สารีปุตตเถรคาถา เนื่องในวันคล้ายวันปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร

วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นวันคล้ายวันปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร
ผู้เป็นพระธรรมเสนาบดี อัครสาวกเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า
ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการคำสอนของท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
สารีปุตตเถรคาถา คาถาสุภาษิตของพระสารีบุตรเถระ               

          พระสารีบุตรเถระ ครั้นสำเร็จแห่งสาวกบารมีญาณ ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระธรรมเสนาบดีอย่างนี้แล้ว
เมื่อจะทำประโยชน์แก่หมู่สัตว์ วันหนึ่งเมื่อพยากรณ์อรหัตผลโดยมุขะ คือ ประกาศความประพฤติของตน
แก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จึงได้กล่าวคาถาความว่า              

          [๓๙๖] ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ มีความดำริชอบ
          ไม่ประมาท ยินดีแต่เฉพาะกรรมฐานภาวนาอันเป็นธรรมภายใน
          มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
          ปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าภิกษุ

          ภิกษุเมื่อบริโภคอาหาร จะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป
          ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่
          การบริโภคอาหารยังอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม  ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำ
          เป็นการสมควรเพื่ออยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว
          อนึ่งการนุ่งห่มจีวรอันเป็นกัปปิยะ นับว่าเป็นประโยชน์
          จัดว่าพอ เป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว
          การนั่งขัดสมาธินับว่าพอ เป็นการอยู่สบายของภิกษุ ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว  

          ภิกษุรูปใดพิจารณาเห็นสุข โดยความเป็นทุกข์
          พิจารณาเห็นทุกข์โดยความเป็นลูกศรปักอยู่ที่ร่าง
          ความถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนในอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้มีแก่ภิกษุนั้น
          จะพึงติดอยู่ในโลกอย่างใดด้วยกิเลสอะไร  

          ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม
          ได้สดับน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ อย่าได้มาในสำนักของเราแม้ในกาลไหนๆ เลย
          จะมีประโยชน์อะไรด้วยการให้โอวาทบุคคลเช่นนั้นในหมู่สัตว์โลกนี้
          อนึ่ง ขอให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูต เป็นปราชญ์ตั้งมั่นอยู่ในศีล
          ประกอบใจให้สงบระงับเป็นเนืองนิตย์ จงมาประดิษฐานอยู่บนศีรษะของเราเถิด  

          ภิกษุ ใดประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า ยินดีในธรรมเครื่องเนิ่นช้า
          ภิกษุนั้นย่อมพลาดนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม
          ส่วนภิกษุใด ละธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ยินดีในอริยมรรคอันเป็นทางไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า
          ภิกษุนั้น ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นธรรมเกษม จากโยคะอย่างยอดเยี่ยม  

          พระอรหันต์ ทั้งหลาย อยู่ในสถานที่ใด
          เป็นบ้านหรือป่าก็ตามที่ดอนหรือที่ลุ่มก็ตาม
          สถานที่นั้นเป็นภูมิสถานที่น่ารื่นรมย์
          คนผู้แสวงหากามย่อมไม่ยินดีในป่าอันน่ารื่นรมย์เช่นใด
          ท่านผู้ปราศจากความกำหนัด จักยินดีในป่าอันน่ารื่นรมย์เช่นนั้น
          เพราะท่านเหล่านั้นไม่เป็นผู้แสวงหากาม  

          บุคคลควรเห็นท่านผู้มีปัญญา ชี้โทษมีปกติกล่าวข่มขี่ เหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้
          ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความดีไม่มีชั่วเลย
          ปราชญ์ก็ควรโอวาทสั่งสอน ควรห้ามผู้อื่นจากธรรมที่มิใช่ของสัตบุรุษ
          แต่บุคคลเห็นปานนั้น ย่อมเป็นที่รักใคร่ของสัตบุรุษเท่านั้น ไม่เป็นที่รักใคร่ของอสัตบุรุษ

          พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้แล้วมีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมแก่ผู้อื่นอยู่
          เมื่อพระองค์กำลังทรงแสดงธรรมอยู่ เราผู้มุ่งประโยชน์ตั้งใจฟัง
          การตั้งใจฟังของเรานั้นไม่ไร้ประโยชน์ เราเป็นผู้หมดอาสวะ เป็นผู้หลุดพ้นพิเศษ
          เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อปุพเพนิวาสญาณ ทิพจักขุญาณ เจโตปริยญาณ
          อิทธิวิธี จุตูปปาตญาณ ทิพโสตญาณ อันเป็นธาตุบริสุทธิ์ มาแต่ปางก่อนเลย
          แต่คุณธรรมของสาวกทั้งหมดได้มีขึ้นแก่เรา พร้อมกับการบรรลุมรรคผล
          เหมือนคุณธรรม คือ พระสัพพัญญุตญาณ ได้มีแก่พระพุทธ-เจ้า ฉะนั้น

          มียักษ์ตนหนึ่งมากล่าวว่า มีภิกษุหัวโล้นรูปหนึ่งชื่ออุปติสสะ
          เป็นพระเถระผู้อุดมด้วยปัญญา ห่มผ้าสังฆาฏินั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนไม้
          สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลังเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตกในขณะถูกยักษ์ตีศีรษะ
          ก็ยังประกอบด้วยธรรมคือความนิ่งอย่างประเสริฐ
          ภูเขาหินล้วนตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันใด
          ภิกษุย่อมไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขาเพราะสิ้นโมหะ ก็ฉันนั้น

          ความชั่วช้าเพียงเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏเหมือนเท่าก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า
          แก่ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน แสวงหาความสะอาดเป็นนิตย์

          เราไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต
          เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะจักละทิ้งร่างกายนี้ไป
          ไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต รอคอยเวลาตายอยู่
          เหมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงาน ฉะนั้น

          ความตายนี้มีแน่นอนในสองคราว
          คือ ในเวลาแก่หรือในเวลาหนุ่ม ที่จะไม่ตายเลยย่อมไม่มี
          เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญแต่สัมมาปฏิบัติเถิด
          ขอจงอย่าได้ปฏิบัติผิดพินาศเสียเลย

          ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
          เมืองที่ตั้งอยู่ชายแดน เขาคุ้มครองป้องกันดีทั้งภายนอกและภายในฉันใด
          ท่านทั้งหลายก็จงคุ้มครองตนฉันนั้นเถิด
          ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
          เพราะผู้มีขณะอันล่วงเลยไปเสียแล้ว
          ต้องพากันไปเศร้าโศกยัดเยียดอยู่ในนรก

          ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นโทษเครื่องเศร้าหมองใจได้อย่างเด็ดขาด
          มีปกติพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
          ย่อมกำจัดบาปธรรมได้เหมือนลมพัดใบไม้ล่วงหล่นไป ฉะนั้น
          ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากโทษเครื่องเศร้าหมองใจได้อย่างเด็ดขาด
          มีปกติพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
          ได้ลอยบาปธรรมเสียได้ เหมือนลมพัดใบไม้ร่วงหล่นไป ฉะนั้น

          ภิกษุผู้สงบระงับละเว้นกองกิเลสและกองทุกข์ ที่เป็นเหตุทำให้เกิดความคับแค้น
          มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลงาม เป็นนักปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้

          บุคคลไม่ควรคุ้นเคยในบุคคลบางพวกจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม
          หรือเบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ตอนปลายเป็นคนไม่ดีก็ตาม

          นิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑
          อุทธัจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองจิต
          สมาธิของภิกษุผู้มีปกติชอบอยู่ด้วยความไม่ประมาทไม่หวั่นไหว
          ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยมีผู้สักการะ ๑ ด้วยไม่มีผู้สักการะ ๑
          นักปราชญ์เรียกบุคคลผู้เพ่งธรรมอยู่เป็นปกติ พากเพียรเป็นเนืองนิตย์
          พิจารณาเห็นด้วยปัญญาสุขุม สิ้นความยึดถือและความยินดีว่า เป็นสัตบุรุษ

          มหาสมุทร ๑ แผ่นดิน ๑ ภูเขา ๑ และแม้ลม ๑
          ไม่ควรเปรียบเทียบความหลุดพ้นกิเลสอย่างประเสริฐของพระศาสดาเลย
          พระเถระผู้ยังพระธรรมจักรอันพระศาสดาให้เป็นไป แล้วให้เป็นไปตาม
          ผู้มีปัญญามาก มีจิตมั่นคง เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดินและไฟย่อมไม่ยินดียินร้าย
          ภิกษุผู้บรรลุปัญญาบารมีธรรมแล้ว มีปัญญาเครื่องตรัสรู้มาก
          เป็นนักปราชญ์ผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นคนเขลา ทั้งไม่เหมือนคนเขลา
          เป็นผู้ดับความทุกข์ร้อนได้ทุกเมื่อ ท่องเที่ยวไปอยู่

          เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดามาก เราทำคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว
          ปลงภาระหนักลงได้แล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพแล้ว
          ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
          นี้เป็นอนุศาสนีย์ของเรา เราพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว จักปรินิพพาน.

          เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  บรรทัดที่ ๘๐๔๙ - ๘๑๓๓.  หน้าที่  ๓๔๖ - ๓๔๙.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=8049&Z=8133&pagebreak=0
          ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=396

แนะนำ :-
          อ่านและค้นพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม
          อรรถกถาชาดกทั้งหมด ๕๔๗ เรื่อง
          พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/

          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          สารบัญประเภทธรรม
http://84000.org/tipitaka/dic/d_type_index.php

          หมวดหนังสือธรรมะ
http://84000.org/tipitaka/book/
          เรื่อง ศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ
http://84000.org/tipitaka/book/bookpn02.html
          เรื่อง สิ่งที่เป็นมงคล (มงคล ๓๘)
http://84000.org/tipitaka/book/bookpn06.html
          เรื่อง ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
http://84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่