prachatai.org/journal/2014/11/56689

###########################################

Wed, 2014-11-26 02:53

มติ ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หอพัก ใช้กับผู้กำลังศึกษาไม่เกิน ป.ตรี-อายุไม่เกิน 25 ปี กำหนดให้หอพักชายและหอพักหญิงไม่ปะปนกัน กำหนดหลักเกณฑ์เรียกเก็บค่าเช่า การทำสัญญาเช่า การขอใบอนุญาต-การเพิกถอนใบอนุญาต และการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก สังกัด พม.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

26 พ.ย. 2557 - ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม เว็บไซต์รัฐบาลไทย มีการเผยแพร่ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยหนึ่งในเรื่องที่มีการเห็นชอบคือร่าง "พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. ...." โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในปัจจุบันแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา โดยให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับ ..) พ.ศ. .... (แบ่งส่วนราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สำรวจจำนวนหอพักที่เข้าเกณฑ์และได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการก่อนร่างพระราชบัญญัติจะมีผลใช้บังคับ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้หอพัก หมายความว่า สถานที่ที่รับเฉพาะผู้พักตามพระราชบัญญัตินี้เข้าพักอาศัยโดยมีการเรียกเก็บค่าเช่า โดยผู้พักได้แก่ ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาทั้งของรัฐและของเอกชนที่จัดการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีและอายุไม่เกินยี่สิบห้าปี

2. หอพักที่อยู่ภายใต้บังคับแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ คือ หอพักสถานศึกษาซึ่งได้แก่ หอพักที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเป็นสถานศึกษา และหอพักเอกชนซึ่งได้แก่ หอพักที่ผู้ประกอบกิจการเป็นบุคคลทั่วไป

3. กำหนดให้หอพักมี 2 ประเภท คือ หอพักชายและหอพักหญิง เพื่อป้องกันมิให้มีการปะปนกันระหว่างผู้พักชายและผู้พักหญิง ทั้งนี้ ไม่ได้ตัดสิทธิผู้ประกอบกิจการหอพักที่จะสร้างหอพักชายและหอพักหญิงอยู่ในบริเวณเดียวกันแต่ต้องแยกอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักออกจากกัน

4. กำหนดหลักเกณฑ์การรับผู้พัก ดังนี้

4.1 หอพักสถานศึกษาสามารถรับผู้พักซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือระดับอุดมศึกษาได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้พักจะศึกษาอยู่ในสถานศึกษานั้นหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งได้กำหนดข้อยกเว้นให้หอพักสถานศึกษาสามารถรับบุคคลทั่วไปเข้าพักเป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างปิดภาคการศึกษาที่ไม่มีผู้พัก

4.2 หอพักเอกชนกำหนดให้รับผู้พักได้เฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากผู้พักดังกล่าวสามารถดูแลตนเองได้พอสมควร

5. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือระหว่างผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้พักตามแบบที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักกำหนด เพื่อให้สัญญาเช่าหอพักมีมาตรฐานเดียวกัน

6. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้าและเงินประกันไว้ในกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้พัก

7. กำหนดให้ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาและหอพักเอกชนต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักจากนายทะเบียน คือผู้บริหารองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งในเขตพื้นที่ที่หอพักตั้งอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้โอนอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการหอพักให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้กำหนดให้บรรดาค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และรายได้อื่น ๆ เกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพักตามพระราชบัญญัตินี้ ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

8. กำหนดให้ใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาใช้ได้ตลอดไปโดยไม่มีอายุ แต่จะสิ้นผลเมื่อผู้ประกอบกิจการหอพักถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษาหรือเลิกกิจการ แล้วแต่กรณี และในกรณีผู้ประกอบกิจการหอพักดังกล่าวประสงค์จะประกอบกิจการหอพักต่อไป ให้ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นหอพักเอกชน สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชนให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

9. กำหนดให้หอพักสถานศึกษาได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพัก และอาจได้รับสิทธิในการได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษจากการประกอบกิจการหอพักโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากรหรือได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย หรือภาษีอื่นใดในทำนองเดียวกัน สำหรับหอพักเอกชนที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักอาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและการสนับสนุนด้านการเงินหรือวัสดุอุปกรณ์เช่นเดียวกับหอพักสถานศึกษา เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการหอพักเอกชนเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัตินี้มากยิ่งขึ้น

10. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องจัดให้มีผู้จัดการหอพักเพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลหอพัก รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการหอพักจัดการหอพัก

11. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมกิจการหอพักโดยให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ รับผิดชอบเกี่ยวกับงานธุรการของคณะกรรมการและของคณะอนุกรรมการ

12. กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักของนายทะเบียนไว้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่ผู้พัก โดยกำหนดเหตุที่จะเพิกถอนใบอนุญาตไว้เพียง 2 กรณีคือ 1. หอพักไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกอบกิจการหอพัก หรือ 2. ผู้ประกอบกิจการหอพักขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้

13. กำหนดบทเฉพาะกาล

13.1 กำหนดให้ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ได้ให้ไว้ตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507 ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน

13.2 โดยที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติห้ามผู้ใดใช้คำว่า “หอพัก” ในสถานที่ของตนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพัก ซึ่งอาจกระทบต่อผู้ที่ใช้คำดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงกำหนดให้บุคคลดังกล่าวเลิกใช้คำว่า “หอพัก” ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่