สิงคาลกสูตร (๑๓)
[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกคฤหบดีบุตร ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบ น้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน ฯ
[๑๗๓] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็น สิงคาลกคฤหบดีบุตร ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศ เบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ แล้วได้ตรัสถามว่า
ดูกรคฤหบดีบุตร ท่านลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้อง หลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุอะไรหนอ ฯ
สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คุณพ่อของข้าพระพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะตายได้สั่งไว้อย่างนี้ว่า
ดูกรพ่อ เจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของคุณพ่อ จึงลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศ ทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศ เบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ ฯ
ภ. ดูกรคฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศ ๖ กัน อย่างนี้ ฯ
สิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด ฯ
[๑๗๔] ดูกรคฤหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เรา จักกล่าว ฯ สิงคาลกคฤหบดีบุตร ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี พระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรคฤหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ย่อมปฏิบัติเพื่อ ชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
กรรมกิเลส ๔ เป็นไฉน ที่อริยสาวกละได้แล้ว ดูกรคฤหบดีบุตร กรรม กิเลส คือ
ปาณาติบาต ๑
อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑
มุสาวาท ๑
กรรม กิเลส ๔ เหล่านี้ ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๗๕] ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตไม่สรรเสริญ ฯ
[๑๗๖] อริยสาวกไม่กระทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชนถึง ฉันทาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก ถึงโทสาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก ถึงโมหา-คติ ย่อมทำกรรมอันลามก ถึงภยาคติ ย่อมทำกรรมอันลามก ฯ
ดูกรคฤหบดีบุตร ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๗๗] ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดังดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น ฯ
[๑๗๘] อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน ดูกร คฤหบดีบุตร การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท
เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑
การประกอบเนืองๆ ซึ่งการ เที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑
การเที่ยว ดูมหรสพเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑
การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑
การประกอบ เนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑
การประกอบ เนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ ฯ
[๑๗๙] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการนี้ คือ
ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง ๑
ก่อการทะเลาะวิวาท ๑
เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑
เป็นเหตุ เสียชื่อเสียง ๑
เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย ๑
มีบทที่ ๖ คือ เป็นเหตุทอนกำลัง ปัญญา ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ
[๑๘๐] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปใน ตรอกต่างๆ ในกลางคืน ๖ ประการเหล่านี้ คือ
ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ตัว ๑
ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา ๑
ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ๑
เป็นที่ระแวงของคนอื่น ๑
คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น ๑
อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการ ประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืนเหล่านี้แล ฯ
[๑๘๑] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการเหล่านี้คือ รำที่ไหนไปที่นั่น ๑
ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ๑ ประโคมที่ไหนไปที่นั่น ๑
เสภาที่ไหน ไปที่นั่น ๑
เพลงที่ไหนไปที่นั่น ๑
เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการเที่ยวดูมหรสพเหล่านี้แล ฯ
[๑๘๒] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการเหล่านี้ คือ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ๑
ผู้แพ้ย่อม เสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๑
ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน ๑
ถ้อยคำของคนเล่นการ พนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น ๑
ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท ๑
ไม่มีใคร ประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยง ภรรยา ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ
[๑๘๓] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่ว เป็นมิตร ๖ ประการเหล่านี้ คือ
นำให้เป็นนักเลงการพนัน ๑
นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ ๑
นำให้เป็นนักเลงเหล้า ๑
นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม ๑
นำให้เป็นคน โกงเขาซึ่งหน้า ๑ นำให้เป็นคนหัวไม้ ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการ ประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตรเหล่านี้แล ฯ
[๑๘๔] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน ๖ ประการเหล่านี้ คือ มักให้อ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑
มักให้อ้างว่าร้อน นัก แล้วไม่ทำการงาน ๑
มักให้อ้างว่าเวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน ๑
มักให้ อ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน ๑
มักให้อ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑
มักให้อ้างว่าระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑
เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผลัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความสิ้น ไป ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เหล่านี้แล ฯ.....ต่อคห.1
การแยกพาลชน จากบัณฑิต อย่างไร อันเป็นก้าวแรกของการศึกษา เป็นมงคลข้อแรกของชีวิต