$$... QE ยังไม่หมดไป มันแค่ย้ายจาก อเมริกา ไปหาที่อื่น ...$$

ที่ประชุม FOMC 28-29 ต.ค. ที่ผ่านมา มีมติ 9-1 แสดงว่า เสียงส่วนใหญ่ เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สมควรยุติการทำ QE3 ได้แล้ว ถ้าจำกันได้ ตอนที่เรารู้จักคำว่า QE นั้น นักวิเคราะห์ต่างเดินหน้าออกมาบอกเราว่า มันจะมีไปยันถึง QE 4 5 6 7 8 9 ... หรือ กลายเป็น QE Infinity ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มันไม่ได้ดีเด่อะไร มาวันนี้ ความจริง มันสะท้อนให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่คิดผิดนะครับ

ภาพแรก ผมพาย้อนไปดูว่า ตอนที่ออก QE ตั้งแต่ Day One จน ณ บัดนาว ผลของมันต่อตลาดทุนเป็นอย่างไร


จุดสังเกตที่เห็นก็คือ
1. นับตั้งแต่ออก QE1 จนถึงจบ QE3 นั้น ตลาดหุ้น S&P500 บวกขึ้นมาเกิน 170% ภายในระยะเวลาร่วมๆ 6 ปี
2. ถึงแม้ QE จะออกไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯเป็นหลัก และซื้อ MBS ในช่วงหลัง แต่จะเห็นว่า ไม่ได้ทำให้ Bond Yield มันต่ำติดดิน อย่างที่เราเชื่อว่า จะกดอัตราดอกเบี้ยจนถูกมากๆ

ไปดูค่าเงิน USD ยิ่งสวนทางกับความคิดที่ว่า USD ควรอ่อนค่าในระยะยาว ซึ่งความคิดนี้ กระจายเป็นวงกว้างจนทุกคนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ดูภาพด้านล่างครับ


เห็นไหมเอ่ย Dollar Index มันไม่ได้มีเทรนอ่อนค่าอะไรเลยนับตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2009
ซ้ำ ระดับปัจจุบัน ยังใกล้เคียงจุดที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปีอีกต่างหาก
นั้นหมายความ QE ถึงแม้จะทำให้ Money Supply ของ USD เพิ่มขึ้น แต่ Demand การถือครองสกุลหลักของโลกสกุลนี้ กลับเร่งตัวขึ้นเร็วกว่า ทำให้ค่าเงิน USD แข็งค่าอย่างปัจจุบัน

เรื่องหลักฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นจริงๆไม่จริง ผมเคยโพสแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. ต้นปี ตามไปอ่านกระทู้นี้ครับ http://ppantip.com/topic/31588676 ซึ่งยืนยันว่า ศก.ฝั่งโน้นดีขึ้น (แต่เรื่องว่า ดีขึ้นเพราะ QE รึเปล่าเนี่ย Bernanke เค้าเคลมไปแล้วนะ หุหุ)

คำถามคือ แล้วทำไม USD กลับมี Demand การถือครองในระดับสูงอยู่?
คำตอบที่น่าจะเป็นชุดความคิดที่ตรงประเด็นแต่ทุกคนลืมมองไปมากที่สุด ก็คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังวิกฤต Subprime ครั้งนี้ มันไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน หรือพูดง่ายๆก็คือ มีประเทศอื่นในโลก ที่เศรษฐกิจยังแย่อยู่ และประเทศแย่ๆเหล่านั้น ดันเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้วยสิ พูดถึงขนาดนี้ ท่านก็รู้กันแล้วนะครับ ว่าคือ EURO ZONE


สรุปปัญหา EURO ZONE จากรูปด้านบนก็คือ เงินเฟ้อต่ำติดดิน ผู้บริโภค หรือคนยุโรปเอง ชะลอการซื้อสินค้า สาเหตุมาจากเศรษฐกิจแย่ อัตราการว่างงานที่สูง (ว่ากันว่า เด็กจบ ป.ตรี ว่างงานถึง 50% ทีเดียว) พอเงินเฟ้อต่ำ ก็กลัวจะเงินเฟ้อติดลบ แล้วเข้าสู่ Lost Decade แบบญี่ปุ่น ดังนั้น พวกท่านผู้นำทั้งหลาย จึงต้องช่วยกันหาทางให้เงินเฟ้อกลับมา

หากติดตามเรื่องยูโรโซนมาตลอด จะรู้ว่า น่าจะรอดจากการเป็น Double Dips ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาแล้วนะครับ แต่เพราะดันไปทะเลาะ และเกิดการคว่ำบาตรกับรัสเซียเนี่ยละ เลยเป็นจุดที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเสี่ยงอีก

และนี่เอง คือ จุดที่หนึ่ง ที่ผมจั่วหัวไว้ว่า QE ยังไม่หมด
เพราะ ... Euro Zone กำลังจะเดินรอยตามสหรัฐฯ และต้องอัด QE ออกมาเพื่อสู้กับ Recession
ถ้ามาดูที่ ECB Balance Sheet จะพบว่า หากเทียบกับ Fed ที่อัด QE มาถึง 3 ภาคนั้น ECB ยังสามารถอัดเงินเข้าไปในระบบได้อีกเยอะ อยู่ที่ว่า จะอัดเมื่อไหร่ ท่าไหน และทำอย่าไรให้เกิดประสิทธิภาพเหมือนอย่างที่สหรัฐฯทำได้



ภาพด้านล่าง จะเห็นว่า Balance Sheet ของ ECB ลดลงช่วงปี 2012 เพราะ พวกกลุ่ม PIIGS ที่มีปัญหา สามารถจ่ายคืน LTRO ได้ ดังนั้น ในขั้นต้น ผมมองว่า ตลาดยอมรับได้ ถ้า ECB จะขยายวงเงินไป ณ ระดับจุดสูงสุดเดิมช่วงปี 2012 นั้น

นั้นคือ ที่แรกที่ผมบอกว่า QE จะยังมีต่อไป

อ้าว ยังมีที่อื่นอีกหรอ??
อีกที่หนึ่ง ก็คือ "ญี่ปุ่น" ครับ
ไปอ่านเรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ที่ http://ppantip.com/topic/30759630
โดยหนึ่งในธนูทั้งสามดอกของนายกฯอาเบะ ก็คือ การอัดฉีด QE นั้นเอง
และการประชุมวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า BOJ โหวตแบบฉิ่วเฉียด 5-4 ว่า จะเพิ่มวงเงินอัดฉีด QE จากเดิม ¥60-70 Trillion ต่อปี เป็น ¥80 Trillion ต่อปี และทำให้ตลาดหุ้นบ้านเค้าคึกคักขึ้นมาทันที และค่าเงินเยน ก็อ่อนค่าลงมารวดเร็ว จนอยากเชื้อเชิญให้ทุกท่านไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงนี้นะครับ 555+

ทาง SCB EIC ได้ทำการเปรียบเทียบ QE ของสหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น จะพบว่า การเพิ่มวงเงินอัดฉีดรอบนี้ แค่ทำให้ปริมาณมันเท่ากับ QE ของสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้าเท่านั้น แล้ว SCB EIC มองว่า มูลค่าของการซื้อสินทรัพย์ที่ BOJ เพิ่มขึ้นนั้น มีเพียง 10-20 ล้านล้านเยนหรือราว 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับขนาดของมาตรการ QQE เดิม จึงไม่น่าส่งผลให้มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก อ่านฉบับเต็มของเค้าได้ที่ https://www.scbeic.com/THA/document/flash_20141103_inflation/


แต่ผมมองต่างครับ ตลาดตอบรับ ไม่ใช่จากปริมาณที่อัดฉีดในวันนี้ แต่ตลาดตอบรับ เพราะเห็นความตั้งใจในการต่อสู้กับปัญหา และนักลงทุนมองว่า นี่ไม่ใช่จุดจบของ QQE ในญี่ปุ่น แต่คือจุดเริ่มต้นของการอีดฉีดในอนาคตซึ่งน่าจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน (ก็แหม่... สหรัฐฯ ยังใช้เงินไปตั้ง 3 รอบนะ)


** ที่ญี่ปุ่นเรียก QQE ย่อมาจาก Quantitative and Qualitative Easing เพราะ มีทั้ง มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคุณภาพ คือ มีวงเงิน และระบุสินทรัพย์เป้าหมายแบบเจาะจง รวงถึงมาตรการอื่นๆควบคู่ ไม่เหมือน QE ที่ สหรัฐฯ ที่อัดแต่เงินอย่างเดียว **

ยังมีอีกที่ครับ ไม่ใช่แค่ BOJ และ ECB 2 ที่เท่านั้น อีกที่หนึ่งที่ต้องต่อสู้กับเศรษฐกิจชะลอตัวก็คือ "จีน"
โดยล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนก.ย.ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงรุนแรงมากกว่าที่คาด และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 56 เดือน แสดงให้เห็นว่า จีนเจอสภาวะเดียวกับ Euro Zone คือ คนไม่ยอมใช้จ่าย แต่ไม่เหมือนยูโรโซนที่ไม่ยอมใช้จ่ายเพราะไม่มีเงินนะครับ แต่เพราะออมเงิน และไม่กล้าออกมาเสี่ยงลงทุนเอง เอาไปลงทุนผ่าน Wealth Management Package จนกลายเป็น Shadow Banking ให้กลัวกันอยู่ช่วงหนึ่ง (อ่านเรื่อง Shadow Banking ได้ที่ http://ppantip.com/topic/30703160)

โดยล่าสุดนะครับ ธนาคารกลางจีนยืนยันว่า ได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 7.695 แสนล้านหยวน (1.2615 แสนล้านดอลลาร์) ให้กับบรรดาธนาคารพาณิชย์ โดยผ่านทางเครื่องมือชนิดใหม่ เรียกว่า โครงการปล่อยสินเชื่อระยะกลาง (Medium-term Lending Facility : MLF)  ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

แต่จีนแปลกกว่าคนอื่นคือ ทำนโยบายออกมาก่อน แล้วค่อยมาบอกโลกว่า ทำอะไรไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดทุนไม่ค่อยตอบรับ เพราะมันเหมือนข่าวเก่า ดังนั้น ความหวือหวาของตลาดหุ้นจีน ถึงแม้จะมี QE เกิดขึ้นเรื่อยๆ นั้น ท่าจะมองเห็นยากกว่าคนอื่น

เขียนมาจนถึงตรงนี้ จะเห็นว่า

เศรษฐหลักๆของโลก อย่าง Euro Zone, Japan และ China นั้น ยังไม่ฟื้นดีอะไรเลย ทั้งๆที่ผ่านวิกฤตรอบที่แล้วมาก็ตั้ง 6 ปี ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากนี้ คงมีให้เห็นแน่นอน ถึงแม้คุณอาจกังวลกันว่า เศรษฐกิจแย่แบบนี้ แล้วตลาดหุ้นมันจะไปกันได้ยังไง แต่ขอให้มองอีกมุมหนึ่งครับ ในเมื่อเศรษฐกิจมันยังไม่พีคสุดๆ นั้นหมายความว่า สัญญาณฟองสบู่ของโลก มันยังไม่เกิด มีเวลาให้เรา Enjoy กับตลาดขาขึ้นอีกซักระยะ (แต่ระยะปาเป้า เข้าตัวไหนก็รวย มันได้หมดไปแล้ว)

ตลาดหุ้นไทย PE ดูจะไม่ถูกเหมือนก่อน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ตอบรับเศรษฐกิจดีด้วยการทำ New High ไปแล้ว
หรือจะถึงเวลาของ ยุโรป , ญี่ปุ่น , จีน หลังจากนี้ (ถ้าเขาอัด QE แล้วรอดกันนะ)

ฝากไปคิดเป็นการบ้านนะครับ ยิ้ม

----------------------------
โชคดีในการลงทุนครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่