สิงคาลกสูตร เศรษฐีสั่งลูกชายให้ไหว้ทิศ

สิงคาลกสูตร

เศรษฐีสั่งลูกชายให้ไหว้ทิศ

ยามรุ่งอรุณภายนอกกำแพงพระนครราชคฤห์ แสงสุรีย์เปล่งประกายอันสดใสเป็นประหนึ่งโคมทองส่องชีวิต ปลุกสรรพสัตว์ที่กำลังหลับไหลให้ตื่นขึ้นมาทำภาระกิจของตน เมื่อแสงสุริยาจ้าจรัสสาดแสงส่องสู่ภายในพระนคร ทำให้เห็นประชาชนต่างเดินกันขวักไขว่ออกมาทำหน้าที่ตามฐานะและวรรณะของตน นับตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์  สมณะพราหมณ์ พ่อค้าและประชาชนทั่วไป แม้แต่สัตว์อย่างเช่นวัว ก็ออกเดินปะปนกับผู้คนอย่างองอาจสง่างาม มีศักดิ์ศรีสูงส่งไม่ต่างจาก สมณะพราหมณ์วรรณะสูง ออกเดินตามตรอกซอกซอยหาอาหารจากศาสนิก ผู้ที่เคารพนับถือเพื่อประทังชีวิต

เช้าวันนี้ บุตรเศรษฐีนามว่าสิงคาลกะ ได้เดินออกมาภายนอกกำแพงพระนครตามคำสั่งของบิดาก่อนที่จะอำลาจากโลกนี้ ไปทราบว่า บิดามารดาของสิงคาลกะ เป็นมหาเศรษฐีมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งสองล้วนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แต่บุตรชายของเขาหามีความเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสดาไม่ แม้บิดามารดาจะชักชวนเพื่อไปเฝ้าพระศาสดาหรือพระสาวก ของพระศาสดาองค์ใดองค์หนึ่ง ก็ไม่ยอมทำตาม เมื่อถูกชวน ก็มักจะกล่าวว่า “ท่านพ่อท่านแม่ไปเถิด ลูกไม่ไปขออยู่ดูแลบ้านดีกว่า เพราะการไปหาพระ เมื่อเจอท่านก็ต้องกราบไหว้ เมื่อก้มลงไหว้หลังก็เจ็บปวด นั่งคุกเข่าบ่อยๆ เข่าก็ด้าน นั่งนานๆ เท้าก็ชา เวลานั่งก็นั่งลงบนพื้นดิน ผ้าใหม่ที่ใส่ไปก็เปื้อนฝุ่นกลายเป็นผ้าเก่า เมื่อไปนั่งใกล้ก็ต้องพูดคุยสนทนากับท่าน เมื่อคุยบ่อย ๆ ก็เกิดความคุ้นเคย หลังจากนั้นก็กลายเป็นประเพณี คือต้องนิมนต์ท่านมารับบินฑบาต หรือจีวร เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เสียการ เสียงาน เสียทรัพย์สินเงินทองเปล่า ๆ ฉันจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปหาพระเหล่านั้นให้เสียเวลาเลย ท่านพ่อท่านแม่อยาก จะไปก็ตามใจท่านเถอะ ลูกขออยู่บ้านดีกว่า”  แม้พ่อแม่จะพร่ำสอนหรือชักชวนเขาอย่างไรก็ไม่สามารถพาเขาไปเฝ้าพระศาสดาได้ จนกระทั่งเศรษฐีผู้เป็นพ่อนอนป่อยใกล้จะสิ้นลมหายใจ จึงคิดจะให้โอวาทแก่ลูกเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหวังว่า “เมื่อเราแนะลูกว่า “ลูกเอ๋ย พ่อใกล้จะสิ้นชีวิตแล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในตอนเช้าเจ้าจงลุกขึ้นล้างหน้า พรมน้ำที่ผมและตัวให้ชุ่ม แล้วออกไปที่นอกพระนคร ใกล้พระอุทยานที่พระราชทานอาหารแก่กระแต แล้วจงไหว้ทิศทั้ง ๖ ทิศ คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย  ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องบน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของเจ้า อย่าลืมทำตามที่พ่อสั่งนะลูก”  เมื่อเขาไหว้ทิศต่าง ๆ เขาก็จะยังไม่เข้าใจ  ในวันใดวันหนึ่งเมื่อพระศาสดา หรือพระสาวกองค์ใดองค์หนึ่งเห็นเข้าก็จะถามว่า “เธอทำอะไรหรือ” เขาก็จะตอบว่า “ข้าพเจ้ากำลังไหว้ทิศต่าง ๆ ตามที่บิดาได้สอนไว้”  ต่อแต่นั้นพระศาสดา หรือพระสาวกก็จะสอนเขาให้รู้จักความหมายที่แท้จริงของทิศต่าง ๆ “  เมื่อเศรษฐีคิดได้ดังนั้นแล้ว จึงเรียกลูกชายมาแล้ว สอนตามที่วามแผนเอาไว้  ตามปกติถ้อยคำของพ่อที่กำลังนอนซมอยู่บนเตียงใกล้จะสิ้นลมหายใจ มักจะมีความสำคัญ ลูก ๆ มักจะตั้งใจฟัง และจำฝังใจตลอดชีวิต นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวเมืองมักจะเห็นคหบดีบุตรเดินแหวกผู้คนออกนอกกำแพงพระนคร เพื่อไปไหว้ทิศ ณ พระอุทยานอันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ใกล้ ๆ พระวิหารเวฬุวันเสมอมา

พระศาสดาทรงประทานเทศนา

ในพระพรรษานี้พระศาสดาทรงประทับอยู่จำ ณ พระวิหารเวฬุวัน ที่พระเจ้าพิมพิสาร องค์พุทธศาสนูปถัมภ์ ทรงอุทิศถวายไว้ในพระบวรพุทธศาสนา โดยปกติในรุ่งเช้า พระศาสดาจะทรงประทับตรวจดูวิสัยของเวนัยสัตว์โลกด้วยพุทธญาณ และในวันนี้ก็ทรงปฏิบัติตามปกติ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกะ บุตรชายเศรษฐี กำลังไหว้ทิศต่าง ๆ อยู่อย่างตั้งอกตั้งใจ ทรงดำริว่า วันนี้เราจะกล่าวสิงคาลกสูตร อันเป็นวีชีวิตของฆราวาส แก่สิงคาลกะ  เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนเป็นอันมากผู้ประพฤติปฏิบัติตาม พอรุ่งอรุณส่องฟ้า พระพุทธองค์ทรงครองผ้า ถือบาต เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ย่างพระบาทตามมรรคาสู่พระนครราชคฤห์  ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกะ ท้าวเธอมัวสาละวนอยู่กับการไหว้ทิศ จึงมิได้สังเกตเห็นพระพุทธองค์แม้ทรงประทับยืนอยู่ไม่ไกลนัก พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอฐดุจมหาปทุมกำลังแย้มสัมผัสแสงอาทิตย์ ตรัสถามว่า “ดูก่อนคหบดีบุตร  เธอลุกขึ้นแต่เช้า ผมและเสื้อผ้าเปียกปอน ออกจากกรุงราชคฤห์ ประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทิศทั้งหลาย คือทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องบน และทิศเบื้องล่าง เพื่อประโยชน์อะไร”  แล้วทรงแย้มพระโอฐแต่พองาม

เขาหันมามองแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บิดาของข้าพระองค์ ก่อนสิ้นลมหายใจ ท่านได้สั่งไว้ว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย” ข้าพระองค์เคารพเชื่อฟังคำของท่าน จึงได้ทำอย่างนี้ พระเจ้าข้า” เขาทำท่าว่าจะหันไปไหว้ทิศต่อไป “ดูก่อนคหบดีบุตร” ขณะที่พระพุทธองค์ตรัส เขาหันมาอีกครั้ง “ ในวินัยของพระอริยเจ้าเขาไม่นอบน้อมทิศกันอย่างนี้ เขานอบน้อมทิศในความหมายอื่นที่มีความละเอียดลึกซึ้งและมีประโยชน์มากมายมหาศาล เป็นสิริมงคลทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น” สิงคาลกะ เพ่งมองพระพุทธเจ้าด้วยความสนใจ และรู้สึกสงสัยใคร่ที่จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วทิศต่าง ๆ มีความหมายอย่างไร เพราะที่เขาทำอยู่ก็สักแต่ว่าทำ โดยหารู้ความหมายที่แท้จริงไม่ คงจะดีเป็นแน่ถ้าพระองค์จะทรงประทานอรรถาธิบายคลายความสงสัย เพื่อความเข้าใจทึ่ถูกต้อง “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้า เขานอบน้อมทิศกันอย่างไร  ขอพระองค์ได้โปรดข้าพระองค์ ผู้มีความสงสัยด้วยเถิด”

“ดูก่อน คฤหบดีบุตร ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟังเถิด “ พระพุทธองค์ตรัส “ ดูก่อนคฤหบดีบุตร  อริยสาวก ชื่อว่าเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖  เพราะละกรรมกิเลส ๔ อย่าง  ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่มัวเมาในอบายมุข อันเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เมื่ออริยสาวกผู้ปราศจากกรรมลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ได้ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละโลกทั้งสอง คือทั้งโลกนี้ และโลกหน้า หลังจากตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”

“ดูก่อนคฤหบดีบุตร กรรมกิเลสเป็นไฉน? การเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ๑ การลักขโมย ๑ การกล่าววาจาที่เป็นโทษกับคนอื่น ๑ การคบชู้กับภรรยาสามีของผู้อื่น ๑   ทั้ง๔ อย่างนี้เรากล่าว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายท่านกล่าวติเตียน อริยสาวกเหล่านั้นละได้แล้ว”

“ดูก่อนคฤหบดีบุตร บาปกรรมโดยฐาน ๔ เป็นไฉน?  ปุถุชนทำกรรมอันลามก เพราะความรัก ๑ เพราะความโกรธ ๑ เพราะความหลง ๑ เพราะความกลัว ๑ ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้ เพราะไม่อยู่ภายใต้อำนาจแห่งความรัก ความโกรธ ความหลง และความกลัว”

“ผู้ใดประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก
ความโกรธ ความหลง และความกลัว
ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อมลง
เหมือนดวงจันทร์ในข้างแรม
ส่วนผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม
เพราะความรัก ความชัง ความหลงและความกลัว
ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น เหมือนดวงจันทร์ในข้างขึ้น”

“ดูก่อน คฤหบดีบุตร ทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ เป็นไฉน?   การดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ การเทียวไปตามตรอก ในเวลากลางคืน ๑ การใช้เวลาเสียไปกับการเที่ยวดูมหรสพ๑ การเล่นการพนัน ๑ การคบคนชั่วเป็นมิตร ๑ ความเกียจคร้านในการทำงาน ๑  ทั้ง ๖ อย่างเหล่านี้แหละ ล้วนเป็นไปเพื่อความ...ิบหายแห่งโภคะสมบัติ”

สิงคาลกะนั่งนิ่งสดับธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ด้วยใจปีติโสมนัส และกระหายใคร่ที่จะรู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เขาพิจารณาถึงกระแสเสียงที่พระพุทธองค์ทรงแสดงช่างไพเราะเสียจริง

“ ดูก่อน คฤหบดีบุตร” พระพุทธองค์ตรัส เพื่อดึงสติของเขากลับคืน เพื่อรับพระธรรมเทศนาที่พิศดารออกไปอีก “ โทษในการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มี ๖ อย่างคือ ต้องเสียทรัพย์เพื่อซื้อมาดื่ม ๑ เมาแล้วย่อมก่อการทะเลาะวิวาท ๑  เป็นบ่อเกิดแห่งโรคมากมาย ๑  ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง ๑  เป็นเหตุให้ไม่รู้จักละอาย ๑  ทำให้ปัญญาเสื่อมถอย ๑   ดูก่อนคฤหบดีบุตร นี่แหละคือโทษแห่งการดื่มน้ำเมา”

“ดูก่อน คฤหบดีบุตร การเทียวกลางคืนมีโทษ ๖ อย่าง คือ ชื่อว่าไม่ดูแลรักษาตัว ๑ ได้ชื่อว่าไม่คุ้มครองลูกเมีย ๑  ได้ชื่อว่าไม่คุ้มครองรักษาทรัพย์สมบัติ ๑  เป็นที่ระแวงของคนทั่วไป ๑  เป็นเป้าให้เขาใส่ความ หรือข่าวลือ ๑  ก่อให้เกิดความลำบากแก่ตัวเอง ๑  ดูก่อน คฤหบดีบุตร นี่แหละคือโทษแห่งการเที่ยวในเวลากลางคืน”

“ดูก่อนคฤบดีบุตร  การเที่ยวดูมหรสพมี ๖ กรณีคือ รำที่ไหน ไปที่นั่น ๑ ขับร้องที่ไหน ไปที่นั่น ๑ ประโคมที่ไหน ไปที่นั่น ๑ เสภาที่ไหน ไปที่นั่น ๑  เพลงที่ไหน ไปที่นั่น ๑ เถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น ๑  ดูก่อนคฤหบดีบุตร การนิยมดูมหรสพมีโทษ เพราะเสียการงาน เสียเวลา  ทำจิตใจให้กังวลกับการมาของมหรสพ นี่แหละคือโทษของการนิยมดูมหรสพ”

“ดูก่อน คฤหบดีบุตร โทษในการเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีโทษ ๖ ประการ คือ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ๑ ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๑ ทรัพย์ย่อมหมดไปเรื่อย ๆ ๑ ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมย่อมฟังไม่ขึ้น ๑  เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนฝูง ๑  ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเกรงว่าคนเล่นการพนันไม่อาจเลี้ยงภรรยาได้ ๑  ดูก่อนคฤหบดีบุตร นี่แหละคือโทษแห่งการเล่นการพนัน”

“ดูก่อน คฤหบดีบุตร โทษในการคบคนชั่วเป็นมิตร มี ประการ คือ  ชักชวนให้ลุ่มหลงการพนัน ๑  ชักชวนให้เป็นคนเจ้าชู้ ๑ ชักชวนดื่มน้ำเมา ๑ ชักชวนให้ลวงคนอื่นด้วยของปลอม ๑  ชักชวนให้เป็นคนคดโกงหน้าด้าน ๆ ๑  ชักชวนให้เป็นนักเลง ๑   ดูก่อนคฤหบดีบุตร นี่แหละคือโทษแห่งการคบคนชั่วเป็นมิตร”

“ดูก่อนคฤหบดีบุตร การเกียจคร้านทำการงาน  เพราะมักยกเหตุต่าง ๆ เป็นข้ออ้างผัดเพี้ยนไม่ทำการงาน คือ มักอ้างได้ทั้ง ๖ กรณี คือ  มักอ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักอ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑  มักอ้างว่าค่ำ แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักอ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักอ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑  มักอ้างว่ากระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑  ดูก่อนคฤหบดีบุตร การเกียจคร้านในการทำการงาน มีโทษ   คือ โภคทรัพย์ใหม่ก็ไม่เกิด โภคทรัพย์ที่มีอยู่ก็หมดไป เพราะมักอ้างแล้วไม่ทำการงาน”


“เพื่อนในร้านเหล้าก็มี เพื่อนเพียงเอ่ยคำว่าเพื่อนก็มี ส่วนผู้ใดรับช่วยเหลือกิจธุระในคราวจำเป็น จัดได้ว่า ผู้นั้น เป็นเพื่อนแท้
เหตุ ๖ ประการ คือ การนอนตื่นสาย ๑ การเป็นชู้กับคู่ครองคนอื่น ๑ การเล่นการพนัน ๑  การดื่มสุรา ๑  มีมิตรชั่ว ๑  ความตระหนี่ ๑
ย่อมพรากบุคคลให้พ้นไปจากประโยชน์ที่ควรจะได้รับ.

คนมีมิตรชั่ว พากันเที่ยวกระทำชั่ว ย่อมเสื่อม จากโลกทั้งสอง คือ โลกนี้ และโลกหน้า ชนเหล่าใด เล่นการพนัน ดื่มสุรา เป็นชู้
กับคู่ครองผู้ที่เป็นที่รักด้วยชีวิตของผู้อื่น มีมิตรชั่ว ไม่แสวงหามิตรที่ประเสริฐ ย่อมเสื่อมดุจดวงจันทร์ ในข้างแรม ส่วนผู้ใดดื่มสุรา ไม่ทำงาน ไม่มีทรัพย์
เป็นคนเมาที่ไร้ประโยชน์ เขาจักจมลงสู่หนี้สิน เหมือนก้อนหินจมน้ำ ฉะนั้น จักสร้างความอากูลแก่ตนทันที คนที่มีปกตินอนหลับในกลางวัน เกลียดชัง
การลุกขึ้นในกลางคืน ดื่มสุราเป็นนิจ ไม่อาจครองเรือนให้ดีได้ ประโยชน์ทั้งหลาย ย่อมล่วงเลยผู้ละทิ้ง การงาน โดยอ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก  อ้างว่า เวลานี้ค่ำแล้วดังนี้ เป็นต้น ส่วนผู้ใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน ยิ่งกว่ายอดหญ้า ทำหน้าที่ของตนสม่ำเสมอ ผู้นั้น ย่อมได้รับความสุข ความเจริญ “
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่