1 ในหนังสือขายดีที่ต้องมีติดแทบทุกบ้านของคนอเมริกันมากว่า 50 ปี จากแม่บ้านนักเขียนโนเนม เออร์มา รอมเบาเออร์

ตำราอาหารที่ทรงอิทธิพลที่สุดของอเมริกาในศตวรรษที่ 20
ผลงานอมตะของ เออร์มา รอมบาเออร์ แม่บ้านธรรมดาผู้ทำอาหารไม่เก่ง



    อเมริกันเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับห้องครัวภายในบ้านอย่างมาก จริงอยู่ว่าอาหารอเมริกันไม่ได้เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อติดอันดับของโลก ซึ่งจะว่าไป อาหารอเมริกันแท้ๆก็ออกจะมีความเป็นอาหารจั๊งค์ฟู๊ด ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกายเท่าใดนัก แต่วัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในครอบครัวของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ตั้งแต่ชนชั้นผู้มีฐานะระดับล่าง กลาง สูง ก็คือการทานอาหารเช้าและเย็นกันพร้อมหน้า

ด้วยเหตุนี้ ตำราอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งต้องมีติดไว้ภายในห้องครัวของชาวอเมริกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ตำราอาหารซึ่งมีพิมพ์ออกมาจำนวนมากหลายพันหลายหมื่นเล่มนั้น มีเพียงเล่มเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องจากห้องสมุดนิวยอร์ก โดยได้รับการจัดอันดับให้เข้าเป็น 1 ในหนังสือ 150 เล่มที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 ของอเมริกา นั่นคือตำราอาหารเรื่อง “The joy of cooking”

และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ ตำราอาหารเล่มนี้ไม่ได้เขียนโดยกุ๊กผู้เก่งกาจมีชื่อเสียงแต่อย่างใดเลย และก็ไม่ได้เขียนโดยคนดังของรายการทำอาหารในรายการโทรทัศน์แต่อย่างใด แต่กลับเป็นตำราทำอาหารที่เขียนขึ้นโดยหญิงม่ายชาวอเมริกันผู้หนึ่ง ซึ่งมีอาชีพเป็นเพียงแม่บ้านธรรมดา และไม่เคยเขียนหนังสือขายมาก่อน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ฝีมือทำอาหารของเธอก็ไม่ได้โดดเด่นนัก”

“แต่หลังจากนั้นผลกลับกลายเป็นว่า ภายในห้องครัวของแทบทุกบ้านชาวอเมริกันต้องมีตำราอาหาร The joy of cooking เล่มนี้”

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกากำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วประเทศ เออร์มา รอมเบาเออร์ ผู้ซึ่งเพิ่งจะเป็นหญิงม่ายหมาดๆหลังจากสามีเสียชีวิต และมีอาชีพเป็นแม่บ้าน ไม่เคยทำธุรกิจหรือกิจการใดๆมาก่อน เธอจึงเริ่มคิดหาทางแก้ไขปัญหาทางการเงินด้วยการรวบรวมสูตรอาหารดีๆกว่าร้อยเมนู จากเพื่อนฝูงที่เธอได้สะสมไว้มาหลายปีเพื่อมาเขียนหนังสือทำอาหาร ขายเลี้ยงชีพ

แต่ปัญหาสำคัญคือ เธอเป็นเพียงนักเขียนสมัครเล่น ซึ่งก็ไม่ได้มีความสามารถในการเขียนอย่างเด่นชัด อีกทั้งยังมีบันทึกว่า บรรดาญาติๆของเธอล้วนพากันโจมตีฝีมือทำอาหารของเธอเสียด้วยซ้ำ

แต่เออร์มาไม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาเป็นอุปสรรค เธอรวบรวมสูตรอาหารต่างๆมาเขียนด้วยลีลาการเล่าในแบบฉบับเฉพาะตัวของเธอเอง แล้วส่งไปที่สำนักพิมพ์ แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีสำนักพิมพ์ใดยอมรับต้นฉบับของเธอเลย

สุดท้ายแล้ว โรงพิมพ์ที่ยอมรับตำราอาหารของเธอมาพิมพ์ขายก็คือบริษัทรับพิมพ์งานประเภทแผ่นป้าย โดยเริ่มพิมพ์ครั้งแรกในปี 1931 จำนวน 3,000 เล่ม ความหนาราว 360 หน้า แล้ววางขายจากที่บ้านของเธอเอง เพราะในเมื่อสำนักพิมพ์หนังสือไม่ได้พิมพ์ให้ หนังสือของเธอจึงไม่ได้อาศัยสายส่งหรือร้านหนังสือในการวางขายทั่วไป

กระนั้น ด้วยความที่หนังสือทำอาหารของเธอมีลักษณะการเล่าวิธีการทำที่เป็นแบบเฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างจากตำราทำอาหารทุกเล่มที่เคยมีมา นั่นคือการเล่าวิธีทำอาหารในแบบ “เสมือนเล่าให้เพื่อนฟัง” เออร์มามีอารมณ์ขันในการเขียนหนังสือ และสอดแทรกมุกน่ารักๆของเธอไว้ตลอดในระหว่างการแนะนำวิธีทำ ซึ่งเธอไม่ได้วางตัวเสมือนว่าตนเองเป็นผู้สอนเช่นเดียวกับตำราอาหารอื่นๆ เน้นวิธีการทำให้มือใหม่ซึ่งเริ่มหัดทำอาหารเข้าใจง่าย เมนูอาหารส่วนใหญ่ของเออร์มาเป็นเมนูพื้นๆง่ายๆในชีวิตประจำวันไปจนถึงอาหารเมนูหรูหรา ซึ่งแทบทุกบ้านของชาวอเมริกันก็ต้องทานอาหารเมนูเหล่านี้ เช่น ออมเล็ต ไข่คน ขนมปังยีสต์ แยมไอศกรีม ซุปข้าวโอ้ค เบคอนกรอบ สเต็กเนื้อ กุ้งมังกร ฯลฯ

หลังจากพิมพ์ขายได้เป็นเวลา 5 ปี สำนักพิมพ์บ็อบเมอริลก็ให้ความสนใจแล้วขอนำตำราอาหารของเออร์มาไปตีพิมพ์ แล้วยังเพิ่มเมนูใหม่ๆเข้าไปอีก กลายเป็น 640 หน้า ซึ่งผลคือได้รับการตอบรับที่ดีมาก หนังสือขายดีและได้รับการพิมพ์ซ้ำมากกว่า 5 ครั้ง ยอดขายรวมถึง 5 หมื่นเล่ม ภายในระยะเวลา 6 ปี สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้เออร์มาเป็นอย่างมาก

ยังมีอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้แตกต่างไปจากตำราอาหารเล่มอื่นคือ การไม่เรียกร้องต่อผู้อ่านมากเกินไป ตำราอาหารส่วนใหญ่ซึ่งแต่งโดยกุ๊กมีชื่อเสียงหรือบรรดาคนดังทั้งหลายนั้น มักมุ่งเน้นที่เมนูอาหารหรูหราเป็นหลัก และยังเรียกร้องให้ใช้วัตถุดิบชั้นเลิศในการปรุงและเตรียมอาหาร ตัวอย่างเช่น การเลือกผักสดเพื่อประกอบอาหารนั้น หากเป็นตำราอาหารของกุ๊กมีชื่อเสียง ก็จะแนะนำวัตถุดิบสด ไม่แนะนำผักกระป๋อง หรือ ราคาถูกเกินไป

แต่เออร์มาจะบอกกับคนอ่านเสมอว่า “อยากจะใช้อะไรก็ใช้ไปเถอะ”

นอกจากนี้เธอยังใช้ภาษาที่มุ่งการแสดงอารมณ์ขันและความสุขในการทำอาหารให้แก่ผู้อ่านสอดแทรกไว้ในทุกเมนูเสมอ รูปแบบการแนะนำวัตถุดิบของเธอก็ไม่เหมือนกับตำราอาหารยุคปัจจุบันที่จะแนะนำวัตถุดิบที่ต้องเตรียมไว้เป็นลิสต์ เพราะสุดท้ายแล้วในกระบวนการทำก็ต้องกล่าวถึงวัตุดิบแต่ละอย่างอีกครั้งอยู่ดี แต่เธอจะเขียนโดยใช้วิธีแนะนำวัตถุดิบเอาไว้ในรายการที่ต้องขึ้นบรรทัดใหม่ แล้วเขียนเน้นด้วยตัวหนาให้ชัดเจน ทำให้หนังสือสามารถประหยัดหน้ากระดาษไปได้มาก ช่วยให้เพิ่มเมนูได้เพิ่มมากขึ้น   

หนังสือเล่มนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในรุ่นลูกและหลานของเออร์มา แต่ในฉบับที่พิมพ์ในปี 1997 กลับโดนวิจารณ์อย่างหนัก เพราะมีการเพิ่มเมนูประเภทหรูหราและเป็นเมนูราคาแพงมากเกินไป อีกทั้งหลานของเออร์มายังให้กุ๊กฝีมือดีเข้ามาช่วยเขียนแก้ไขเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนวิธีการเขียนในแบบที่เน้นความสุขของการทำอาหารที่เออร์มาเขียนไว้แต่แรก ด้วยเหตุนี้ ในฉบับที่พิมพ์ใหม่ในปี 2006 จึงเป็นการนำต้นฉบับเดิมของเออร์ซึ่งเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและต้องการสื่อความสุขในการทำอาหารให้ผู้อ่านมากลับมาพิมพ์ขายอีกครั้ง และก็ยังคงได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้



    เรื่องราวของเออร์มา จึงนับว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ และเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม ว่าต่อให้ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านที่ตนเองรักชอบอย่างเด่นชัด ซึ่งในกรณีของเธอก็คือการทำอาหาร และเธอเองก็ปราศจากช่องทางอื่นที่จะช่วยให้ตำราอาหารของเธอโด่งดังได้เหมือนกุ๊กและนักเขียนชื่อดังในสังคมเลย แต่กระนั้น เออร์มาก็สามารถใช้ความแตกต่างของการนำเสนอตำราอาหารที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขันและการถ่ายทอดความรู้สึกรักในการทำอาหารนี้ให้แก่ผู้เริ่มหัดทำอาหารได้รับความสุขในการเข้าครัวไปด้วยได้


ทุกวันนี้ ตำราอาหารของเออร์มา ก็ได้กลายเป็นตำราอาหารที่มีติดในห้องครัวของชาวอเมริกันมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน

หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้ทุกคนสู่ตามฝันของตนเองอย่างมุ่งมั่น



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่